ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พาหนะที่ศาลริบได้ ตาม ปอ ๓๓(๑) ต้องเป็นพาหนะชนิด "ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำผิด "

ตัวอย่าง อย่างไรเรียกว่า "ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำผิด"

๑๒๓๓ / ๒๕๓๓ การที่จำเลยได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ของกลางไปพยายามปล้นทรัพย์แต่ก็เป็นเพียง ยานพาหนะไปมาและพาจำเลยกับพวกหลบหนีให้พ้นจากการจับกุมโดยสะดวกและรวดเร็ว เท่านั้น รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึง ริบ

แนวทางการวิเคราะห์ว่ารถของกลางเป็นรถที่ใช้ในการกระทำผิดหรือไม่มีข้อควรพิจารณาดังนี้

๑.การพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้รถเป็นพาหนะ กล่าวคือถ้าไม่มีรถแล้วไม่สามารถกระทำผิดได้จึงต้องใช้รถมาประกอบด้วย รถนั้นก็เป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิด ซึ่งมีประเด็นพิจารณาได้แก่
ก) ความเร็วของรถ
เช่นการลักทรัพย์สินสิ่งของในรถบรรทุก หรือที่เรียกว่า “แก๊งไทยถีบ” โดยคนร้ายมีวิธีการลักสิ่งของบนรถบรรทุกสินค้าที่วิ่งอยู่ตามถนนโดยใช้วิธี ใช้รถกระบะขนาดเล็กวิ่งตามหลักรถบรรทุกที่กำลังขับขึ้นเนินและชะลอความเร็ว วิ่งเข้าไปจอดต่อท้ายแล้วคนร้ายปีนขึ้นไปด้านหลังรถบรรทุกสิ่งของที่อยู่ ด้านหน้าลักเอาทรัพย์สินขนถ่ายมาใส่รถกระบะตนเอง ลักษณะการกระทำผิดต้องใช้รถที่มีความเร็วเป็นส่วนประกอบในการประกบติดรถ บรรทุก จึงได้ถือว่ารถกระบะของคนร้ายเป็นรถที่ใช้ในการกระทำความผิดศาลพึงริบ
ฎ. 1519/2521 ความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์รถบรรทุกสินค้าโดยพวกจำเลยขับรถยนต์กระบะตามหลัง รถบรรทุกที่จะปล้นในระยะกระชั้นชิดแล้วจำเลยปีนจากรถกระบะของตนที่แล่นตาม หลังขึ้นไปบนรถบรรทุก เห็นได้ว่าจำเลยได้ใช้รถกระบะเป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด รถยนต์กระบะเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้กระทำผิด ศาลมีอำนาจสั่งริบได้

ข) น้ำหนักบรรทุกสิ่งของในคดีความผิดตามกฎหมายทางหลวง
กรณีบรรทุกน้ำหนักเกิน ศาลวินิจฉัย ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 โดยใช้
ดุลพินิจริบรถที่บรรทุกน้ำหนักเกินด้วยโดยพิจารณาถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

2135/2541 จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกมีน้ำหนักบรรทุกรวมกับน้ำหนักรถเกินอัตราที่กฎหมาย กำหนดถึง 18,990 กิโลกรัม เป็นการที่จำเลยไม่นำพาว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเพียงใดต่อ สภาพทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสมบัติส่วนรวมและมีไว้เพื่อประโยชน์ของสาธารณะชน สมควรให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลาง

คดีความผิดเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อทรัพย์หากจำเลยไม่สามารถเอาทรัพย์ไปได้ เพราะมีน้ำหนักมากจำต้องใช้รถ รถก็เป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดที่ศาลริบได้

234/2530 จำเลยกับพวกต้องการใช้รถจักรยานยนต์บรรทุกยางแผ่นที่ลักมาจากผู้เสียหาย เนื่องจากไม่สามารถแบกได้ รถจักรยานยนต์จึงเป็นทรัพย์สินที่ใช้กระทำผิด

ค) การใช้รถเพื่อวัตถุประสงค์ในการหลีกเลี่ยงการตรวจของเจ้าพนักงานเป็นการ เฉพาะ เช่น ในคดีความผิดตามกฎหมายคนเข้าเมืองต้องถือว่ารถเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการ กระทำผิด

1598/2521 จำเลยใช้เรือกาบของกลางบรรทุกคนต่างด้าวสัญชาติลาวเข้ามาในช่องทางอื่นอันมิ ใช่ช่องทางที่ประกาศกำหนดและไม่ผ่านการตรวจโดยรับสินจ้างจากคนต่างด้าว เรือกาบพร้อมด้วยไม้พายจึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้เพื่อให้รับผลในการกระทำผิด โดยตรงจึงเป็นของควรริบ

แต่ถ้าเป็นแต่เพียงรับคนต่างด้าวขึ้นรถไปตามที่ต่างๆ เพื่อให้พ้นจาการจับกุมไม่ถือว่ารถเป็นพาหนะในการใช้กระทำผิดช่วยเหลือคน ต่างด้าวโดยตรง

5426/2536 การใช้รถยนต์ของกลางเพื่อช่วยคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระ ราชบัญญัติคนเข้าเมือง มาตรา 64 วรรคแรก เพื่อให้พ้นจากการจับกุม โดยใช้รถยนต์ของกลางเป็นพาหนะให้คนต่างด้าว นั่งมาในรถยนต์ของกลางด้วยถือไม่ได้ว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ใน การกระทำความผิดดังกล่าว จึงไม่ริบรถยนต์ของกลาง

ง) การใช้เป็นอุปกรณ์ในการให้ได้รับผลในการกระทำความผิดถ้าไม่เช่นนั้นผลจะยังไม่เกิด

2356/2530 จำเลยขุดทรายในแม่น้ำอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยไม่ได้รับอนุญาต รถยนต์ที่ใช้บรรทุกทรายที่ขุดได้จากแม่น้ำถือว่าเป็นพาหนะที่ได้ใช้เป็น อุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงต้องริบ

ข้อสังเกต - กรณีบางเรื่องที่แม้จะมีรถเข้ามาประกอบในการกระทำผิดแต่ไม่อาจถือได้ว่ารถ เป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิด แต่อาจเป็นความผิดในเหตุฉกรรจ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นคน ละอย่างกับทรัพย์สินที่ต้องริบโดยดุลพินิจของศาล

2712/2532 จำเลยเพียงแต่ใช้รถยนต์ของกลางเป็นพาหนะไปลักและบรรทุกเอาพระพุทธรูปไป จากวัดที่เกิดเหตุ ไม่ได้ใช้ในการลักพระพุทธรูปดังกล่าวโดยตรง รถยนต์นั้นจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะถึงริบ

1829/2538 จำเลยซ่อนเฮโรอีนที่มีไว้ในความครอบครองไว้ใต้พรมหลังที่นั่งคนขับรถยนต์ไม่ทำให้รถยนต์เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิด

ไม่มีความคิดเห็น: