ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

"ที่ดิน สปก ๔-๐๑ ยังมีสภาพเป็นป่า”

ที่พิพาทเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติเป็นที่ดินของรัฐ แม้ถูกเพิกถอนการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนประเภทที่ดิน วัตถุประสงค์ การใช้ประโยชน์ในที่ดิน และเปลี่ยนหน่วยงานของรัฐที่จะมาดูแลและใช้ประโยชน์จาก กรมป่าไม้ มาเป็น สปก โดยให้ สปก เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่ ไม่อาจถือได้ว่า สปก เป็นบุคคลผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอื่น จึงยังไม่มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน การที่ สปก ออกเอกสารสิทธิ์ สปก ๔-๐๑ ให้เกษตรกร เป็นเพียงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเท่านั้น ไม่มีผลเปลี่ยนสถานะทางกฎหมายของที่ดินนั้น การที่ ส.ได้มาซึ่งที่ดินมีเอกสาร สปก ๔-๐๑ ไม่อาจถือได้ว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอื่นตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงยังไม่มีบุคคลได้มาตามประมวลกฎหมายที่ดินและยังคงเป็นป่าอยู่ตาม พรบ. ป่าไม้ การที่จำเลยตัดฟันไม้ประดู่ในที่ดินมี สปก ๔-๐๑ ของ ส. โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงมีความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนูญาต คำพิพากษาฏีกา ๘๓๗๑/๒๕๕๑
ข้อสังเกต ๑. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตร เป็นการนำที่ดินมาจัดสรรให้แก่เกษตร ซึ่งหมายความถึง ผู้ประกอบอาชีพเกษตรเป็นหลัก(คือใช้เวลาส่วนใหญ่ในการประกอบอาชีพกสิกรรมไม่ใช่อาชีพอื่น) รวมทั้งคนยากจน(ซึ่งก็คือคนที่มีรายได้ไม่เกิน ๑๕,๐๐๐บาท ต่อ ปี ต่อคน ตามมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม)หรือจบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือบุตรของเกษตรที่ไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรเป็นของตนเองหรือมีแต่ไม่เพียงพอแก่การเลี้ยงชีพหรือต้องเช่าที่ดินคนอื่นประกอบเกษตรกรรมและประสงค์จะประกอบวิชาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก รวมทั้งผู้ประกอบกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินด้วย ซึ่งในกรณีนี้ไม่จำต้องเป็นเกษตรกร แต่ต้องใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปเพื่อสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดิน
๒.พื้นที่ซึ่งสมควรมีการปฏิรูปที่ดินเรียงตามลำดับความสำคัญก่อนหลังคือ
๒.๑เขตท้องที่ซึ่งเกษตรกรไม่มีที่ดินประกอบอาชีพการเกษตรเป็นของตัวเอง
๒.๒เขตท้องที่เกษตรกรมีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การเลี้ยงชีพ
๒.๓ท้องที่อำเภอที่เกษตรกรต้องเช่าที่ดินจากคนอื่นประกอบการเกษตร
๒.๔เขตท้องที่ที่มีผลผลิตต่อไร่ต่ำ
๓.ที่ดินที่นำมาใช้ในการปฏิรูปคือ
๓.๑ที่ดินของรัฐ
ก.ที่ดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน เช่น ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ที่ชายทะเล สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แต่พลเมืองเลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น หรือได้เปลี่ยนจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน หรือพลเมืองยังใช้ที่ดินนั้นอยู่ หรือยังไม่เปลี่ยนสภาพจากที่ดินที่พลเมืองใช้ร่วมกัน เมื่อมีการจัดที่ดินแปลงอื่นให้พลเมืองใช้ร่วมกัน
ข.สาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับใช้ประโยชน์เพื่อแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือที่ดินที่สงวนไว้ตามความต้องการของทางราชการ เช่นป้อม โรงทหาร พื้นที่ทหารที่มีเกินความจำเป็น เมื่อไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือที่ดินที่สงวนไว้ตามความต้องการของทางราชการ ก็อาจถูกเพิกถอนสภาพแล้วนำมาปฏิรูปที่ดินได้ดังเช่นที่ราชพัสดุที่ถูกเพิกถอนสภาพ
ค.ที่ดินที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ที่ดินที่มีผู้เวนคืนหรือถูกทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น
ง.ที่ป่าสงวนและมีกฎกระทรวงออกมาเพิกถอนเพื่อนำที่ดินมาใช้ปฏิรูปเพื่อการเกษตร ในกรณีนี้มีคำพิพากษาฏีกาที่ ๗๔๗/๒๕๕๐ วินิจฉัยว่าการออกพระราชกฤษฏีกากำหนดท้องที่ใดเป็นท้องที่ใดเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ไม่เป็นการเพิกถอนที่ป่าสงวน การถูกเพิกถอนจากการเป็นป่าสงวนต่อเมื่อได้ดำเนินการตามพรบ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง(๔)โดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกกรรมในที่ป่าสงวนแล้ว เมื่อสปก.จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ให้พรก.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเพียงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น และให้สปก.มีอำนาจนำที่ดินแปลงนั้นมาใช้ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยไม่ต้องเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีมติคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาสมิง และสปก.จะนำไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ถือไม่ได้ว่าที่ดินป่าสงวนแห่งชาติในเขตท้องที่ดังกล่าวถูกเพิกถอนเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรรม
๓.๒ที่ดินเอกชน
ก.ที่ดินแปลงเดียวหรือหลายแปลงของบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ส่วนที่เกิน ๕๐ ไร่ สปก.สามารถซื้อหรือเวนคืนได้
ข.ที่ดินแปลงเดียวหรือหลายแปลงที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ ส่วนที่เกิน ๑๐๐ ไร่ สปก จัดซื้อหรือเวนคืนได้
ค.ที่ดินที่เจ้าของไม่ได้ประกอบเกษตรกรรมด้วยตัวเองส่วนที่เกิน ๒๐ ไร่ สปกสามารถซื้อหรือเวนคืนได้
ง.ที่ดินที่พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในส่วนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานแก่เกษตรกร
๔.สิทธิ์เข้าทำกินในที่ดินที่ปฏิรูปเพื่อการเกษตร เป็น “ สิทธิ์เฉพาะตัว” จะโอนให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้ เว้นตกทอดเป็นมรดก พรบ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรฯ มาตรา ๓๙ และคำพิพากษาฏีกา ๘๑๔๗/๒๕๓๘
๕.สัญญาจะซื้อขายที่ดิน สปก ๔-๐๑ โดยมีเงื่อนไขว่าจะทำการซื้อขายเมื่อมีการยกเลิกสิทธิ์สปก ๔-๐๑ และออกเอกสารสิทธิ์เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือออกโฉนดแล้ว หาใช่เป็นการซื้อขายที่ดินที่มี สปก ๔-๐๑ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอน ห้ามไม่ให้มีการซื้อขายแต่อย่างใดไม่ อันจะทำให้สัญญาดังกล่าวมัวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฏหมายชัดแจ้งไม่ ส่วนที่ดินจะมีการยกเลิก สปก ๔-๐๑และออกเอกสารสิทธิ์เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือเป็นโฉนดได้หรือไม่ ต้องฟังพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความก่อน การที่ศาลชั้นต้นด่วนยกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้องจึงไม่ชอบ คำพิพากษาฏีกา ๒๔๑๙/๒๕๕๒....................................นั้นก็คือไม่ได้ซื้อขายที่ดินที่มีสปก ๔-๐๑ ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอน แต่ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินสปก ๔-๐๑ที่ถูกเพิกถอนแล้วมาออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ดังนั้นข้อสัญญานี้ไม่ใช่สัญญาที่ขัดหรือต้องห้ามตามบทกฎหมายชัดแจ้งแต่อย่างใดเพราะไม่ใช่การจะซื้อจะขายที่ดินที่ “เป็น” สปก ๔-๐๑ แต่เป็นการซื้อที่ดินที่ “เคยเป็น” สปก ๔-๐๑ ส่วนกรณีที่หากไม่มีการยกเลิกสปก ๔-๐๑ ในที่ดินดังกล่าว เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือออกโฉนดแล้วโจทก์เสียหายถูกรอนสิทธิ์อย่างไรก็ต้องไปว่าเป็นอีกกรณีหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นด่วนยกฟ้องในชั้นตรวจฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่นำสิ่งที่ไม่แน่ว่าจะเป็นไปได้มาทำสัญญา