ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“เทปบันทึกเสียง”

๑.ไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้เทปบันทึกเสียงเป็นพยาน ต้องถอดข้อความในเทปออกมา หรือต้องนำเทปมาเปิดในขณะพิจารณาคดีของฝ่ายที่อ้างหรือฝ่ายตรงข้าม เพราะการนำสืบเสียงพูดเป็นพยานวัตถุ คำพิพากษาฏีกา ๓๙๑๑/๒๕๓๔
๒. จำเลยอ้างแถบบันทึกเสียงพร้อมบันทึกข้อความที่อ้างว่า ถอดจากแถบบันทึกเสียงเป็นพยาน โดยอ้างส่งแถบบันทึกเสียงมาลอยๆ ในขณะที่ทนายจำเลยถามค้านโจทก์ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมรับว่าเสียงในแถบบันทึกเสียงดังกล่าวเป็นของโจทก์ จึงไม่อาจใช้ยันโจทก์ได้ คำพิพากษาฏีกา ๖๑๑๖/๒๕๔๔
๓.แถบบันทึกเสียงเป็นพยานวัตถุ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ถอดข้อความหรือต้องนำเข้าถามค้านพยานอีกฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า พยานได้กล่าวถ้อยคำเช่นนี้บันทึกเสียงจริงหรือไม่ แต่การที่จะให้ศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงที่จำเลยประสงค์จะนำสืบ ก็น่าที่จะได้ถามค้านพยานโจทก์ โดยเปิดเสียงให้พยานโจทก์ที่จำเลยอ้างว่าบันทึกเสียงไว้เพื่อให้พยานโจทก์รับรองหรือปฏิเสธ หรือข้อความนั้นมีอยู่ถูกต้องแท้จริงหรือไม่ จึงเป็นพยานหลักฐานที่จำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียว แม้จะอ้างส่งประกอบคำเบิกความของพยานจำเลย และเมื่อเปิดแถบบันทึกเสียงนั้นแล้ว จะมีข้อความดังคำถามเอกสารหมาย จ ๙ ที่อ้าง ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ เพราะการบันทึกเสียงในแถบบันทึกเสียงอาจมีการตัดต่อ ดัดแปลง ลอกเลียนเสียงได้ไม่ยาก คำพิพากษาฏีกา ๗๑๕๕/๒๕๓๙
๔.จำเลยอ้างส่งเทปบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างโจทก์จำเลย พร้อมถอดบันทึกการสนทนาเป็นพยานหลักฐาน เป็นพยานหลักฐานเกี่ยวข้อเท็จจริงในการที่จำเลยจะนำสืบเรื่องการใช้เงิน แม้โจทก์ไม่ทราบว่ามีการบันทึกเสียงไว้ก็ตาม เมื่อเสียงที่ปรากฏเป็นเสียงของโจทก์จริง และการบันทึกเสียงเกิดจากการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นคู่สนทนาอีกฝ่ายที่บันทึกเสียงไว้ จำเลยมีสิทธิ์ที่จะเบิกความอ้างถึงการสนทนาในครั้งนั้นได้อยู่แล้ว ไม่ถือว่าเทปบันทึกเสียงหรือเอกสารที่ถอดเทปนั้นเป็นการกระทำอันไม่ชอบ อันต้องห้ามไม่ให้รับฟัง คำพิพากษาฏีกา ๔๖๔๗/๒๕๔๓
ข้อสังเกต ๑. ไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้เทปบันทึกเสียงเป็นพยาน ต้องถอดข้อความในเทปออกมา ไม่เหมือนกรณีนำส่งต้นฉบับเอกสารที่ต้องส่งเอกสารให้ศาลและสำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายตรวจสอบถึงความมีอยู่ถูกต้องแท้จริง และไม่มีกฏหมายบัญญัติต้องนำเทปมาเปิดในระหว่างการพิจารณาของศาลของฝ่ายที่อ้างหรือฝ่ายตรงข้าม เพราะการนำสืบเสียงพูดเป็นเพียงพยานวัตถุเท่านั้น คงมีเพียง ป.ว.อ. มาตรา ๒๔๑ เท่านั้นที่ต้องนำพยานวัตถุมาศาลเมื่อมีการอ้างพยานวัตถุเป็นพยาน หากไม่สามารถนำมาได้ให้ศาลไปตรวจจดรายงานที่พยานวัตถุนั้นอยู่ตามเวลาและวิธีการที่ศาลเห็นสมควรเท่านั้น
๒.เมื่อแถบบันทึกเสียงเป็นเพียงพยานวัตถุ การส่งคำแปลอ้างว่าถอดเทปมาจากแถบบันทึกเสียงแล้วนำส่งในขณะถามค้านที่อีกฝ่ายไม่ยอมรับว่าเป็นเสียงของเขาย่อมไม่อาจนำแถบบันทึกเสียงนั้นมาใช้ยันได้ว่าเป็นคำพูดของเขาจริง ไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่ามีการตัดต่อแถบบันทึกเสียงดังกล่าวหรือไม่อย่างไร ต้องนำผู้เชี่ยวชาญมาสืบประกอบว่าเสียงที่ปรากฏในแถบบันทึกเสียงเป็นเสียงของใครใช่เสียงของผู้ถูกกล่าวอ้างหรือไม่ และมีการตัดต่อแถบบันทึกเสียงดังกล่าวหรือไม่อย่างไร
๓.แถบบันทึกเสียงเป็นพยานวัตถุ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ถอดข้อความหรือต้องนำเข้าถามค้านพยานอีกฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า พยานได้กล่าวถ้อยคำเช่นนี้บันทึกเสียงจริงหรือไม่ แต่การที่จะให้ศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงที่จำเลยประสงค์จะนำสืบ ก็น่าที่จะได้ถามค้านพยานโจทก์ โดยเปิดเสียงให้พยานโจทก์ที่จำเลยอ้างว่าบันทึกเสียงไว้เพื่อให้พยานโจทก์รับรองหรือปฏิเสธ หรือข้อความนั้นมีอยู่ถูกต้องแท้จริงหรือไม่ หากไม่มีการถามค้านพยานเพื่อกระจายคำเบิกความ เพื่อทำลายน้ำหนัก หรือส่งเสริมพยานฝ่ายตน ต้องถามค้านพยานฝ่ายตรงข้ามไว้ ให้เป็นประเด็นเพื่อในชั้นสืบพยานในชั้นของเรา เมื่อสืบพยานแล้ว การตอบคำถามค้านจะได้เจือสมกับการสืบพยานฝ่ายเรา หากไม่ได้ถามค้านไว้ จึงเป็นพยานหลักฐานที่จำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียว แม้จะอ้างส่งประกอบคำเบิกความของพยานจำเลย และเมื่อเปิดแถบบันทึกเสียงนั้นแล้ว จะมีข้อความดังคำถามเอกสารที่อ้าง ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ เพราะการบันทึกเสียงในแถบบันทึกเสียงอาจมีการตัดต่อ ดัดแปลง ลอกเลียนเสียงได้ไม่ยาก แม้แต่ในคดีอาญาแม้พนักงานสอบสวนจะส่งแถบบันทึกเสียงตอนสอบปากคำผู้ต้องหาที่รับสารภาพไว้ ศาลก็ไม่อาจเชื่อได้โดยสนิทใจว่าผู้ต้องหารับสารภาพโดยสมัครใจหรือไม่ หรือแม้บันทึกเป็นวีดีโอเทปตอนสอบปากคำผู้ต้องหาก็ไม่อาจเชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าเป็นคำรับสารภาพที่ถูกต้องแท้จริงหรือไม่ เพราะก่อนการบันทึกเทปมีการทำอะไรผู้ต้องหาหรือไม่อย่างไร มีการขมขู่ จูงใจ ให้คำมั่นสัญญา หรือกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร และหลังจากบันทึกแถบเสียงหรือบันทึกวีดีโอแล้ว จะมีอะไรเกิดกับผู้ต้องหาหรือไม่อย่างไร ศาลก็ไม่อาจทราบได้ นั้นก็คือ ศาลยังไม่ยอมรับแถบบันทึกเสียงว่าเป็นพยานที่จะนำมารับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าเป็นไปตามแถบบันทึกเสียงนั้นหรือไม่ ต้องอาศัยพยานหลักฐานอื่นประกอบ ลำพังเพียงแถบบันทึกเสียงอย่างเดียวไม่อาจนำมารับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าเป็นจริงตามที่ปรากฏในแถบบันทึกเสียงนั้น
๔.การถอดแถบบันทึกเสียงแม้จะถอดออกมาเป็นภาษาเขียนได้ แต่ก็ไม่สามารถถอดอารมณ์คำพูดออกมาได้ คำพูดเดียวกัน ประโยคเดียวกัน แต่น้ำเสียงที่แตกต่างกัน ก็สื่อความหมายต่างกัน ดังนั้น แม้จะถอดออกมาเป็นภาษาเขียน แต่ก็ไม่สามารถสื่อถึงอารมณ์ที่พูดว่า พูดโดยอารมณ์ใด พูดประชดทั้งๆที่ไม่ต้องการให้เป็นไปตามคำพูด หรือพูดด้วยอารมณ์โกรธ เกลียด หรือถูกหลอกให้พูด ถูกบังคับให้พูด พูดด้วยความเกรงกลัว ถูกบังคับให้พูดพูดด้วยความกลัวเสียงสั่นเครือ แต่อารมณ์เหล่านี้ไม่สามารถสื่อออกมาเป็นภาษาเขียนได้ ทั้งการถอดแถบบันทึกเสียงจะถูกต้องอย่างไร เข้าใจความหมายผิดเพี้ยนหรือไม่อย่างไร หรือเป็นภาษาท้องถิ่น อาจแปลโดยเข้าใจผิดไป เช่น ภาษาอีสานคำว่า “ค้อน” หมายความถึง ไม้ในภาษากลาง หรือคำว่า “รำ” ในภาคเหนือหมายถึงอร่อย ไม่ได้หมายถึงกริยาท่าทางประกอบเพลง แต่อย่างใด การที่ไม่เข้าใจภาษาท้องถิ่นอาจแปลความหมายผิดเพี้ยนไปได้ ศาลจึงไม่ค่อยรับฟัง เว้นมีพยานหลักฐานอื่นประกอบ
๕.การที่จำเลยอ้างส่งเทปบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างโจทก์จำเลย พร้อมถอดบันทึกการสนทนาเป็นพยานหลักฐาน เป็นพยานหลักฐานเกี่ยวข้อเท็จจริงในการที่จำเลยจะนำสืบเรื่องการใช้เงินที่จำเลยต่อสู้คดีว่า ได้รับเงินไม่เต็มตามจำนวนที่ระบุในสัญญากู้ โดยโจทก์นำบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลย( ATM )ไปเบิกเงินของจำเลยประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท เป็นการนำสืบการใช้เงินโดยวิธีอื่นซึ่งโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นตามที่ตกลงกันไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๑ ซึ่งทำให้หนี้ระงับไปได้ ซึ่งสัญญากู้เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ย่อมสมบรูณ์ เมื่อมีการส่งมอบเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๐ การที่ได้รับเงินไม่เต็มตามจำนวนในสัญญากู้ เป็นการนำสืบถึงความไม่สมบรูณ์แห่งหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน เพราะการกู้ยืมเงินเกิน ๒,๐๐๐บาทต้องมีหลักฐานการกู้เงินลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๓ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง จึงห้ามไม่ให้รับฟังพยานบุคคลเพื่อเพิ่ม เติม เปลี่ยนแปลง ตัดทอนแก้ไขข้อความในเอกสาร เว้นแต่จะนำสืบว่าหนี้ไม่สมบรูณ์ ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๙๔ วรรคท้าย การนำสืบว่าได้รับเงินไม่ครบตามที่ระบุในสัญญากู้จึงเป็นการนำสืบว่าหนี้ไม่สมบรูณ์ เพราะมีการส่งมอบเงินไม่ครบตามสัญญากู้ แม้จำเลยจะนำสืบโดยใช้แถบบันทึกเสียงประกอบการเบิกความของตนโดยโจทก์ไม่ทราบว่ามีการบันทึกเสียงไว้ก็ตาม เมื่อเสียงที่ปรากฏศาล “เชื่อว่า “ เป็นเสียงของโจทก์จริง และการบันทึกเสียงเกิดจากการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นคู่สนทนาอีกฝ่ายที่บันทึกเสียงไว้ จำเลยจึงมีสิทธิ์ที่จะเบิกความอ้างถึงการสนทนาในครั้งนั้นได้อยู่แล้ว ไม่ถือว่าเทปบันทึกเสียงหรือเอกสารที่ถอดเทปนั้นเป็นการกระทำอันไม่ชอบ อันต้องห้ามไม่ให้รับฟังตามกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายบังคับว่า การบันทึกแถบเสียงต้องกระทำอย่างไร ต้องกระทำต่อหน้าและผู้ถูกบันทึกเสียงต้องรับทราบหรือไม่อย่างไร เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการการบันทึกแถบเสียงไว้ เมื่อศาล “ เชื่อว่า “ เป็นเสียงโจทก์จริง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม การที่กู้เงินได้เงินไปไม่เต็มจำนวนแต่จะมาฟ้องให้รับผิดเต็มจำนวนในสัญญากู้เป็นการเอาเปรียบจำเลย เป็นการทำนาบนหลังคน ศาลจึงรับฟังแถบบันทึกเสียงประกอบการสืบพยานจำเลยได้ แต่หากในคดีนี้ ศาลไม่เชื่อ ว่าเป็นเสียงโจทก์ ผลการพิจารณาย่อมแตกต่างออกไป

ไม่มีความคิดเห็น: