ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ยอดเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินมีที่มาจากการนำหนี้เก่ารวมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อเดือน

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๘๑/๒๕๖๔

ยอดเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินมีที่มาจากการนำหนี้เก่ารวมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อเดือน เมื่อยอดเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมีดอกเบี้ยที่โจทก์ร่วมเรียกในอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อเดือน   ซึ่งเป็นดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมอยู่ด้วย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๔ (๑) การที่โจทก์ร่วมรับเช็คพิพาททั้งห้าฉบับจากจำเลยเพื่อชำระเงินกู้ยืมดังกล่าวโดยมีดอกเบี้ยที่โจทก์ร่วมเรียกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมอยู่ด้วย แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว ก็จะถือว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ อาญา มาตรา ๒ (๔) ไม่ได้ แม้โจทก์ร่วมจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เข็ค พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๔ ก็ตาม ถือไม่ได้ว่ามีการร้องทุกข์และสอบสวนโดยชอบตามกฎหมายแล้ว พนักงานอัยการโจท์ไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ อาญา มาตรา ๑๒๐ และ ๑๒๑ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๔

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872/2563

จำเลยปลอมใบสมัครบัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนของโจทก์ร่วม ใช้แสดงเป็นพยานหลักฐานในการขอออกบัตร โดยจำเลยใช้เอกสารของผู้เสียหายที่ 2 ที่จำเลยปลอมขึ้นไปแสดงต่อพนักงานของโจทก์ร่วมพร้อมกับแสดงตนว่าเป็นผู้เสียหายที่ 2 โจทก์ร่วมได้ออกบัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนให้แก่จำเลย ถือได้ว่าจำเลยใช้โจทก์ร่วมเป็นเครื่องมือในการออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่แท้จริงของโจทก์ร่วมในนามของผู้เสียหายที่ 2 ให้แก่จำเลย เพื่อจำเลยจะนำไปใช้ชำระค่าสินค้าค่าบริการและเบิกถอนเงินสดในนามของผู้เสียหายที่ 2 แทนตัวจำเลยเอง ซึ่งมีผลทำให้ผู้เสียหายที่ 2 อาจต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ร่วมแทนจำเลย เมื่อจำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสองใบดังกล่าวไปใช้ จึงเป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบจำเลยใช้บัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนของผู้อื่นไปเบิกถอนเงินสดเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวไปชำระค่าสินค้าและค่าบริการเท่ากับจำเลยแสดงตนเป็นผู้เสียหายที่ 2 หลอกลวงร้านค้าและโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยได้ไปซึ่งตัวสินค้าและบริการจากผู้ถูกหลอกลวงจึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งพนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1114/2563

การกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมนั้นเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างมาโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 และ 182จำเลยให้การรับสารภาพว่า จำเลยใช้บัตรเอทีเอ็มเบิกถอนเงินสดจากตู้เบิกถอนเงินสดอัตโนมัติของธนาคาร ก. และธนาคาร ท. รวม 7 ครั้ง ตามฟ้องจริง ซึ่งแต่ละครั้งจำเลยจะใช้บัตรแต่ละใบใน 3 ใบ เบิกเงินแต่ละจำนวน ตามที่มีเงินอยู่ในบัญชีของบัตรแต่ละใบ โดยใช้ตู้เบิกถอนเงินต่างธนาคารและต่างเวลากัน ลักษณะการกระทำผิดดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3637/2559

การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 และนำไปใช้แสดงต่อ ภ. พนักงานธนาคารออมสิน ผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นจำเลยทำเอกสารคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เสียหายที่ 2 โดยกรอกข้อมูลในแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ว่า จำเลยชื่อ ส. เป็นผู้ขอเปิดบัญชีและแสดงข้อมูลลูกค้าของผู้เสียหายที่ 1 กับปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในช่องลงชื่อผู้ขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์และในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน แล้วนำแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวไปยื่นแสดงต่อ ภ. เพื่อขอเปิดบัญชีและใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์กับผู้เสียหายที่ 2 นั้น เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงกันโดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 2 เปิดบัญชีเงินฝากและทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่จำเลยเป็นหลัก แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องการกระทำความผิดของจำเลยแยกออกเป็นข้อ ๆ และการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ในแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2490/2558

แม้เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้บัตรเครดิตปลอมทั้ง 5 ใบ ในคราวเดียวกัน แต่ปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์บัตรเครดิตของกลางว่า บัตรเครดิตปลอมแต่ละใบมีข้อมูลในบัตรของผู้ถือบัตรต่างรายกัน ต่างหมายเลขกันและมีข้อมูลของสมาชิกผู้ถือบัตรต่างธนาคารกัน บัตรทุกใบมีข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์ สามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการแทนการชำระด้วยเงินสดได้ ทั้งโดยสภาพของการใช้บัตรดังกล่าว จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีเจตนาให้มีการนำไปใช้แต่ละใบแยกต่างหากจากกัน ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ถือบัตรหรือธนาคารเจ้าของบัตรตามเนื้อความของบัตรเครดิตปลอมแต่ละใบ จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกให้เพื่อใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ รวม 5 กระทง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20134/2556

องค์ประกอบความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 269/5 มีว่า "ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน" ด้วย แต่ฟ้องโจทก์มิได้มีข้อความดังกล่าว และแม้จะอ่านคำบรรยายฟ้องโจทก์โดยตลอดก็ไม่อาจทราบความหมายนี้ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11227/2555

องค์ประกอบความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบและฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ คือ ใช้หรือมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้บัตรเครดิตอันเป็นบัตรเครดิตปลอมอันเป็นเอกสารสิทธิและบัตรอิเล็กทรอนิกส์อันได้มาโดยมิชอบ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจึงไม่ใช่บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่น แต่เป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยได้มาจากการปลอมและใช้เอกสารปลอมของผู้อื่นในการขอบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวอันเป็นการได้มาโดยมิชอบ ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และ 269/6 ทั้งโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ เพราะเป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8833/2554

การที่จำเลยนำบัตรเอ ที เอ็ม ของผู้เสียหายไปใช้เบิกถอนเงินสดและโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเพราะจำเลยมีจุดประสงค์ที่จะได้เงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย จำเลยใช้บัตรเอ ที เอ็ม ในเวลาที่ต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาต่อเนื่องกันและจุดมุ่งหมายอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินของผู้เสียหาย หาได้มีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกันแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้การกระทำของจำเลยแต่ละครั้งจะเป็นความผิดสำเร็จก็ไม่ทำให้เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16000/2553

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ จำคุก 2 ปี ฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ จำคุก 2 ปี และฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม จำคุก 3 ปี แต่ความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม ศาลชั้นต้นปรับบทว่าเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/5 ซึ่งไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ปรับบทว่าเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/4 วรรคแรก ให้ถูกต้องเท่านั้น ส่วนโทษคงพิพากษาจำคุก 3 ปี เช่นเดิมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย จึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 212


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15630/2553

จำเลยมิได้ร่วมกับคนร้ายในการลักบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหาย การใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายทำรายการเพื่อโอนเงินคงเป็นเรื่องของคนร้ายซึ่งทราบรหัสบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายมิใช่จำเลยเป็นผู้กระทำ ไม่พอฟังว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ แต่การที่จำเลยยอมให้คนร้ายโอนเงินจากบัญชีผู้เสียหายเข้าบัญชีของจำเลยและยอมให้คนร้ายใช้บัตรเอทีเอ็มของจำเลยเพื่อให้การลักทรัพย์เป็นผลสำเร็จดังกล่าว ถือเป็นเพียงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86


การลักเงินของผู้เสียหายโดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติในแต่ละครั้ง ก็เป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2553

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ซ. ซึ่งได้ออกให้แก่ ส. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งที่จำเลยลักไปเพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสด ถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท ไปจากวงเงินเครดิตของผู้เสียหายโดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายและธนาคาร ซ. ดังนั้น คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการนำเอาบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ซ. ซึ่งธนาคารออกให้แก่ผู้เสียหาย ที่จำเลยลักไปจากผู้เสียหาย ไปทำการถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท และยังมีคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 100,000 บาท ย่อมแปลคำฟ้องของโจทก์ได้ว่า โจทก์มุ่งประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยฐานลักเงินของผู้เสียหายอยู่ด้วย เพียงแต่วิธีการลักเงินดังกล่าวก็โดยการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินสดผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจขอให้เรียกทรัพย์สินหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายโจทก์จึงมีอำนาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ทรัพย์แทนผู้เสียหายได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6820/2552

การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) ซึ่งออกให้แก่ น. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ น. และบริษัท บ. แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 188


การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. ซึ่งออกให้แก่ น. แล้วใช้บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดอัน เป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และ มาตรา 269/7 รวม 3 ครั้ง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อๆ และการกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละข้อต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัว เองต่างกรรมต่างวาระ ทั้งทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำผิดก็เป็นทรัพย์คนละประเภทแตกต่างกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่าง กัน การกระทำของจำเลยฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตกับฐานใช้บัตรเครดิตจึง เป็นความผิดหลายกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยนำ บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องวีดีโอและกล้องถ่ายรูปดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสดจำนวน 3 คราว การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิด 3 กรรมต่างกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2550

ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 17)ฯ กำหนดความผิดอาญาและอัตราโทษสำหรับการกระทำผิดเกี่ยวกับบัตรและข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดและต้องระวางโทษตาม ป.อ. มาตรา 269/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 267/7 แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2550

โจทก์ฟ้องจำเลยแยกเป็น 2 ข้อ คือ ข้อ 1.1 และข้อ 1.2 การกระทำตามที่บรรยายฟ้องมาแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 ว่า จำเลยได้ลักทรัพย์และเอาไปเสียซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ก. ที่ออกให้แก่ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ความผิดดังกล่าวย่อมสำเร็จเมื่อจำเลยลักเอาบัตรดังกล่าวไป และโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อ 1.2 ว่าภายหลังการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 แล้ว จำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์เบิกถอนโอนเงินออกจาก บัญชีเงินฝากของผู้เสียหายโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ดังนี้ การกระทำของจำเลยในข้อ 1.2 จึงเป็นคนละวาระกันกับการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 คือเงินจำนวน 92,640 บาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่

บัตรอิเล็กทรอนิกส์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11227/2555

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายอาญา 269/5 269/6 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.192 วรรคหนึ่ง 192วรรคหนึ่ง ป.อ. ม.269/5 ม.269/6 ป.วิ.อ.

เนื้อหา

องค์ประกอบความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบและฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ คือ ใช้หรือมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้บัตรเครดิตอันเป็นบัตรเครดิตปลอมอันเป็นเอกสารสิทธิและบัตรอิเล็กทรอนิกส์อันได้มาโดยมิชอบ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจึงไม่ใช่บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่น แต่เป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยได้มาจากการปลอมและใช้เอกสารปลอมของผู้อื่นในการขอบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวอันเป็นการได้มาโดยมิชอบ ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และ 269/6 ทั้งโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ เพราะเป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 269/1, 269/4, 269/7, 91 และขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงินรวม 314,411.21 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก, 269/1, 269/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 269/7 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอม (ที่ถูก เพียงกระทงเดียว) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน ฐานปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์และใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมเพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการแทนการชำระด้วยเงินสด เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์นั้น ให้ลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมเพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการแทนการชำระด้วยเงินสด (ที่ถูก เพียงกระทงเดียว) ตามมาตรา 269/4 วรรคสาม รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานใช้เอกสารปลอม จำคุกกระทงละ 3 เดือน ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมเพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการแทนการชำระด้วยเงินสด จำคุกกระทงละ 9 เดือน รวมจำคุก 24 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 314,411.21 บาท แก่ผู้เสียหายนั้น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 269/1, 269/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 269/7 มิใช่ความผิดฐานใดฐานหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 โจทก์จึงไม่อาจขอให้บังคับจำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้แก่ผู้เสียหายได้ จึงยกคำขอในส่วนนี้ และข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานใช้เอกสารปลอม รวมจำคุก 6 เดือน ข้อหาปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์และใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมเพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการแทนการชำระด้วยเงินสดให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม 2 กระทง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมโดยให้ลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยให้ลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารปลอม รวมจำคุก 6 เดือน เท่ากับศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยในความผิดฐานใช้เอกสารปลอม 2 กระทง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 และฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/6 นั้น เห็นว่า องค์ประกอบความผิดของบทบัญญัติดังกล่าวคือใช้หรือมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้บัตรเครดิตอันเป็นบัตรเครดิตปลอมอันเป็นเอกสารสิทธิและบัตรอิเล็กทรอนิกส์อันได้มาโดยมิชอบ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจึงมิใช่บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่น แต่เป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยได้มาจากการปลอมและใช้เอกสารปลอมของผู้อื่นในการขอบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวอันเป็นการได้มาโดยมิชอบ ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 และ 269/6 ทั้งโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ เพราะเป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนที่จำเลยแก้ฎีกาของให้ศาลรอการลงโทษจำคุกหรือเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษปรับนั้นเป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิใช่ขอมาในคำแก้ฎีกา จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้

พิพากษายืน


คดีบัตรATM บัตรเครดิต บัตรเดบิต ตามกฎหมายเรียกว่า "บัตรอิเล็กทรอนิกส์"

 ประเด็น : ลักบัตรเอทีเอ็มแล้วนำไปถอน-โอนเงิน เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ลักบัตร หากนำไปใช้ด้วยรับโทษบทหนักกว่าตามมาตรา 188

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9/2543

   การที่จำเลยลักเอาบัตรเอ.ที.เอ็ม.ไปจากผู้เสียหายแล้วนำบัตรเอ.ที.เอ็มดังกล่าวไปลักเอาเงินของผู้เสียหาย โดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินนั้น ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภทและเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ การลักเอาบัตรเอ.ที.เอ็ม. ไป กับการลักเงินจึงเป็นความผิดหลายกรรม

   การที่จำเลยลักเอาบัตรเอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหายไปนั้นเป็นความผิดทั้งฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของ   ผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักกว่าความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 188

   บัตรเอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหาย 2 ใบ เป็นบัตรต่างธนาคารกัน และเงินฝากของผู้เสียหายที่ถูกลักไปก็เป็นเงินฝากในบัญชีต่างธนาคารกันด้วย เจตนาในการกระทำผิดของจำเลยจึงแยกจากกันได้ตามความมุ่งหมายในการใช้บัตรแต่ละใบการกระทำของจำเลยที่ใช้บัตรเอ.ที.เอ็ม. 2 ใบ ของผู้เสียหายแล้วลักเอาเงินฝากของผู้เสียหายต่างบัญชีกันแม้จะทำต่อเนื่องกันก็เป็นความผิดสองกรรม

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2550

   โจทก์ฟ้องจำเลยแยกเป็น 2 ข้อ คือ ข้อ 1.1 และข้อ 1.2 การกระทำตามที่บรรยายฟ้องมาแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 ว่า จำเลยได้ลักทรัพย์และเอาไปเสียซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ก. ที่ออกให้แก่ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ความผิดดังกล่าวย่อมสำเร็จเมื่อจำเลยลักเอาบัตรดังกล่าวไป และโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อ 1.2 ว่าภายหลังการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 แล้ว จำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์เบิกถอนโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ดังนี้ การกระทำของจำเลยในข้อ 1.2 จึงเป็นคนละวาระกันกับการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 คือเงินจำนวน 92,640 บาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่

 

ประเด็น : ลักบัตรเครดิตแล้วนำไปรูดซื้อสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6820/2552

   บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดมีลักษณะตามบทนิยามคำว่า "เอกสาร" ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) จึงเป็นเอกสาร และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตามมาตรา 188 แตกต่างกับความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์และเอกสารสิทธิซึ่งออกให้แก่ บ. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 188

   โจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อ ๆ การกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละข้อต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง ต่างกรรมต่างวาระ ทั้งทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำผิดก็เป็นคนละประเภทแตกต่างกัน ถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครวีซ่าการ์ด จากนั้นจำเลยนำไปใช้ชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดรวม 3 ครั้ง ย่อมเป็นความผิดหลายกรรม

   การนำบัตรเครดิตของผู้อื่นไปใช้ชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดจำนวน 3 คราว เป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่น 3 กรรมต่างกัน

 

ประเด็น : บัตรเครดิตถูกลักขอโมยไปใช้ซื้อสินค้า เจ้าของบัตรไม่ต้องรับผิดชอบถือเป็นความบกพร่องธนาคารเองแม้จะมีข้อตกลงให้เจ้าของบัตรต้องรบผิดชอบ ก็ถือว่าข้อสัญญาดังกล่าวนั้นเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989/2552

   ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่บัตรเครดิตสูญหาย ถูกลักขโมย หรือถูกใช้โดยบุคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ถือบัตร (จำเลย) ที่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ศูนย์บัตรเครดิตของธนาคาร (โจทก์) ทราบแล้วโดยพลันเพื่อให้ระงับการใช้บัตรเครดิต ในภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนมีการแจ้งดังกล่าวในจำนวนเงินที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตร ซึ่งถูกนำไปใช้โดยมิชอบ รวมถึงภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นหลังจากแจ้งให้ธนาคารทราบแล้วไม่เกิน 5 นาที นอกจากจะขัดแย้งกับข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 6 วรรคสอง แล้ว ยังถือเป็นข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระในหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยไม่ได้ก่อขึ้นและไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ทั้งโจทก์ยังมีทางแก้ไขความเสียหายของโจทก์ได้โดยหากโจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฎว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลยผู้ถือบัตร โจทก์สามารถเรียกเงินที่ได้จ่ายไปคืนจากร้านค้าได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยว่าบัตรเครดิตได้สูญหายไปเพื่อขอให้โจทก์ระงับการใช้บัตรเครดิต โจทก์จะต้องรีบดำเนินการให้จำเลยโดยเร็ว ก็จะทราบได้ทันทีว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลย แสดงว่าร้านเจมาร์ทไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อในเซลสลิป ย่อมทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากร้านเจมาร์ทแทนการมาเรียกเก็บจากจำเลยได้ ซึ่งเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่โจทก์มิได้ทำเช่นนั้น โดยเห็นว่ามีข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว ถือเป็นการเอาเปรียบจำเลยเกินสมควรและเป็นการผลักภาระให้จำเลยต้องรับผิดเกินกว่าวิญญูชนทั่วไปจะคาดหมายได้ตามปกติ อันเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 จึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์

ใช้บัตรเครดิตของผู้อื่นโดยมิชอบ

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 350 / 2564

มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยนำข้อมูลบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ชำระค่าบริการที่พักของจำเลยผ่านเว็บไซค์ อโกด้า ดอทคอม โดยโจทก์ไม่ยินยอม เป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นที่ออกให้เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด โดยมิชอบหรือไม่

บัตรเครดิตถือเป็น "บัตรอิเล็กทรอนิกส์ " ตามบทนิยามแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ก) เนื่องจากผู้ออกได้ออกเอกสารคือบัตรเครดิตให้แก่ผู้มีสิทธิใช้โดยมีการบันทึกข้อมูลในชิปการ์ดและเทปแม่เหล็ก ซึ่งเป็นวิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน ส่วนข้อมูลบัตรเครดิต ได้แก่ หมายเลขบัตรเครดิต ชื่อผู้ถือ และวันหมดอายุ เมื่อปรากฎอยู่บนบัตรเครดิต ซึ่งเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย ถือว่าเป็นกรณีที่มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดให้ จึงไม่เป็น "บัตรอิเล็กทรอนิกส์" ตามบทนิยามแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ข)       

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) เป็นเพียงบทนิยามว่าสิ่งใดเป็น "บัตรอิเล็กทรอนิกส์" ตามประมวลกฎหมายอาญา แต่มิได้ระบุเกี่ยวกับวิธีใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้โดยเฉพาะ การวินิจฉัยว่าการกระทำใดเป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นเป็นวิธีใช้โดยทั่วไปของบัตรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดนั้นหรือไม่ โดยไม่จำกัดว่าหากเป็น "บัตรอิล็กทรอนิกส์" ตามนิยามแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ก) แล้ว การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์จะต้องเป็นการใช้เอกสารหรือวัตถุอื่นใดที่ผู้ออกได้ออกให้โดยตรงเท่านั้น ดังจะเห็นได้จาก "บัตรอิเล็กทรอนิกส์" ตามนิยามแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ข) ที่ระบุว่า "....วิธีการใช้ทำนองเดียวกับ (ก)" ทั้งที่ไม่มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดไว้ให้ แสดงว่าบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามนิยามแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ก) ย่อมสามารถใช้เฉพาะข้อมูลหรือรหัสได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้การวินิจฉัยว่าจำเลยใช้บัตรเครดิตของโจทโดยมิชอบหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นวิธีใช้บัตรเครดิตโดยทั่วไปหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันการกรอกข้อมูลบัตรเครดิตเพื่อชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดผ่านทางเว็บไซต์ โดยผู้รับชำระไม่ต้องเห็นบัตรเครดิต เป็นวิธีใช้บัตรเครดิตโดยทั่วไปวิธีหนึ่ง การที่จำเลยนำข้อมูลบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ชำระค่าบริการที่พักของจำเลยผ่านเว็บไซต์ อ. ดอทคอม จึงเป็นการใช้บัตรเครดิตของโจทก์แล้ว จำเลยมีความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นที่ออกให้เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด โดยมิชอบตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7

วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91 (ค้ามนุษย์)

 

  • ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91
  • พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ม. 4, 6, 9, 52

การที่จำเลยกับพวกพาผู้เสียหายที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ และผู้เสียหายที่ 3 อายุ 15 ปีเศษ ไปขายบริการทางเพศ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 และวันที่ 19 สิงหาคม 2561 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกได้กระทำสิ่งใดอันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ใหม่ การกระทำที่สมคบเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์มีเพียงครั้งเดียวตั้งแต่แรกที่พันตำรวจโท ก. กับพวกทำการล่อซื้อบริการทางเพศผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 จากจำเลยกับพวกครั้งแรก การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ไปขายบริการทางเพศแก่สายลับที่ล่อซื้ออีกในวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 จึงเป็นเพียงการอาศัยการสมคบเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตั้งแต่แรกที่เคยล่อซื้อบริการทางเพศมาแล้วเท่านั้น มิได้มีการกระทำอันเป็นการสมคบขึ้นใหม่อันจะเป็นความผิดทุกครั้งที่มีการซื้อบริการทางเพศ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานสมคบเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ที่ได้กระทำในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 เพียงกรรมเดียว แต่ไม่มีความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ของวันที่ 19 สิงหาคม 2561 อีกกรรมหนึ่ง และความผิดฐานสมคบกันเพื่อการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์เป็นความผิดฐานคนละกรรมกับความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 210, 295

 

  • ประมวลกฎหมายอาญา ม. 210, 295
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 225

ใช้มือจับอวัยวะเพศของผู้เสียหายรูดขึ้นรูดลง

 

  • ประมวลกฎหมายอาญา ม. 277 วรรคหนึ่ง (เดิม), 277 วรรคสอง (เดิม), 279 วรรคหนึ่ง (เดิม), 279 วรรคสี่ (ใหม่)
  • แม้ ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม) ให้ความหมายของการกระทำชำเราว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นหรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น แต่การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นนั้น หากเป็นกรณีชายกระทำต่อชายด้วยกัน ต้องเป็นการใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใดล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าในทวารหนักของผู้ถูกกระทำ หรือใช้อวัยวะเพศของชายผู้ถูกกระทำล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าไปในช่องปากหรือทวารหนักของผู้กระทำด้วย จึงจะเป็นความผิดสำเร็จ เมื่อจำเลยเพียงแต่ใช้มือจับอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 รูดขึ้นรูดลงเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม)


ผ่อนทอง

 

  • ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคหนึ่ง