เป็นกรณีที่ทำสัญญาโดยมีข้อความบังคับไว้ให้นิติกรรมมีผลเมื่อมีเหตุการณ์ในอนาคตอันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ว่าจะมีการยกเลิกสปก ๔-๐/ หรือไม่ และเมื่อยกเลิกแล้วจะมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือออกโฉนดหรือไม่ ข้อกำหนดดังกล่าวจึงเป็น “ เงื่อนไข” โดยเป็น “ เงื่อนไขบังคับก่อน” คือเมื่อมีการ ยกเลิกสปก ๔-๐๑ และมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรืออออกโฉนด นิติกรรมย่อมเป็นผล ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๘๓ ซึ่งในอนาคตข้างหน้าอาจมีการยกเลิกสปก ๔-๐๑ และมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือออกโฉนดหรือไม่ก็ได้ไม่แน่นอน เงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่ใช่เงื่อนไขที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีงามของประชาชนหรือเงื่อนไขกลายเป็นพ้นวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๘๘,๑๘๙แต่อย่างใดไม่
๖.กฏหมายไม่ได้ห้ามจำหน่ายหรือก่อภาระผูกพันธ์ในที่ดิน สปก ๔-๐๑ โดยเด็ดขาด เพียงแต่ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการหรือผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการก่อน พรบ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรฯ มาตรา ๒๘ ดังนั้น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน สปก ๔-๐๑โดยกำหนดโอนกันครั้งแรกในเวลา ๓ ปี จึงเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฏหมาย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ และตามสัญญาที่กำหนดโอนที่พิพาทโดยโจทก์ผู้ซื้อจะมีหนังสือแจ้งจำเลยให้โอนที่พิพาทภายใน ๓ ปี จึงเป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ไม่อาจทำได้ คำพิพากษาฏีกา ๔๖๘-๔๖๙/๒๕๔๑
๗. โจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตที่ดินที่ปฏิรูปจำนวน ๒๐ ไร่ ๒ งาน ๘๔ ตารางวาอยู่แล้วและมีรายได้พอแก่การเลี้ยงจึงขาดคุณสมบัติที่จะรับมรดกในที่ดิน สปก ๔-๐๑ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและไม่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิ์รับมรดกที่ดินพิพาทหรือไม่ เพราะแม้ได้รับมาก็ไม่มีสิทธิ์โอน คำพิพากษาฏีกา ๒๙๑๙/๒๕๔๕
๘.ที่ป่าสงวนแห่งชาติเป็นที่ดินของรัฐ แม้ถูกเพิกถอนการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนประเภทที่ดิน วัตถุประสงค์ การใช้ประโยชน์ในที่ดิน และเปลี่ยนหน่วยงานของรัฐที่จะมาดูแลและใช้ประโยชน์จาก กรมป่าไม้ มาเป็น สปก โดยให้ สปก เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่ ไม่อาจถือได้ว่า สปก เป็นบุคคลผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอื่น จึงยังไม่มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน
๙. การที่ สปก ออกเอกสารสิทธิ์ สปก ๔-๐๑ ให้เกษตรกร เป็นเพียงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเท่านั้น ไม่มีผลเปลี่ยนสถานะทางกฎหมายของที่ดินนั้นจากที่ดินที่เป็นของรัฐให้มาเป็นที่ของเอกชนได้
๑๐. การ ได้มาซึ่งที่ดินมีเอกสาร สปก ๔-๐๑ ไม่อาจถือได้ว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอื่นตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงยังไม่มีบุคคลได้มาตามประมวลกฎหมายที่ดินและยังคงเป็นป่าอยู่ตาม พรบ. ป่าไม้ เพราะตามพรบ.ป่าไม้กำหนดไว้ว่า ที่ดินที่ยังไม่มีบุคคลได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินให้ถือว่าเป็น “ ป่า”
๑๑.เมื่อยังถือว่าที่ดินสปก๔-๐๑ ยังมีสภาพเป็นป่าอยู่ การตัดฟันไม้ประดู่ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามในที่ดินมี สปก ๔-๐๑ โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงมีความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อตัดฟันแล้วไม้ยังเป็นท่อนจึงมีความผิดฐานมีไม้ท่อนที่ยังไม่ได้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และหากมีการแปรรูปไม้ก็มีความผิดฐานแปรรูปไม้ และมีไม้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

ไม่มีความคิดเห็น: