ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ใครคือผู้เสียหาย”

ในความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ บุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการประทุษร้ายจากทรัพย์ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ บุคคลที่ดูแลครอบครองทรัพย์และได้รับความเสียหายจากการถูกประทุษร้ายต่อทรัพย์ถือเป็นผู้เสียหายตามกฏหมาย ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๔๕/๒๕๔๘
ข้อสังเกต ๑.ปกติบุคคลที่สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้คือผู้เสียหาย ซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมถึงผู้มีอำนาจในการจัดการแทนด้วย ซึ่งตามปกติแล้วมักเป็นเจ้าของ ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย แต่ในความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ บุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ แม้ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกกระทำความผิดดังกล่าว หากเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ดังกล่าว และได้รับความเสียหายจากการที่มากระทำความผิดดังกล่าวก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้โดยถือว่าเป็นผู้เสียหาย แล้ว พนักงานสอบสวนมีอำนาจในการสอบสวน พนักงานอัยการมีอำนาจในการฟ้อง ศาลมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษา
๒.ดังนั้น เจ้าของบ้านและที่ดิน และผู้เช่าย่อมมีอำนาจในการแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดฐานบุกรุกได้ หรือยืมรถพี่ชายมาขับมีคนมาทุบรถในขณะอยู่ในความครอบครองของเรา นอกจากเจ้าของรถแล้วแม้เราไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์แต่หากเราสามารถพิสูจน์ได้ว่าเราได้รับความเสียหายจากการที่รถถูกทุบ เราเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ได้แม้ไม่ใช่เจ้าของก็ตาม และในความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์แม้ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ก็ตามแต่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์นั้น เช่นฝากเครื่องประดับไว้ที่ธนาคาร มีคนมาลักหรือยักยอกไป นอกจากเจ้าของเป็นผู้เสียหายแล้ว ธนาคารแม้ไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวก็ตาม แต่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์อยู่ในขณะที่มีการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์(โดยเจ้าหน้าที่ธนาคาร) จึงเป็นผู้เสียหายที่จะแจ้งความร้องทุกข์ได้ เพราะธนาคารอาจต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของเครื่องประดับ และอาจไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนทั่วไปที่จะนำทรัพย์สินมาฝากที่ธนาคาร

ไม่มีความคิดเห็น: