ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“แม้เสียหายก็ไม่เป็นละเมิด”

๑.นายทะเบียนไม่ยอมต่อทะเบียนอาวุธปืนให้ คำพิพากษาฏีกา ๑๐๐/๒๔๗๒
๒.เทศมนตรีไม่อนุญาตให้ฆ่าสุกร คำพิพากษาฏีกา ๑๘๖๒/-๒๔๙๗
๓.ร้องทุกข์, ฟ้องคดี, ร้องขัดทรัพย์ หากไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้ง คำพิพากษาฏีกา ๒๐๐/๒๔๗๙,๑๔๖/๒๔๘๐,๓๗๖/๒๔๘๑,๑๖๖/๒๔๙๐,๗๓๐/๒๔๙๐,๕๙๔/๒๕๐๐,๑๒๓๓/๒๕๐๑,๑๓๓/๒๕๑๖
๔.ยอมให้ร่วมประเวณี โดยชายหลอกว่าจะเลี้ยงดูและจดทะเบียนสมรส ไม่ใช่การหลอกลวงให้สำคัญผิดในตัวบุคคล เพียงแต่จูงใจให้ยินยอม ไม่เป็นละเมิด คำพิพากษาฏีกา ๕๘๖/๒๔๘๘
๕.สมัครใจวิวาท ฝ่ายหนึ่งถูกยิงถึงแก่ความตาย ไม่เป็นละเมิด ภรรยาและบุตรผู้ตายเรียกค่าเสียหายไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๔๘/๒๕๒๓ หรือท้าให้ฟันเพื่อทดลองคาถาอาคม เป็นการสมัครใจให้ทำร้าย ย่อมต้องรับผลที่จะเกิดขึ้น จึงเรียกให้ใช้ค่าเสียหายไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๖๗๓/๒๕๑๐
๖.ปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่คนอื่นโดยเจ้าของยินยอม แม้ไม่เป็นละเมิดแต่ก็ไม่เกิดสิทธิ์ที่จะปลูกสร้างรุกล้ำได้ตลอดไป เมื่อเจ้าของบอกให้รื้อแล้วผู้รับโอนโรงเรือนไม่ยอมรื้อย่อมเป็นการทำละเมิด คำพิพากษาฏีกา ๒๓๑/๒๕๐๔
๗.ยินยอมด้วยวาจาให้ฝังท่อระบายน้ำในที่ดินของตน มีผลเพียงไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ไม่มีสิทธิ์ยอความยินยอมมาผูกพันตลอดไป เจ้าของมีสิทธิ์เรียกให้รื้อถอนได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๐๘๔/๒๕๐๗
๘.ยินยอมให้เปิดคันดินกั้นน้ำในคลองที่เป็นทางน้ำสาธารณะ ทำให้คันดินไม่อยู่ในสภาพกักเก็บน้ำและระบายน้ำเข้านาได้ แม้ข้าวเสียหายก็ไม่เป็นละเมิด คำพิพากษาฏีกา ๗๑๔/๒๕๑๒
ข้อสังเกต ๑.การกระทำการตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แม้จะก่อให้เกิดความเสียหาย เดือดร้อน รำคาญแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หากกระทำการโดยสุจริต แล้ว การกระทำดังกล่าวย่อมไม่เป็นกากรกระทำละเมิดทางแพ่ง หรือเป็นความผิดทางอาญา เช่นบิดามารดาตีลงโทษสั่งสอนบุตรตามสมควร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถเพื่อนำไปตรวจสอบว่าเป็นรถที่ถูกลักทรัพย์มาหรือเป็นรถที่ใช้ในการกระทำความผิดกฎหมายเช่น พามือปืนไปชี้ตัวคนที่จะลอบฆ่า หรือเป็นรถที่ใช้ในการพาคนร้ายหนี หรือใช้รถบรรทุกของผิดกฎหมาย หรือการที่นายทะเบียนไม่ยอมต่อทะเบียนอาวุธปืน ไม่ยอมต่อใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนทั่งราชอาณาจักร เทศมนตรีไม่ยอมให้ฆ่าสัตว์ แม้จะมีผลให้ไม่สามารถฆ่าสุกรได้ หรือการร้องทุกข์ การฟ้องคดี การยึดทรัพย์ที่กระทำไปตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้หากไม่มีเจตนากลั่นแกล้งแล้ว การกระทำดังกล่าวย่อมไม่เป็นละเมิด หรือแม้แต่การจับกุมตรวจค้นจะทำให้บุคคลต้องเสียเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายก็ตาม หากกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่มี เป็นการจับเพราะเป็นความผิดซึ่งหน้าหรือจับกุมตามหมายจับ แต่หากว่าการกระทำดังกล่าวโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้อับอาย เช่นไปจับกุมขณะผู้ต้องหาซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือบุคคลที่มีหน้ามีตาในวงสังคม ตามหมายจับขณะเป็นประธานงานบวชในวัด หรือเป็นประธานในงานมงคลสมรสขณะกำลังทำการบวชหรือทำการสมรสต่อหน้าคนจำนวนมากเพื่อให้ผู้ต้องหามีเจตนาอับอาย แทนที่จะเชิญผู้ต้องหาไปสถานีตำรวจทั้งที่ผู้ต้องหาไม่มีเจตนาหลบหนี ก็ใส่กุญแจมือ โดยกระทำไปโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้อับอาย โดยพานักข่าวไปทำข่าวขณะทำการจับกุม เช่นนี้การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิ์ตามกฎหมายโดยไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕,๖ โดยเป็นการใช้สิทธิ์ตามกฎหมายที่มีแต่รังจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ซึ่งถือว่าเป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๑ และ ป.ว.อ. มาตรา ๘๖,๘๗
๒.ความยินยอมให้กระทำ แม้ก่อให้เกิดความเสียหายก็ไม่เป็นละเมิด แต่ความยินยอมนี้ต้องเป็นความยินยอมที่ไม่ขัดต่อกฏหมายหรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชน การที่หญิงยอมให้ร่วมประเวณีเพราะโดนชายหลอกว่าจะรับเลี้ยงดูและจดทะเบียนสมรส เป็นการจูงใจให้หญิงยอมให้ร่วมประเวณี การที่หญิงย่อมให้ร่วมประเวณีไม่ได้เกิดจากการหลอกลวงให้สำคัญผิดในตัวบุคคลว่าเป็นบุคคลอื่นแต่อย่างใด
๓.เมื่อสมัครใจทะเลาะวิวาท จนฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย ถือผู้ตายมีส่วนร่วมในการทะเลาะวิวาท หรือ การยอมให้เขาฟันเพื่อทดลองคาถาอาคม จึงต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากความยินยอมนั้น แม้จะถูกทำร้ายจนตายหรือบาดเจ็บก็ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย การที่ถูกอีกฝ่ายฆ่าตาย หรือทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ ไม่เป็นการกระทำละเมิด ภรรยาและบุตรจะเรียกค่าเสียหาย ค่าสินไหมทดแทน ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ค่ารักษาพยาบาลและค่าขาดไร้อุปการะในทางแพ่งหาได้ไม่ และไม่ใช่ผู้เสียหายในทางอาญาที่ภรรยาและบุตรจะมาฟ้องร้องหรือแจ้งความร้องทุกข์ได้ แต่หากมาร้องทุกข์ถือเป็นการแจ้งความกล่าวโทษในความผิดอาญาแผ่นดินที่บุคคลที่ไม่ใช่ผู้เสียหายมาแจ้งความ
๔.ยินยอมให้ปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้ามาในที่ ทำให้การปลูกโรงเรือนที่รุกล้ำนั้น ไม่เป็นการละเมิดและไม่เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขอันเป็นความผิดฐานบุกรุกทางอาญาก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การยินยอมนั้นก่อให้เกิดสิทธิ์ที่จะให้ปลูกโรงเรือนรุกล้ำได้ตลอดไป เจ้าของที่ดินมีสิทธิ์จะเรียกให้รื้อถอนเมื่อใดก็ได้ เพียงแต่ความยินยอมดังกล่าวไม่เป็นละเมิดที่จะให้เรียกค่าเสียหายและดำเนินคดีอาญาได้เท่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอนุญาตให้เจ้าของโรงเรือนดังกล่าวโอนขายโรงเรือนดังกล่าวที่รุกล้ำเข้าในที่ดินคนอื่นให้คนอื่นโดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิด การที่เจ้าของที่ดินยินยอมให้ผู้สร้างโรงเรือนสร้างโรงเรือนล้ำเข้ามาในที่ของตน ไม่ได้หมายความว่ายินยอมให้บุคคลอื่นหรือผู้รับโอนโรงเรือนนั้นอยู่ในโรงเรือนที่รุกล้ำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยละเมิด เมื่อเจ้าของที่ดินให้ผู้ซื้อโรงเรือนรื้อถอน การที่ผู้ซื้อโรงเรือนไม่รื้อถอนถือเป็นการกระทำละเมิดต่อเจ้าของที่ดิน นั้นก็คือ เปลี่ยนจากความยินยอมที่ไม่ทำให้เป็นละเมิดกลายเป็นความยินยอมที่เป็นละเมิดนั้นเอง เพราะการที่เจ้าของที่ดินยอมให้เจ้าของโรงเรือนสร้างโรงเรือนล้ำเข้ามาในที่ของตนได้นั้น เป็นกรณีที่เจ้าของที่ดินก่อให้เกิดสิทธิ์เหนือพื้นดินเป็นคุณแก่บุคคลอื่นโดยมิสิทธิ์เป็นเจ้าของโรงเรือนที่รุกล้ำ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๑๐ แต่สิทธิ์เหนื้อพื้นดินดังกล่าว ต้องเกิดขึ้นโดยมีการกำหนดไว้ในนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๑๑จึงจะก่อให้เกิดสิทธิ์ที่จะโอนสิทธิ์เหนือพื้นดินได้ หากไม่ได้มีการทำนิติกรรมสิทธิ์เหนือพื้นดินให้สามารถโอนสิทธิ์เหนื้อพื้นดินได้แล้ว ย่อมไม่อาจโอนให้แก่บุคคลภายนอกได้ ดังนั้น การโอนขายโรงเรือนที่รุกล้ำให้แก่บุคคลภายนอก บุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิ์เหนือพื้นดินดังกล่าว การที่ผู้ซื้อกลายเป็นเจ้าของโดยไม่มีกฏหมายรองรับว่ามีสิทธิ์เหนือพื้นดินที่รุกล้ำ การเข้ามาอยู่จึงเป็นการละเมิดต่อเจ้าของที่ดินซึ่งเจ้าของที่ดินสามารถให้รื้อถอนโรงเรือนนั้นออกไปได้
๕.ยินยอมด้วยวาจาให้ฝั่งท่อระบายน้ำในที่ดินของตนมีผลเพียงให้การฝังท่อระบายน้ำในที่ดินคนอื่นไม่เป็นการกระทำละเมิดเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะถือความยินยอมนั้นว่าต้องยินยอมตลอดไป เมื่อเจ้าของที่ดินเรียกให้รื้อถอนออกไปต้องทำการรื้อถอน กรณีนี้ไม่ใช่กรณีที่จ่ายค่าทดแทนตามสมควรให้แก่เจ้าของที่ดินเพื่อให้ตนวางท่อระบายน้ำผ่านที่ดินคนอื่นที่ติดต่อกัน โดยหากไม่ยอมให้ผ่านก็ไม่มีทางจะวางได้ หรือต้องใช้เงินมากเกินควร ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๕๒ และไม่ใช่กรณีเจ้าของที่ดินยอมให้เกิดสิทธิ์เหนือพื้นดินอันเป็นคุณแก่บุคคลอื่นในการวางท่อระบายน้ำใต้ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๑๐ โดยมีการทำนิติกรรมโดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตผู้ทรงสิทธิ์เหนือพื้นดินนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๑๒ แต่อย่างใดไม่ เมื่อเป็นการอนุญาตด้วยวาจา ไม่ได้ทำเป็นหนังสืออันจะก่อให้เกิดสิทธิ์เหนือพื้นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๑๑
๖.การยอมให้เปิดคันดินในคลองสาธารณะจนคันดินไม่สามารถเก็บกักน้ำและระบายน้ำได้จนต้นข้าวขาดน้ำ เมื่อยินยอมให้เปิดคันดินย่อมต้องรับผลที่จะเกิดขึ้นด้วยว่า การเปิดคันดินดังกล่าวจะทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้และไม่สามารถระบายน้ำได้จนข้าวขาดน้ำจนต้องถึงแก่ความตาย ความยินยอมดังกล่าวจึงไม่ทำให้การเปิดคันดินจนต้นข้าวตายเป็นการทำละเมิด

ไม่มีความคิดเห็น: