ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

หมายเหตุท้ายฎีกาหลายคดี

การที่จะเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ได้ต้องมี "การกระทำร่วมกัน" และมี "เจตนาร่วมกัน" ในการกระทำความผิด การกระทำร่วมกันในการข่มขืนกระทำชำเรานั้นรวมตลอดถึงการนั่งอยู่ที่โต๊ะใกล้ห้องน้ำที่เกิดเหตุและถือเสื้อให้เพื่อนที่เข้าไปข่มขืนโดยคอยดูเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วแจ้งเหตุร้ายแก่ผู้ที่ข่มขืนด้วย (คำพิพากษา ศาลฎีกาที่ 1715/2528)
ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1489/2543 นี้ จำเลยที่ 3 ออกไปจากห้องแล้วปล่อยให้จำเลยคนอื่น ๆ ข่มขืนกระทำชำเรา โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 ออกไปจากห้องก็ยังอยู่ใกล้ ๆ ห้องและคอยทำหน้าที่แจ้งสัญญาอันตรายให้แก่ผู้ที่ลงมือข่มขืนในห้อง จำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นตัวการ แต่เป็นเพียงผู้สนับสนุนโดยการช่วยเหลือให้ความสะดวก "ก่อน" การข่มขืน
ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1489/2543 นี้ คล้ายลึงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2073/2537 ซึ่งศาลฎีกาก็ตัดสินว่าไม่เป็นตัวการแต่เป็นผู้สนับสนุน
หมายเหตุ โจทก์จำเลยทั้งสอง โต้แย้งสิทธิกันและต่างฟ้องกันเป็นคดีแพ่งโดยต่างฝ่ายต่างอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครอง ซึ่งต้องหมายความว่าโจทก์เข้าใจว่าตนมีสิทธิในที่พิพาทที่จะเข้าครอบครอง (right to possess) ส่วนจำเลยทั้งสองได้เข้าไปปักเสาขึงลวดหนามและจำเลยที่ 2 ปลูกต้นผลไม้ในที่ดินนั้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ยึดถือโดยเจตนายึดถือเพื่อตนแล้วจำเลยทั้งสองจึงได้สิทธิครอบครองอาจจะได้สิทธิครอบครองมาโดยมิชอบด้วยกฎหมายก็ได้ (ดูจิตติ ติงศภัทิย์)
บันทึกท้ายคำพิพากษาฎีกาที่ 2069/2527 จัดพิมพ์โดยเนติบัณฑิตยสภาซึ่งกล่าวว่า แม้ผู้ที่ขโมยหรือผู้บุกรุก ก็ "ครอบครอง" เป็น "การครอบครอง" และได้ "สิทธิครอบครอง" โดยสมบูรณ์) ซึ่งคดีนี้ข้อเท็จจริงยังไม่มีถึงขนาดได้สิทธิครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายก็ได้ เพียงแต่จำเลยทั้งสองเข้าใจไปว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าไม่มีเจตนาจะบุกรุกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 กรณีต้องด้วยมาตรา 62 เพราะการที่จำเลยทั้งสองเข้าใจว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งอาจไม่เป็นความจริงตามนั้นก็ได้ จึงได้เข้าไป ทำการดังกล่าวในที่พิพาท หมายความว่าการที่ไม่เป็นความผิด อ้างได้แต่เพียงว่าเข้าใจว่าทำได้โดยมีสิทธิเช่นนั้น ซึ่งเป็นความสำคัญผิดว่ามีข้อเท็จจริงซึ่งความจริงไม่มีตามมาตรา 62 เท่านั้น ขอให้ดูบันทึกท้ายคำพิพากษาฎีกาที่ 4854/2537 ของข้าพเจ้าซึ่งได้ลงพิมพ์ไปแล้วในเล่ม 10 ผู้เขียนหมายเหตุ

หมายเหตุ ความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 มีสองกรณีด้วยกัน กรณีแรกคือการบุกรุกด้วยการ "ถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า การบุกรุกโดยการแย่งการครอบครอง ส่วนกรณีที่สองคือการ "รบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า การบุกรุกโดยการรบกวนการครอบครอง
การบุกรุกกรณีที่สอง คือการบุกรุกโดยการรบกวนการครอบครองนั้น คือการเข้าไปกระทำการใด ๆ ในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข การบุกรุก กรณีที่สองนี้ ผู้กระทำจะต้องเข้าไปกระทำการใด ๆ ใน "อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น" อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2512 ได้วินิจฉัยว่า แม้อสังหาริมทรัพย์จะเป็นของจำเลยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยปกติสุข จำเลยก็มีความผิดตามมาตรา 362 ได้ ด้วยเหตุนี้ การบุกรุกโดยการรบกวนการครอบครองนั้น อสังหาริมทรัพย์ที่จำเลยบุกรุกอาจเป็นของผู้อื่นก็ได้ หรืออาจเป็นของจำเลยเองก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2264/2538 นี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์และกระทำการต่าง ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข เป็นการฟ้องว่าจำเลย "เข้าไปกระทำการใด ๆ ในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น (โจทก์) อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขา (โจทก์) โดยปกติสุข"
เมื่อรูปคดีเป็นเช่นนี้ ปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือ ความจริงอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นของผู้ใด เมื่อได้ความเช่นใดแล้ว ปัญหาต่อไป คือ จำเลยเข้าใจว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ของผู้ใด
สำหรับประเด็นที่ว่า ความจริงอสังหาริมทรัพย์เป็นของผู้ใดนั้น ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ยังไม่เป็นที่ยุติ เพราะโจทก์และจำเลยยังโต้แย้งสิทธิในที่ดินกันอยู่
อย่างไรก็ตาม แม้ในที่สุดจะปรากฏว่าที่ดินนั้นเป็นของโจทก์ การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 อยู่นั่นเอง เพราะโจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ แต่เมื่อจำเลยเข้าใจไปว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นของจำเลยเสียแล้ว ก็ถือว่าจำเลยขาดเจตนาบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ ซึ่งก็ตรงกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกา
ในการวินิจฉัยความรับผิดในทางอาญานั้น กรณีดังต่อไปนี้มีความใกล้เคียงกันมากคือ
(1) การขาดองค์ประกอบภายนอก
(2) การไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก
และ (3) การสำคัญผิดในข้อเท็จจริง
ในการวินิจฉัย จะต้องพิจารณาในเบื้องแรกเสียก่อนว่า เป็นการ ขาดองค์ประกอบภายนอกหรือไม่ หากไม่ใช่ จึงค่อยพิจารณาต่อไปว่า เป็นการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกหรือไม่
หากไม่ใช่ จึงพิจารณาต่อไปว่า เป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงหรือไม่
ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้ทำหมายเหตุไว้ท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1076/2522 ดังต่อไปนี้
"ข้อเท็จจริงที่ทำให้เป็นความผิดมีอยู่ครบถ้วน แต่ผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงเหล่านั้น ผู้กระทำไม่มีเจตนากระทำผิดตามมาตรา 59 วรรคสาม ถ้าข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบความผิดมีอยู่ครบถ้วน และผู้กระทำก็รู้แล้ว ครบองค์ความผิดแล้ว แต่ผู้กระทำเข้าใจผิดว่ามีข้อเท็จจริงอื่นนั้นอีกที่ทำให้การกระทำไม่เป็นความผิดเป็นกรณีตามมาตรา 62 วรรคแรกที่ผู้กระทำไม่มีความผิด"
ในการวินิจฉัยความรับผิด ประเด็นแรกที่จะต้องพิจารณาคือ การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอกหรือไม่ เช่น นายแดงยิงนายดำ ย่อมครบองค์ประกอบภายนอกของ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 หรือนายแดงลักทรัพย์ของนายดำ ก็ครบองค์ประกอบภายนอก ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
แต่ถ้านายแดงยิงไปที่ศพของนายดำ ก็ถือว่าขาดองค์ประกอบภายนอกของมาตรา 288 หรือนายแดงหยิบเอาทรัพย์ของตนเองไปขาย ก็ถือว่าขาดองค์ประกอบภายนอกของมาตรา 334
ผลในทางกฎหมายของการขาดองค์ประกอบภายนอกคือ ผู้กระทำไม่มีความผิดในฐานนั้น ๆ เลย แม้ในฐานพยายามซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ ผู้กระทำก็ไม่มีความผิด
ซึ่งในเรื่องนี้ศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย และศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ มีความเห็นตรงกัน (ดู หยุด แสงอุทัย, กฎหมายอาญาภาค 1 (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527), น. 84-85 และ ดู จิตติ ติงศภัทิย์, กฎหมายอาญาภาค 1 (กรุงเทพ : สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา 2536), น. 331-332 และนอกจากนั้นให้ดูคำถาม ข้อเขียน และธงคำตอบของอนุกรรมการทดสอบความรู้ในวิชากฎหมายในการทดสอบความรู้ในวิชากฎหมายแก่ผู้สมัครเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาวันที่ 30 กรกฎาคม 2529 วิชากฎหมายอาญา ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่า หญิงมิได้ตั้งครรภ์ แต่สำคัญผิดว่าตั้งครรภ์ จึงไปทำแท้ง ธงคำตอบคือ หญิงไม่มีความผิดตามมาตรา 301 แม้พยายามตามมาตรา 81 ก็ไม่ผิด "เพราะที่จะเป็นการพยายามกระทำความผิดนั้นจะต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานของความผิดนั้นครบทุกประการแล้ว"

หากการกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอกแล้ว ประเด็นต่อไปที่จะต้องพิจารณาคือ ผู้กระทำรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกนั้นหรือไม่

เช่น นายแดงยิงนายดำตาย หากนายแดงรู้ว่าเป็นการฆ่านายดำ ก็ถือว่าเป็นการรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288 หรือนายแดงหยิบเอาทรัพย์ของนายดำไป
หากนายแดงรู้ว่าเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นก็ถือว่ารู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ตรงกันข้าม ถ้าการที่นายแดงยิงไปที่นายดำนั้น นายแดงเข้าใจว่าเป็นการยิงหมูป่า ก็ถือว่านายแดงไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดตามมาตรา 288 หรือการที่นายแดงหยิบเอาทรัพย์ของนายดำไปนั้น นายแดงเข้าใจว่าเป็นการหยิบเอาทรัพย์ของตนเองไป ก็ถือว่านายแดงไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดตามมาตรา 334

ผลในทางกฎหมายของการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก คือถือว่า ผู้กระทำขาด "เจตนา" ทั้งนี้ตามที่มาตรา 59 วรรคสามได้บัญญัติไว้ว่า "ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้"

คำว่า "องค์ประกอบ" ของความผิดในที่นี้ หมายความถึง "องค์ประกอบภายนอก" ของความผิดนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา 59 ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทผู้กระทำจะต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาท หากการกระทำโดยประมาทนั้นมีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 62 วรรคสอง

หากผู้กระทำรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดและผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลแล้ว ก็ถือว่า ผู้กระทำมีเจตนา

ประเด็นต่อไปที่จะต้องพิจารณา คือ ผู้กระทำได้สำคัญผิดใน ข้อเท็จจริงตามมาตรา 62 วรรคแรกหรือไม่ ซึ่งมีอยู่ 3 กรณี คือ
(1) สำคัญผิดในข้อเท็จจริงซึ่งทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด
(2) สำคัญผิดในข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ
และ (3) สำคัญผิดในข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ผู้กระทำได้รับโทษน้อยลง

จะเห็นได้ว่า การสำคัญผิดในข้อเท็จจริงตามมาตรา 62 นั้น จะนำมาใช้เพื่อเป็นคุณแก่ผู้กระทำได้ จะต้องเป็นกรณีที่ (1) การกระทำนั้นจะต้องครบองค์ประกอบภายนอกแล้ว และ (2) การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องมีเจตนามาแล้ว

ตัวอย่างของกรณีสำคัญผิดในข้อเท็จจริงซึ่งทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด เช่น ข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 155/2512 ซึ่งเป็นเรื่องตำรวจมีหมายค้นและหมายจับไปจับกุมจำเลยที่บ้าน ซึ่งอยู่ในที่เปลี่ยวในเวลาวิกาลโดยปีนบ้านและรื้อฝาบ้านจำเลยและส่องไฟฉายเข้าไปในบ้าน จำเลยสำคัญผิดว่าโจรเข้าปล้นจึงใช้ปืนยิงตำรวจบาดเจ็บ แม้เจ้าหน้าที่จะได้ตะโกนบอกว่าเป็นตำรวจก็ตาม แต่จำเลยก็เคยถูกปล้น โดยคนร้ายปลอมเป็นตำรวจมาก่อน พฤติการณ์ของจำเลยมีลักษณะเป็นการป้องกันสิทธิของตนพอสมควรแก่เหตุ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความผิด

ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องนี้ เป็นกรณีป้องกันพอสมควรแก่เหตุโดยสำคัญผิด เป็นกรณีสำคัญผิดในข้อเท็จจริงซึ่งทำให้การกระทำไม่เป็นความผิดตามมาตรา 62 ประกอบกับมาตรา 68

ซึ่งจะเห็นได้ว่า การจะอ้างความสำคัญผิดตามมาตรา 62 เพื่อเป็นคุณแก่ผู้กระทำนั้น ก่อนอื่นการกระทำนั้นจะต้องครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนั้น ๆ เสียก่อน

ซึ่งข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องนี้ การกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ทุกประการ
เพราะจำเลยคือ "ผู้ใด" การที่จำเลยใช้ปืนยิงเป็นการ "ฆ่า" และผู้ที่ถูกยิงเป็น "ผู้อื่น" เมื่อการกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดทุกประการแล้ว

ขั้นตอนต่อไปที่จะต้องพิจารณา คือให้ดูว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้อื่นหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาฆ่า
เพราะ (1) จำเลยรู้ว่าการกระทำของตนเป็นการ "ฆ่า" และรู้ว่าผู้ที่ถูกฆ่าเป็น "ผู้อื่น"
และ (2) จำเลยประสงค์ต่อผล เมื่อจำเลยมีเจตนาฆ่าครบถ้วนแล้ว

ขั้นตอนสุดท้าย จึงค่อยพิจารณาว่าจำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 หรือไม่
ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า จำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่า การกระทำไม่เป็นความผิด กล่าวคือสำคัญผิดว่ากำลังกระทำการต่อภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นการป้องกันโดยสำคัญผิด

ตัวอย่างของกรณีสำคัญผิดในข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ เช่น นายแดงลักทรัพย์ของนายดำโดยสำคัญผิดว่าเป็นทรัพย์ของนางขาวภริยาของนายแดง ซึ่งผลในทางกฎหมายคือ แม้นายแดงจะมีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายดำ แต่นายแดงอ้างความสำคัญผิดว่าทรัพย์นั้นเป็นของภริยาของตน มาเป็นคุณแก่นายแดงเพื่อทำให้ไม่ต้องรับโทษได้ เพราะหากทรัพย์นั้นเป็นของภริยาของนายแดงแล้ว นายแดงย่อมได้รับการยกเว้นโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคแรก ซึ่งจะเห็นได้ว่าการจะอ้างความสำคัญผิดตามมาตรา 62 เพื่อเป็นคุณแก่ผู้กระทำนั้น ก่อนอื่นการกระทำนั้นจะต้องครบ องค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนั้น ๆ เสียก่อน ซึ่งข้อเท็จจริงตามตัวอย่าง การกระทำของนายแดงครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ทุกประการ เพราะนายแดงคือ "ผู้ใด" การที่นายแดงหยิบเอาทรัพย์ไปเป็นการ "เอาไป" และเมื่อทรัพย์นั้นเป็นของนายดำจึงเป็น "ทรัพย์ของผู้อื่น" เมื่อการกระทำของนายแดงครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดทุกประการแล้ว

ขั้นตอนต่อไปที่จะต้องพิจารณา คือให้ดูว่า นายแดงมีเจตนาลักทรัพย์ของผู้อื่นหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า นายแดงมีเจตนาแล้ว เพราะ (1) นายแดงรู้ว่าการกระทำของตนเป็นการ "เอาไป" และรู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่น (แม้นายแดงจะเข้าใจว่าเป็นทรัพย์ของภริยา ก็ถือว่านายแดงรู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่น เพราะทรัพย์ของภริยาก็คือทรัพย์ของผู้อื่น)
และ (2) นายแดงประสงค์ต่อผล เมื่อนายแดงมีเจตนาลักทรัพย์ชิ้นนั้น แล้ว

ขั้นตอนสุดท้าย จึงค่อยพิจารณาว่านายแดงสำคัญผิดในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 หรือไม่
ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า นายแดงสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าการกระทำนั้นผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ เพราะถ้าทรัพย์นั้นเป็นของภริยาของนายแดงตามที่นายแดงเข้าใจแล้ว นายแดงย่อมได้รับการยกเว้นโทษตามมาตรา 71 วรรคแรก แต่เมื่อความจริงทรัพย์นั้นเป็นของนายดำ นายแดงจึงต้องอ้างความสำคัญผิดตามมาตรา 62 เพื่อเป็นคุณแก่นายแดง

ตัวอย่างของกรณีสำคัญผิดในข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ผู้กระทำได้รับโทษน้อยลง เช่น นายแดงลักทรัพย์ของนายเขียว โดยสำคัญผิดว่าเป็นทรัพย์ของนายเหลืองบิดาของนายแดง ซึ่งในทางกฎหมาย คือ แม้นายแดงจะมีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายเขียว แต่นายแดงอ้างความสำคัญผิดว่าทรัพย์นั้นเป็นของบิดาของตนมาเป็นคุณแก่นายแดงเพื่อทำให้ได้รับโทษน้อยลงได้ เพราะหากทรัพย์นั้นเป็นของบิดาของนายแดงแล้ว นายแดงอาจได้รับโทษน้อยลงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคสอง

ซึ่งจะเห็นได้ว่า การจะอ้างความสำคัญผิดตามมาตรา 62 เพื่อเป็นคุณแก่ผู้กระทำนั้น
ประการแรก การกระทำนั้นจะต้องครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดนั้น ๆ เสียก่อน ซึ่งข้อเท็จจริงตามตัวอย่าง การกระทำของนายแดงครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ทุกประการ เพราะนายแดงคือ "ผู้ใด" การที่นายแดงหยิบเอาทรัพย์ไปเป็นการ "เอาไป" และเมื่อทรัพย์นั้นเป็นของนายเขียว จึงเป็น "ทรัพย์ของผู้อื่น" เมื่อการกระทำของนายแดงครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดทุกประการแล้ว
ขั้นตอนต่อไปที่จะต้องพิจารณา คือให้ดูว่า นายแดงมีเจตนาลักทรัพย์ของผู้อื่นหรือไม่
ซึ่งจะเห็นได้ว่า นายแดงมีเจตนาแล้ว
เพราะ (1) นายแดงรู้ว่า การกระทำของตนเป็นการ "เอาไป" และรู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่น (แม้นายแดงจะเข้าใจว่าเป็นทรัพย์ของบิดา ก็ถือว่านายแดงรู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่นเพราะทรัพย์ของบิดาก็คือทรัพย์ของผู้อื่น) และ (2) นายแดงประสงค์ต่อผล เมื่อนายแดงมีเจตนาลักทรัพย์ชิ้นนั้นแล้ว

ขั้นตอนสุดท้ายจึงค่อยพิจารณาว่านายแดงสำคัญผิดในข้อเท็จจริงตามมาตรา 62 หรือไม่
ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า นายแดงสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าการกระทำนั้นผู้กระทำอาจได้รับโทษน้อยลง เพราะถ้าทรัพย์เป็นของบิดาของนายแดงตามที่นายแดงเข้าใจแล้ว นายแดงอาจได้รับโทษน้อยลงตามมาตรา 71 วรรคสอง แต่เมื่อความจริงทรัพย์นั้นเป็นของนายเขียว นายแดงจึงต้องอ้างความสำคัญผิดตามมาตรา 62 เพื่อเป็นคุณแก่นายแดง

กล่าวโดยสรุปก็คือ ในการวินิจฉัยปัญหาเหล่านี้
ประการแรก ต้องดูเสียก่อนว่าความจริงการกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนั้น ๆ หรือไม่ หากความจริงการกระทำนั้นม่ครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนั้น ๆ แล้วผู้กระทำก็ไม่มีความผิดฐานนั้น ๆ เลย แต่ถ้าตามความเป็นจริง การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนั้น ๆ แล้ว

ขั้นตอนต่อมาคือให้ดูว่า ผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดฐานนั้น ๆ หรือไม่ หากปรากฏว่า ผู้กระทำขาดเจตนาผู้กระทำก็ไม่มีความผิดฐานนั้น ๆ แต่ถ้าปรากฏว่า ผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดฐานนั้น ๆ แล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือให้ดูว่าผู้กระทำสำคัญผิดในข้อเท็จจริงตามมาตรา 62 หรือไม่ ซึ่งความสำคัญผิดตามมาตรา 62 นั้นมีอยู่ 3 กรณีด้วยกันตามที่กล่าวมาแล้ว

มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6419/2537 ซึ่งเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น
ข้อเท็จจริงคือ เด็กหญิงข. อายุ 13 ปี หนีออกจากบ้านไปดูภาพยนตร์แล้วได้พบกับจำเลยที่หน้าโรงภาพยนตร์ จำเลยได้พาเด็กหญิงข. ไปพักที่บังกะโล วันรุ่งขึ้นได้พาเด็กหญิง ข.ไปพักที่บ้านผู้อื่น โดยเด็กหญิงข.เต็มใจไปกับจำเลย ขณะที่พักอยู่ที่บังกะโล และที่บ้านผู้อื่น จำเลยซึ่งสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าเด็กหญิงข.มีอายุ 17 ถึง 18 ปี ได้กระทำชำเราเด็กหญิงข. หลายครั้ง ด้วยความสมัครใจของเด็กหญิง ข. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 และมาตรา 317 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดามมาตรา 319 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 319 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 62 วรรคแรก เด็กหญิงข.นั้น ตามความเป็นจริงอายุเพียง 13 ปี แต่เนื่องจากมีรูปร่างสมบูรณ์กว่าเด็กทั่วไป จำเลยจึงเข้าใจว่าเด็กหญิง ข. อายุ 17 ถึง 18 ปี ศาลก็ยอมรับความเข้าใจผิดของจำเลยในเรื่องอายุของเด็กหญิง ข. คดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยตามมาตรา 277 ด้วย ในการวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 277 หรือไม่นั้น ประการแรกต้องดูเสียก่อนว่า ความจริงการกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดตามมาตรา 277 หรือไม่
ซึ่งจะเห็นได้ว่า การกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนี้ เพราะองค์ประกอบภายนอกของมาตรา 277
คือ (1) ผู้ใด (2) กระทำชำเรา (3) เด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
การที่จำเลยร่วมประเวณีกับเด็กหญิง ข. ซึ่งอายุ 13 ปี โดยเด็กหญิง ข. สมัครใจด้วย จึงเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบภายนอกทุกประการของความผิดตามมาตรา 277 เมื่อการกระทำครบองค์ประกอบภายนอกแล้ว
ขั้นตอนต่อไปคือให้ดูว่า จำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามมาตรา 277 หรือไม่ เพราะความผิดฐานนี้ผู้กระทำจะต้องมีเจตนา ซึ่งจะเห็นได้ว่าจำเลยขาดเจตนากระทำความผิดตามมาตรานี้ เพราะจำเลยเข้าใจว่าเด็กหญิง ข. อายุ 17 ถึง 18 ปี ตรงตามหลักในมาตรา 59 วรรคสาม ที่ว่า "ถ้าผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่า ผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้" ข้อความที่ว่า "ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดนั้น" หมายความว่า ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดนั่นเอง ซึ่งอายุของเด็กหญิงข.นั้น ถือเป็น "ข้อเท็จจริง" อันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดตามมาตรา 277 ประการหนึ่ง
ดังนั้น เมื่อจำเลยเข้าใจผิดว่าเด็กหญิง ข. ซึ่งรูปร่างสมบูรณ์กว่าเด็กทั่วไปมีอายุ 17 ถึง 18 ปี จำเลยไม่รู้ว่าความจริงเด็กหญิง ข. อายุเพียง 13 ปี ก็ถือว่าจำเลย "ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด" โดยผลของมาตรา 59 วรรคสาม จึงจะถือว่า จำเลยมีเจตนากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไม่ได้
เมื่อจำเลยขาดเจตนา การกระทำก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 277
มีข้อสังเกตว่า กรณีนี้มิใช่เรื่องสำคัญผิดในข้อเท็จจริงตามมาตรา 62 แต่อย่างใด
เพราะตามที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นสำคัญผิดตามมาตรา 62 นั้น จะหยิบยกขึ้นมาก็ต่อเมื่อการกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนั้น ๆ มาแล้ว และผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดฐานนั้น ๆ มาแล้ว
สำหรับกรณีตามมาตรา 277 นั้น แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้มาด้วย แต่ศาลมิได้หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย
นอกจากความผิดตามมาตรา 277 แล้ว โจทก์ยังฟ้องจำเลยตามมาตรา 317 ด้วย
องค์ประกอบภายนอกของความผิดตามมาตรา 317 คือ (1) ผู้ใด (2) พรากโดยปราศจากเหตุอันสมควรไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือ ผู้ดูแล (3) เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี (ไม่ว่าเด็กนั้นเต็มใจไปด้วยหรือไม่ก็ตาม) ซึ่งจะเห็นได้ว่า การกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดตามมาตรา 317 ทุกประการ

