ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ส่วนควบ”

๑.เรือนสามหลังต่อเป็นหลังเดียวกัน ทำรั่วบ้านด้านข้างติดต่อเป็นรั่วเดียวกัน มีนอกชานด้านหน้าซึ่งทำประตูไว้ตรงนอกชาน เจ้าของอยู่อย่างเป็นบ้านเดียวกัน ส่วนสิ่งก่อสร้างหลังหนึ่งล้ำเข้าไปในเรือนของอีกหลัง ตัวเรือนมีชายคาติดต่อต้องใช้รางน้ำร่วมกัน แม้เรือนทั้งสามหลังจะปลูกต่างกัน ก็ฟังได้ว่าเรือนทั้งสามหลังเป็นส่วนควบซึ่งกันและกัน คำพิพากษาฏีกา ๑๐๙๖/๒๕๑๐
๒.จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์ที่ไม่มีตัวถัง โจทก์ว่าจ้างให้ต่อตัวถัง จำเลยเป็นเจ้าของทรัพย์ประธาน จึงเป็นเจ้าของทรัพย์ที่รวมเข้าแต่เพียงผู้เดียว โจทก์ฟ้องให้จำเลยชดใช้รถทั้งคัน ทางพิจารณาได้ความโจทก์ควรได้รับแต่ส่วนแบ่ง ศาลพิพากษาให้ได้รับแต่ส่วนแบ่งคือให้จำเลยชดใช้ค่าต่อตัวถึงได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๓๙๕/๒๕๒๕
๓.โจทก์ขายรถที่มีแต่โครงรถและเครื่องยนต์มีเงื่อนไขไม่ชำระเงินให้ครบถ้วนกรรมสิทธิ์ยังไม่โอน จำเลยต่อเติมกระบะเข้ากับรถยนต์ กระบะเป็นส่วนควบรถยนต์ ฟ้องขอให้รถทั้งคันเป็นของโจทก์ โจทก์มีสิทธิ์ติดตามเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิ์ยึดถือ จำเลยไม่มีสิทธิ์โอนขายรถให้แก่บุคคลอื่น คำพิพากษาฏีกา ๒๕๓๑/๒๕๒๓
๔.รถถูกชนเสียหายไม่สามารถซ่อมได้ ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเท่าราคารถที่ซื้อมา กับค่ายางที่ติดรถกับยางอะไหล่ ยางรถและยางอะไหล่เป็นส่วนควบและอุปกรณ์ตัวรถ ตามปกติย่อมรวมอยู่ในราคารถที่ซื้อขาย เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นกับรถ การเสื่อมค่าเสื่อมราคาย่อมเป็นไปตามสภาพอยู่ด้วยกันทั้งหมด คำพิพากษาฏีกา ๒๐๐๓/๒๕๒๓
๕.ขายฝากที่ดินและบ้าน บ้านเป็นส่วนควบที่ดิน แม้ในสัญญาขายฝากไม่ได้ระบุไว้ในสัญญา บ้านย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ทันทีที่ได้ทำสัญญาขายฝาก ถือได้ว่ามีการขายฝากบ้านด้วย คำพิพากษาฏีกา ๑๗๗๗/๒๕๓๙
๖. ว. เช่าที่ดินจากจำเลย ไม่ได้เป็นตัวแทนเชิดโจทก์ แม้โจทก์ประกอบกิจการโรงแรมในที่เช่า และก่อนสัญญาเช่าครบกำหนด ว. แสดงเจตนาขอต่ออายุ สัญญญาเช่าไม่ก่อนิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์ โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิ์ใดๆจากสัญญาเช่า การที่โจทก์สร้างโรงแรม สระว่ายน้ำ ภัตตาคารในที่เช่า เป็นการปลูกโดยไม่มีสิทธิ์ในที่ดินจำเลย สิ่งปลูกสร้างเป็นส่วนควบกับที่ดินตกเป็นของจำเลย โจทก์ไม่อาจฟ้องเรียกค่าเสียหายใดๆเกี่ยวสิ่งปลูกสร้างได้ คำพิพากษาฏีกา ๗๘๘/๒๕๓๑
๗.ผู้เช่าก่อสร้างสิ่งใดๆในที่เช่าจนกลายเป็นส่วนควบของที่ดิน สิ่งก่อสร้างย่อมเป็นส่วนควบตกเป็นกรรมสิทธิ์เจ้าของที่ดิน ซีเมนต์เทลาดพื้นห้องน้ำห้องส้วมและถนนซีเมนต์ เป็นส่วนควบที่ดิน ผู้เช่ารื้อถอนสิ่งที่ตนทำไว้เป็นส่วนควบย่อมเป็นการทำละเมิดต่อเจ้าของทรัพย์ คำพิพากษาฏีกา ๗๒๓/๒๔๙๐
๘.ซื้อที่ดิน ไม่ได้ซื้อเรือนที่ปลูกบนที่ดินด้วย ต่อมาได้ขายเรือนให้ เรือนจึงตกเป็นส่วนควบที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ผู้ซื้อทันทีที่ได้ทำสัญญาซื้อขาย โดยไม่ต้องจดทะเบียนการซื้อขายเรือน คำพิพากษาฏีกา ๒๑๐๕/๒๕๑๑
๙.ไม้ยืนต้นที่ตั้งใจปลูกชั่วคราวไม่ใช่ส่วนควบที่ดิน การที่จำเลยตกลงให้ผู้ร้องปลูกต้นสนในที่ดินจำเลยเมื่อโตเต็มที่ก็นำมาตัดขายนำเงินมาแบ่งกัน จึงไม่ใช่ส่วนควบ เมื่อต้นสนไม่ใช่ส่วนควบที่ดิน โจทก์ไม่มีสิทธิ์บังคับคดีเอาจากต้นสนได้ ผู้ร้องขอกันส่วนได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๓๘๐/๒๕๓๒
ข้อสังเกต ๑.ส่วนควบ หมายถึง ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น เช่น เสา หลังคา ฝาผนัง ประตู หน้าต่าง ย่อมเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของตัวบ้าน หากแยกออกไปก็ไม่ใช่บ้าน สิ่งที่เป็นส่วนควบ ไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากทำลาย ทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์เปลี่ยนแปลงรูปทรง ดังนั้นฝากั้นห้องจึงไม่ใช่ส่วนควบของบ้านเพราะไม่ใช่สาระสำคัญของอาคาร คำพิพากษาฏีกา ๓๗๒/๒๕๐๐ เครื่องปรับอากาศก็ไม่ใช่สาระสำคัญในความเป็นอยู่ของอาคารและสามารถแยกออกจากกันได้โดยไม่ทำให้อาคารเสียหาย จึงไม่ใช่ส่วนควบของโรงเรือน คำพิพากษาฏีกา ๓๗๘/๒๕๒๒ เครื่องยนต์สีข้าว เครื่องจักรโรงสีก็ไม่ใช่ส่วนควบโรงสี คำพิพากษาฏีกา ๕๐๓/๒๕๐๔ เครื่องจักรโรงสี แม้มีน้ำหนักมากเพียงใดก็สามารถถอดโยกย้ายได้ ไม่ใช่ทรัพย์ติดที่ดิน จึงไม่ใช่ส่วนควบโรงสี คำพิพากษาฏีกา ๓๙๙/๒๕๐๙
๒.เรือนสามหลังปลูกติดกันต่อเป็นหลังเดียวกันในลักษณะตึงตราแน่นหนาถาวร โดยสภาพย่อมเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่แห่งตัวทรัพย์ไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากทำลาย ทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์เปลี่ยนแปลงรูปทรง ทั้งยังได้ความว่า ทำรั่วบ้านด้านข้างติดต่อเป็นรั่วเดียวกัน มีนอกชานด้านหน้าซึ่งทำประตูไว้ตรงนอกชาน เจ้าของอยู่อย่างเป็นบ้านเดียวกัน ส่วนสิ่งก่อสร้างหลังหนึ่งล้ำเข้าไปในเรือนของอีกหลัง ตัวเรือนมีชายคาติดต่อต้องใช้รางน้ำร่วมกัน แสดงให้เห็นเจตนาในการก่อสร้างต้องการให้เรือนแต่ละหลังเป็นส่วนหนึ่งซึ่งกันละกัน แม้เรือนทั้งสามหลังจะปลูกต่างกัน แต่ก็มีเจตนาต้องการให้เป็นเรือนหลังเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้นอกจากทำลาย ทำให้บุปสลายหรือทำให้บ้านเปลี่ยนแปลงรูปทรง เรือนทั้งสามหลังจึงเป็นส่วนควบซึ่งกันและกัน หรือในกรณีเรือนสองหลังปลูกติดต่อกันต่อชายคาชนกัน ฝาภายนอกเชื่อมกัน ชานบ้านและระแนงลูกกรงเป็นบริเวณเดียวกันแสดงว่าเป็นบ้านหลังเดียวกัน คำพิพากษาฏีกา ๑๐๖๓/๒๕๒๐ แต่กรณีที่มีเรือนแฝดสองหลังโดยมีเรือนพิพาทติดนอกชานเรือน เอาเสาต้นสั้นกั้นจากนอกชาน ถ้าไม่อาศัยเสานอกชานบ้านเก่าด้วยจะปลูกไม่ได้ เรือนดังกล่าวไม่ได้เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของเรือนพิพาท และสามารถแยกจากกันได้โดยไม่ทำให้เรือนอีกหลังเสียหาย เปลี่ยนรูปทรงแต่อย่างใด เรือนพิพาทจึงไม่ใช่ส่วนควบ คำพิพากษาฏีกา ๑๔๐๘/๒๕๐๓
๓.ตัวถังรถยนต์เป็นทรัพย์ประธานและเป็นส่วนสำคัญของรถ หากไม่มีตัวถังย่อมไม่สามารถประกอบกันเข้าเป็นตัวรถยนต์ได้ ดังนั้นตัวถังรถย่อมเป็นส่วนสำคัญในความเป็นอยู่ของรถ และถือได้ว่าเป็นทรัพย์ประธาน ใครเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานย่อมเป็นเจ้าของทรัพย์ที่รวมเข้าด้วยกันทั้งหมด การที่ฟ้องว่าเป็นเจ้าของรถทั้งคัน แต่เมื่อได้ความว่าควรได้เพียงบางส่วน ศาลสามารถพิพากษาได้รับเพียงส่วนแบ่งคือค่าใช้จ่ายในการต่อตัวถังได้ เป็นกรณีที่ฟ้องเรียกทรัพย์ใดๆเป็นของตนทั้งหมด แต่ทางพิจารณาควรได้รับแต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควรจะพิพากษาให้ได้รับแต่ส่วนแบ่งก็ได้ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๑๔๒(๒)
๔.ขายโครงรถและเครื่องยนต์รถให้ โดยมีเงื่อนไขว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนจนกว่าจะได้รับชำระราคาครบถ้วน นั้นปกติกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ซื้อขายโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๘ แต่ในกรณีนี้เป็นสัญญาซื้อขายที่มี “เงื่อนไขบังคับก่อน” บังคับไว้ว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนจนกว่าจะชำระราคา ดังนั้น กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขคือจนกว่าจะมีการชำระราคานั้นเอง ป.พ.พ. มาตรา ๑๘๓,๔๕๙ การที่ต่อเติมกระบะเข้ากับตัวรถ โดยสภาพแล้วกระบะย่อมเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่แห่งตัวทรัพย์ กระบะจึงเป็นส่วนควบตัวรถ จึงเป็นการฟ้องเรียกเอาทรัพย์คือรถยนต์ทั้งคันจากผู้ไม่มีสิทธิ์เป็นการติดตามเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิ์ที่จะยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๖ จำเลยเมื่อยังไม่ได้ชำระราคา การยังไม่เป็นไปตามเงื่อนไข จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ ไม่มีสิทธิ์นำรถไปโอนขายให้แก่บุคคลอื่น
๕.การขอคิดค่าเสียหายจากการที่รถถูกชนเสียหายโดยขอคิดค่าเสียหายจากราคารถที่ซื้อ ราคายางที่ติดกับรถและยางอะไหล่ด้วยนั้น เห็นได้ว่า ยางรถ ยางอะไหล่เป็นสิ่งที่เป็นสาระในความเป็นอยู่แห่งตัวทรัพย์คือรถยนต์ หากไม่มีล้อรถล้ออะไหล่ก็ไม่ใช่รถที่สามารถวิ่งได้ ดังนั้นยางรถและยางอะไหล่ย่อมเป็นส่วนควบและเป็นอุปกรณ์ของตัวรถ ตามประเพณีการค้าย่อมรวมอยู่ในราคาตัวรถที่ทำการซื้อขายอยู่แล้ว เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับรถ การเสื่อมค่าเสื่อมราคาย่อมเป็นไปตามสภาพอยู่แล้ว ดังนั้นความเสียหายที่เกิดจากตัวรถคือราคารถที่ซื้อมาเท่านั้นซึ่งรวมล้อรถและล้ออะไหล่อยู่แล้ว การที่จะมาฟ้องเรียกทั้งราคารถและราคาล้อรถและราคาล้ออะไหล่ด้วยนั้น ย่อมเป็นการเอาเปรียบจำเลย เป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕
๖.บ้านที่ปลูกบนที่ดินโดยสภาพแห่งทรัพย์และโดยจารีตประเพณีย่อมเป็นส่วนสำคัญในความเป็นอยู่แห่งตัวทรัพย์นั้น บ้านจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน ใครเป็นเจ้าของที่ดินย่อมเป็นเจ้าของบ้านด้วย ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๔วรรคสอง ดังนั้น การซื้อขาย ขายฝาก จำนอง ที่ดิน หากไม่ระบุว่า ขาย ขายฝาก จำนอง บ้านด้วยหรือไม่ต้องถือว่าเป็นการขาย ขายฝาก จำนอง ทั้งบ้านและที่ดิน หากประสงค์จะขาย ขายฝาก จำนองเฉพาะที่ดินต้องระบุให้ชัดว่าไม่รวมถึงตัวบ้านด้วย ในทางกลับกัน การขาย ขายฝาก จำนองบ้าน ไม่รวมถึงการขาย ขายฝาก จำนองที่ดินด้วย เพราะที่ดินไม่ใช่ส่วนควบของบ้าน แต่บ้านเป็นส่วนควบของที่ดิน ดังนั้น เมื่อขาย ขายฝากที่ดิน บ้านย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อ ผู้ซื้อฝากทันทีตามที่ได้ทำสัญญาขาย ขายฝากตามที่กฎหมายกำหนด หรือในกรณีขายฝากเรือนย่อมหมายถึงขายฝากครัวอันเป็นส่วนควบของเรือนด้วย คำพิพากษาฏีกา ๘๖/๒๔๙๓
๗.การปลูกโรงแรม สระว่ายน้ำ ภัตตาคารในที่ดินที่มีบุคคลอื่นเช่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าผู้เช่านั้นเป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของผู้ปลูกโรงแรมแล้วย่อม เป็นการปลูกสร้างโรงแรม สระว่ายน้ำ ภัตตาคารโดยไม่มีสิทธิ์ โรงแรม สระว่ายน้ำ ภัตตาคารเป็นส่วนควบที่ดินย่อมตกติดแก่เจ้าของที่ดิน เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงแรม สระว่ายน้ำ ภัตตาคาร หากเป็นการสร้างโรงเรือนโดยสุจริต เจ้าของที่ดินต้องใช้ค่าแห่งราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑๐ หากสร้างโดยไม่สุจริต ต้องทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิมแล้วส่งมอบ เว้นแต่เจ้าของที่ดินจะให้ส่งตามสภาพที่เป็นอยู่โดยเจ้าของที่ดินต้องใช้ราคาหรือใช้ค่าแห่งที่ดินเพราะสร้างโรงเรือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑๒ แต่ในกรณีนี้ไม่ใช่การสร้าง “ โรงเรือน” แต่สร้าง “ โรงแรม สระว่ายน้ำ ภัตตาคาร” ซึ่งมีความหมายแตกต่างกัน ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า แม้เป็นโรงแรม สระว่ายน้ำ ภัตตาคาร ก็ต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินอยู่ดีตามหลักใครเป็นเจ้าของที่ดินย่อมเป็นเจ้าของโรงแรม สระว่ายน้ำ ภัตตาคาร ที่เป็นส่วนควบ แต่บทบัญญัติเรื่อง “ ปลูกสร้าง “ โรงแรม สระว่ายน้ำ ภัตตาคาร ” ในที่ดินคนอื่นไม่มีกฏหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ น่าจะนำบทบัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑๐,๑๓๑๒ เรื่องการสร้างโรงเรือนในที่ดินคนอื่นหรือสร้างโรงเรือนรุกล้ำในที่ดินคนอื่นมาอณุโลมใช้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔
๘.ซีเมนต์ราดพื้น ห้องน้ำ ห้องส้วม ถังซีเมนต์ เป็นส่วนที่เป็นสาระในความสำคัญของการเป็นอยู่ในที่ดิน ย่อมเป็นส่วนควบที่ดินจึงตกตกเป็นสิทธิ์แก่เจ้าของที่ดิน เมื่อสิ่งที่ก่อสร้างดังกล่าวตกเป็นส่วนควบตกแก่เจ้าของที่ดินแล้ว การรื้อถอนสิ่งที่ปลูกสร้างไปย่อมเป็นการทำโดยจงใจ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหาย อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ และเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่อาจอ้างว่ากระทำผิดโดยเข้าใจว่าเป็นทรัพย์สินของตนเพราะตนไม่มีเจตนากระทำผิดได้หรือไม่? คือจะอ้างว่ากระทำไปโดยขาดเจตนากระทำผิดทางอาญาเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าตนมีสิทธ์ในทรัพย์ดังกล่าวเพราะเป็นคนสร้างมาเอง คืออ้างว่าขาดเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลในการกระทำผิดได้หรือไม่? และจะยก ป.อ. มาตรา ๖๔ มาอ้างว่าไม่รู้กฎหมายว่าป.พ.พ. มาตรา ๑๔๔ วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของส่วนควบ เพื่อให้ตนพ้นจากความรับผิดทางอาญาได้หรือไม่ ลองคิดเป็นการบ้านดูครับ
๙.ปกติโรงเรือนจะเป็นส่วนควบที่ดินที่เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนด้วย การที่ซื้อที่ดิน ไม่ได้ซื้อเรือนที่ปลูกบนที่ดินด้วย เป็นการตกลงซื้อขายเฉพาะทรัพย์ประธานไม่รวมถึงส่วนควบด้วย ส่วนควบจึงไม่ตกติดแก่ผู้ซื้อ และสามารถทำการซื้อขายกันเฉพาะทรัพย์ประธานได้ ไม่มีกฎหมายบังคับว่าหากซื้อขายต้องซื้อขายทั้งทรัพย์ประธานและส่วนควบ ต่อมาได้ขายเรือนให้ เรือนจึงตกเป็นส่วนควบที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ผู้ซื้อทันทีที่ได้ทำสัญญาซื้อขาย โดยไม่ต้องจดทะเบียนการซื้อขายเรือนกันอีก เป็นไปตามหลักส่วนควบที่ใครเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานย่อมเป็นเจ้าของส่วนควบด้วย จึงไม่จำต้องไปจดทะเบียนการซื้อขายเรือนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๖อีก เพราะมีการจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินที่เป็นทรัพย์ประธานแล้ว ดังนั้นโรงเรือนที่เป็นส่วนควบที่ดินที่ตกแก่เจ้าของที่ดินจึงไม่จำต้องไปจดทะเบียนตามกฎหมายอีก
๑๐.ต้นสนเป็นไม้ยืนต้น เมื่อปลูกในที่ดินย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินที่ตกเป็นสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๕ แต่การที่ปลูกต้นสนโดยมีเจตนาปลูกชั่วคราวเมื่อโตเต็มที่ก็ตัดมาขาย ต้นสนที่ติดกับที่ดินเพียงชั่วคราวย่อมไม่ใช่ส่วนควบที่ดินที่จะตกติดกับเจ้าของที่ดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๖ การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตกลงให้ผู้ร้องปลูกต้นสนในที่ดินจำเลยเมื่อโตเต็มที่ก็นำมาตัดขายนำเงินมาแบ่งกัน ต้นสนที่ปลูกเพียงชั่วคราวจึงไม่ใช่ส่วนควบ เมื่อต้นสนไม่ใช่ส่วนควบที่ดินจำเลยจึงไม่ใช่เจ้าของต้นสนนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิ์บังคับคดีเอาจากต้นสนได้เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ป.ว.พ. มาตรา ๒๗๑,๒๘๔,๒๘๕,๒๘๖,๒๘๗ ผู้ร้องขอกันส่วนโดยขอให้งดการขายทอดตลาดและขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าวได้ ป.ว.พ. มาตรา ๒๘๘

ไม่มีความคิดเห็น: