ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“เพราะยอมจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย”

๑.กู้เงินโดยยอมให้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฏหมายกำหนด ถือให้ความร่วมมือให้เกิดความผิด จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฏหมายกำหนด คำพิพากษากีกา ๑๒๘๑/๒๕๐๓
๒.ยอมให้ทำแท้ง แล้วเกิดอันตรายสาหัส ถือยินยอมให้คนอื่นทำแท้ง และมีส่วนร่วมในการกระทำผิด ไม่ใช่ผู้เสียหาย คำพิพากษาฏีกา ๙๕๔/-๒๕๐๒
๓.ถูกหลอกว่ามีคนใบ้ห้วยแม่น ตนเคยถูกสลากกินรวบได้เงินนับล้านบาท หลงเชื่อจึงมอบเงินให้ไปซื้อสลากกินรวบตามเลขที่อาจารย์บอก เป็นการใช้ให้ผู้อื่นนำเงินไปซื้อสลากกินรวบอันเป็นความผิด ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมาร้องทุกข์ฐานฉ้อโกง คำพิพากษาฏีกา ๔๘๑/๒๕๒๔
๔.ออกเช็คโดยมีข้อตกลงไม่ให้แข่งประมูลงานก่อสร้างทางราชการ หนี้เกิดจากข้อตกลงที่ขัดความสงบเรียบร้อยศีลธรรมของประชาชน มูลหนี้ตามเช็คตกเป็นโมฆะ ไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง คำพิพากษาฏีกา ๓๐๔๗/๒๕๓๑
๕.ล่อซื้อโดยให้ทำซ้ำโปรแกมคอมพิวเตอร์ เท่ากับมีส่วนร่วมในการกระทำผิดด้วย ไม่ใช่ผู้เสียหาย คำพิพากษาฏีกา ๔๓๐๑/๒๕๔๓
ข้อสังเกต ๑. ผู้เสียหายคือ บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามกฏหมายแล้ว นอกจากต้องเป็นผู้เสียหายโดยพฤตินัยคือได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งในทางอาญาแล้ว ต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย คือไม่มีส่วนร่วม ช่วยเหลือหรือสนับสนุนในการกระทำความผิดด้วย
๒.การกู้ยืมเงิน กฎหมายให้เรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ ๑๕ ต่อปีหรือร้อยละ หนึ่งจุดสองห้าต่อเดือน หากเรียกดอกเบี้ยเกินกว่านั้นก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ ๑๕ ต่อปีหรือร้อยละ หนึ่งจุดสองห้าต่อเดือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๔ หากไม่ได้ตกลงไว้ในสัญญากู้ว่าให้เรียกดอกเบี้ยในอัตราเท่าไหร่ ให้เรียกดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗ การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ตาม พรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด การที่ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นความผิดตามกฎหมาย เท่ากับว่าผู้กู้ “ได้ร่วมมือ” ในการกระทำผิดนี้ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมาแจ้งความร้องทุกข์
๓.หญิงใดทำให้ตัวเองแท้ลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก โดยไม่ใช่กรณีต้องกระทำเพื่อสุขภาพของหญิง หรือหญิงมีครรถ์เนื่องจากการถูกขมขืนกระทำชำเรา หรือพาหญิงไปเพื่อกระทำอนาจาร หรือเป็นธุระจัดหา ล่อไป พาไปเพื่อการอนาจาร เพื่อสนองความใคร่คนอื่น เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๐๑,๓๐๕ การที่หญิงยอมให้บุคคลอื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ถือมีส่วนร่วมในการกระทำผิดฐานยอมให้คนอื่นทำให้ตนเองแท้งลูก แม้การทำแท้งเป็นเหตุให้หญิงได้รับอันตรายสาหัสก็ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
๔.การใช้อุบายหลอกลวงโดยมีเจตนาทุจริต ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า มีอาจารย์ดีใบ้ห้วยซึ่งพวกตนเคยซื้อแล้วได้เงินเป็นล้านบาท ซึ่งความจริงแล้วอาจารย์ไม่สามารถใบ้หวยบอกเลขที่ถูกรางวัลได้และไม่มีใครเคยซื้อเลขตามที่บอกแล้วได้เงินรางวัลเป็นล้านบาท และโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งเงินของผู้เสียหายที่ฝากเงินซื้อหวย อันเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง แต่การที่ผู้เสียหายมอบเงินให้ผู้หลอกลวงไปซื้อสลากกินรวบที่เป็นความผิดตามกฎหมาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมาแจ้งความร้องทุกข์
๕.การตกลงไม่ให้เข้าแข่งขันประมูลราคาก่อสร้างของทางราชการเป็นการฮั่วประมูลเป็นความผิดตามกฎหมาย การที่สั่งจ่ายเช็คเพื่อเป็นการตอบแทนเพื่อไม่ให้เข้าแข่งขันในการประมูลราคาก่อสร้างของทางราชการ เป็นการสั่งจ่ายเช็ดเพื่อตอบแทนในการกระทำความผิดตามกฎหมาย ข้อตกลงที่จ่ายเช็คเพื่อตอบแทนในการไม่เข้าแข่งขันประมูลราคาก่อสร้างของทางราชการ ข้อตกลงนี้ขัดกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน และมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งของกฎหมายที่ห้ามไม่ให้มีการฮั่วการประมูลราคา ข้อตกลงนี้ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ เช็คไม่มีมูลหนี้ ผู้รับเช็ดเพื่อตอบแทนเพื่อไม่เข้าแข่งขันประมูลราคาก่อสร้างทางราชการไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องตามพรบ.เช็คฯ
๖.การใช้ให้คนไปล่อซื้อโปรแกมคอมพิวเตอร์ โดยให้ทำโปรแกมมคอมพิวเตอร์ซ้ำ ถือมีส่วนร่วมในการกระทำผิด มีส่วนพัวพันในการกระทำผิดจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะดำเนินคดีฐานละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ซึ่งข้อเท็จจริงตามฏีกานี้แตกต่างจากในคำพิพากษาฏีกา ๖๕๒๓/๒๕๔๕ เพราะในคำพิพากษาฏีกาหลังนี้จำเลยมีโปรแกมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว พร้อมที่จะคัดลอกหรือทำซ้ำติดตั้งลงในฮารด์ดิสของเครื่องคอมพิวเตอร์และส่งให้ผู้ซื้อได้ทันที การเข้าไปล่อซื้อเป็นเพียงการแสวงหาพยานหลักฐานมาดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ใช่การชักจูงหรือก่อให้กระทำความผิด เพราะจำเลยมีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์อยู่ก่อนแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

ไม่มีความคิดเห็น: