๑.ผู้ตายมีภรรยาชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ต่อมามีภรรยาน้อยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกคน จะถือว่าภรรยาน้อยเข้ามาอยู่ในครอบครัวผู้ตายในฐานะบริวารหรือนางบำเรอเท่านั้น หามีสิทธิ์ที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างผู้ตายกับภรรยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ คำพิพากษาฏีกา ๕๒๔/๒๕๐๖
๒.จดทะเบียนสมรสซ้อน การสมรสตกเป็นโมฆะเสมือนไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เมื่อการสมรสตกเป็นโมฆะ จึงไม่อาจให้สัตยาบันได้ แม้ต่อมาจะได้จดทะเบียนหย่ากับภรรยาคนแรก ก็หาทำให้การจดทะเบียนซ้อนเป็นการสมรสโดยชอบ คำพิพากษาฏีกา ๖๓๖๕/๒๕๔๗
๓.เมื่อไม่มีการฟ้องหย่าและไม่มีคำพิพากษาให้หย่า แม้สามีไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูก็ตาม เมื่อยังไม่มีการหย่าภรรยาคนแรกยังเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อฝ่ายชายไปจดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่น การสมรสตกเป็นโมฆะ ภรรยาคนแรกเป็นผู้มีส่วนได้เสียฟ้องให้เพิกถอนการสมรสซ้อนได้ คำพิพากษาฏีกา ๓๑๙๒/๒๕๔๙
๔.จดทะเบียนสมรสซ้อนมีผลเท่ากับไม่ได้เป็นสามีภรรยากันมาแต่แรก จึงไม่อาจถือเอาเงินที่ได้รับมาเป็นเงินได้ตาม ป.รัษฏากร มาตรา ๕๗ตรี จึงไม่มีหน้าที่ยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้ในเงินดังกล่าว คำพิพากษาฏีกา ๖๕๙/๒๕๔๕
๕.จดทะเบียนหย่าไปแล้วจึงมาจดทะเบียนสมรส แม้จะเคยแจ้งว่าเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็มีผลอย่างเดียวกัน จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ คำพิพากษาฏีกา ๑๒๓๗/๒๕๔๔
๖.จดทะเบียนสมรสซ้อน การสมรสตกเป็นโมฆะเสมือนหนึ่งไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรส ภรรยาหลวงจึงเป็นภรรยาของฝ่ายชายเพียงคนเดียว คำพิพากษาฏีกา ๑๒๒๑/๒๕๒๗
๗.ภรรยาชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ ป.พ.พ. ร้องขอนายทะเบียนให้บันทึกฐานะฐานะของภรรยาน้อยได้ แต่เมื่อภรรยาหลวงยังมีชีวิตอยู่ภรรยาน้อยก็ไม่มีสิทธิ์จดทะเบียนสมรสกับฝ่ายชายได้ คำพิพากษาฏีกา ๖๙/๒๕๑๖
๘.บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่จดทะเบียนกัน เมื่อบิดาไปจดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่นอีก การสมรสย่อมตกเป็นโมฆะไม่อาจให้สัตยาบันได้แม้ต่อมาบิดามารดาจดทะเบียนหย่าก็ไม่มีผลไปถึงการสมรสที่ตกเป็นโมฆะไปก่อนแล้ว คำพิพากษาฏีกา ๙๖๓/๒๕๑๙
๙.จดทะเบียนสมรสซ้อนตกเป็นโมฆะ ถือไม่มีการจดทะเบียน การที่ฝ่ายหญิงไปจดทะเบียนกับชายอื่นอีก ถือเป็นการสมรสที่ฝ่ายหญิงยังไม่มีคู่สมรส การสมรสจึงชอบด้วยกฎหมาย ชายอื่นนั้นเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการสมรสซ้อนของฝ่ายหญิงนั้นได้ คำพิพากษาฏีกา ๖๐๗๗/๒๕๓๗
๑๐.จดทะเบียนสมรสซ้อนตกเป็นโมฆะ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของภรรยาอีกคนมีฐานะเป้นทายาทมีสิทธิ์ได้รับมรดกจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้การสมรสเป็นโมฆะได้ คำพิพากษาฏีกา ๖๑๘๑/๒๕๔๕
ข้อสังเกต ๑. การสมรสตามกฎหมายไทยจะมีได้ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนสมรส ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๕๗ ชายหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ ป.พ.พ. มาตรา๑๔๕๒ กล่าวคือ เมื่อได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงคนใดแล้วจะจดทะเบียนสมรสซ้อนกับหญิงอื่นอีกไม่ได้หรือจดทะเบียนสมรสกับชายคนใดแล้วไม่สามารถจดทะเบียนสมรสซ้อนกับชายคนอื่นได้อีก หากฝ่าฝืนการสมรสครั้งหลังตกเป็นโมฆะ ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๙๕ ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใด เช่น ภรรยาหลวง หรือสามีคนแรก จะยกขึ้นกล่าวอ้างหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาให้การสมรสตกเป็นโมฆะเสียก็ได้ ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๙๗ ซึ่งการสมรสที่เป็นโมฆะไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีกับภรรยา(น้อย)หรือระหว่างภรรยากับสามี(น้อย) ทรัพย์ที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสซ้อนที่ตกเป็นโมฆะ รวมทั้งดอกผลนิตินัย(เช่นดอกเบี้ยธนาคาร)หรือดอกผลธรรมดา เช่น ลูกวัวที่เกิด เป็นของฝ่ายใดก็เป็นของฝ่ายนั้น ส่วนทรัพย์สินที่หาได้ร่วมกันให้แบ่งกันคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะพิเคราะห์ถึงภาระในครอบครัว ภาระในการเลี้ยงชีพ และฐานะของชายผู้เป็นสามีและหญิงซึ่งเป็นภรรยาน้อยหรือฐานะของหญิงกับสามี(น้อย) และพฤติการณ์อื่นศาลอาจสั่งเป็นประการอื่นโดยไม่ได้ให้แบ่งกันคนละครึ่งก็ได้ เช่นให้ฝ่ายหญิง ๒ใน ๓ ส่วน ฝ่ายชายได้ ๑ ใน๓ส่วน ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๙๘
๒.การสมรสซ้อนคือจดทะเบียนสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอาจเกิดแต่ชายมีคู่สมรสอยู่แล้วที่จดทะเบียนแล้วไปจดทะเบียนกับหญิงอื่น หรือเป็นกรณีที่หญิงมีคู่สมรสอยู่แล้วโดยจดทะเบียนสมรสกับชายอื่นอยู่แล้วไปจดทะเบียนสมรสกับชายอื่นอีก ซึ่งในทางปฏิบัติแทบไม่เกิดปัญหานี้แล้ว เพราะทางที่ว่าการอำเภอมีข้อมูลเกี่ยวการจดทะเบียนสมรสสามารถเชื่อมโยงตรวจสอบกันได้ทั่วประเทศ เพียงแค่บัตรประชาชนใบเดียวสามารถตรวจสอบได้หมดว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน จดทะเบียนสมรสกับใครหรือไม่อย่างไร เคยจดทะเบียนหย่ามาแล้วหรือไม่อย่างไร มีธุรกรรมกับธนาคารใดบ้าง เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลใดบ้าง ดังนั้นปัญหาการจดทะเบียนสมรสซ้อนแทบไม่มี ยกเว้นในวันดังกล่าวไฟฟ้าดับไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ การจดทะเบียนสมรสซ้อน ไม่ทำให้ชายหรือหญิงที่จดทะเบียนสมรสโดยสุจริตต้องเสื่อมเสียสิทธิ์ที่จะได้มาเพราะการสมรสก่อนที่ตนจะรู้เหตุแห่งการสมรสซ้อนที่ตกเป็นโมฆะ เพียงแต่ไม่ก่อให้เกิดสิทธิ์ในการรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่าย และคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสซ้อนโดยสุจริตไม่ทราบว่าอีกฝ่ายเคยจดทะเบียนสมรสและยังไม่ได้หย่าขาดจากกัน แต่ตนเข้าใจโดยสุจริตว่าคู่สมรสอีกฝ่ายไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับใคร การสมรสที่ตกเป็นโมฆะนี้ทำให้คู่สมรสที่สุจริตต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่(เช่นลาออกจากงานเพื่อมาปฏิบัติหน้าที่แม่บ้านทำให้ไม่มีรายได้) ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือก่อนที่จะรู้ว่าการสมรสซ้อนนั้นตกเป็นโมฆะ คู่สมรสที่สุจริตมีสิทธิ์เรียกค่าเลี้ยงชีพจากคู่สมรสอีกฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๙๙ วรรคสามซึ่งค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับ ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๒๖,๑๔๙๙วรรคสาม หากคู่สมรสซ้อนที่จดทะเบียนสมรสโดยสุจริตได้สมรสใหม่โดยจดทะเบียนสมรสใหม่ สิทธิ์ในการรับค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไป ป.พ.พ.. มาตรา ๑๕๒๘,๑๔๙๙วรรคสาม
๓.การที่ผู้ตายมีภรรยาชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่นโดยยังไม่ได้หย่าขาดจากภรรยาคนแรกหรือได้ภรรยาน้อยมาโดยไม่มีการจดทะเบียนสมรสเพียงแต่แต่งงานหรือผูกข้อไม้ข้อมือหรือตามมาอยู่เฉยๆก็ตาม เมื่อมีภรรยาน้อยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกคน จึงถือว่าภรรยาน้อยเข้ามาอยู่ในครอบครัวผู้ตายในฐานะบริวารหรือนางบำเรอเท่านั้น เพราะกฎหมายประสงค์ให้ชายหญิงมีผัวเดียวเมียเดียว ดังนั้นภรรยาคนหลังที่เป็นภรรยาน้อยจึง หามีสิทธิ์ที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างผู้ตายกับภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ เพราะเมื่อฝ่ายชายจดทะเบียนสมรสกับฝ่ายหญิง(ภรรยาคนแรก) ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสคือได้มาภายหลังจากการจดทะเบียนสมรส รวมทั้งดอกผลของสินส่วนตัวย่อมเป็นสินสมรส (เช่นก่อนสมรสมีสินส่วนตัวคือเงินฝากธนาคาร๑ล้านบาท เมื่อสมรสแล้วเงินดังกล่าวมีดอกเบี้ยเงินฝากเกิดขึ้น ดอกเบี้ยเงินฝากนั้นได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรส ส่วนต้นเงินมีก่อนสมรสเป็นสินส่วนตัว) เมื่อทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสระหว่างฝ่ายชายกับภรรยาหลวงเป็นสินสมรสของทั้งสองฝ่าย ภรรยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย(ภรรยาน้อย)ย่อมไม่มีสิทธิ์ในส่วนแบ่งทรัพย์สินที่ได้มาหลังการจดทะเบียนสมรสของฝ่ายชายกับภรรยาหลวงด้วย
๔.แต่ในกรณีที่ฝ่ายชายมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายหลายคน ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คือก่อนพ.ศ.๒๔๗๗ และภรรยาเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่
๔.๑หากฝ่ายชายถึงแก่ความตาย ภรรยาทุกคนมีสิทธิ์ได้รับมรดกตามลำดับชั้นในการแบ่งมรดกคือหากผู้ตายมีผู้สืบสันดานหรือมีผู้รับมรดกแทนที่ คู่สมรสเหล่านั้นรับมรดกเสมือนตนเป็นทายาทชั้นบุตร แต่ในระหว่างภรรยาด้วยกันเอง ภริยาน้อยมีสิทธิ์ได้รับมรดกกึ่งส่วนที่ภริยาหลวงจะพึงได้รับ ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๓๖,๑๖๓๕(๑)
๔.๒หากผู้ตายมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันหรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือไม่มีผู้สืบสันดานแต่บิดามารดายังมีชีวิตอยู่ คู่สมรสมีสิทธิ์รับมรดกกึ่งหนึ่งแต่ในระหว่างภรรยาด้วยกันเอง ภริยาน้อยมีสิทธิ์ได้รับมรดกกึ่งส่วนที่ภริยาหลวงจะพึงได้รับ ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๓๖,๑๖๓๕(๒)
๔.๓หากผู้ตายมีพี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน หรือมีลุงป้าน้าอา ยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่หรือปู่ย่าตายยายยังมีชีวิตอยู่ คู่สมรสมีสิทธิ์ได้รับมรดกสองในสาม แต่ในระหว่างภรรยาด้วยกันเอง ภริยาน้อยมีสิทธิ์ได้รับมรดกกึ่งส่วนที่ภริยาหลวงจะพึงได้รับ ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๓๖.๑๖๓๕(๓)
๔.๔หากไม่มีทายาท คู่สมรสที่มีชีวิตอยู่ได้รับมรดกทั้งหมด แต่ในระหว่างภรรยาด้วยกันเอง ภริยาน้อยมีสิทธิ์ได้รับมรดกกึ่งส่วนที่ภริยาหลวงจะพึงได้รับ ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๓๖,๑๖๓๕(๔)
๕. นิติกรรมที่เป็นโมฆียะสมบรูณ์จนกว่าจะมีการบอกล้างและอาจให้สัตยาบันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๗ เมื่อมีการบอกล้างถือเป็นโมฆะมาแต่แรกและให้คู่ความกลับคืนสู่สถานะเดิมป.พ.พ. มาตรา ๑๗๖ แต่การที่เป็นโมฆะไม่อาจให้สัตยาบันได้ ผู้มีส่วนได้เสียจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้ ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๒ จดทะเบียนสมรสซ้อน การสมรสตกเป็นโมฆะ ป.พ. มาตรา ๑๔๕๒,๑๔๙๕เสมือนไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เมื่อการสมรสตกเป็นโมฆะ จึงไม่อาจให้สัตยาบันได้ แม้ต่อมาจะได้จดทะเบียนหย่ากับภรรยาคนแรก ก็หาทำให้การจดทะเบียนซ้อนเป็นการสมรสโดยชอบไม่เพราะตกเป็นโมฆะไปแล้ว
๖ แม้สามีไม่อุปการะเลี้ยงดูและไม่อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาและทิ้งร้างอันจะเป็นเหตุหย่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๖๑,๑๕๑๖(๔)(๖). แต่เมื่อไม่มีการฟ้องหย่าและไม่มีคำพิพากษาให้หย่า ก็ยังถือเป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฏหมาย แม้สามีไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูก็ตามแต่ เมื่อยังไม่มีการหย่า ภรรยาคนแรกยังเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อฝ่ายชายไปจดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่น การสมรสครั้งหลังตกเป็นโมฆะ ภรรยาคนแรกเป็นผู้มีส่วนได้เสียฟ้องให้เพิกถอนการสมรสซ้อนได้
๗.จดทะเบียนสมรสซ้อนมีผลเท่ากับไม่ได้เป็นสามีภรรยากันมาแต่แรก จึงไม่อาจถือเอาเงินที่ได้รับมาเป็นเงินได้ตาม ป.รัษฏากร มาตรา ๕๗ตรี จึงไม่มีหน้าที่ยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้ในเงินดังกล่าว นั้นก็คือ เมื่อสมรสซ้อน การสมรสตกเป็นโมฆะ จึงไม่ใช่สามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจถือเอาเงินได้พึงประเมินของภรรยาเป็นเงินได้ของสามี สามีจึงไม่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษี
๘.จดทะเบียนหย่าไปแล้วถือไม่มีคู่สมรสโดยชอบด้วยกฏหมาย ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสใหม่ แม้จะแจ้งว่าเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็มีผลอย่างเดียวกัน เพราะเป็นการยืนยันว่าตนไม่มีคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเกิดจากการจดทะเบียนสมรสแล้วหย่าขาดจากกัน หรือแต่งงานแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็มีผลเหมือนกันคือไม่มีคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นแม้จะพูดไม่ตรงความจริงว่าเคยแต่งงานแต่ไม่จดทะเบียนสมรสทั้งๆที่จริงๆแล้วแต่งงานและจดทะเบียนสมรส แม้จะเป็นการพูดไม่จริงตรงนี้ แต่เมื่อได้จดทะเบียนหย่าแล้วก็ไม่มีคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่แตกต่างจากการบอกว่าเคยแต่งงานแต่ไม่จดทะเบียนซึ่งมีผลเหมือนกันคือยังไม่มีคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้เป็นความเท็จก็ไม่ได้ทำให้นายทะเบียน หญิงที่จะจดทะเบียนด้วย ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายแต่อย่างใดเพราะไม่ใช่การสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จดข้อความจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชนได้ ตาม ป.อ. มาตรา ๑๓๗,๒๖๗
๙.จดทะเบียนสมรสซ้อน การสมรสในครั้งหลังตกเป็นโมฆะเสมือนหนึ่งไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรส ภรรยาหลวงจึงเป็นภรรยาของฝ่ายชายเพียงคนเดียว ส่วนภรรยาที่จดทะเบียนสมรสในภายหลังไม่ใช่คู่สมรสโดยชอบด้วยกฏหมายของฝ่ายชาย
๑๐.ภรรยาชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ ป.พ.พ. ร้องขอนายทะเบียนให้บันทึกฐานะของภรรยาน้อยได้ตามพรบ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. ๒๔๗๘ แต่เมื่อภรรยาหลวงยังมีชีวิตอยู่ภรรยาน้อยก็ไม่มีสิทธิ์จดทะเบียนสมรสกับฝ่ายชายได้ คือได้เพียงสิทธิ์ให้นายทะเบียนจดแจ้งว่าตนเป็นภรรยาน้อยซึ่งในสมัยโบราณฝ่ายชายสามารถมีภรรยาได้หลายคน คงมีสิทธิ์เพียงเท่านี้ แต่การแจ้งดังกล่าวไม่ก่อสิทธิ์ให้ภรรยาน้อยจดทะเบียนสมรสกับฝ่ายชายได้ในขณะที่ฝ่ายชายยังไม่ได้หย่าขาดจากภรรยาคนแรก
๑๑.บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่จดทะเบียนกัน เมื่อบิดาไปจดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่นอีก การสมรสย่อมตกเป็นโมฆะไม่อาจให้สัตยาบันได้แม้ต่อมาบิดามารดาจดทะเบียนหย่าก็ไม่มีผลไปถึงการสมรสที่ตกเป็นโมฆะไปก่อนแล้ว เพราะการสมรสซ้อนที่ตกเป็นโมฆะไม่อาจให้สัตยาบันได้ ไม่เหมือนนิติกรรมที่เป็นโมฆียะซึ่งอาจให้สัตยาบันแก่การที่เป็นโมฆียะได้ ดังนั้นแม้จะได้จดทะเบียนหย่ากับคู่สมรสคนแรกแล้วก็ตามก็ไม่มีผลทำให้การจดทะเบียนสมรสซ้อนซึ่งตกเป็นโมฆะไปแต่แรกแล้วมีผลสมบรูณ์ขึ้นมาได้
๑๒.จดทะเบียนสมรสซ้อนตกเป็นโมฆะ ถือไม่มีการจดทะเบียน การที่ฝ่ายหญิงไปจดทะเบียนกับชายอื่นอีก ถือเป็นการสมรสที่ฝ่ายหญิงยังไม่มีคู่สมรส การสมรสจึงชอบด้วยกฎหมาย ชายอื่นนั้นเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการสมรสซ้อนของฝ่ายหญิงนั้นได้
๑๓.จดทะเบียนสมรสซ้อนตกเป็นโมฆะ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของภรรยาอีกคนมีฐานะเป็นทายาทมีสิทธิ์ได้รับมรดกจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้การสมรสเป็นโมฆะได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น