ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2564

ยาเสพติดของกลางมีหลายประเภท เวลาฟ้องนำสารบริสุทธิ์มาคิดรวมกันหรือไม่

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๗๗๘/๒๕๕๙

         ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ โดยไม่ได้รับอนุญาต  และมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา ๑๕ วรรคสาม” และตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสาม ได้แยกสารเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ออกเป็น ๓ อนุมาตราตาม (๑) (๒) (๓)     แต่ละอนุมาตรากำหนดให้ยาเสพติดให้โทษแต่ละชนิดมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หรือมีจำนวนหน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิอันเป็นข้อสันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแยกต่างหากจากกัน ปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หรือจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิของยาเสพติดให้โทษแต่ละอนุมาตราจึงต้องคำนวณจากยาเสพติดให้โทษในอนุมาตราเดียวกันไม่อาจนำยาเสพติดให้โทษในอนุมาตราอื่นมาคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์รวมกันได้

       ดังนั้นการที่ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ และมีปริมาณสารบริสุทธิ์ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา ๑๕ วรรคสาม หรือไม่    จึงต้องรวมปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ของยาเสพติดให้โทษตามมาตรา ๑๕ วรรคสาม เฉพาะในอนุมาตราเดียวกัน เมื่อตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๖๖ วรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปต้องระวางโทษ…” ยาเสพติดให้โทษดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมหรือไม่จึงต้องรวมปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์จากยาเสพติดให้โทษตามมาตรา ๑๕ วรรคสาม อนุมาตราเดียวกันเช่นเดียวกับวรรคหนึ่งด้วย แม้เมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ด้วยกัน และการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวกัน แต่เมื่อเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนเป็นยาเสพติดให้โทษต่างชนิดกัน และบัญญัติอยู่ในมาตรา ๑๕ วรรคสาม ต่างอนุมาตรากัน จึงไม่อาจนำสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนมาคำนวณรวมกันเพื่อลงโทษจำเลยตามมาตรา ๖๖ วรรคสาม ได้

สรุปถ้าเป็น เมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนเป็นยาเสพติดให้โทษต่างชนิดกัน และบัญญัติอยู่ในมาตรา ๑๕ วรรคสาม ต่างอนุมาตรากัน จึงไม่อาจนำสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนมาคำนวณรวมกันเพื่อลงโทษจำเลยตามมาตรา ๖๖ วรรคสาม ได้

ฟ้องซ้ำ

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4147/ 2562

         การที่จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ร่วมและออกเช็คให้นั้น เป็นการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตามแผนการที่วางไว้ตั้งแต่ต้น  โดยการหลอกลวงให้โจทก์ร่วมส่งสินค้าให้จำนวนมาก โดยอาศัยวิธีการออกเช็คชำระค่าสินค้าแทนเงินสด โดยเจตนาที่จะไม่ใช้เงินตามเช็ค เป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวง   การออกเช็คโดยมีเจตนาไม่ใช้เงินตามเช็คจึงเป็นการกระทำอันเป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง โดยต่างมีเจตนาเดียวกันคือ    เจตนาหลอกลวงให้โจทก์ร่วมส่งสินค้าให้จำเลย กับพวกโดยไม่มีเจตนาชำระราคาสินค้า การกระทำของจำเลยตามฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกันกับความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เมื่อโจทก์เคยดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค            และศาลแขวงธนบุรีพิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องย่อมระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)

วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2564

คำว่า "ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน" ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก

 คำพิพากษาฎีกาที่ 2580/2563 คำว่า "ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน" ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก หมายถึงการเป็นภริยาหรือสามีกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1457 ที่บัญญัติว่า "การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น" เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยจึงยังมิใช่ภริยาหรือสามีกัน

จำเลยฎีกาว่า เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ยินยอมไปกับจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง และไม่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่จะยกขึ้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่โจทก์มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบประกอบให้ได้ความชัดว่า จำเลยสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 หรือผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่กระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 เอง นั้น จำเลยมิได้นำสืบต่อสู้ในศาลชั้นต้น ทั้งมิได้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นต่อสู้ในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งยังไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

80
แชร์ 33 ครั้ง
ถูกใจ
แสดงความคิดเห็น
แชร์

ปลอมลายมือชื่อผู้เสียหายลงในสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนที่แท้จริงของผู้เสียหาย

 คําพิพากษาฎีกาที่ 460 / 2563 แม้โจทก์จะฟ้องว่าจําเลยทั้งสองปลอมสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนซึ่งเป็นเอกสารราชการ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องว่าจําเลยทั้งสองเพียงแต่ปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ลงในสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนที่แท้จริงของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อรับรองความถูกต้องโดยไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนให้แตกต่างไปจากสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนนี้แต่อย่างใด สําเนาบัตรประจําตัวประชาชนดังกล่าวยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริง การปลอมลายมือชื่อผู้เสียหายที่ 1 ลงในสําเนา บัตรประจําตัวประชาชน จึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก (เดิม) เท่านั้น เมื่อจําเลยทั้งสองใช้สําเนาบัตรประจําตัวประชาชนของ ผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม คงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม) ซึ่งจําเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม จึงต้องลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง

กล่าวอ้างว่าสามารถช่วยเหลือให้เข้าทำงานรับราชการ

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2563

พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่า จำเลย กับพวก กล่าวอ้างว่า สามารถช่วยเหลือฝากโจทก์ร่วมเข้าทำงานรับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ได้ อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวก ไม่สามารถช่วยเหลือฝากโจทก์ร่วมเข้าทำงานรับราชการ ในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ ตามที่กล่าวอ้างได้ โดยการหลอกลวงของจำเลย กับพวก เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นความจริง และมอบเงิน 550,000 บาท ให้จำเลยไปดำเนินการตามที่จำเลย กับพวก กล่าวอ้าง ถือว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีในข้อหานี้ได้ ส่วนที่โจทก์ร่วมมอบเงิน 550,000 บาท ให้จำเลยไปนั้นล้วนเกิดขึ้นเพราะถูกจำเลยหลอกลวง ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย มีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้

แจ้งข้อหาและสอบสวนเพิ่มเติม

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 659/2563

ป.วิ.อ. มาตรา 134 บัญญัติให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหานั้น มีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ผู้ต้องหาทราบว่าจะถูกสอบสวนในเรื่องใดและทราบว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด โดยไม่จำต้องแจ้งทุกข้อหาทุกตัวบทกฎหมายและทุกกระทงความผิดเสมอไป

เดิมพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยว่ากระทำความผิดในช่วงเวลาใดไว้ แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดในช่วงเวลาอื่นด้วย ก็สามารถสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำในช่วงเวลาอื่นเพิ่มเติมได้ ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดที่จำเลยกระทำในช่วงวันเวลาอื่นโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดที่จำเลยกระทำในช่วงเวลาที่การสอบสวนได้ความเพิ่มเติมได้

การกู้ยืมเงิน

 

* ๑. ความหมายของการกู้ยืมเงิน 

การยืม เป็นสัญญาชนิดหนึ่ง ซึ่งมีคู่กรณีเป็นสองฝ่าย  คือ    ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ให้ยืม” และอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ยืม”

สัญญายืมนั้น เป็นสัญญาที่ผู้ให้ยืมส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ยืมเพื่อใช้สอยทรัพย์สินนั้นและผู้ยืมก็ตกลงว่าจะส่งคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

ประเภทของสัญญายืม แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ 

- ๑. สัญญายืมใช้คงรูป 

- ๒. สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง 

สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง คือ สัญญาที่ผู้ให้ยืมได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้แก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิดและปริมาณเช่นเดียวกัน ให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น    และสัญญายืมนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

ดังนั้น การกู้ยืมเงินหรือสัญญากู้ยืมเงิน จึงเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ที่ “ผู้กู้ยืม” ไปขอกู้ยืมเงินจากบุคคลหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ผู้ให้กู้ยืม” โดยผู้กู้ยืมสัญญาหรือตกลงว่าจะใช้เงินคืนให้ภายในกำหนดเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งในการกู้ยืมเงินนี้จะมีการกำหนดดอกเบี้ยในการกู้ยืมด้วยหรือไม่ก็ได้ และสัญญากู้ยืมเงินจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้มีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมกันแล้ว

* ๒. หลักฐานการกู้ยืมเงิน

แบ่งออกเป็น ๒ กรณี คือ

- ๑. กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืมกัน ไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องทำหลักฐานการกู้ยืมต่อกัน ดังนั้น แม้ตกลงยืมเงินกันด้วยวาจา เมื่อเกิดการผิดข้อตกลงหรือผิดสัญญาก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามกฎหมาย

- ๒. กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืมกัน เกิน ๒,๐๐๐ บาทขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้การกู้ยืมเงินจะต้องมีหลักฐานแห่งการ กู้ยืมเงิน มิเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีต่อกันไม่ได้

หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้นจะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้ แต่ต้องเป็นลายลักษณ์อักษร มีข้อความชัดแจ้งว่ามีการกู้ยืมเงินกันไปเป็นจำนวนเท่าใดและตกลงจะใช้คืนเมื่อใด และที่สำคัญคือต้องมีลายมือชื่อของผู้กู้ยืมเป็นสำคัญด้วย

ดังนั้น เนื้อความในเอกสารหลักฐานการกู้ยืมเงิน ต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้

๑. วันที่ที่ทำสัญญากู้เงิน

๒. ชื่อ ผู้ขอกู้เงินและผู้ให้กู้เงิน

๓. จำนวนเงินที่กู้

๔. กำหนดชำระ (จะมีหรือไม่มีก็ได้)

๕. ดอกเบี้ย (ไม่เกินร้อยละต่อปี) เเต่ถ้าไม่ได้กำหนดเอาไว้กฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์ มาตรา ๗ ได้ใช้ในอัตราร้อยละ            ๗.๕ ต่อปี

๖. ผู้กู้ยืมต้องลงลายมือชื่อ (กรณีลงลายพิมพ์นิ้วมือจะต้องมีพยานรับรองลายนิ้วมือ ๒ คน)

* ๓. ดอกเบี้ยกู้ยืมเงิน

ในการกู้ยืมเงินกฎหมายให้คิดดอกเบี้ยกันได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน กฎหมายได้กำหนดจำกัดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินไว้คือ ให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี (คืออัตราร้อยละ ๑.๒๕ ต่อเดือน) ยกเว้นกรณีเป็นสถาบันการเงินหรือธนาคาร กฎหมายให้อำนาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ได้ แต่ต้องเป็นไปตามประกาศข้อกำหนดของธนาคารซึ่งมีกฎหมายรองรับ (พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน)

กรณีกำหนดดอกเบี้ยไว้เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีผลคือ

๑. เป็นความผิดอาญาฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับ ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๔๗๕

๒. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมนั้นตกเป็นโมฆะทั้งหมด ฟ้องบังคับไม่ได้เลย (แต่เงินต้นยังคงสมบูรณ์)

๒. ดอกเบี้ยที่ผู้กู้ยืมชำระไปแล้ว เรียกคืนไม่ได้ (ถือว่าชำระหนี้ตามอำเภอใจ) แม้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจะตกเป็นโมฆะ แต่สำหรับดอกเบี้ยผิดนัด ผู้ให้กู้ยืมก็ยังคงบังคับได้

* ๔. อายุความฟ้องคดีกู้ยืมเงิน

การฟ้องร้องเรียกเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน มีอายุความ ๑๐ ปี นับแต่วันถึงกำหนดชำระเงินกู้ยืมคืน แต่หากสัญญากู้ยืมตกลงกันกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ เช่น รวมทั้งหมด ๕ งวด จะเป็นกรณีที่คู่สัญญาได้ตกลงชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ซึ่งจะมีอายุความเพียง ๕ ปี

* ๕. ข้อแนะนำและข้อควรระวังเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน

๑. ห้ามลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเด็ดขาด

๒. ก่อนลงลายมือชื่อในสัญญากู้ ต้องตรวจสอบจำนวนเงินที่ระบุในสัญญาให้ถูกต้องและครบถ้วนตามจำนวนเงินที่ได้รับไป และในสัญญาต้องเขียนจำนวนเงินเป็นตัวหนังสือกำกับไว้ด้วยเสมอ เช่น กู้ยืมเงินไปจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท (สามหมื่นบาทถ้วน)

๓. อย่านำโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ส.๓) ไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงิน

๔. สัญญาต้องทำอย่างน้อย ๒ ฉบับ โดยให้ผู้กู้ยืมถือไว้ด้วย ๑ ฉบับ

๕. ควรมีพยานฝ่ายผู้กู้ยืมลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาด้วยอย่างน้อย ๑ คน

๖. การชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องขอรับใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับเงิน ซึ่งมีลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมกำกับด้วยทุกครั้ง (เพื่อไว้เป็นหลักฐานยืนยันว่าได้ชำระหนี้แล้ว)

๗. เมื่อชำระหนี้ทั้งหมดต้องขอสัญญากู้คืนจากผู้ให้กู้ยืมด้วย


 

 

 

วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564

ไม่ผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6930/2561

จำเลยที่ 1 ข้ามเขตแดนไปสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีน โดยจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นเป็นอย่างดี   ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองถูกเจ้าพนักงานควบคุมตัวไว้ก่อน   ทำให้ไม่มีอิสระที่จะไปรับเมทแอมเฟตามีนตามที่นัดหมายกับพวกไว้ได้ การที่จำเลยที่ 2 ไปรับเมทแอมเฟตามีนก็เพราะเจ้าพนักงานสั่งให้ไปรับ ส่วนจำเลยที่ 1 แม้ปฏิเสธไม่ยอมไปรับด้วย แต่เมทแอมเฟตามีนถูกนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้เพราะพวกของจำเลยที่ยืนอยู่ในแม่น้ำเหืองฝั่ง ส.ป.ป. ลาว           ขว้างข้ามเขตแดนมาให้จำเลยที่ 2 ตามที่โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบไว้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมลงมือกระทำการนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว เพียงแต่การกระทำนั้นยังไม่บรรลุผล         จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย เมื่อจำเลยที่ 2 เก็บเมทแอมเฟตามีนที่พวกของจำเลยขว้างข้ามเขตแดนมาก็ส่งให้เจ้าพนักงานทันที ไม่สามารถยึดถือไว้เพื่อตนได้ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

การเพิ่มโทษคดีเกี่ยวกับยาเสพติด

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7519/2561

ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 250,000 บาท     และในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 3 ปี ภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษทั้งสองคดีจำเลยกลับมากระทำผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันดังกล่าวตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง กรณีมิใช่จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 อันจะเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลังตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97  คงเพิ่มโทษได้เพียงหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92

ไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8192/2561

แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวก วางแผนที่จะเข้าไปลักทรัพย์ภายในโรงงานของผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการวางแผนแบ่งหน้าที่รับมากระทำเป็นส่วน ๆ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวก  จะใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์  พาทรัพย์นั้นไป  ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุม  อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ รวมไปถึงการทำร้ายร่างกายและปล้นเงินของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในโรงงานของผู้เสียหายที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เพียงว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เพียงขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวก ที่โรงงานของผู้เสียหายที่ 1 แล้วขับรถไปรอที่ปั๊มน้ำมัน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกลักทรัพย์ได้แล้ว พวกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ไปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวก พร้อมทรัพย์ที่ลักมา ซึ่งเป็นการเข้ามาร่วมกระทำผิดด้วย เมื่อมีการตัดสายไฟแล้วขนย้ายเคลื่อนที่อันเป็นการลักทรัพย์สำเร็จเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ที่อื่นห่างไกลจากสถานที่เกิดเหตุ จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายที่ 2 ด้วย    จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2       โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตามฟ้อง    แต่มีความผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 ในเวลากลางคืน  โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ และมาตรา 86 อันเป็นการกระทำซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองและรวมอยู่ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย    และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนเงิน 3,900 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2         แต่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนเงิน 280,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1

ไม่เป็นตัวการร่วม

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8403/2561

         การที่จำเลยที่ 1 ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินราดใส่ผู้ตายแล้วจุดไฟเผาผู้ตายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหัน     โดยจำเลยที่ 2 มิได้คบคิดนัดหมายกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องการแบ่งหน้าที่กันทำ จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่พฤติการณ์ที่ผู้ตายโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 2   แล้วจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ตายให้จำเลยที่ 2 ไปพบผู้ตายที่บ้าน จำเลยที่ 1 บอกให้จำเลยที่ 2 แจ้งให้ผู้ตายไปพบยังสถานที่เกิดเหตุโดยไม่ต้องบอกว่าจำเลยที่ 1 จะเดินทางไปด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า  จำเลยที่ 2 ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะทำร้ายผู้ตายซึ่งมีการคิดไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว และจำเลยที่ 2 เพียงแต่มีเจตนาที่จะร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อจะทำให้ผู้ตายได้รับอันตรายแก่กายหรืออันตรายสาหัสเท่านั้น  แม้จำเลยที่ 1 เลือกที่จะทำร้ายผู้ตายโดยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินราดใส่ผู้ตายและจุดไฟเผาผู้ตายซึ่งเป็นการกระทำนอกเหนือเจตนาของจำเลยที่ 2      ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นด้วย      การ กระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคสอง ประกอบมาตรา 289 (4) อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามที่โจทก์ฟ้องและเป็นความผิดได้ในตัว ศาลฎีกาสามารถลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่ได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564

บทสันนิษฐานตาม พรบ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสาม (2) เป็นบทสันนิษฐานไม่เด็ดขาด

 

ครอบครองยาเสพติด 4,000 เม็ด ต่อสู้ว่ามีไว้ในความครอบครองโดยผิดกฎหมาย ไม่ได้มีไว้เพื่อจำหน่าย หากไม่มีพฤติการณ์จำหน่าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896 / 2563

       ทั้งเมื่อจำเลยที่ 2  ครอบครองเมทแอมเฟตามีน 4,000 เม็ดของกลางแล้วจำเลยที่ 2 ได้นำไปซุกซ่อนไว้  โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์ขาย  จ่าย  แจก   แลกเปลี่ยน หรือให้เมทแอมเฟตามีน 4,000 เม็ด ของกลางแก่ผู้ใด  เจตนาที่แท้จริงและพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยที่ 2   มีเจตนาครอบครองเมทแอมเฟตามีน 4,000 เม็ด ของกลางไว้เป็นของตนเองเท่านั้น

      พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบจึงสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่ากรณีของจำเลยที่ 2 ไม่เข้าเงื่อนไขตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่สองมีเมทแอมเฟตามีน 4,000 เม็ด ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 

      จำเลยที่สองจึงไม่มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่การกระทำของจำเลยที่สองเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง 

      สรุป  ข้อต่อสู้ของจำเลยคดีนี้ จึงสามารถพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ได้ว่า  แม้จะมียาบ้าหรือเมทฯ เกินกว่า 15 เม็ด

( กรณียาไอซ์ 0.375 กรัม) ก็ไม่ได้มีไว้เพื่อจำหน่าย แต่อย่างใด  ผิดเพียงฐานมีไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายเท่านั้น ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่ากันมาก

        อนึ่ง เดิมก่อนมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๖๐ นั้นปริมาณยาเสพติดที่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด เช่น ยาบ้าเกิน 15 เม็ด ไอซ์สารบริสุทธิ์เกิน 375 มิลลิกรัม จะถือว่าเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย จะเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด ไม่สามารถปฏิเสธนำสืบหักล้างได้ว่าไม่ได้มีไว้เพื่อจำหน่าย แต่ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้มีการแก้ไขกฎหมายมาตรา 15 จากเดิมใช้คำว่า “ให้ถือว่า” เปลี่ยนเป็นใช้คำว่า “ให้สันนิษฐานว่า...” จึงสามารถนำสืบพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานได้ว่ามิได้ครอบครองเพื่อจำหน่าย

 

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2564

ฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม การยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทน ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย

 

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 1350/2563

เรื่อง ฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ ผู้มีอํานาจจัดการแทนผู้เสียหาย ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม  การยื่นคําร้องขอค่าสินไหมทดแทน  ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย

ป.อาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 

ป.วิ อาญา มาตรา  5 (2), 30, 44/1, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

   ขณะนางสาว จ. อยู่กินฉันสามีภริยากับจําเลย นางสาว จ. คบหาฉันชู้สาวกับผู้ตาย เป็นเหตุให้จําเลยหึงหวงและทะเลาะกันแล้วแยกกันอยู่กับนางสาว จ. ไม่ได้อยู่กันฉันสามีภริยากันอีก แต่นางสาว จ. ยังมาหาเด็กชาย ณ. บุตรชายที่พักอาศัยอยู่กับจําเลยเป็นประจํา วันเกิดเหตุจําเลยเห็นรถผู้ตายโดยบังเอิญจึงขับรถตามรถผู้ตายไปก็เพื่อต้องการจะพาบุตรชายไปดูว่านางสาว จ. นั่งอยู่ในรถผู้ตายหรือไม่ ไม่ใช่จําเลยตามไปหาเรื่องหรือจะไปทําร้ายผู้ตาย    เมื่อผู้ตายเห็นรถจําเลยจอดอยู่จึงขับรถมาจอดเทียบข้างรถจําเลยแล้ว

จําเลยพูดกับผู้ตายว่ามึงยังไม่เลิกยุ่งกับเมียกูอีกหรือ ลูกโตกันหมดแล้ว ก็เป็นการพูดในทํานองขอร้องให้ผู้ตายเลิกคบหากับนางสาว จ. และให้เห็นแก่บุตรของจําเลยกับนางสาว จ. ซึ่งโตแล้ว แต่ผู้ตายกลับพูดด้วยถ้อยคําหยาบคายว่าจะเลิกยุ่งทําไม เมียมึงเย็ดมันดี ซึ่งเป็นการพูดต่อหน้าบุตรชายของจําเลยที่เกิดกับนางสาว จ. ด้วยคําพูดของผู้ตายเช่นนั้น เป็นการเย้ยหยันและดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีของจําเลยอย่างรุนแรง จึงเป็นการข่มเหงจิตใจจําเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และการที่ผู้ตายคบหากับนางสาว จ. มาตั้งแต่ขณะนางสาว จ. อยู่กินฉันสามีภริยากับจําเลย ถือว่าจําเลยถูกกดขี่ข่มเหงต่อเนื่องมาโดยตลอด เมื่อจําเลยได้ยินคําพูดของผู้ตายดังกล่าว ทําให้ไม่อาจอดกลั้นโทสะไว้ได้จึงใช้ป์นยิงผู้ตายไปในทันทีทันใด กรณีย่อมเป็นการกระทําโดยบันดาลโทสะ จึงเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา  72 ซึ่งศาลจะลงโทษจําเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดเพียงใดก็ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่าผู้ตายมีส่วนก่อให้จําเลยกระทําความผิด ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสําหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามฟ้อง โจทก์ร่วมซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายย่อมไม่มีอํานาจจัดการแทนผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 30   ปัญหาว่าจําเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ภริยาผู้ตายที่ยื่นคําร้องขอให้จําเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอํานาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เมื่อข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่าผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายโดยมีส่วนก่อให้จําเลยกระทําความผิด ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จะนํามาประกอบดุลยพินิจในการกําหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทําให้สิทธิของผู้เสียหายที่จะขอให้จําเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป