ป.ว.อ. มาตรา ๑๓๒ ไม่ได้ระบุว่า ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจบังคับให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าได้ คำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้ผู้ต้องหาเขียนชื่อในกระดาษเพื่อตรวจสอบลายมือชื่อ ไม่ใช่คำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่ปฏิบัติตามไม่มีความผิด คำพิพากษาฏีกา ๑๓๖๘/๒๕๐๐
ข้อสังเกต ๑. ในคดีอาญาผู้ต้องหามีสิทธิ์ให้การหรือไม่ให้การก็ได้ หากผู้ต้องหาไม่ยอมให้การตามกฏหมายถือว่าผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ กฎหมายจึงรองรับสิทธิ์และหน้าที่ของผู้ต้องหาซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา
๒.ในความผิดฐานปลอมเอกสารด้วยการอ้างว่าเป็นการลงลายมือชื่อปลอมโดยปลอมลายมือชื่อผู้เสียหายโดยเชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นคนปลอมลายมือชื่อ หรือในกรณีที่ผู้ต้องหาอ้างว่าลายมือชื่อตามเอกสาร เช่น การลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คแล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยผู้ต้องหาอ้างว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของตน เหล่านี้ต้องให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่า จำนวนมากหรืออาจเป็นสองถึงสามหน้า เพื่อส่งไปเปรียบเทียบกับลายมือชื่อที่มีการอ้างว่าเป็นการปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายโดยเทียบกับลายมือชื่อของผู้เสียหายครั้งก่อนๆที่เคยลงชื่อไว้หรือเพื่อนำไปตรวจเปรียบเทียบว่าการลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นเป็นลายมือชื่อของผู้ต้องหาจริงหรือไม่โดยเปรียบเทียบกับการลงลายมือชื่อผู้ต้องหาในครั้งก่อนๆ ต้องให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเพื่อนำไปเทียบกับลายมือชื่อที่ผู้เสียหายอ้างว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของตน หรือกรณีสั่งจ่ายเงินตามเช็คที่ผู้ต้องหาอ้างว่าตนไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็ค ต้องให้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเพื่อตรวจสอบกับลายมือชื่อเก่าๆของผู้ต้องหาที่เคยเซ็นไว้ว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร โดยดูจากการเขียนหนักเบา ช่องไฟ ลักษณะลายละเอียดและอื่นๆเพื่อเปรียบเทียบว่าผู้ต้องหาเป็นคนเขียนหรือไม่ การที่ผู้ต้องหาไม่ยอมเซ็นชื่อในกระดาษเปล่านั้น ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจพนักงานสอบสวนที่จะสามารถบังคับให้ผู้ต้องหาลงชื่อในกระดาษเปล่าได้ การที่บังคับให้ผู้ต้องหาลงชื่อในกระดาษเปล่าโดยผู้ต้องหาไม่เต็มใจแต่จำต้องเขียนไปตามที่ถูกบังคับ ถือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบ โดยเกิดจากการ ขู่เข็ญหลอกลวง(เช่นหลอกลวงว่าให้ความร่วมมือแล้วจะทำให้ได้รับโทษน้อยลงหรือไม่ได้รับโทษเลย)หรือให้คำมั่นหรือมิชอบด้วยประการอื่น(ว่าจะกันผู้ต้องหาเป็นพยานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดรายอื่น) ซึ่งพยานหลักฐานที่ได้นั้นต้องห้ามไม่ให้รับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวตาม ป.ว.อ. มาตรา ๒๒๖,๒๒๖/๑ เว้นแต่ศาลเห็นว่า การรับฟังพยานหลักฐานนั้นเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียแห่งมาตราฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิ์เสรีภาพพื้นฐานของประชาชน โดยคำนึงถึงคุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น พฤติการณ์และความร้ายแรงของคดี ลักษณะและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยมิชอบ ตำรวจที่ได้กระทำการโดยไม่ชอบเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานนั้นได้รับการลงโทษหรือไม่อย่างไร
๓.ในกรณีที่จะได้มาซึ่งพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนจะกระทำการใดที่กระทบสิทธิ์ของผู้ต้องหานั้น กฎหมายได้เข้มงวดหรือคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ต้องหาไว้เป็นพิเศษ หรือแม้แต่ใน ป.ว.อ. มาตรา ๑๓๑/๑ ยังบัญญัติกำหนดอัตราโทษในกฏหมายต้องมีอัตราโทษอย่างสูงเกินกว่า ๓ ปี พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื้อ ผิวหนัง เส้นผม ขน น้ำลาย ปัสสาวะ อุจาระ สารคัดหลัง สารพันธุกรรม หรือส่วนประกอบของร่างกายผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ จึงเห็นได้ว่ากฎหมายคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ต้องหา ผู้เสียหายและบุคคลที่เกี่ยวข้องมิให้พนักงานสอบสวนดำเนินการอันเกินเลยที่จะแสวงหาพยานหลักฐานในทางที่ขัดกับสิทธิ์มนุษยชนโดยคำนึงถึงสิทธิ์ร่างกายในเนื้อตัวของบุคคล มิใช่ว่าพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจที่จะกระทำการใดๆแม้จะละเมิดสิทธิ์ของบุคคลเพื่อให้ได้มาเพื่อพยานหลักฐาน เพื่อที่จะสรุปสำนวนได้ซึ่งเป็นผลงานของพนักงานสอบสวนในการประกอบการพิจารณาความดีความชอบ ซึ่งการจะให้แพทย์ ผู้ชำนาญการ ทำการตรวจผู้ต้องหาได้นั้นต้องเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน ๓ ปีขึ้นไป ซึ่งการที่จะบังคับให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าก็ไม่มีกฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวนกระทำได้ เมื่อไม่มีกฎหมายรองรับ การที่พนักงานสอบสวนไปบังคับย่อมเป็นการสอบสวนโดยมิชอบ เป็นการขมขืนใจให้ผู้อื่นกระทำ หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อเสรีภาพ(หากมีการขู่ว่าหากไม่ให้ความร่วมมือจะดำเนินคดีฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา ๓๖๘หรือไม่ให้ความร่วมมือจะไม่ให้ประกันตัว) หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย(หากมีการทำร้ายเพื่อให้ลงลายมือชื่อ) จนผู้ถูกขมขืนใจกระทำเช่นว่านั้นและเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฏหมายเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗และ๓๐๙ เมื่อไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจพนักงานสอบสวนที่จะไปบังคับให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าได้ หากผู้ต้องหาไม่ยอมเขียนชื่อในกระดาษเปล่าจะถือว่าผู้ต้องหาทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานที่สั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย แล้วไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุและข้อแก้ตัวโดยชอบด้วยกฏหมาย ตาม ป.อ. มาตรา ๓๖๘หาได้ไม่
๔. การที่พนักงานสอบสวนให้ผู้ต้องหาลงชื่อในกระดาษเปล่า มีหลักประกันอะไรว่าจะไม่มีข้อความเขียนขึ้นภายหลัง ประสบการณ์การทำงานพบบันทึกการจับกุมบางฉบับให้ผู้ต้องหาลงชื่อด้านข้างบันทึกจับกุม ทำไมไม่ให้ลงชื่อด้านล่างหลังเขียนข้อความเสร็จ บางคดีก็ให้ลงชื่อหลังเขียนข้อความเสร็จแต่ห่างจากบันทักสุดท้ายของข้อความ ๔ บรรทัด ทำไมไม่ให้เซ็นต่อท้ายบรรทัดสุดท้าย บางคดีบันทึกจับกุมเขียนด้วยหมึกดำ ผู้จับกุมลงชื่อด้วยหมึกดำหมด แต่ลายมือชื่อผู้ต้องหาใช้ปากกาหมึกสีน้ำเงิน ทำไมไม่ให้ใช้สีดำ หรือในบันทึกจับกุมใช้หมึกสีน้ำเงินเข้ม ผู้จับก็ใช้ปากกาสี้น้ำเงินเข็มลงลายมือชื่อ แต่ลายมือชื่อผู้ต้องหาเป็นหมึกสีน้ำเงินอ่อน ส่อให้เห็นว่าเช็นไม่พร้อมกัน ซึ่งเจือสมกับการนำสืบของจำเลยว่าถูกพนักงานสอบสวนหรือผู้จับกุมให้ลงชื่อในกระดาษเปล่า ไม่มีข้อความใดๆ และตนไม่ได้รับสารภาพ เป็นพิรุธให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง เป็นพิรุธให้ศาลยกฟ้อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น