ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ยุติการดำเนินคดีแล้ว ผบตร.ไม่มีอำนาจ”

อัยการผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ผู้เสียหายร้องทุกข์เกินกว่า ๓ เดือน นับจากวันที่ผู้เสียหายรู้ คดีขาดอายุความร้องทุกข์ ให้ยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในข้อหายักยอกทรัพย์ แล้วเสนออัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง ๒ ทราบ จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามพรบ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๑๒ ตามระเบียยบสนง.อัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๕๔ วรรคสาม และข้อ ๑๖๖ ความเห็นแย้งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ว่า ผู้เสียหายร้องทุกข์ในอายุความแล้วจึงไม่ใช่ความเห็นแย้งที่อัยการสูงสุดจะต้องชี้ขาด แต่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่าเหตุในการออกคำสั่งของอัยการว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่อย่างไร โดยอัยการสูงสุดเคยให้สอบสวนในประเด็นเรื่องการร้องทุกข์ของผู้เสียหายจนได้รับผลการสอบสวนเพิ่มเติมและข้อเท็จจริงจนเป็นที่ยุติแล้ว จึงใช้อำนาจอัยการสูงสุดตาม พรบ.อัยการฯ มาตรา ๑๒ พิจารณาคำสั่งยุติการดำเนินคดีของอัยการผู้เชี่ยวชาญว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไรต่อไป ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๒๑/๒๕๕๒
ข้อสังเกต ๑.ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวผู้เสียหายต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิเช่นนั้นขาดอายุความร้องทุกข์
๒. หากผู้เสียหายร้องทุกข์เกิน กำหนดนี้คดีขาดอายุความร้องทุกข์ พนักงานอัยการมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินคดีเนื่องจากสิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญาระงับไปเพราะคดีขาดอายุความร้องทุกข์ แล้วเสนอผู้บังคับบัญชาที่สูงขึ้นกว่าตนอีกหนึ่งชั้นเพื่อทราบโดยเร็ว หากผู้บังคับบัญชาดังกล่าวเห็นด้วยคดีก็เป็นอันยุติไปตามความเห็นของอัยการเจ้าของสำนวน แล้วต้องแจ้งคำสั่งยุติการดำเนินคดีให้ผู้ต้องหาและผู้เสียหายทราบโดยเร็ว การที่ต้องเสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาอีกหนึ่งชึ้นทราบเพื่อเป็นการตรวจสอบและคานอำนาจของอัยการเจ้าของสำนวน
๓.หากผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่าตนหนึ่งชั้นเห็นว่าไม่ถูกต้องให้ทำความเห็นแล้วส่งสำนวนให้อธิบดีสั่งเพิกถอนคำสั่งนั้น หากอธิบดีเป็นคนออกคำสั่ง ให้ทำความเห็นเสนอสำนวนตามลำดับชั้นเพื่อให้อัยการสูงสุดหรือรองอัยการสูงสุดผู้รับมอบหมายเป็นคนสั่งเพิกถอน
๓.เมื่อเป็นคำสั่ง “ยุติการดำเนินคดี” หาใช่เป็น “ คำสั่งไม่ฟ้อง” เพราะคดีขาดอายุความ จึงไม่ต้องปฏิบัติตาม พรบ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาคดีอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา ๑๒ โดยผลของระเบียบสนง.อัยการสูงสุดฯ ข้อ ๕๔วรรคสามและ ๑๖๖ โดยไม่ต้องส่งสำนวนให้ผู้ว่าราชการจังหวัด(กรณีในต่างจังหวัด)หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(กรณีในกรุงเทพ)พิจารณาเพราะ เมื่อคำสั่งยุติดำเนินคดีเด็ดขาดไปแล้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่มีอำนาจมาทำความเห็นแย้งในกรณีนี้ได้ เพราะไม่ใช่การเสนอสำนวนตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๔๕ แต่อย่างใด จึงไม่ใช่ความเห็นแย้งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๔๕ ที่อัยการสูงสุดต้องชี้ขาดว่าได้ร้องทุกข์ภายในอายุความร้องทุกข์หรือไม่ เป็นเพียงต้องพิจารณาเหตุในการออกคำสั่งของอัยการว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่อย่างไร โดยอัยการสูงสุดเคยให้สอบสวนในประเด็นเรื่องการร้องทุกข์ของผู้เสียหายจนได้รับผลการสอบสวนเพิ่มเติมและข้อเท็จจริงจนเป็นที่ยุติแล้ว จึงใช้อำนาจอัยการสูงสุดตาม พรบ.อัยการฯ มาตรา ๑๒ พิจารณาคำสั่งยุติการดำเนินคดีของอัยการผู้เชี่ยวชาญว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร โดยไม่ต้องไปพิจารณาตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีความเห็นมา

ไม่มีความคิดเห็น: