ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว”

๑.บาดแผลเหนือคิ้วสองแผล ยาวหนึ่งนิ้วลึกถึงกะโหลกและกะโหลกยุบทะลุถึงเนื้อหุ้นสมอง อีกแผลยาวครึ่งนิ้ว ลึกไม่ถึงกะโหลก ผลเอกซเรย์ปรากฏว่า กระดูกหน้าผากยุบเข้าไป บาดแผลนี้ทำให้ผู้เสียหายหน้าเสียโฉมติดตัวเพราะกะโหลกศีรษะตอนหน้าผากเป็นรอยยุบเข้าไป ถือถูกทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส คำพิพากษาฏีกา ๓๕๑/๒๕๐๘
๒.รอยแผลเป็นตั้งแต่ริมจมูกด้านซ้ายยาวพาดไปถึงดั้งจมูกไปถึงหัวตาขวาลงมาใต้ตาขวา ๓.๕ เซนติเมตร จากริมจมูกถึงหัวตาขวาวัดโดยทางตรงไม่รวมความโค้งของจมูกยาว ๖ เซนติเมตร กว้าง ๐.๑ เซนติเมตร เห็นแผลเป็นที่หน้าในระยะ ๔ เมตร เป็นรอยขีดรางๆ ห่างประมาณ ๒ เมตรจึงเห็นแผลเป็น เป็นรอยขีดซัด ลักษณะของแผลเป็นเป็นรอยขีดไม่มาก ยังไม่ถึงกับทำให้หน้าเสียโฉม คำพิพากษาฏีกา ๕๙๘/๒๕๑๐
๓.แผลถูกของมีคมหายแล้วเป็นแผลเป็น จากใต้ใบหูท่อนล่างพาดข้างแก้มไปถึงคอยาว ๑๖ เซ็นติเมตร เป็นสันนูนกว้างครึ่งเซ็นติเมตร สูงครึ่งเซ็นติเมตร เห็นได้ชัดในระยะ ๕ เมตร ทำให้หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว คำพิพากษาฏีกา ๒๑๙๗/๒๕๑๙
๔.มีบาดแผลฉีกขาดบนใบหน้าหลายแผล ต้องเย็บตามคิ้วเปลือกตาบนและแก้ม เมื่อแผลหายมีแผลเป็นติดใบหน้าเห็นในระยะ ๑๕ เมตร ถือหน้าเสียโฉมอย่างติดตัว คำพิพากษาฏีกา ๓๐๘๘/๒๕๒๗
ข้อสังเกต ๑. หน้าเสียโฉมอย่างติดตัวหรือไม่ ศาลดูบาดแผลว่ากว้างยาวลึกเพียงใด มองเห็นได้ชัดเจนในระยะเท่าใด บาดแผลทำให้รูปและเค้าโครงหน้าผิดไปหรือไม่อย่างไร กะโหลกยุบหรือไม่อย่างไร ซึ่งในคำพิพากษาฏีกาที่นำมาวิเคราะห์นี้เห็นได้ว่า หากบาดแผลมีความยาวมีความลึกมองเห็นได้ในระยะ ๕ เมตรหรือ ๕ เมตรขึ้นไปแล้ว ศาลถือว่าหน้าเสียโฉมอย่างติดตัวเป็นอันตรายสาหัสแล้ว
๒.นอกจากศาลดูลักษณะบาดแผลและระยะในการมองเห็นแล้ว ศาลคำนึงถึงว่าเป็นชายเป็นหญิง อาชีพของผู้เสียหายด้วยว่าประกอบอาชีพอะไรต้องใช้หน้าตาในการประกอบอาชีพหรือไม่ เช่น นักร้อง นักแสดง หรือนักเดินแฟชั่น หรือไม่อย่างไร เพราะอาชีพเหล่านี้ใช้หน้าตาประกอบในการหาเลี้ยงชีพ การที่หน้าตาผิดรูปร่างผิดไปจากโครงสร้างเดิม อาจมีผลต่อการแสดงหรือการประกอบอาชีพได้
๓.การที่วินิจฉัยว่าหน้าเสียโฉมอย่างติดตัวเท่ากับถูกทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัสตาม ปอ. มาตรา ๒๙๗(๔)หรือเป็นแค่การทำร้ายร่างกายจนได้รับอันตรายแก่กายหรือไม่นั้น หากวินิจฉัยว่าเป็นการทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส ซึ่งจะมีอัตราโทษสูงกว่าทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือทำร้ายร่างกายไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตาม ปอ. มาตรา ๒๙๕,๓๙๑ ซึ่งความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนได้รับอันตรายสาหัสเป็นความผิดที่อยู่ในเขตอำนาจอำนาจศาลจังหวัด เป็นความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดินไม่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ แต่หากเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายและจิตใจเป็นความผิดลหุโทษ แม้เป็นอาญาแผ่นดิน แต่หากผู้เสียหายยินยอมให้ทำการเปรียบเทียบปรับและพนักงานสอบสวนเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรได้รับโทษจำคุก พนักงานสอบสวนก็สามารถเปรียบเทียบปรับได้ตาม ปวอ. มาตรา ๓๗,๓๘(๑) ทำให้สิทธิ์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ปวอ. มาตรา ,๓๙(๓),๓๗ แต่หากผู้เสียหายไม่ยอมให้เปรียบเทียบปรับ หรือพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าผู้ต้องหาควรได้รับโทษจำคุก พนักงานสอบสวนต้องทำสำนวนพร้อมความเห็นส่งมายังพนักงานอัยการ ซึ่งพนักงานอัยการจะสั่งให้พนักงานสอบสวน “ พยายาม “ เปรียบเทียบปรับ แทนการที่จะส่งตัวผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ ปวอ. มาตรา ๑๔๔(๑) หรือพนักงานอัยการอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนกลับไปยังพนักงานสอบสวนให้พยายามเปรียบเทียบปรับคดีนั้น หากเห็นสมควรจะสั่งให้พนักงานสอบสวนคนอื่นที่มีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับ พยายามเปรียบเทียบปรับแทนการส่งตัวผู้ต้องหามายังพนักงานอัยการ ปวอ. มาตรา ๑๔๔(๒)
๔.ความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัด หากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นหรือพนักงานอัยการไม่สามารถฟ้องคดีได้ทันเพราะรอผลการสอบสวนเพิ่มเติมจากพนักงานสอบสวน ต้องยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาล ซึ่งความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนได้รับอันตรายสาหัสระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ ๖ เดือนถึง๑๐ ปี จึงเป็นกรณีที่ความผิดมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ ๑๐ ปีขึ้นไป จึงสามารถฝากขังต่อศาลได้ ครั้งละไม่เกิน ๑๒ วันรวมกันแล้วไม่เกิน ๘๔ วัน ตาม ปวอ. มาตรา ๘๗วรรคหก แต่หากเป็นการทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปีหรือปรับไม่เกิน ๔,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง พนักงานสอบสวนต้องส่งตัวผู้ต้องหามาให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องภายใน ๔๘ ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ หากไม่สามารถฟ้องทันภายในเวลาดังกล่าวต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องและฝากขังได้อีก ๓ คราว คราวละไม่เกิน ๖ วัน โดยต้องนำตัวผู้ต้องหามาแสดงต่อศาลเพื่อให้ศาลสอบถามว่าจะคัดค้านหรือไม่อย่างไร ศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็นหรืออาจเรียกพยานมาเบิกความประกอบก็ได้ละเมื่ออนุญาตให้ผัดฟ้องครบ ๓ ครั้งแล้ว หากไม่สามารถฟ้องได้ทันจะขอผัดฟ้องฝากขังอีก พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องแสดงเหตุจำเป็นและนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจศาล และศาลต้องสอบถามผู้ต้องหาด้วยว่าจะคัดค้านหรือไม่อย่างไร ศาลมีอำนาจให้ผัดฟ้องฝากขังได้อีกไม่เกิน ๒ ครั้ง ครั้งละไม่เกิน ๖ วัน
๕. จึงเห็นได้ว่าการวินิจฉัยว่าการทำร้ายร่างกายนั้นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือเป็นการทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส ก่อให้เกิดผลแตกต่างกันในกฎหมาย ทำให้อาจได้รับโทษสูงขึ้น การจะวินิจฉัยว่าบาดแผลได้รับอันตรายสาหัสหรือไม่ จึงต้องอาศัยการเห็นบาดแผลว่าเห็นแผลเป็นเด่นชัดในระยะเท่าใด เป็นเกณท์ในการตัดสินใจ

ไม่มีความคิดเห็น: