ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ไม่ยื่นคำร้องขอหมายขัง”

การที่พนักงานสอบสวนรับตัวผู้ต้องหาควบคุมไว้โดยไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังอันเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย มีผลทำให้การควบคุมผิดกฎหมาย บุคคลตามป.ว.อ. มาตรา ๙๐ มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยตัวได้ แต่การควบคุมยังเป็นการควบคุมตามอำนาจของพนักงานสอบสวน จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องขังตามอำนาจของพนักงานสอบสวนปล่อยตัวผู้ต้องหาไปจากการควบคุมจึงเป็นการกระทำให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างคุมขังหลุดพ้นจากการคุมขัง มีความผิดตามกฎหมาย คำพิพากษาฏีกา ๓๕๙๘/๒๕๓๑
ข้อสังเกต ๑.กรณีที่ผู้ต้องหาถูกจับกุมแล้วไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว(ประกันตัว) หากมีเหตุจำเป็นในการสอบสวน หรือในการฟ้องคดี ต้องนำตัวผู้ต้องหาซึ่งถูกจับกุมไปยังศาลภายใน ๔๘ ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ถูกจับกุม โดยให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอหมายขังผู้ต้องหา ซึ่งศาลจะสอบถามผู้ต้องหาว่าจะคัดค้านหรือไม่ประการใด โดยศาลอาจให้พนักงานสอบสวนมาชี้แจงเหตุจำเป็นที่ต้องขอฝากขังหรือให้นำพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลก็ได้
๒.การที่จับกุมบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาแล้วครบกำหนด ๔๘ ชั่วโมงแล้วพนักงานสอบสวนไม่ยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาล พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องหา การที่พนักงานสอบสวนรับตัวผู้ต้องหาไปควบคุมตัวโดยไม่ยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาล เป็นการควบคุมที่ผิดกฎหมาย ถือเป็นการหน่วงเหนียวกักขังผู้อื่นโดยไม่ชอบตาม ป.อ. มาตรา ๓๑๐ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗
๓.เมื่อการควบคุมไม่ชอบด้วยกฏหมาย ผู้ที่ถูกคุมขัง พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี หรือสามีภรรยา หรือญาติหรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขังที่ถูกควบคุมหรือขังโดยผิดกฏหมาย ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๙๐ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลในท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาเพื่อขอให้ปล่อยตัวได้ เมื่อศาลได้รับคำร้องดังกล่าวศาลจะไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน หากเห็นว่ามีมูล ศาลมีอำนาจให้ผู้คุมขังนำผู้ถูกคุมขังมาศาล หากผู้คุมขังไม่สามารถแสดงให้เป็นที่พอใจศาลว่าเป็นการควบคุมที่ชอบด้วยกฏหมาย ให้ศาลปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมขังโดยเร็ว
๔.แม้การควบคุมไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมีการควบคุมตัวไว้ในสถานีตำรวจโดยไม่ยื่นคำร้องของฝากขังต่อศาล อันเป็นการควบคุมที่ผิดกฎหมาย แต่คำพิพากษาฏีกาในคดีนี้ก็ยังถือเป็นการควบคุมตามอำนาจของพนักงานสอบสวนอยู่ ดังนั้นการที่จำเลยเป็นตำรวจมีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องขังตามอำนาจของพนักงานสอบสวนปล่อยตัวผู้ต้องหาไปจากการควบคุมจึงเป็นการกระทำให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างคุมขังหลุดพ้นจากการคุมขัง มีความผิดตามกฎหมาย (ป.อ. มาตรา ๒๐๔)
๕.ด้วยความเครารพในคำพิพากษาศาลฏีกาในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า เมื่อเป็นการควบคุมที่ผิดกฎหมาย พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจในการควบคุมตัวแล้ว ไม่งั้นจะให้บุคคลตาม ป.ว.อ. มาตรา ๙๐ มายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ปล่อยได้อย่างไร เมื่อเป็นการคุมขังหรือควบคุมที่ผิดกฎหมายจึงไม่น่าถือว่าพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลผู้ที่ถูกคุมขังตามอำนาจของพนักงานสอบสวน การที่ปล่อยให้ผู้ต้องหาหลุดไป จึงไม่น่าที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๐๔ แต่การที่พนักงานสอบสวนไม่ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอฝากขังผู้ต้องหาแล้วยอมให้ผู้ต้องหาหลุดไปส่อให้เห็นว่ามีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องหาให้หลุดพ้นจากการดำเนินคดี การกระทำของพนักงานสอบสวนย่อมมีความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เสียหายที่ถูกผู้ต้องหากระทำความผิด , สนง.ตำรวจแห่งชาติ, ผู้อื่นหรือประชาชนได้ และเป็นการช่วยบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดอันไม่ใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ ตาม ป.อ. มาตรา ๑๘๙ ส่วนผู้ต้องหาที่หลบหนีไปนั้นหากถือตามคำพิพากษาศาลฏีกาคดีนี้ซึ่งถือว่าแม้ไม่มีการฝากขังแต่ก็ยังถือว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจในการควบคุมซึ่งการที่ผู้ต้องหาหลบหนีไปย่อมเป็นความผิดฐาน หลบหนีไปในระหว่างที่ถูกควบคุมขังตามอำนาจของพนักงานสอบสวนตาม ป.อ. มาตรา ๑๙๐ แต่หากถือตามความเห็นของผมที่ว่าเมื่อไม่ขอฝากขัง พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจในการควบคุม ถือไม่ได้ว่าผู้ต้องหาถูกควบคุมตัว การที่ปล่อยผู้ต้องหาไปแล้วผู้ต้องหาหลบหนี ผู้ต้องหาจึงไม่น่าที่จะเป็นความผิดฐานหลบหนีไปจากที่คุมขังของพนักงานสอบสวนตาม ป.อ.มาตรา ๙๐

ไม่มีความคิดเห็น: