คำสั่งยึดทรัพย์ชั่วคราวตามความในมาตรา ๒๒ วรรคสอง ,๑๙ วรรค สอง พรบ.มาตราการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายเฉพาะที่มีผลกระทบต่อสถานภาพผู้ที่จะถูกยึดทรัพย์ อันเป็นคำสั่งทางปกครอง การที่จะเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวต้องมีการอุทธรณ์ตามมาตรา ๔๐,๔๔วรรค ๑ พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เสียก่อน จึงจะมีสิทธิ์นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เนื่องจากพรบ. มาตรการในการปราบปรามยาเสพติดฯ ไม่ได้กำหนดขั้นตอนในการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้นเมื่อผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งยึดทรัพย์สินเมื่อพ้นระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ ตามมาตรา ๔๐ พรบ.วิธีปฏิบัติหน้าที่ราชการทางปกครอง จึงไม่มีสิทธิ์นำคดีมาฟ้องศาลปกครอง คำสั่งศาลปกครอง ๗๘๓/๒๕๔๗
ข้อสังเกต ๑. กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินของผู้ต้องหารายใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวเนื่องยาเสพติดให้โทษ ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้นั้นได้ ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษอาจสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหาไปพลางก่อนแล้วรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินทราบ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบทรัพย์สิน หากมีเหตุอันควรเชื่อว่าทรัพย์สินรายใดอาจมีการ โอน ยักย้าย ซุกซ่อนหรือเป็นกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างอื่นให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีอำนาจสั่งยึดอายัดทรัพย์สินรายนั้นไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีการวินิจฉัย ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิ์ผู้ถูกตรวจสอบทรัพย์สินหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จะยื่นคำร้องขอผ่อนผันเพื่อขอรับทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์โดยไม่มีประกันหรือมีประกัน หรือมีประกันและมีหลักประกันก็ได้
๒.กรณีคำสั่งทางปกครองไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรีและไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้อุทธรณ์คำสั่งต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่ง โดยต้องทำเป็นหนังสือ ระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิง การอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง เว้นแต่จะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับโดยเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งหรือผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์หรือผู้มีอำนาจวินิจฉัยความถูกต้องของคำสั่งทางปกครอง
๓.คำสั่งทางปกครองต้องระบุระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งไว้ คือต้องระบุในคำสั่งว่าให้อุทธรณ์ภายในกี่วัน หากไม่ได้ระบุเอาไว้ ให้นับระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งนั้นเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ได้แจ้งคำสั่งใหม่ ถ้าไม่ได้มีการแจ้งคำสั่งใหม่ และระยะเวลาดังกล่าวสั้นกว่า ๑ ปี ให้ขยายออกไปเป็น ๑ ปีนับแต่วันได้รับคำสั่งทางปกครอง คือเมื่อมีคำสั่งทางปกครองต้องระบุว่าให้อุทธรณ์ภายในกี่วัน หากไม่ได้กำหนดไว้ให้ระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งใหม่ว่าให้อุทธรณ์ภายในกี่วัน หากไม่มีการแจ้งคำสั่งใหม่และระยะเวลานั้นสั้นกว่า ๑ ปี ก็ให้ขยายเวลาอุทธรณ์ไป ๑ ปีนับแต่ได้รับคำสั่งทางปกครอง
๔.คำสั่งยึดทรัพย์สินชั่วคราว เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฏหมายกำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ ปกติต้องอุทธรณ์คำสั่งภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง หากไม่ได้ระบุระยะเวลาในการอุทธรณ์คำสั่งเอาไว้เอาไว้ ให้นับระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งนั้นเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ได้แจ้งคำสั่งใหม่ ถ้าไม่ได้มีการแจ้งคำสั่งใหม่ และระยะเวลาดังกล่าวสั้นกว่า ๑ ปี ให้ขยายออกไปเป็น ๑ ปีรับแต่วันได้รับคำสั่งทางปกครอง เมื่อไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ก็ไม่มีสิทธิ์นำคดีมาฟ้องที่ศาลปกครองได้ เพราะการฟ้องคดีในศาลปกครองได้นั้น ก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด หากไม่ได้ ดำเนินการตามที่กฎหมายนั้นกำหนด หรือมิได้ดำเนินการภายในเวลาอันควร หรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เช่น ต้องดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายก่อนฟ้อง โดยอาจต้องยื่นอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ก่อนเมื่อพ้นระยะเวลาแล้วจึงสามารถยื่นฟ้องได้ การยื่นฟ้องโดยไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายก่อนฟ้อง ย่อมทำให้ไม่มีสิทธิ์นำคดีมาสู่ศาลปกครองได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น