ขั้นตอนต่อไป คือต้องพิจารณาว่า จำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามมาตรานี้หรือไม่
เมื่อจำเลยเข้าใจว่าเด็กหญิง ข. อายุ 17 ถึง 18 ปี ก็ถือว่าจำเลยขาดเจตนาเพราะ "ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิด" ตามมาตรา 59 วรรคสาม ซึ่งเมื่อจำเลยขาดเจตนาเสียแล้ว จำเลยก็ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 317 ศาลฎีกามิได้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 317 ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ลงโทษจำเลยตามมาตรา 319 วรรคแรก ซึ่งองค์ประกอบภายนอกของความผิดตามมาตรา 319 คือ (1) ผู้ใด (2) พรากไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล (3) ผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ในการลงโทษจำเลยตามมาตรา 319 วรรคแรกนั้น ศาลฎีกาอ้างความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงตามมาตรา 62 วรรคแรกด้วย ซึ่งเป็นการลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่จำเลยเข้าใจว่าตนเองกระทำผิด กล่าวคือ จำเลยเข้าใจว่าเด็กหญิงข. อายุ 17 ถึง 18 ปี การที่ศาลฎีกาอ้างมาตรา 62 วรรคแรกนั้น คงจะหมายถึงสำคัญผิดในส่วนที่เกี่ยวกับ "ได้รับโทษน้อยลง" นั่นเอง เพราะมาตรา 319 โทษเบากว่ามาตรา 317 การกระทำของจำเลยนั้นความจริงครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดตามมาตรา 317 เพราะความจริงเด็กหญิง ข. อายุเพียง 13 ปี แต่เมื่อจำเลยเข้าใจว่าเด็กหญิง ข. อายุ 17 ถึง 18 ปี ตามความเข้าใจของจำเลยจึงเป็นกรณีมาตรา 319 วรรคแรก เพราะองค์ประกอบภายนอกของมาตรา 319 เด็กนั้นอายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยตามมาตรา 319 วรรคแรก ตามความเข้าใจของจำเลย ซึ่งก็จะต้องเป็นกรณีสำคัญผิดในข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ผู้กระทำ "ได้รับโทษน้อยลง" กล่าวคือรับโทษตามมาตรา 319 ซึ่งน้อยลงกว่ามาตรา 317 ตามที่โจทก์ฟ้อง
ด้วยความเคารพต่อศาลฎีกา ผู้บันทึกเห็นว่าข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไม่อาจที่จะหยิบยกความสำคัญผิดตามมาตรา 62 วรรคแรก ขึ้นมาปรับใช้ได้ เพราะตามที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น เรื่องสำคัญผิดในข้อเท็จจริงตามมาตรา 62 วรรคแรก จะนำมาใช้เพื่อเป็นคุณแก่ผู้กระทำได้นั้น ในเบื้องต้นการกระทำนั้นจะต้องครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนั้น ๆ มาเสียก่อน ต่อเมื่อการกระทำครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนั้นทุกประการแล้ว ต่อมาจึงค่อยพิจารณาว่าผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดฐานนั้น ๆ หรือไม่ ถ้าเห็นว่าผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดฐานนั้น ๆ แล้ว ขั้นตอนสุดท้าย จึงค่อยพิจารณาว่าผู้กระทำสำคัญผิดในข้อเท็จจริงประการหนึ่งประการใดในสามประการตามมาตรา 62 วรรคแรก หรือไม่

ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6419/2537 นี้ เป็นกรณีขาดองค์ประกอบภายนอกของความผิดตามมาตรา 319
เพราะความจริง เด็กหญิง ข. อายุเพียง 13 ปี แต่องค์ประกอบภายนอกของมาตรา 319 นั้น เด็กหญิงต้องอายุ "กว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี" เมื่อความจริงเป็นการขาดองค์ประกอบภายนอกเสียแล้ว ก็ไม่มีกรณีที่จะต้องพิจารณาในเรื่องเจตนา และเมื่อไม่มีกรณีที่จะต้องพิจารณาเรื่องเจตนา ก็ไม่มีประเด็นที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องความสำคัญผิดตามมาตรา 62 เลย

ถ้อยคำในมาตรา 62 ที่ว่า "การกระทำไม่เป็นความผิด" "ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ" หรือ "ได้รับโทษน้อยลง" นั้น หมายถึงกรณีที่ผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดทั้งนั้นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งทำให้การกระทำไม่เป็นความผิดนั้น ผู้กระทำก็จะต้องมีเจตนา การที่จำเลยลักทรัพย์ของผู้อื่นโดยสำคัญผิดว่าเป็นทรัพย์ของภริยาจำเลยซึ่งทำให้จำเลยไม่ต้องรับโทษนั้น จำเลยก็จะต้องมีเจตนา การที่จำเลยลักทรัพย์ของผู้อื่นโดยสำคัญผิดว่าเป็นทรัพย์ของบิดาจำเลยซึ่งทำให้จำเลยอาจได้รับโทษน้อยลงนั้น จำเลยก็จะต้องมีเจตนา การที่จำเลยจะมีเจตนากระทำความผิดฐานใด ๆ นั้น การกระทำของจำเลยจะต้องครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนั้น ๆ มาเสียก่อน
ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6419/2537 นี้ จำเลยไม่ผิดตามมาตรา 277 เพราะจำเลยขาดเจตนา จำเลยไม่ผิดตามมาตรา 317 ก็เพราะจำเลยขาดเจตนาเช่นเดียวกัน และจำเลยไม่ผิดตามมาตรา 319 เพราะการกระทำของจำเลยขาดองค์ประกอบภายนอกของความผิดตามมาตรา 319 เมื่อการกระทำของผู้กระทำครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนั้น ๆ ทุกประการแล้ว และผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดฐานนั้น ๆ แล้ว จึงค่อยพิจารณาเรื่องสำคัญผิดในข้อเท็จจริงตามมาตรา 62

ถ้อยคำในมาตรา 62 ที่ว่า "ข้อเท็จจริงใดถ้ามีอยู่จริงจะทำให้ผู้กระทำ ได้รับโทษน้อยลง" นั้น คำว่า "ได้รับโทษน้อยลง" หมายถึง "เหตุลดโทษ" นั่นเอง เช่นป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามมาตรา 69 หรือการลักทรัพย์ของบิดาตามมาตรา 71 วรรคสอง หรือการบันดาลโทสะตามมาตรา 72 กรณีต่าง ๆ เหล่านี้ กฎหมายจะใช้ถ้อยคำว่า "ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เพียงใดก็ได้"
ซึ่งหากเป็นเรื่องสำคัญผิด เช่น ป้องกันเกินสมควรก่เหตุโดยสำคัญผิดหรือลักทรัพย์ของผู้อื่นแต่เข้าใจว่าเป็นทรัพย์ของบิดา หรือบันดาลโทสะโดยสำคัญผิด ก็เป็นกรณีตามมาตรา 62 ซึ่งมีผลทำให้ผู้กระทำอาจได้รับโทษน้อยลง

กรณีที่กฎหมายกำหนดเหตุฉกรรจ์ไว้ เช่น มาตรา 289 ฆ่าบุพการี เป็นเหตุฉกรรจ์ของมาตรา 288 ซึ่งเป็นเรื่องฆ่าผู้อื่น เช่นนี้ จะถือว่ามาตรา 288 เป็นกรณีที่ทำให้ผู้กระทำได้รับโทษน้อยลง (ตามความหมายของมาตรา 62 วรรคแรก) ของการฆ่าบุพการีตามมาตรา 289 ไม่ได้

การฆ่าบุพการีทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นจากการฆ่าคนธรรมดา แต่ไม่ได้หมายความว่า การฆ่าคนธรรมดาทำให้ผู้กระทำได้รับโทษน้อยลง (ตามความหมายของมาตรา 62 วรรคแรก) จากการฆ่าบุพการี หากนายแดงฆ่านายดำซึ่งเป็นบิดา โดยนายแดงไม่รู้ว่าผู้ถูกฆ่าเป็นบิดา แต่เข้าใจว่าเป็นการฆ่านายขาวซึ่งเป็นศัตรูของตน เช่นนี้ ถือว่านายแดงมีเจตนาฆ่าคนธรรมดาเท่านั้น จะถือว่านายแดงมีเจตนาฆ่าบุพการีไม่ได้เพราะนายแดง "ไม่รู้" ว่าเป็นการฆ่าบุพการี ทั้งนี้ตรงตามหลักในมาตรา 59 วรรคสาม ซึ่งหลักนี้มีบัญญัติไว้ในมาตรา 62 วรรคท้าย ด้วยว่า "บุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น"

ซึ่งกรณีนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องความสำคัญผิดตามมาตรา 62 แต่อย่างใดเลย

ความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ผู้กระทำได้รับโทษน้อยลงตามมาตรา 62 นั้น หมายความถึงได้รับโทษน้อยลงจากมาตรา 288 หรือได้รับโทษน้อยลงจากมาตรา 289 เช่นกรณีป้องกันเกินสมควรแก่เหตุโดยสำคัญผิดเป็นต้น

การลักทรัพย์ตามมาตรา 335 เป็นเหตุฉกรรจ์ของการลักทรัพย์ ตามมาตรา 334 แต่จะถือว่า การลักทรัพย์ตามมาตรา 334 นั้น เป็นกรณีที่ทำให้ผู้กระทำได้รับโทษน้อยลง (ตามความหมายของมาตรา 62) จากการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 ไม่ได้ หากมีการลักทรัพย์ของนายจ้าง แต่ผู้กระทำไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ของนายจ้าง ผู้กระทำก็ไม่มีเจตนาลักทรัพย์นายจ้างทั้งนี้ตามหลักในมาตรา 59 วรรคสาม และหลักในมาตรา 62 วรรคท้ายผู้กระทำก็มีความผิดตามมาตรา 334 ไม่ใช่มาตรา 335(11) ซึ่งกรณีนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องความสำคัญผิดตามมาตรา 62 วรรคแรก แต่อย่างใดเลย

ความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ผู้กระทำได้รับโทษน้อยลงตามมาตรา 62 นั้น หมายความถึงได้รับโทษน้อยลงจากมาตรา 334 หรือได้รับโทษน้อยลงจากมาตรา 335 เช่น กรณีลักทรัพย์ของผู้อื่น แต่สำคัญผิดว่าเป็นทรัพย์ของบุพการีของผู้กระทำ หากนายแดงลักทรัพย์ของนายจ้าง แต่นายแดงเข้าใจว่าเป็นการลักทรัพย์ของนายขาวบิดาของนายแดง เช่นนี้จะถือว่า นายแดงมีเจตนาลักทรัพย์ของนายจ้างไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ของนายจ้าง นายแดงจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 335 แต่เมื่อนายแดงเข้าใจว่าเป็นทรัพย์ของบิดาของตนก็ถือว่านายแดงมีเจตนาลักทรัพย์ของผู้อื่น (เพราะบิดาก็คือ "ผู้อื่น") นายแดงมีความผิดตามมาตรา 334 แต่นายแดงอาจได้รับการลดโทษตามมาตรา 71 วรรคสอง เพราะนายแดงสำคัญผิดในข้อเท็จจริงตาม มาตรา 62 วรรคแรก ในส่วนที่ว่า "ข้อเท็จจริงใด ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้ผู้กระทำได้รับโทษน้อยลง"

มาตรา 318 กรณีพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจาร ถือได้ว่าเป็นเหตุฉกรรจ์ของมาตรา 319 ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย แต่จะถือว่ามาตรา 319 เป็นกรณีที่ทำให้ผู้กระทำ "ได้รับโทษน้อยลง" (ตามความหมายของมาตรา 62) จากมาตรา 318 ไม่ได้

หมายเหตุ มาตรา 340 วรรคท้าย คือการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น ความตายเป็นผลของการกระทำความผิด ตามมาตรา 340 วรรคแรก ซึ่ง "ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น" จึงต้องเป็น "ผลธรรมดา" ตามมาตรา 63 จะเป็น "ผลโดยตรง" แต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้

"ผลธรรมดา" คือ ผลที่ผู้กระทำสามารถ "คาดเห็น" ความเป็นไปได้ของผลนั้น "ผลธรรมดา" ตามมาตรา 63 นี้ คือผลตาม"ทฤษฎีเหตุที่เหมาะสม" ซึ่งเป็นทฤษฎีที่สำคัญอีกทฤษฎีหนึ่ง ในการวินิจฉัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลและมาตรา 63 ก็ยอมรับทฤษฎีนี้ โดยบัญญัติว่า หากผลนั้นทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นแล้ว ผลนั้นจะต้องเป็น "ผลธรรมดา" เช่น ผู้กระทำมีเจตนาเพียงปล้นทรัพย์ ตามมาตรา 340 วรรคแรก หากการปล้นทรัพย์นั้นมีผลทำให้เจ้าทรัพย์ตายด้วย ผู้กระทำจะผิดตามมาตรา 340 วรรคท้าย ก็ต่อเมื่อความตายเป็น "ผลธรรมดา" ซึ่งก็ต้องพิจารณาว่า วิญญูชน "คาดเห็น" ความตายนั้น หรือไม่ หาก "คาดเห็น" ก็ถือเป็น "ผลธรรมดา" หากไม่ "คาดเห็น" ก็เป็นผลผิดธรรมดา ทำให้ผู้กระทำมีความผิดตามมาตรา 340 วรรคแรกเท่านั้น "คาดเห็น" นี้ไม่ต้องถึงระดับ "เล็งเห็นผล" มิฉะนั้นจะกลายเป็นเจตนาเล็งเห็นผลตามมาตรา 59 ไป

ในกรณีที่ผู้ปล้นทรัพย์ใช้ปืนยิงโดยมีเจตนาฆ่าเจ้าทรัพย์ ที่ขัดขืน ผู้ที่ลงมือยิงก็มีความผิดตามมาตรา 289 และมีความผิด ตามมาตรา 340 วรรคท้าย เหตุที่ผิดตามมาตรา 340 วรรคท้าย เพราะความตายของเจ้าทรัพย์เป็น "ผลธรรมดา" จากการที่ใช้ปืนยิง เพราะถึงขนาดใช้ปืนยิงกันแล้วความตายย่อมเป็นผลที่วิญญูชน "คาดเห็น" ได้อย่างแน่นอน

ผู้ที่ร่วมในการปล้นและร่วมในการฆ่าก็มีความผิดตามมาตรา 289, 83 และ 340 วรรคท้าย เช่นกัน ผู้ที่ร่วมในการปล้นแต่ไม่ได้ร่วมในการฆ่าด้วยนั้นก็มีความผิดตามมาตรา 340 วรรคท้าย เพราะเมื่อผู้ลงมือยิงมีความผิดตามมาตรา 340 วรรคท้ายแล้ว ผู้อื่นที่ร่วมในการปล้นก็ต้องมีความผิดตามมาตรา 340 วรรคท้ายด้วย โดยถือเป็น "เหตุในลักษณะคดี" ตามมาตรา 89 (เป็นเหตุในลักษณะคดีประเภท "เพิ่มโทษ") ซึ่งมีผลถึงผู้ที่ร่วมในการกระทำทุกคน (คำพิพากษาฎีกาที่ 15/2515 และ 84-85/2516 มี

ข้อสังเกตว่า ศาลฎีกาลงโทษจำเลยอื่น ๆ ตามมาตรา 340 วรรคท้าย โดยมิได้อ้างมาตรา 89 แต่อย่างใด)

ตามคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมในการปล้นทรัพย์กับคนร้ายอื่นเท่านั้น แต่มิได้มีเจตนาร่วมกันฆ่าผู้ตายด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดตามมาตรา 340 วรรคท้าย แต่ไม่มีความผิดตามมาตรา 289 (7)

จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใช้นั้น เมื่อเป็นการใช้ให้ไปปล้น แต่ผู้ถูกใช้ (คนร้ายอื่น) ได้ไปปล้นและฆ่าผู้ตายด้วย เช่นนี้จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 289(7), 84 ทั้งนี้ตามที่มาตรา 87 บัญญัติไว้ว่า ถ้า "ผู้กระทำได้กระทำไปเกินขอบเขตที่ใช้...ผู้ใช้...ต้องรับผิดทางอาญาเพียงสำหรับความผิดเท่าที่อยู่ในขอบเขตที่ใช้...เท่านั้น" ซึ่งก็หมายความว่า รับผิดเพียงฐานเป็นผู้ใช้ให้ไปปล้น มิใช่ใช้ให้ไปฆ่า

อย่างไรก็ตาม ก็มีประเด็นต่อไปอีกว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ ตามมาตรา 340 วรรคท้าย, 84 หรือตามมาตรา 340 วรรคสอง, 84 สำหรับปัญหานี้ มาตรา 87 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า "ในกรณีที่ผู้ถูกใช้...จะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้นเพราะอาศัยผลที่เกิดจากการกระทำความผิด ผู้ใช้ให้กระทำความผิด...ต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้น นั้นด้วย"

เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ถูกใช้ ต้องรับผิดตามมาตรา 340 วรรคท้าย ซึ่ง "โทษสูงขึ้น" จากมาตรา 340 วรรคสอง ผู้ใช้ก็ต้องรับผิดตามมาตรา 340 วรรคท้าย, 84 ด้วย จะรับผิด แต่เพียง 340 วรรคสอง, 84 ไม่ได้

มีข้อสังเกตว่า แม้ไม่มีมาตรา 87 บัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 1 ก็ยังต้องรับผิดตามมาตรา 340 วรรคท้าย, 84 อยู่นั่นเอง เพราะการที่ผู้ถูกใช้ คือ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดตามมาตรา 340 วรรคท้ายนั้น เป็นเหตุในลักษณะคดี (ประเภท "เพิ่มโทษ") ตามมาตรา 89 จึงต้องมีผลถึงผู้เกี่ยวข้องในการกระทำทุก ๆ คนซึ่ง รวมทั้งตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อมาตรา 87 บัญญัติไว้โดยเฉพาะเจาะจงแล้ว ก็ไม่ต้องพิจารณามาตรา 89

มาตรา 87 บัญญัติเฉพาะกรณี ผู้ใช้ ผู้โฆษณา และผู้สนับสนุน ไม่รวมกรณีตัวการด้วย ในกรณีตัวการ จึงใช้มาตรา 87 ไม่ได้ แต่ให้ใช้หลัก "เหตุในลักษณะคดี" ตามมาตรา 89 เช่น แดง ดำ และขาว ร่วมในการปล้นทรัพย์เหลือง แดงดูต้นทาง ขณะที่ดำและขาวลงมือปล้นทรัพย์เหลืองขัดขืน ดำและขาวจึงร่วมกันใช้ท่อนเหล็กที่วางอยู่บริเวณนั้นตีศีรษะเหลืองอย่างแรง เหลืองตาย เช่นนี้ ดำและขาวผิดมาตรา 340 วรรคท้าย และมาตรา 289 ส่วนแดงก็ผิด 340 วรรคท้าย, 83 ด้วย (แต่ไม่ผิด 289, 83) โดยถือว่าการที่ดำและขาวผิด 340 วรรคท้ายเป็น "เหตุในลักษณะคดี" จึงมีผลถึงแดงซึ่งเป็นตัวการด้วย กรณีเช่นนี้จะใช้มาตรา 87 มาปรับไม่ได้ เพราะมาตรา 87 ไม่รวมถึงกรณีตัวการ

การที่ศาลฎีกาในคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ ตัดสินว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใช้ ผิดตามมาตรา 340 วรรคท้าย, 84 นั้น จึงเป็นการถูกต้อง เพราะตรงตามบทบัญญัติในมาตรา 87

หมายเหตุ การกระทำของจำเลย ถือว่าเป็นการกระทำ "ความผิดที่ยืดออกไป" ซึ่งมีหลัก 3 ประการคือ (1) มีการกระทำหลายครั้ง โดยผู้กระทำผิดคนเดียวกัน (2) มีการละเมิดกฎหมายในฐานความผิดอันเดียวกัน และ (3) มีจุดประสงค์อันเดียวกันในการกระทำหลายครั้งนั้น (คำอธิบายกฎหมายอาญาภาค 1 โดย ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ดู จิตติ ติงศภัทิย์, กฎหมายอาญา ภาค 1, (กรุงเทพ: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2529), น.30)

"ความผิดที่ยืดออกไป" นี้ "วันกระทำความผิด" ในแง่ของการนับอายุความคือวันที่การกระทำความผิดนั้นสิ้นสุดลงซึ่งตามคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ คือ วันที่ 18 ตุลาคม 2530

"ความผิดที่ยืดออกไป" ไม่ถือเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน หรือ หลายกระทงตามมาตรา 91 แต่เป็นกรรมเดียว เช่น ฉุดหญิงไปข่มขืนชำเรา 2 คืน คืนละครั้ง เป็นกรรมเดียว (คำพิพากษาฎีกาที่ 2249/2520)

การข่มขืนหลาย ๆ ครั้งนี้ ไม่ใช่ "ความผิดต่อเนื่อง" เพราะ"ความผิดต่อเนื่อง" นั้น การกระทำจะต้องเป็นความผิดอยู่ต่อเนื่องกันตลอดเวลา เช่น มีเงินตราปลอม (มาตรา 244) มีเครื่องมือทำเงินตราปลอม (มาตรา 246) มีปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต (คำพิพากษาฎีกาที่ 888/2507) หมิ่นประมาทโดยการปิดป้ายประกาศ (คำพิพากษาฎีกา ที่ 2272/2527)

"วันกระทำความผิด" ในแง่ของการนับอายุความ สำหรับ "ความผิดต่อเนื่อง" นั้น คือ วันที่การกระทำความผิดสิ้นสุดลง เช่น การกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตไว้ในครอบครอง ได้แก่วันที่ผู้กระทำถูกจับได้พร้อมอาวุธปืน (คำพิพากษาฎีกาที่ 888/2507) การหมิ่นประมาทด้วยการปิดป้ายโฆษณา คือวันที่มีการปลดป้ายประกาศออกไป (คำพิพากษาฎีกาที่ 2272/2527)

"ความผิดต่อเนื่อง" เป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำอันเดียวกันโดยมีเจตนาเดียวกัน แต่เป็นความผิดสืบเนื่องติดต่อกันไป จึงเป็นการกระทำ "กรรมเดียว" ไม่ว่าจะกระทำนานเท่าใด.

หมายเหตุ (1) เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ ในทางอาญา หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า causation นั้น

ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในมาตรา 63 เพียงมาตราเดียวว่า "ถ้าผลของการกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลของการกระทำความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้"

หลักในมาตรา 63 นี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ผลธรรมดา" แต่จะใช้หลัก "ผลธรรมดา" นี้ วินิจฉัยในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลได้เฉพาะกรณีที่ผลนั้นทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นเท่านั้น จะไปใช้ในกรณีอื่น ๆ ไม่ได้

ผลที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น โดยทั่วไปแล้วก็คือ ผลที่เกิดขึ้นนอกเหนือเจตนาในตอนแรกของผู้กระทำ เช่น แดงโกรธดำ แดงชกดำที่ใบหน้า ขณะที่แดงชกดำนั้น แดงมีเจตนาเพียงทำร้ายร่างกายดำตามมาตรา 295 เท่านั้น ปรากฏว่า ดำถูกชกตาบวม อีกสิบวันต่อมาตาบอด ซึ่งเป็นอันตรายสาหัสตามมาตรา 297 และเป็นผลทำให้แดงต้องรับโทษหนักขึ้น เพราะโทษตามมาตรา 297 หนักกว่า 295 กรณีเช่นนี้แดงจะมีความผิดตามมาตรา 297 ก็ต่อเมื่อการที่ดำตาบอดนั้นเป็น "ผลธรรมดา"

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง แดงโกรธดำ เมื่อแดงทราบว่าดำปิดบ้านทิ้งไว้และเดินทางไปต่างประเทศ แดงจึงลอบวางเพลิงเผาบ้านของดำ ขณะที่แดงจุดไฟเผาบ้านของดำ แดงมีเจตนาวางเพลิงเผาทรัพย์อันเป็นความผิดตามมาตรา 218 ปรากฏว่าขาวซึ่งดำมอบหมายให้นอนอยู่ในห้องใต้ดินเพื่อดูแลบ้าน ถูกไฟคลอกตายเช่นนี้แดงไม่มีเจตนาทำให้ขาวตาย เพราะแดงไม่รู้ว่าขาวนอนอยู่ในบ้าน เมื่อไม่รู้ก็ไม่มีเจตนา (มาตรา 59 วรรค 3) การที่ขาวตายมีมาตรา 224 วรรคแรก บัญญัติไว้ ซึ่งโทษหนักกว่ามาตรา 218 เช่นนี้แดงจะต้องรับผิดตามมาตรา 224 หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ว่าการที่ขาวตายอันเป็นผลที่แดงไม่มีเจตนาในตอนแรกเลยนั้นเป็น "ผลธรรมดา" หรือไม่ หากเป็นผลธรรมดาก็มีความผิดตามมาตรา 224 หากไม่ใช่ผลธรรมดา แดงก็มีความผิดเพียงมาตรา 218

มีข้อสังเกตว่า หากผู้กระทำมีเจตนาจะให้ผลนั้นเกิดตั้งแต่แรก ในที่สุดผลนั้นก็เกิดขึ้น เช่นนี้ไม่ใช่ผลที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น จึงไม่ต้องใช้หลัก "ผลธรรมดา" ตามมาตรา 63

เช่น แดงต้องการฆ่าดำ แดงใช้ปืนยิงดำ ดำถูกยิงมีบาดแผลเล็กน้อย แต่ดำรักษาบาดแผลไม่ดี อีกสามเดือนต่อมา ดำตายเพราะแผลที่รักษาไม่ดีนั้นเน่าเป็นพิษ เช่นนี้ความตายของดำไม่ใช่ผลที่ทำให้แดงต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะขณะที่แดงยิงดำในตอนแรก แดงก็มีเจตนาจะให้ดำตาย ในที่สุดดำก็ตายสมเจตนาของแดง

ในกรณีเช่นนี้ เมื่อความตายของดำไม่ใช่ผลที่ทำให้แดงต้องรับโทษหนักขึ้น ผลการวินิจฉัยความผิดของแดงจึงไม่ใช้หลัก "ผลธรรมดา" ตามมาตรา 63
แต่จะใช้หลักใดนั้นจะได้กล่าวต่อไป

หลักสากลในการวินิจฉัยความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำในทางอาญานั้น คือ "ผลโดยตรง" ซึ่งก็ได้แก่ผลตาม "ทฤษฎีเงื่อนไข" นั่นเอง

ทฤษฎีเงื่อนไขมีสาระสำคัญว่า "ถ้าไม่มีการกระทำผลไม่เกิด ถือว่าผลเกิดจากการกระทำนั้น แม้จะต้องมีเหตุอื่น ๆ ในการก่อให้เกิดผลนั้นขึ้นด้วยก็ตาม แต่ถ้าไม่มีการกระทำนั้น ผลก็ยังเกิด เช่นนี้จะถือว่าผลเกิดจากการกระทำนั้นไม่ได้" คำว่า "การกระทำ" ในที่นี้หมายถึงการกระทำที่ครบองค์ประกอบภายนอก และองค์ประกอบภายในของความผิดฐานนั้น ๆ เช่น มาตรา 288 ก็ต้องหมายถึงการฆ่าโดยเจตนา

มาตรา 291 ก็หมายถึงการทำให้ตายโดยประมาท แม้ศาลฎีกาจะไม่เคยใช้คำว่า "ทฤษฎีเงื่อนไข" แต่ก็ใช้คำว่า "ผลโดยตรง" ในคำพิพากษาหลายเรื่อง เช่น ฎีกาที่ 534/2511 น. 695 ศาลฎีกากล่าวว่าการตายและบาดเจ็บสาหัสย่อมเป็น "ผลโดยตรง" จากความประมาทของจำเลยที่ 2 จึงลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 291

ผลโดยตรงที่ศาลฎีกากล่าวถึงนี้ก็คือ ผลตามทฤษฎีเงื่อนไขนั่นเอง

ประมวลกฎหมายอาญาของไทย ไม่มีบทบัญญัติในเรื่อง "ผลโดยตรง" ตามทฤษฎีเงื่อนไข ซึ่งก็เหมือนกับประเทศต่าง ๆ ที่มิได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกัน แต่ปล่อยให้เป็นเรื่องของคำ อธิบายในตำรา และการวินิจฉัยของศาล

จะมีก็แต่บางประเทศเท่านั้น เช่น อิตาลี ที่บัญญัติไว้แน่ชัดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 40 มีสาระสำคัญว่าบุคคลไม่ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้น ถ้าผลนั้นไม่ใช่ผลจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของตน

ในบางกรณีแม้ผลในบั้นปลายจะเป็น "ผลโดยตรง" จากการกระทำของผู้กระทำตามทฤษฎีเงื่อนไข ก็จะด่วนวินิจฉัยความรับผิดของผู้กระทำทันทีไม่ได้

กรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดคือ มาตรา 63 กล่าวคือ ถ้าผลของการกระทำความผิดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลนั้นจะต้องเป็น "ผลธรรมดา" ซึ่งก็หมายความว่าจะเป็น "ผลโดยตรง" แต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่จะต้องเป็น "ผลธรรมดา" ด้วย

"ผลธรรมดา" นี้ คือผลตามทฤษฎี "เหตุที่เหมาะสม" ซึ่งนักนิติศาสตร์ต่างประเทศได้คิดค้นขึ้นเพื่อลดความแข็งกระด้างของการใช้หลัก "ผลโดยตรง" และทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้กระทำมากขึ้น

ยกตัวอย่าง เช่น แดงโกรธดำจึงลอบวางเพลิงเผาโกดังเก็บสินค้าของดำที่ปล่อยทิ้งไว้ในที่รกร้าง ปรากฏว่าขาวซึ่งแอบมานอนหลับอยู่ในโกดังร้างนั้นโดยที่แดงไม่รู้ ถูกไฟคลอกตาย เช่นนี้ แม้ความตายของขาวจะเป็นผลโดยตรงจากการวางเพลิงของแดง แต่แดงก็ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 224 เพราะความตายของขาวไม่ใช่ "ผลธรรมดา" แดงคงรับผิดตามมาตรา 218 เท่านั้น

ทฤษฎีเหตุที่เหมาะสม มีหลักในการพิจารณาคือดูว่าเหตุนั้น เหมาะสมเพียงพอตามปกติที่จะเกิดผลขึ้นหรือไม่
หากเพียงพอก็ต้องรับผิดในผล หากไม่เพียงพอก็ไม่ต้องรับผิดในผลนั้น "ผลธรรมดา" ตามมาตรา 63 คือผลตามทฤษฎีเหตุที่เหมาะสมนั่นเอง

"ผลธรรมดา" ตามมาตรา 63 นั้น หมายถึง ผลที่ผู้กระทำสามารถ "คาดเห็น" ความเป็นไปได้ของผลนั้น ซึ่งใช้มาตรฐานของ "วิญญูชน" เป็นหลักในการวินิจฉัย

การ "คาดเห็น" นี้ไม่ใช่ "เจตนาเล็งเห็นผล" ตามมาตรา 59 ผู้กระทำอาจ "คาดเห็น" โดยไม่ "เล็งเห็นผล" ก็ได้ เช่น ตัวอย่างแรก ที่แดงเผาบ้านของดำและขาวซึ่งนอนอยู่ในห้องใต้ดินโดยที่แดงไม่รู้ ถูกไฟคลอกตาย แดงไม่รู้ก็ถือว่าแดงไม่มีเจตนาฆ่าขาว ทั้งประสงค์ต่อผลและเล็งเห็นผล (มาตรา 59 วรรค 3) แต่คงต้องถือว่าแดง "คาดเห็น" ผลได้ เพราะเป็นการเผาบ้าน การที่ขาวซึ่งนอนในห้องใต้ดินถูกไฟคลอกตาย คงต้องถือว่าเป็น "ผลธรรมดา" แดงจึงมีความผิดตาม มาตรา 224 วรรคแรก

มาตราต่าง ๆ ในประมวลกฎหมายอาญาที่ต้องใช้หลัก "ผลธรรมดา" วินิจฉัยความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล เช่น มาตรา 224, 238, 280, 297, 302, 303, 308, 310, 313, 336, 339, 340

ได้กล่าวแล้วว่าหลัก "ผลธรรมดา" นั้น ใช้ได้ในกรณีที่ผลบั้นปลายเกิดขึ้น นอกเหนือเจตนาของผู้กระทำในตอนแรก ส่วนกรณีที่ผู้กระทำมีเจตนาในผลนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ในตอนแรกอยู่แล้ว และในที่สุดผลนั้นก็เกิดขึ้น เช่นนี้ไม่ใช้หลัก "ผลธรรมดา" แต่ให้ใช้หลัก "ผลโดยตรง" ตามทฤษฎีเงื่อนไขนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากมี "เหตุแทรกแซง" เกิดขึ้นซึ่งวิญญูชน "คาดหมายได้" ผู้กระทำก็ต้องรับผิดในผลโดยตรงนั้น (เหตุแทรกแซงที่ "คาดหมายได้" คือเหตุตามทฤษฎีเหตุที่เหมาะสมนั่นเอง)

แต่ถ้า "คาดหมายไม่ได้" ก็ไม่ต้องรับผิดในผลโดยตรงบั้นปลาย แต่รับผิดเพียงเท่าที่กระทำไปแล้วก่อนเกิด "เหตุแทรกแซง" นั้น

"เหตุแทรกแซง" หมายถึง
(1) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากการกระทำของผู้กระทำ และ
(2) เป็นเหตุที่ก่อให้เกิดผลในบั้นปลายขึ้นโดยตรง ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเสมอ ๆ คือ การรักษาบาดแผลไม่ดี เช่น แดงใช้ปืนยิงดำโดยมีเจตนาฆ่า ดำหลบทันกระสุนถูกร่างกายมีบาดแผลเล็กน้อย ดำรักษาบาดแผลไม่ดีแผลเน่าเป็นพิษ อีกสามเดือนต่อมาดำตาย เช่นนี้การที่ดำรักษาบาดแผลไม่ดีเป็นเหตุแทรกแซง ซึ่ง "คาดหมายได้" แดงจึงต้องรับผิดในความตายของดำ คำพิพากษาของศาลต่างประเทศและศาลไทยต่างก็ถือว่าผู้กระทำต้องรับผิดในผลบั้นปลาย แม้จะเกิดจากการที่ผู้เสียหายรักษาบาดแผลไม่ดีก็ตาม

"เหตุแทรกแซง" มีหลายกรณีเช่น เหตุแทรกแซงจากเหตุการณ์ธรรมชาติจากการกระทำของผู้เสียหาย จากการกระทำของจำเลย จากการกระทำของบุคคลที่สาม

ข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ คงต้องถือว่าความตายเป็น ผลโดยตรง ตามทฤษฎีเงื่อนไขจากการกระทำของจำเลย เพราะถ้าจำเลยไม่ทำร้าย ก็ไม่มีบาดแผลก็ไม่ต้องรักษา และก็ไม่มีการดึงเครื่องช่วยหายใจ และก็ไม่ตาย ความตายจึงเป็น "ผลโดยตรง" จากการกระทำของจำเลย

แต่ถึงแม้จะเป็น "ผลโดยตรง" จะวินิจฉัยทันทีว่าจำเลยต้องรับผิดตามมาตรา 288 ยังไม่ได้ ต้องดูต่อไปว่าจะต้องใช้หลัก "ผลธรรมดา" ตามมาตรา 63 หรือไม่

ซึ่งตามที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า ในกรณีนี้ไม่ต้องใช้หลัก "ผลธรรมดา" เพราะขณะจำเลยทำร้าย จำเลยมีเจตนาฆ่าอยู่แล้ว ในที่สุดผู้ถูกทำร้ายก็ตายสมเจตนาของจำเลย จะถือว่าเป็นผลที่ทำให้จำเลยรับโทษหนักขึ้นไม่ได้

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ จะถือว่ามาตรา 288 เป็นบทหนักของมาตรา 288, 80 ตามความหมายของมาตรา 63 ไม่ได้

ในกรณีเช่นนี้ เมื่อไม่ใช่หลักผลธรรมดาตามมาตรา 63 ก็ต้องดูต่อไปว่าความตายเกิดเพราะอะไร

ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า ความตายเกิดเพราะญาติดึงเครื่องช่วยหายใจและท่อช่วยหายใจและพากลับบ้าน การกระทำของญาตินี้ถือว่าเป็น เหตุแทรกแซงเพราะเป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากที่จำเลยทำร้ายและเป็นเหตุที่ทำให้ตาย (เพราะหากอยู่โรงพยาบาลรักษาต่อไป ก็จะไม่ตาย)

เมื่อจับประเด็นได้แล้วว่า การกระทำของญาติเป็น "เหตุแทรกแซง" ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปคือ เหตุแทรกแซงดังกล่าว "คาดหมาย" ได้หรือไม่

หากความตายเกิดเพราะแพทย์ประมาทรักษาบาดแผลที่ถูกทำร้ายไม่ดี ทำให้คนไข้ตาย ศาลต่างประเทศตัดสินว่าการกระทำโดยประมาทของแพทย์ไม่ใช่เป็นสิ่งผิดปกติธรรมดาถึงขนาดที่จะตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำของจำเลยในตอนแรกออกจากผลคือความตาย จำเลยจึงต้องรับผิดกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเหตุแทรกแซงดังกล่าวคือ การรักษาคนไข้โดยประมาทของแพทย์นั้นเป็นสิ่งที่ "คาดหมายได้" นั่นเอง

ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ ญาติผู้ตายควรที่จะปล่อยให้การรักษาพยาบาลอยู่ในความดูแลของแพทย์ซึ่งหากผู้ตายรักษาพยาบาลด้วยวิธีการของแพทย์ดังกล่าวต่อไปก็จะไม่ตาย แต่ญาติ กลับดึงเครื่องช่วยหายใจและท่อช่วยหายใจ และยังนำผู้ตายกลับบ้านคงจะพอถือได้แล้วว่าเป็น "เหตุแทรกแซง ที่ไม่อาจคาดหมายได้" ซึ่งทำให้ความตายไม่สัมพันธ์กับการกระทำของจำเลย จำเลยจึงรับผิดเพียงเท่าที่กระทำไปก่อนเกิดเหตุแทรกแซง คือพยายามฆ่าเท่านั้น

มีข้อที่น่าสังเกตว่า ผู้ตายกำลังป่วยหนักไม่ได้เอาเครื่องช่วยออกด้วยตนเอง จึงไม่มีกรณีที่จะต้องพิจารณาว่าผู้ตายไม่ต้องการรักษาหรือไม่

ในต่างประเทศ เคยมีคดีที่ผู้ถูกทำร้ายไม่ยอมให้แพทย์ตัดขา เพื่อกันการแพร่กระจายของเชื้อแกงกรีน ต่อมาจึงตายเพราะเชื้อแกงกรีนนั้น เช่นนี้ ผู้ทำร้ายต้องรับผิดในความตาย

หากข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ปรากฏชัดว่า ผู้ตายสั่งให้ญาติเอาเครื่องช่วยหายใจออก และขอไปรักษาตัวที่บ้าน ผลอาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่งก็ได้

ผู้บันทึกเห็นด้วยที่ศาลฎีกาตัดสินให้จำเลยรับผิดเพียงฐานพยายามฆ่า อย่างไรก็ตาม ผู้บันทึกเห็นว่าความตายเป็น "ผลโดยตรง" ตามทฤษฎีเงื่อนไขจากการกระทำของจำเลย เพราะถ้าจำเลยไม่ทำร้ายในตอนแรก ผู้ตายก็จะไม่ตายในที่สุด จึงต้องถือว่าความตายเป็น "ผลโดยตรง" ของการทำร้ายนั่นเอง แต่ถึงกระนั้นจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดในความตาย เพราะการกระทำของบุคคลที่สามคือญาติ เป็นเหตุแทรกแซงที่วิญญูชนคาดหมายไม่ได้ เหตุแทรกแซงเช่นนี้จึงตัดความสัมพันธ์ระหว่างความตายในบั้นปลายออกจากการทำร้ายในตอนแรก จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในความตายซึ่งเป็น "ผลโดยตรง" อันเกิดจากเหตุแทรกแซงที่คาดหมายไม่ได้นั้น แต่รับผิดเพียงเท่าที่กระทำไปแล้ว ก่อนเกิดเหตุแทรกแซง กล่าวคือ พยายามฆ่า

มีข้อสังเกตว่า ศาลฎีกาใช้คำว่าความตาย "หาใช่เป็นผลจากการกระทำของจำเลยโดยตรงไม่" ซึ่งก็คงหมายความว่า ความตายไม่ใช่ "ผลโดยตรง" จากการกระทำของจำเลย

ที่ศาลฎีกากล่าวเช่นนี้ อาจเป็นเพราะกรณีใดที่จะให้จำเลยต้องรับผิดในผลบั้นปลาย ก็จะใช้คำว่า "ผลโดยตรง" ด้วยเหตุนี้ หากจะไม่ให้จำเลยต้องรับผิดในผลบั้นปลายเช่นในคดีนี้ ก็ใช้ถ้อยคำว่าไม่ใช่ "ผลโดยตรง" การที่ศาลฎีกาไม่ได้นำหลัก "ผลธรรมดา" ตามมาตรา 63 เข้ามาใช้ในการตัดสินคดีนี้ นับว่าถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะความตายไม่ใช่ผลที่ทำให้จำเลยต้องรับโทษหนักขึ้นเนื่องจากจำเลยมีเจตนาให้ตายตั้งแต่แรกอยู่แล้ว จึงไม่อยู่ในขอบเขตของมาตรา 63

เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 1478/2528 ข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายถูกยิงได้รับบาดเจ็บ และตายหลังจากถูกยิง 9 เดือน ความตายเกิดจากบาดแผลที่ถูกยิง ซึ่งผู้ตายรักษาตัวไม่ดีจนแผลติดเชื้อ ศาลฎีกาตัดสินให้จำเลยรับผิดในความตายโดยให้เหตุผลว่า ความตาย "เป็นผลธรรมดาอันสืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลย"

แลดูประหนึ่งว่า เป็นการใช้หลักผลธรรมดาตามมาตรา 63 ซึ่งกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องของมาตรา 63 เพราะขณะยิง จำเลยก็เจตนาจะให้ผู้ถูกยิงตาย ในที่สุดผุ้ถูกยิงก็ตายสมเจตนาของจำเลย เมื่อไม่อยู่ในข่ายของมาตรา 63 จึงไม่ต้องพิจารณาหลัก "ผลธรรมดา" แต่ให้ดูว่าความตายอันเป็น "ผลโดยตรง" นั้น เกิดจากเหตุแทรกแซงที่คาดหมายได้หรือไม่ การที่ผู้เสียหายรักษาบาดแผลไม่ดีต้องถือว่าคาดหมายได้ จำเลยจึงต้องรับผิดในความตาย

คำพิพากษาฎีกาที่ 1478/2528 จึงควรที่จะให้เหตุผลในทำนองว่า "จำเลยต้องรับผิดตามมาตรา 288 เพราะความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย" ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่าจะไปใช้หลักผลธรรมดาผู้ที่จะต้องรับผิดในความตาย

ตามคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้คือ ญาติผู้ตาย หากมีเจตนาฆ่า (แม้จะโดยเหตุจูงใจเพื่อช่วยให้ผู้ตายพ้นจากความทรมานอันเข้าลักษณะ mercy killing) ก็มีความผิดตามมาตรา 288 หากไม่เจตนาฆ่าก็ต้องถือว่าทำให้คนตายโดยประมาทตามมาตรา 291 ความตายที่เกิดขึ้นเป็น "ผลโดยตรง" จากการกระทำของญาติตาม ที่ศาลฎีกากล่าวไว้ ในกรณีเช่นนี้ไม่มี "เหตุแทรกแซง" ใด ๆ เพราะหลังจากที่ญาติถอดเครื่องช่วยหายใจ และพากลับบ้านในช่วงนี้ ไม่มีเหตุการณ์ใหม่ ๆ ใด ๆ เกิดขึ้นอันจะถือได้ว่าเป็น "เหตุแทรกแซง" จึงไม่ต้องพิจารณาว่าจะคาดหมายได้หรือไม่ ความตายที่เกิดขึ้นในคืนวันนั้น จึงเป็น "ผลโดยตรง" จากการกระทำโดยเจตนาหรือประมาทแล้วแต่กรณีของญาตินั่นเอง

(2) เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากลรวมทั้งศาลไทยด้วยที่ถือทฤษฎี "ผลโดยตรง" หรือ "ทฤษฎีเงื่อนไข" เป็นหลักในการวินิจฉัยความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำในความผิดอาญา

ฉะนั้น หลักที่จะพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้จึงมีเพียงว่า จำเลยมีเจตนาหรือเล็งเห็นผลแห่งการกระทำของตนเองและผลได้เกิดขึ้นตามนั้นหรือไม่
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายอายุ 90 ปี มีบาดแผลฟกช้ำดำเขียว ทั่วร่างกายกับมีบาดแผลฉีกขาดที่ศีรษะยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ลึกประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีบาดแผลฉีกขาดที่หัวคิ้วซ้ายยาว ประมาณ 3 เซนติเมตร ลึกประมาณ 1 เซนติเมตร กระดูกขากรรไกรหัก กระดูกซี่โครงร้าว 2 ซี่ โดยจำเลยใช้ของแข็งตีทำร้ายผู้ตาย โดยมีเจตนาฆ่า

ดังนี้จะเห็นได้ว่า บาดแผลต่าง ๆ ที่ปรากฏนั้น เป็นบาดแผลฉกรรจ์ถึงตาย หากแพทย์ไม่ช่วยไว้ด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจและผ่าตัดใส่ท่อระบายลมในโพรงปอดของผู้ตายเพราะมีลมรั่วจากทางเดินหายใจ ผลจากการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ตายบาดเจ็บสาหัสถึงตายได้ดังที่จำเลยเจตนา ซึ่งในที่สุดผู้ตายก็ถึงแก่ความตายสมเจตนาของจำเลยอีก การที่มีเหตุแทรกแซงที่นายแพทย์พยายามช่วยชีวิตด้วยวิทยาการก้าวหน้าจนสำเร็จในระยะแรก ซึ่งหากสำเร็จจนหายปกติ จำเลยคงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้ตายเท่านั้น เพราะการกระทำของจำเลยไม่บรรลุผลและไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่น

แต่คดีนี้การช่วยชีวิตไม่ประสบความสำเร็จ แม้ไม่ใช่เพราะความไม่สามารถของแพทย์ แต่เพราะญาติผู้ตายดึงเครื่องช่วยหายใจและท่อช่วยหายใจออกจากตัวผู้ตาย ด้วยเหตุผู้ตายคิดว่าตนจะต้องตายและญาติจะให้ผู้ตายไปตายที่บ้าน เมื่อไม่ปรากฏว่าญาติกระทำโดยเจตนาเพื่อฆ่าผู้ตาย หากแต่กระทำไปเพราะเชื่อว่าผู้ตายจะต้องตายในที่สุด

ดังนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำของจำเลยกับผลของการกระทำคือความตายจึงไม่ขาดตอน จำเลยจึงต้องรับผลอันนั้นและมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาอันเป็นความผิดสำเร็จสมเจตนาของจำเลย
ส่วนการกระทำของญาตินั้น ไม่ใช่ผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ความตายเกิดจากบาดแผลที่จำเลยทำร้ายเอานั้น ญาติผู้ตาย เพียงแต่ไม่ยอมให้แพทย์แสดงความสามารถโดยตลอดที่จะบรรเทาผลร้ายจากการกระทำของจำเลยเพื่อให้ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตายเท่านั้น ซึ่งก็ไม่แน่ว่าแพทย์จะทำสำเร็จเพียงใด อาจเพียงทำให้การตายบังเกิดเนิ่นช้าออกไปเท่านั้นก็ได้

ความไม่แน่นอนมีดังนี้ แม้พยานแพทย์เบิกความยืนยันว่าหากผู้ตายอยู่ในความดูแลของแพทย์แล้ว โอกาสมีชีวิตอยู่รอดสูงก็ตาม ก็เป็นเพียงพยานความเห็น เมื่อผู้ตายมีอายุถึง 90 ปี ความไม่แน่นอน ในความสำเร็จในการรักษาก็มีสูงเช่นกัน ข้อเท็จจริงเหล่านี้จึงยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลขาดตอนแต่อย่างใด ส่วนการกระทำของญาติผู้ตาย จะมีความผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

หมายเหตุ การกระทำของจำเลยเป็นเจตนาทำร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ปัญหามีว่า จำเลยจะต้องรับผิดในความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 หรือไม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหลักที่ว่า ความตายสัมพันธ์กับการทำร้ายหรือไม่ หากสัมพันธ์กัน จำเลยก็ต้องรับผิดตามมาตรา 290 หากไม่สัมพันธ์กัน จำเลยก็รับผิดเพียงเท่าที่กระทำไป กล่าวคือ มาตรา 295 เท่านั้น

การวินิจฉัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลในความผิดตามมาตรา 290 และมาตรา 295 นั้น มีสองแนวความคิดด้วยกัน ดังนี้
(1) ความเห็นแรก ถือว่า ความตายตามมาตรา 290 เป็นผลที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นจากการกระทำความผิดตามมาตรา 295 ด้วยเหตุนี้จึงต้องใช้หลัก "ผลธรรมดา" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 63 เป็นเครื่องวินิจฉัย กล่าวคือ หากความตายเป็น "ผลธรรมดา" ผู้กระทำก็มีความผิดตามมาตรา 290 หากไม่ใช่ "ผลธรรมดา" ก็ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 290 แต่รับผิดตามมาตรา 295 เท่านั้น
ความเห็นแรกนี้ ปรากฏอยู่ในคำอธิบายกฎหมายอาญาของท่านศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ดู หยุด แสงอุทัย, กฎหมายอาญา ภาคทั่วไป (พระนคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2520), น.80-81 และหยุด แสงอุทัย, กฎหมายอาญา ภาค 2-3 (พระนคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2523), น. 321
ปัญหาในเรื่องนี้ เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 442/2502 ตัดสินว่า "ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลที่ถูกจำเลยแทง แม้ถึงว่า จะเนื่องจากการรักษาบาดแผลไม่ดี เพราะบาดแผลเน่าจึงเป็นพิษก็ดี แต่เป็นผลธรรมดาอันสืบเนื่องจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา" การที่ศาลฎีกาใช้คำว่า "ผลธรรมดา" แลดูประหนึ่งว่า ศาลฎีกาเห็นว่า ผลคือความตายตามมาตรา 290 ต้องเป็น "ผลธรรมดา" จากการทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 อย่างไรก็ตามคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ตัดสินตามกฎหมายลักษณะอาญา ซึ่งในขณะใช้กฎหมายลักษณะอาญายังไม่มีบทบัญญัติในเรื่อง "ผลธรรมดา" ดังเช่นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 63 แต่อย่างใด

(2) ความเห็นที่สอง เป็นความเห็นของท่านศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ซึ่งถือว่าความตายตามมาตรา 290 ไม่ใช่ผลที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น จากการกระทำความผิดตามมาตรา 295 ทั้งนี้โดยให้เหตุผลว่า การทำร้ายตามมาตรา 295 ต้องมีเจตนาให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ส่วนการทำร้ายตามมาตรา 290 ไม่ต้องถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ อาจผลักเบา ๆ ไม่ถึงอันตรายแก่กายหรือจิตใจก็ได้ ขอให้มีผลคือความตาย ก็เป็นกรณีตามมาตรา 290 ได้ ด้วยเหตุนี้การวินิจฉัยความสัมพันธ์ระหว่างการทำร้ายตามมาตรา 295 และผลคือความตายตามมาตรา 290 จึงไม่ต้องใช้หลักผลธรรมดา แต่ใช้หลัก "ผลโดยตรง"
ความเห็นนี้ ปรากฏอยู่ในคำอธิบายกฎหมายอาญาของท่านศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ดู จิตติ ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ตอนที่ 2 และภาค 3 (กรุงเทพ : สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2524), น. 1917, 1922, 1923. และจิตติ ติงศภัทิย์, กฎหมายอาญาภาค 1 (กรุงเทพ : สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2529), น. 170, 171.

ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ปรากฏชัดอยู่แล้วว่า ผู้ตายเป็นโรคตับแข็งอยู่แล้วในขณะที่ถูกจำเลยทำร้าย จากเอกสารทาง การแพทย์ได้อธิบายว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีภูมิต้านทานเชื้อโรคต่ำและติดเชื้อในกระแสโลหิตได้โดยง่าย จึงเป็นที่เห็นได้ชัดว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะการถูกทำร้ายประกอบกับการที่ตนร่างกายอ่อนแอเพราะเป็นโรคตับแข็งอยู่แล้ว ซึ่งหากร่างกายแข็งแรง ถูกทำร้ายเพียงเท่านี้ก็จะไม่ถึงตาย

ปัญหาที่จะต้องพิจารณาคือ ความตายเป็น "ผลโดยตรง" จากการทำร้ายหรือไม่ "ผลโดยตรง" คือ ผลตามทฤษฎีเงื่อนไข ซึ่งมีหลักว่า "ถ้าไม่มีการกระทำ (ของจำเลย) ผลไม่เกิด ถือว่า ผลเกิดจากการกระทำของจำเลย แม้ว่าผลจะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีการกระทำของผู้กระทำคนอื่น ๆ ประกอบด้วยก็ตาม แต่ถ้าไม่มีการกระทำ (ของจำเลย) ผลก็ยังเกิด จะถือว่าผลเกิดจากการกระทำ (ของจำเลย) ไม่ได้"
ความตายของผู้ตายตามคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้เป็น "ผลโดยตรง" จากการทำร้ายของจำเลยอย่างแน่นอน เพราะหากจำเลยไม่ทำร้าย ผู้ตายก็จะยังไม่ตาย การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายหลังจากถูกทำร้ายเพียง 17 ชั่วโมง จึงเป็น "ผลโดยตรง" จากการถูกทำร้ายนั่นเอง แม้ว่าผู้ตายจะเป็นโรคตับแข็งอยู่แล้วก็ตาม เพราะหากไม่ถูกทำร้าย แม้จะเป็นโรคตับแข็ง ผู้ตายก็จะยังไม่ตาย จึงต้องถือว่า ความตายเป็น "ผลโดยตรง" จากการทำร้าย
ด้วยเหตุนี้ การที่ศาลฎีกาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 จึงนับว่าถูกต้องแล้ว
มีข้อสังเกตว่า การที่ผู้ตายเป็นโรคตับแข็งไม่ใช่ "เหตุแทรกแซง" เพราะจะเป็น "เหตุแทรกแซง" ได้จะต้องเป็น
(1) เหตุที่เกิดขึ้นใหม่ หลังจากถูกทำร้าย
และ (2) เป็นเหตุที่ทำให้เกิดผลคือความตาย
หากข้อเท็จจริงเป็นว่า ผู้ตายร่างกายแข็งแรงปกติธรรมดา แต่หลังจากถูกทำร้ายกลับรักษาบาดแผลไม่ดี แผลเน่าเป็นพิษ และถึงแก่ความตาย หลังจากถูกทำร้ายแล้วสามเดือน เช่นนี้ จึงจะถือได้ว่า "การรักษาบาดแผลไม่ดี" เป็นเหตุแทรกแซง แต่โรคตับแข็งที่ผู้ตายเป็นอยู่แล้วในขณะถูกทำร้าย
ตามคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ ไม่ใช่ "เหตุแทรกแซง" เพราะเป็นสภาพร่างกายของผู้ตายที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในขณะที่จำเลยทำร้าย ไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นใหม่เพราะการทำร้ายนั้น
กรณีที่ผู้ตายร่างกายผิดปกติ เมื่อถูกทำร้ายจึงถึงแก่ความตาย อย่างง่ายดายนี้ ศาลต่างประเทศก็ตัดสินว่า ความตายเป็น "ผลโดยตรง" จากการทำร้าย เคยมีคดีต่างประเทศที่ผู้ตายเป็นโรคโลหิตไหลไม่หยุด จำเลยไม่รู้ข้อเท็จจริงนี้และทำร้ายผู้ตายถึงแก่ความตาย ศาลก็ตัดสินว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา
หมายเหตุ บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 ที่ว่า "สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา" นั้น ไม่ได้ก่อให้เกิด อำนาจแก่สามีที่ชอบด้วยกฎหมายที่จะฉุดคร่าภริยาไปเพื่อการอนาจาร และหน่วงเหนี่ยวกักขังภริยา หากสามีกระทำการดังกล่าวย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 และ 310 และการที่สามีใช้กำลังบังคับกอดปล้ำข่มขืนกระทำชำเราภริยา สามีย่อมมีความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 หากมีการทำร้ายร่างกายก็มีความผิดตามมาตรา 295 หรือ 391 ได้ แต่สามีไม่มีความผิดตามมาตรา 276 เพราะผู้ถูกกระทำตามมาตรา 276 จะต้องเป็น "หญิงซึ่งมิใช่ภริยา" สามีภริยาตามมาตรา 276 หมายถึงสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยในคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ คงไม่ใช่สามีที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหาย

ปัญหาที่ต้องพิจารณาคือ เพราะเหตุใดจำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 284, 310 และ 276 ตามที่โจทก์ฟ้อง

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 วรรคแรก บัญญัติไว้ตอนหนึ่งว่า "ข้อเท็จจริงใด ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด"

มาตรา 62 นี้ คือเรื่องความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงซึ่งมีความหมายกว้างขวาง การไม่รู้กฎหมายแพ่งและการสำคัญผิดในสิทธิตามกฎหมายแพ่งนั้น ถือเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงได้

จำเลยในเรื่องนี้คงสำคัญผิด 2 ประการด้วยกัน คือ
(1) สำคัญผิดว่าตนเป็นสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย
และ (2) สำคัญผิดว่าการเป็นสามีที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ก่อให้เกิดอำนาจที่จะฉุดคร่าภริยาไปเพื่อการอนาจารได้ และมีอำนาจที่จะหน่วงเหนี่ยวกักขังและบังคับร่วมประเวณีกับภริยาได้ ดังที่ศาลฎีกาได้กล่าวว่า "อาจเป็นกรณีที่จำเลยกระทำไปโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิกระทำได้กับภริยาซึ่งมีบุตรด้วยกัน"

ความสำคัญผิดดังกล่าวนี้เอง ทำให้จำเลยไม่มีความผิดตามมาตรา 284, 310 และ 276 ซึ่งตรงกับมาตรา 62 ที่ว่า "แม้ข้อเท็จจริงนั้น (สิทธินั้น) จะไม่มีอยู่จริง แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่า (สิทธินั้น) มีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด"
ขณะที่ใช้กฎหมายลักษณะอาญา ไม่มีบทบัญญัติดังเช่นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 แต่ศาลฎีกาก็เคยตัดสินทำนองเดียวกันนี้ในฎีกาที่ 642/2489 ข้อเท็จจริงคือ จำเลยกับผู้เสียหายไม่ใช่สามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เคยได้เสียกันมา ต่อมาผู้เสียหายแยกตัวไปอยู่ที่อื่น เมื่อจำเลยพบผู้เสียหาย จำเลยฉุดผู้เสียหายเพื่อจะให้มาอยู่กินด้วยกันตามเดิม ศาลฎีกายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานฉุดคร่าและหน่วงเหนี่ยวกักขัง โดยให้เหตุผลว่าเพราะ "จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าผู้เสียหายเป็นภริยาจำเลย" ซึ่งก็ตรงกับความเข้าใจผิดในข้อ (1) ของจำเลยตามคำพิพากษาฎีกาที่ 430/2532 นี้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การให้เหตุผลแต่เพียงว่า "จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าผู้เสียหายเป็นภริยาจำเลย" นั้น น่าจะยังไม่เพียงพอ ที่จะทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฐานฉุดคร่าและหน่วงเหนี่ยวกักขัง เพราะแม้สามีที่ชอบด้วยกฎหมายก็กระทำความผิดสองฐานดังกล่าวต่อภริยาได้ จึงน่าจะต้องให้เหตุผลต่อไปด้วยในทำนองที่ว่า จำเลยก็เข้าใจโดยสุจริตว่าสามีมีสิทธิที่จะกระทำการดังกล่าว (ฉุดคร่า หน่วงเหนี่ยวกักขัง) ต่อภริยาได้ ซึ่งก็ตรงกับเหตุผล ข้อ (2) ของจำเลยตามคำพิพากษาฎีกาที่ 430/2532 นี้ ตามที่กล่าวมาแล้วตอนต้น
ความสำคัญผิด 2 ประการดังกล่าว ทำให้จำเลยไม่มีความผิดตามมาตรา 284 และ 310

2264/38
โจทก์และจำเลยนำสืบพยานโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาท โดยโจทก์และจำเลยต่างฟ้องเป็นคดีแพ่งกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท อีกฝ่ายรุกล้ำ ขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหาย ในระหว่างที่โจทก์และจำเลยยังโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทกันอยู่ การที่จำเลยเข้าไปปักเสาขึงลวดหนามและจำเลยปลูกต้นผลไม้ในที่ดินพิพาทโดยเข้าใจว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จำเลยจึงไม่มีเจตนาเข้าไปกระทำการใด ๆ ในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา ๓๖๒

เจตนา, ตัวการ, ผู้ใช้, ผู้ใช้ให้กระทำผิดโดยการโฆษณา, ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์, ปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
1459/32 จำเลยที่ 2 ที่ 3 กับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้ตาย แล้วพวกของจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้รู้หรือได้มีการนัดหมายกันมาก่อนว่าคนร้ายที่ฆ่าผู้ตายมีเจตนาฆ่ามาตั้งแต่แรก จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับคนร้ายอื่นฆ่าผู้ตาย อันจะเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 289 (7)
แต่เมื่อการฆ่าผู้ตายเป็นส่วนหนึ่งของการปล้นทรัพย์ จึงเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคท้าย
เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 กับพวกปล้นทรัพย์ของผู้ตาย และผู้ถูกใช้ได้กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับผลของการกระทำของผู้ถูกใช้ในการปล้นทรัพย์นั้นทั้งสิ้น
เมื่อการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคท้าย จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ใช้ย่อมต้องรับผิดในผลการกระทำของผู้ถูกใช้อันเนื่องจากการปล้นทรัพย์เสมือนเป็นตัวการเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ด้วย

อายุความร้องทุกข์ของความผิดอันยอมความได้
945/32 จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2530 จนกระทั่งถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2530 เป็นการกระทำผิดหลายคราวต่อเนื่องกันตลอดมา ผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 21ตุลาคม 2530 เป็นการร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

เจตนา, ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล, พยายาม, ฆ่าผู้อื่น
659/32 จำเลยใช้ของแข็งตีทำร้ายผู้ตายมีบาดแผลฟกช้ำดำเขียวทั่วร่างกายกับมีบาดแผลฉีกขาดที่ศีรษะยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ลึกประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีบาดแผลฉีกขาดที่หัวคิ้วซ้ายยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ลึกประมาณ 1 เซนติเมตร มีบาดแผลถลอกที่ขากรรไกรและและข้อศอกซ้าย กระดูกขากรรไกรหัก กระดูกซี่โครงร้าว ฟังได้ว่าจำเลยทำร้ายผู้ตายโดยมีเจตนาฆ่า
หลังจากที่ผู้ตายถูกทำร้ายแล้ว ได้มีการนำตัวผู้ตายไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์ได้รักษาผู้ตายเบื้องแรกโดยให้น้ำเกลือ ใส่ท่อช่วยหายใจ ผ่าตัดใส่ท่อระบายลมในโพรงปอดข้างซ้าย เพราะมีลมรั่วออกมาจากทางเดินหายใจ แล้วใส่เครื่องช่วยหายใจให้ผู้ตายด้วย และแพทย์ผู้รักษามีความเห็นว่า หากให้ผู้ตายรักษาที่โรงพยาบาลต่อไป แล้วโอกาสที่ผู้ตายจะมีชีวิตรอดมีมากกว่าผู้ตายจะถึงแก่ความตาย การที่ญาติผู้ตายกระทำให้การรักษาสิ้นสุดลงโดยการดึงเครื่องช่วยหายใจ และท่อช่วยหายใจออก แล้วพาผู้ตายกลับบ้าน และผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย หาใช่เป็นผลจากการกระทำของจำเลยโดยตรงไม่ เพราะเมื่อผู้ตายอยู่ในความดูแลรักษาของแพทย์แล้ว ผู้ตายย่อมเป็นผู้อยู่ในสภาพที่มีโอกาสมีชีวิตอยู่รอดสูง การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานพยายามฆ่าผู้ตาย

ฆ่าคนตายโดยไม่มีเจตนา
657/32 จำเลยใช้ไม้ขนาดหน้า 3 นิ้วฟุต ยาวราว 1 ศอก ไม่ปรากฏว่าหนาเท่าใดตีผู้ตาย เมื่อผู้ตายล้มลงก็เข้าไปกระทืบซ้ำ และเมื่อจำเลยต้อนผู้ตายไปติดอยู่ที่รถปิกอัพ จำเลยก็จับศีรษะผู้ตายโขกกับเสาเหล็กโครงหลังคารถปิกอัพซึ่งเป็นเสากลมกลวงขนาดโตไม่เกิน 1 นิ้ว เมื่อผู้ตายเดินกลับบ้าน จำเลยก็หักไม้รั้วบ้านซึ่งไม่ปรากฏว่าเป็นไม้ขนาดเท่าใดตีผู้ตายแล้วก็เลิกรากันไป ดังนี้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย คงถือได้เพียงว่า จำเลยมีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้ตายเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าก่อนถูกจำเลยทำร้ายร่างกาย ผู้ตายยังมีอาการปกติดีอยู่ ไม่ปรากฏว่ามีอาการผิดปกติอันส่อว่าจะถึงแก่ความตายในเวลาอันรวดเร็ว กลับถึงแก่ความตายหลังจากถูกจำเลยทำร้ายเพียงประมาณ 17 ชั่วโมง แม้แพทย์จะเห็นว่าผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยโรคตับแข็ง มิได้ตายเพราะบาดแผลที่ถูกจำเลยทำร้ายก็ตาม ก็ถือว่าความตายของผู้ตายเป็นผลโดยตรงจากการถูกจำเลยทำร้ายเพราะทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายเร็วขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไม่เจตนาตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก

โดยทุจริต, สำคัญผิดในข้อเท็จจริง, ข่มขืนกระทำชำเราหญิงที่มิใช่ภริยาของตนพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร, หน่วงเหนี่ยวกักขัง, ชิงทรัพย์
430/32 จำเลยกับผู้เสียหายแต่งงานกันตามลัทธิศาสนาอิสลาม มีบุตรด้วยกัน 1 คน ต่อมาจำเลยกับผู้เสียหายแยกกันอยู่ แต่มิได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกักขังเพื่อกระทำอนาจารและข่มขืนกระทำชำเรา จึงอาจเป็นกรณีที่จำเลยกระทำไปโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิกระทำได้กับภริยาซึ่งมีบุตรด้วยกัน และบุตรก็ยังอยู่กับจำเลย อันเสมือนกับทำโดยวิสาสะ ย่อมไม่เข้าลักษณะกระทำโดยมีเจตนาร้าย ไม่เป็นความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร หน่วงเหนี่ยวกักขัง และข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย
จำเลยถอดเอาแหวนและตุ้มหูของผู้เสียหาย โดยจำเลยบอกกับผู้เสียหายว่าถ้ามีแหวนและตุ้มหูติดตัวอาจมีเงินหลบหนีได้ แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาเพียงที่จะป้องกันมิให้ผู้เสียหายหลบหนีหามีเจตนาทุจริตที่จะเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายเป็นประโยชน์ส่วนตัวไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์

1489/43 จำเลยทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันพาผู้เสียหายไปที่บ้านเกิดเหตุเพื่อกระทำชำเรา จำเลยที่ 3 กระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอม จึงไม่มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา แต่เมื่อจำเลยที่ 3 ออกไปจากห้องแล้วปล่อยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และพวกอีก2 คน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในห้องทีละคนโดยจำเลยที่ 3 มิได้ขัดขวางหรือห้ามปรามแต่อย่างใด ถือว่าเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และพวกอีก 2 คน ก่อนหรือขณะกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราในลักษณะเป็นการโทรมหญิงจำเลยที่ 3 จึงมีความผิดเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

ไม่มีความคิดเห็น: