ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“หยิบพยานหลักฐานอื่นที่ไม่เกี่ยวการอุทธรณ์มาวินิจฉัย”

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ จำเลยอุทธรณ์ ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ข้อ ๒.๑ ที่ต่อสู้คดี คงไว้เฉพาะข้อ ๒.๒ที่อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษพร้อมยื่นคำให้การใหม่มารับสารภาพ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต ส่วนคำให้การรับสารภาพนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้ว จำเลยไม่อาจถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธมารับสารภาพได้ จึงไม่รับคำให้การรับสารภาพของจำเลย และศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฏีกาว่า เมื่อศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยถอนอุทธรณ์ข้อ ๒.๑ ที่ต่อสู้คดีแล้ว อุทธรณ์จำเลยในส่วนนี้จึงไม่มี การที่ศาลอุทธรณ์วินินิจฉัยข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์แล้วพิพากษายกฟ้องย่อมไม่ชอบ ศาลฏีกาเห็นว่า ในการพิจารณาคดีอาญาของศาลอุทธรณ์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในปัญหาที่คู่ความอุทธรณ์เท่านั้น ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกพยานหลักฐานข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ปรากฏในสำนวนขึ้นวินิจฉัยได้ทั้งสิ้น แม้จำเลยติดใจอุทธรณ์เฉพาะเรื่องที่ขอให้รอการลงโทษ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีเหตุยกฟ้องได้ ไม่ว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด คดีขาดอายุความ มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษ ศาลอุทธรณ์ย่อมหยิบยกเหตุนั้นขึ้นพิจารณาและพิพากษายกฟ้องได้ ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนโดยชอบแล้วพิพากษายกฟ้องได้ เมื่อเห็นว่าพยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำผิดตามฟ้อง แม้จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ขึ้นมาก็ตาม ส่วนปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่นั้น ศาลฏีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนรถผู้เสียหายจนผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส พยานหลักฐานจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฏีกา ฏีกาโจทก์ฟังขึ้น อย่างไรก็ตามในระหว่างอุทธรณ์จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจแก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายยื่นคำแถลงไม่ติดใจเอาความ เป็นการบรรเทาผลร้ายแห่งการกระทำผิด จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน นิสัยและความประพฤติไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรง เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการลงโทษ เพื่อให้หลาบจำจึงให้ลงโทษปรับและคุมความประพฤติจำเลยไว้ คำพิพากษาฏีกา๗๐๗๑/๒๕๕๓
ข้อสังเกต ๑. จำเลยอุทธรณ์แล้วถอนอุทธรณ์ที่ต่อสู้คดี ตามข้อ ๒.๑ เสีย คงไว้ซึ่งอุทธรณ์ตามข้อ ๒.๒ ที่ขอศาลรอการลงโทษ และขอถอนคำให้การที่ปฏิเสธมารับสารภาพ ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ในข้อ ๒.๑ ได้ ไม่อนุญาตให้ถอนคำให้การเพราะคำให้การที่ปฏิเสธในศาลชั้นต้นนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้วจำเลยจึงหาอาจถอนคำให้การในศาลชั้นต้นได้ นั้นเห็นว่า การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์เพียงฝ่ายเดียวโดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ด้วยนั้น การที่จำเลยถอนอุทธรณ์ จึงเป็นกรณีที่มีการถอนอุทธรณ์โดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษย่อมเด็ดขาดเฉพาะจำเลยผู้ถอนอุทธรณ์ นั้นก็คือถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วตามที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยทำผิดตามฟ้องโดยผลของ ป.ว.อ. มาตรา ๒๐๒ วรรค สอง เมื่อคำพิพากษาเด็ดขาดไปแล้วศาลอุทธรณ์ย่อมไม่น่ามีอำนาจที่จะหยิบยกคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ ด้วยความเคารพในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลฏีกา เห็นว่าอุทธรณ์เป็นฟ้องชนิดหนึ่ง การที่จำเลยถอนอุทธรณ์ก็คือการถอนฟ้องตาม ป.ว.พ. มาตรา ๑(๓) ป.ว.อ. มาตรา ๑๕,๓๕,๒๑๕นั้นเอง เมื่อถอนอุทธรณ์หรือถอนฟ้องอุทธรณ์ไปแล้วย่อมไม่มีฟ้องอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์จะมาวินิจฉัยได้ แม้แต่ใน ป.ว.อ. มาตรา ๑๙๒ ยังห้ามพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง เมื่อมีการถอนอุทธรณ์หรือฟ้องอุทธรณ์แล้วย่อมไม่มีอุทธรณ์หรือฟ้องอุทธรณ์หรือคำขอใดๆให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยได้ ทั้งเมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ การที่จำเลยถอนอุทธรณ์ คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยย่อมเด็ดขาดไปตามผลของ ป.ว.อ. มาตรา ๒๐๒ วรรค สอง คงมีประเด็นเพียงประเด็นตามอุทธรณ์ข้อ ๒.๒ ว่าสมควรรอการลงโทษหรือไม่เท่านั้น การที่ศาลฏีกาวินินิจฉัยทำนองว่า ในการพิจารณาคดีอาญาศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกพยานหลักฐานข้อเท็จจริงข้อกฏหมายไม่จำกัดอยู่ในเฉพาะที่คู่ความอุทธรณ์เท่านั้น แต่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกพยานหลักฐานข้อเท็จจริงข้อกฎหมายที่ปรากฏในสำนวนวินิจฉัยได้ทั้งสิ้นนั้น น่าจะไม่สอดคล้องกับใน ป.ว.อ. มาตรา ๒๐๒ ที่มีการถอนอุทธรณ์โดยอีกฝ่ายไม่อุทธรณ์ คำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดไปแล้วเมื่อเด็ดขาดหรือถึงที่สุดไปแล้วก็ไม่น่าที่จะหยิบยกมาวินิจฉัยได้อีก การที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีเหตุยกฟ้อง ไม่ว่าปรากฏว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด คดีขาดอายุความหรือมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรรับโทษ น่าจะเป็นเรื่องที่อาศัยความเป็นธรรมโดยถือเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีงามของประชาชนมากกว่าหากว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด จำเลยไม่ได้กระทำผิด คดีขาดอายุความหรือมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ต้องรับโทษ จึงพิพากษายกฟ้องโดยนำ ป.ว.อ. มาตรา ๑๘๕และ ๒๑๕ มาปรับใช้ ซึ่งการนำมาปรับใช้ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับใน ป.ว.อ. มาตรา ๒๐๒วรรคสอง ที่ถือว่าเมื่อถอนอุทธรณ์โดยอีกฝ่ายไม่อุทธรณ์ คำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดไปแล้วจึงไม่น่าจะหยิบยกเหตุใดๆมายกฟ้องได้ ส่วนที่ศาลฏีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าตามพยานหลักฐานรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องมา โดยพยานหลักฐานจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์เป็นลงโทษโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ตามก็ไม่สอดคล้องกับ ป.ว.อ. มาตรา ๒๐๒ วรรค สองแต่อย่างใด เพราะคดีถึงที่สุดไปแล้วตั้งแต่เมื่อศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ จึงไม่น่าที่จะมีเหตุให้ศาลอุทธรณ์ ศาลฏีกาหยิบยกเรื่องที่ถึงที่สุดไปแล้วมาวินิจฉัยได้

ไม่มีความคิดเห็น: