ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ตำรวจพายิ่งลักษณ์หนี

เทียบ คำพิพากษาฎีกาที่ 207/2517 โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม 2508 ถึงวันที่ 10 กันยายน2508 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยได้บังอาจช่วยนายทิม อยู่ดี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิดและถูกพนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรีฟ้องในข้อหาฆ่านายเจริญ มาลาวงษ์ ศาลจังหวัดจันทบุรีพิพากษายกฟ้อง ตามคดีหมายเลขแดงที่ 797/2513 โจทก์อุทธรณ์ ศาลจังหวัดจันทบุรีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่นายทิมอยู่ดี จงใจหลบหนีไม่ไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลจังหวัดจันทบุรีจึงออกหมายจับนายทิม อยู่ดี เพราะเป็นผู้กระทำผิดฐานหลบหนีไม่ไป ศาลฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยได้บังอาจช่วยนายทิม อยู่ดี โดยให้พำนักโดยซ่อนเร้นนายทิม อยู่ดี และเมื่อตำรวจติดตามจับกุมนายทิม อยู่ดี จำเลยก็ช่วยบอกให้นายทิม อยู่ดี ทราบล่วงหน้าเพื่อหลบหนีไม่ให้ถูกจับกุม และเพื่อไม่ให้นายทิม อยู่ดี ต้องโทษ เหตุเกิดที่ตำบลกระแจะ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189
ศาลชั้นต้นสั่งว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 เพราะการที่ศาลออกหมายจับนายทิม อยู่ดี จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 797/2513 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 นั้น เป็นการออกหมายจับเพื่อให้ได้ตัวนายทิมจำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เท่านั้น หาใช่เพราะนายทิมจำเลยกระทำความผิดหรือต้องหาว่ากระทำความผิดฐานหนึ่งฐานใดอันมีโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 บัญญัติลงโทษผู้กระทำการช่วยเหลือผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด เพื่อมิให้ต้องรับโทษ มิได้บัญญัติลงโทษผู้ไม่มาฟังคำพิพากษาของศาล ศาลอุทธรณ์ได้ตรวจแล้วไม่พบว่ามีตัวบทกฎหมายใดบัญญัติว่า คู่ความซึ่งไม่มาฟังคำพิพากษาของศาลตามวันนัด มีความผิดและมีโทษทางอาญา นายทิมจึงไม่เป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้าง พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า นายทิม อยู่ดี เป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว สำหรับคดีที่นายทิมถูกฟ้องในข้อหาว่าฆ่านายเจริญ นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลสูงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ก็ต้องถือว่า นายทิมไม่ใช่ผู้กระทำผิดในข้อหาฐานนี้ คงเหลือแต่เรื่องนายทิมจงใจหลบหนีไม่ไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จนศาลจังหวัดจันทบุรีออกหมายจับว่าจะเป็นการกระทำผิดหรือไม่ เห็นว่าการที่ศาลจังหวัดจันทบุรีออกหมายจับนายทิม ก็เพื่อให้ได้ตัวนายทิมมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หาใช่ออกหมายจับเพราะนายทิมกระทำผิดฐานหลบหนีไม่ไปศาลดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องไม่ นายทิมจึงไม่ใช่ผู้กระทำความผิด หรือผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด การที่จำเลยช่วยเหลือนายทิมด้วยประการต่าง ๆ ดังฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเสียนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

วันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

“ทำให้เกิดเพลิงไหม้”

๑จุดไฟเผาฟางข้าวในนาตัวเองโดยไม่ปรากฏว่ามีลักษณะน่าจะเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้อื่นอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๒๐อย่างไร เช่นขณะนั้นมีลมพัดแรงหรือโรงเรือนของผู้เสียหายอยู่ใกล้ชิดบริเวณที่จุดไฟซึ่งเป็นที่คาดเห็นได้ว่าเพลิงจะลามไปไหม้นาตลอดจนโรงเรือนข้างเคียงแน่นอน แต่จำเลยยังฝืนจุดไฟจนลุกลามไหม้ทรัพย์สินของผู้เสียหาย เมื่อระยะเวลาที่จำเลยจุดไฟจนถึงเวลาที่บ้านผู้เสียหายถูกเพลิงไหม้ห่างกันหลายชั่วโมง แสดงว่าไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่น แต่เป็นเพราะจำเลยประมาทไม่ควบคุมดูแลให้เพลิงลุกไหม้อยู่ภายในครอบเขตที่จำกัด การกระทำของจำเลยจึงเป็นเรื่องขาดความระมัดระวังจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่นตาม ปอ มาตรา ๒๒๕หาใช่เป็นการกระทำผิดตาม ปอ มาตรา ๒๒๐ไม่.คำพิพากษาฏีกา ๑๒๘๕/๒๕๒๙
๒.จุดไฟเผากิ่งไม้แห้งในไร่ของจำเลย ไฟไหม้ลุกลามไปทรัพย์สินผู้เสียหาย ทั้งยังน่ากลัวจะไหม้โรงข้าวของผู้เสียหายอีกด้วย ผิดกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๑๘๗วรรคสอง ไฟที่จำเลยจุดเผาได้ไหม้ต้นมะพร้าวอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายตามข้อ (๕) แห่งมาตรา ๑๘๖ ต้องลงโทษตามมาตรา ๑๘๖ แต่ขณะนี้กฎหมายลักษณะอาญาได้ยกเลิกใช้ไปแล้วใช้ประมวลกฎหมายอาญาแทน การกระทำจำเลยเป็นความผิดตรงตาม ปอ มาตรา ๒๒๐ วรรคแรก แต่วรรคสองของมาตรานี้บัญญัติว่า “ ถ้าเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ตามที่ระบุไว้ใน ๒๑๘ให้ลงโทษตามที่ระบุไว้ใน ๒๑๘ แต่ในมาตรา ๒๑๘(๑)ถึง(๖)ไม่ได้บัญญัติเรื่องการวางเพิงเผาต้นมะพร้าวอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ไว้เลย ฉะนั้นลงโทษตาม ปอ มาตรา ๒๒๐ วรรคสองไม่ได้ คงลงโทษตาม ปอ มาตรา ๒๒๐วรรคแรก ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่า มาตรา ๑๘๗วรรคแรกของกฎหมายลักษณะอาญา ตามมาตรา ๓ ของ ประกฏหมายอาญา คำพิพากษาฏีกา ๗๐๓/๒๕๐๐
๓.เผากระท่อมราคา ๔๑๓ บาท ราคาเล็กน้อยไม่น่ากลัวอันตรายต่อผู้ใดเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ คำพิพากษาฏีกา๘๑/๒๕๐๑
๔.ทรัพย์ที่เป็นอันตรายจากการวางเพลิงเป็นเพียงประตูบ้านที่ทำด้วยไม้มะค่าและต้นไม้ประดับคิดเป็นเงินประมาณ ๕,๐๐๐ บาท ถือว่าเป็นทรัพย์ที่มีราคาน้อย ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายก็อยู่ในที่เกิดเหตุสามารถดับไฟได้ จึงไม่น่าเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นตาม ปอ มาตรา ๒๑๘(๑) ประกอบด้วย มาตรา ๒๒๓ คำพิพากษาฏีกา ๗๒๒/๒๕๔๕
๕จำเลยวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น มีผู้เข้าไปช่วยดับเพลิงแล้วถูกไฟลวกถึงแก่ความตาย การเข้าไปช่วยดับไฟเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายเอง หาใช่การวางเพลิงของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไม่ ไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๒๔.คำพิพากษาฏีกาที่๑๔๑๒/๒๕๐๔
๖..ห้องที่จำเลยวางเพลิงเป็นตึกแถว จำเลยเช่าเปิดเป็นร้านขายยาและตรวจรักษาโรคในตอนกลางวัน ส่วนในตอนกลางคืนจำเลยและครอบครัวไปนอนที่อื่น ไม่มีคนอยู่อาศัยในห้องนั้น แต่มีห้องติดกันเป็นตึกแถวเดียวกันมีคนเช่าอาศัยหลับนอน ดังนั้นตึกแถวที่จำเลยวางเพลิงย่อมเป็นตึกแถวที่มีคนอยู่อาศัย จำเลยมีความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๑๘(๑) คำพิพากษาฏีกา ๒๗/๒๕๐๔
๗.. จำเลยจุดไฟเผาต้นไม้ที่โค่นไว้ในสวนของจำเลย จำเลยทำทางกันไฟไว้กว้าง ๒ ศอก แต่แดดร้อนจัดลมแรงไม่พอป้องกันไฟลามไปไหม้สวนของผู้อื่นได้ เป็นประมาท แม้คดีต้องห้ามฏีกาในข้อเท็จจริงศาลฏีการอการลงโทษได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๖๕/๒๕๒๓
๘ แม้ก่อนจุดไฟเผาสวนของจำเลย จำเลยได้ถากถางต้นไม้เพื่อกันไม่ให้ไฟลุกลามติดสวนผู้อื่น และไฟที่จำเลยจุดไม่ได้ลุกลามไปติดสวนผู้เสยหายในทันทีก็ตาม แต่จำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจตราดูแลและดับไฟที่จำเลยจุดเผาไว้ก่อนเกิดเหตุ ๓ ถึง ๔ วันให้หมด ปล่อยไว้ให้ติดขอนไม้จนเป็นเหตุให้ลุกลามไปไหม้ทรัพย์สินผู้เสียหาย จำเลยย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย มีความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๒๕.คำพิพากษาฏีกา ๒๐๙๐/๒๕๒๖
๙.จำเลยจุดไฟเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ นาฬิกา ไฟลามไหม้บ้านผู้อื่นซึ่งปลูกใกล้เคียงกันเวลาบ่าย ๓ โมง ระยะเวลาห่างกันหลายชั่วโมง แสดงว่าไม่มีลักษณะที่น่ากลัวจะเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้อื่น แต่เป็นเรื่องจำเลยตั้งอยู่ในความประมาทไม่ควบคุมดูแลไม่ให้เพลิงไหม้อยู่ในขอบเขตที่จำกัด เพลิงจึงได้ลุกลามไปยังที่นาข้างเคียงก่อให้เกิดความสูญเสียขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏลักษณะที่น่าเป็นอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๒๐แล้วก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทมาตรานี้อันเป็นบทหนักได้ การกระทำของจำเลยเป็นเรื่องขาดความระมัดระวังจนก่อให้เกิดความเสยหายตาม ปอ มาตรา ๒๒๕ คำพิพากษาฏีกา๑๒๘๕/๒๕๒๙
๑๐. จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ร่วมกันลักน้ำมันที่ปั้มผู้เสียหายโดยใช้สายไฟต่อขั้วแบตเตอร์รี่กับเครื่องปั้มดูดน้ำมันจากถังใต้ดินมาใส่ถังในรถยนต์ เมื่อดูดน้ำมันได้สี่ถังแล้ว จำเลยที่ ๒ ดึงสายไฟจากขั้วแบตเตอร์รี่ทำให้ปั้มติ๊กหยุดทำงานเพื่อจะเปลี่ยนสายยางไปใส่ถังที่๕ ทำให้เกิดประกายไฟทำให้เกิดเพลิงไหม้ พฤติการณ์ที่ร่วมกันลักทรัพย์โดยวิธีเช่นนี้ทำให้เกิดไอระเหยของน้ำมันกระจายอยู่ในบริเวณนั้นง่ายต่อการเกิดเพลิงไหม้ ถือเป็นการกระทำโดยประมาทเพราะแบตเตอรี่เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและน้ำมันเป็นสิ่งที่ติดไฟง่าย เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นเนื่องจากวิธีการในการลักทรัพย์ของจำเลยทั้งสองซึ่งกระทำด้วยความประมาท ต้องถือเป็นผลอันเกิดจากการกระทำของจำเลยทุกคนที่ร่วมกันลักทรัพย์ แม้จำเลยที่สามไม่ได้เป็นผู้ถอดสายไฟจากขั้วแบตเตอร์รี่ก็ต้องฟังว่าจำเลยที่สามร่วมกระทำด้วย จำเลยที่สามจึงมีความผิดฐานทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทคำพิพากษาฏีกา ๑๒๑๑/๒๕๓๐
๑๑.จำเลยจุดไฟเผากองฟางในลานนวดข้าวในเวลาแดดร้อนจัดและไม่ได้เตรียมการดับไฟที่อาจลุกลามไปได้ไว้พร้อมที่จะดับไฟได้ทัน เป็นการกระทำโดยประมาท คำพิพากษาฏีกา ๔๔๗๘/๒๕๓๑
๑๒. จำเลยทั้งสองจุดไฟเผาไม้ในที่ดินของตนจนน่าเป็นอันตรายแก่สวนยางพาราของผู้อื่น กับไม่ได้เตรียมป้องกันไม่ให้เพลิงลุลามไปไหม้สวนยางพาราข้างเคียงเพียงใช้ไม้ตีดับเท่านั้น ไม่เป็นการระมัดระวังอย่างเพียงพอ เมื่อดับไฟไม่ได้และไฟลุกลามไปไหม้สวนยางพาราของผู้เสยหาย เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๒๐ วรรคแรกและ๒๒๕ กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท คำพิพากษาฏีกา๒๑๙๐/๒๕๓๑
ข้อสังเกต ๑.กระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆแม้เป็นของตนเองจนน่าเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๒๐
๒.ทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย หรือกระทำโดยประมาทนั้นน่าเป็นอันตรายต่อชีวิตของบุคคลอื่น เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๒๕
๓. ศาลฏีกามองว่า การจุดไฟเผาทรัพย์สินของตนเองในขณะที่มีลมพัดแรงหรือมีโรงเรือนของบุคคลอื่นอยู่ใกล้ชิดบริเวณที่จุดไฟซึ่งเป็นที่คาดเห็นได้ว่าเพลิงจะลามไปไหม้นาตลอดจนโรงเรือนข้างเคียงจนน่าเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น แต่ก็ยังฝืนจุดไฟจนลุกลามไหม้ทรัพย์สินของผู้อื่น จึงเป็นการกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ ตาม ปอ มาตรา ๒๒๐
๔.แต่ในคดีนี้แม้จุดไฟเผาวัตถุของตนแต่ก็เป็นเวลานานหลายชั่วโมงจึงเกิดเพลิงไหม้ที่ทรัพย์สินผู้อื่น ศาลฏีกาจึงมองว่า การจุดไฟดังกล่าวไม่มีลักษณะน่าจะเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้อื่นอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๒๐อย่างไร แต่เป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยผู้จุดไฟเผาทรัพย์สินของตนจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้โดย คอยควบคุมดูแลให้เพลิงลุกไหม้อยู่ภายในครอบเขตที่จำกัด แต่จำเลยหาได้กระทำการดังกล่าวไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นเรื่องขาดความระมัดระวังจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่นตาม ปอ มาตรา ๒๒๕หาใช่เป็นการกระทำผิดตาม ปอ มาตรา ๒๒๐ไม่.
๕.จุดไฟเผากิ่งไม้แห้งในไร่ของจำเลย ไฟไหม้ลุกลามไปทรัพย์สินผู้เสียหาย ทั้งยังน่ากลัวจะไหม้โรงข้าวของผู้เสียหายอีกด้วย ผิดกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๑๘๗วรรคสอง ไฟที่จำเลยจุดเผาได้ไหม้ต้นมะพร้าวอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายตามข้อ (๕) แห่งมาตรา ๑๘๖ ต้องลงโทษตามมาตรา ๑๘๖ เป็นการตัดสินตามกฏหมายเก่าที่บัญญัติลงโทษผู้ที่จุดไฟเผาอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น
๖.แต่ขณะนี้กฎหมายลักษณะอาญาได้ยกเลิกใช้ไปแล้วใช้ประมวลกฎหมายอาญาแทน กฏหมายอาญาไม่ได้บัญญัติว่าการจุดไฟเผาอสังหาริมทรัพย์เป็นความผิดตามกฏหมาย แต่กฏหมายอาญาในปัจจุบันไม่ได้บัญญัติถึงการวางเพลิงเผาทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ไว้รวมๆ แต่กฎหมายอาญาระบุประเภทของทรัพย์ต่างๆที่ถูกเผาว่าเผาทรัพย์ใดมีโทษสูงขึ้นเป็นเหตุฉกรรจ์ของความผิดตามที่บัญญัติไว้ในปอ มาตรา ๒๑๘(๑)ถึง(๖) และบัญญัติเรื่องการเผาทรัพย์แม้เป็นของตนเองหรือการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เดเพลิงไหม้ไว้ในมาตรา ๒๒๐,๒๒๕
๗. การกระทำจำเลยตามข้อเท็จจริงข้างต้นเป็นการทำให้เกิดเพลิงไหม้แม้เป็นทรัพย์ของตนเองจนน่าเป็นอันตรายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่นอันเป็นความผิดตรงตาม ปอ มาตรา ๒๒๐ วรรคแรก โดยในวรรคสองของมาตรานี้บัญญัติว่า “ ถ้าเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ตามที่ระบุไว้ใน ๒๑๘ให้ลงโทษตามที่ระบุไว้ใน ๒๑๘ แต่ใน ปอ. มาตรา ๒๑๘(๑)ถึง(๖)ไม่ได้บัญญัติเรื่องการวางเพิงเผาต้นมะพร้าวอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ไว้ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแตกต่างจากกฏหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำความผิดจึงต้องใช้กฏหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิด เมื่อกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันไม่ได้บัญญัติว่าการเผาอสังหาริมทรัพย์เป็นการเผาทรัพย์ในความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๑๘(๑)ถึง(๖) ฉะนั้นจึงลงโทษตาม ปอ มาตรา ๒๒๐ วรรคสองไม่ได้ คงลงโทษตาม ปอ มาตรา ๒๒๐วรรคแรก ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่า มาตรา ๑๘๗วรรคแรกของกฎหมายลักษณะอาญา เป็นไปตามมาตรา ๓ ของ ประกฎหมายอาญาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นกรณีที่กฏหมายที่ใช้ภายหลังแตกต่างจากกฏหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำความผิดให้ใช้กฏหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด
๘.ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าการที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติเรื่องการวางเพิงเผาต้นมะพร้าวอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ไว้เลย เป็นกรณีที่กฎหมายไม่ต้องการให้เป็นความผิดที่มีโทษฉกรรจ์คงให้ลงโทษตามบทธรรมดาเท่านั้น หาใช่กรณีกฏหมายไม่ประสงค์ให้เป็นความผิดโดยถือกฏหมายยกเว้นโทษซึ่งพนักงานอัยการต้องมีคำสั่งยุติคดี ตามระเบียบการดำเนินคดีฯ ของพนักงานอัยการโดยไม่ต้องสั่งไม่ฟ้องที่ต้องเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่อย่างไร ในกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่กฎหมายไม่ถือว่าการกระทำอย่างนี้เป็นเหตุฉกรรจ์ของการทำให้เกิดเพลิงไหม้ตามประมวลกฏหมายอาญาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน(ปอ มาตรา ๒๑๘(๑)ถึง(๖)) คงเป็นความผิดตามกฎหมายเก่า(กฎหมายลักษณะอาญา) จึงต้องนำ ปอ มาตรา ๓ มาใช้คือ ให้นำกฏหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดมาใช้เพราะกฏหมายที่บัญญัติในปัจจุบันแตกต่างกฏหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำผิด
๙.เผากระท่อมราคา ๔๑๓ บาท ราคาเล็กน้อยไม่น่ากลัวอันตรายต่อผู้ใดเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ที่ไม่เป็นความผิดฐานทำให้เกิดเพลิงไหม้ เพราะศาลไปมองว่าทรัพย์ที่เสียหายนั้นไม่น่ากลัวว่าการเกิดไฟไหม้นั้นน่าที่จะเป็นอันตรายต่อผู้ใด ไม่ใช่เป็นเพราะว่าทรัพย์ราคาน้อยเลยไม่น่ากลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อผู้ใด ไม่ว่าทรัพย์ราคามากน้อยเท่าใดไม่สำคัญหากว่าน่าจะเกิดอันตรายบุคคลได้แล้วก็เป็นความผิดฐานทำให้เกิดเพลิงไหม้ฯได้ แต่ที่คดีนี้ไม่เป็นความผิดเพราะศาลเห็นว่าการเกิดเพลิงไหม้ไม่น่ากลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นจึงไม่เป็นความผิด จึงเป็นเพียงการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งตัวทรัพย์อันเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
๑๐. คำว่า “น่าเกิดอันตรายแก่บุคคล” ศาลมองเพียงว่าการทำให้เกิดเพลิงไหม้นั้น น่าจะเกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น นั้น
๑๐.๑ พิจารณาจากการที่เกิดเพลิงไหม้แล้วน่าจะเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นหรือไม่อย่างไร โดยไม่ได้พิจารณาว่าทรัพย์ที่เกิดเพลิงไหม้มีราคามากน้อยเพียงใด
๑๐.๒พิจารณาจากในที่เกิดเหตุมีผู้เสียหายหรือบุคคลอื่นอยู่ในที่เกิดเหตุสามารถดับไฟได้หรือไม่อย่างไร? และในที่นี้อาจหมายรวมถึงตัวผู้กระทำความผิดที่กระทำความผิดไปแล้วกลับใจแก้ไขหรือบรรเทาผลร้ายของการกระทำด้วยการเข้าไปดับไฟเสียเองด้วย เมื่อไฟดับไม่ได้ไหม้ทรัพย์อะไรไปมากมายแล้ว ก็ไม่น่าที่จะน่าจะเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น
๑๐.๓จุดไฟเผาในที่โล้งแจ้งในเวลากลางวันหรือไม่? จุดไฟในขณะที่แดดร้อนจัดหรือไม่? มีการเตรียมการดับไฟที่อาจลุกลามไปได้ไว้พร้อมที่จะดับไฟได้ทัน หรือไม่?
๑๑..ทรัพย์ที่เป็นอันตรายจากการวางเพลิงเป็นเพียงประตูบ้านที่ทำด้วยไม้มะค่าและต้นไม้ประดับคิดเป็นเงินประมาณ ๕,๐๐๐ บาท ถือว่าเป็นทรัพย์ที่มีราคาน้อย ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายก็อยู่ในที่เกิดเหตุสามารถดับไฟได้ จึงไม่น่าเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นตาม ปอ มาตรา ๒๑๘(๑) ประกอบด้วย มาตรา ๒๒๓
๑๒.. กรณีที่ศาลฏีกาวินิจฉัยว่า การเข้าไปช่วยดับไฟเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายเอง หาใช่การวางเพลิงของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไม่ ไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๒๔ ด้วยความเครารพในคำพิพากษาฏีกา ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า หากไม่มาวางเพลิงเผาทรัพย์ของจำเลยก็คงไม่มีคนเข้าไปดับไฟ คนที่เข้าไปดับไฟอาจเป็นเพราะเป็นตัวผู้เสียหายอันเป็นเจ้าของบ้านเองหรือเป็นบุคคลอื่นที่มีบ้านอยู่ใกล้เคียงบ้านผู้เสียหายหรือแม้บ้านไม่อยู่ใกล้ผู้เสียหายพลเมืองดีก็อาจเข้าไปดับไฟเพื่อไม่ให้เกิดลุกลามไปติดบ้านอื่นอีกหรือเป็นเจ้าหน้าที่หรือพนักงานดับเพลิงก็ได้ หากจำเลยไม่วางเพลิงเผาทรัพย์ ไฟคงไม่ไหม้ เมื่อไฟไม่ไหม้คงไม่มีคนเข้าไปดับเพลิง การที่คนเข้าไปดับเพลิงเพราะมีไฟไหม้ เมื่อเข้าไปดับเพลิงจึงถูกไฟคลอกถึงแก่ความตาย ความตายจึงเป็นผลโดยตรงมาจากการที่เกิดเพลิงไหม้ เมื่อจำเลยเป็นผู้ก่อให้เกิดเพลิงไหม้จำเลยจึงต้องรับผิดด้วยตามทฤษฏีผลโดยตรง แต่เมื่อศาลฏีกามีคำพิพากษาแล้วก็เคารพในการตัดสินนี้
๑๒. แม้สถานที่วางเพลิงเผาทรัพย์ไม่มีคนอยู่อาศัยเพราะเพียงเช่าเป็นสถานที่ประกอบธุรกิจการค้า แต่ตอนกลางคืนได้กลับไปนอนที่บ้านไม่มีคนอยู่ แต่ห้องข้างเคียงกับที่จำเลยวางเพลิงมีคนอาศัยอยู่. ก็ถือได้ว่าเป็นการวางเพลิงตึกแถวที่มีคนอยู่อาศัย จำเลยมีความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๑๘(๑) เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้หากดับไม่ทันไฟย่อมลุกลามไปยังห้องข้างเคียงได้
๑๓..การทำทางกันไฟไว้เพียง ๒ ศอก แม้จะจุดไฟเผาต้นไม้ที่ตัวเองโค่นไว้ในสวนของตัวเองก็ตาม ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าในวันดังกล่าวมีลมพัดแรงหรือไม่อย่างไร สภาพอากาศในขณะนั้นเป็นอากาศร้อนหรือไม่อย่างไร มีฝนตกหรือไม่อย่างไร? ทางกันไฟกว้างเพียง ๒ ศอกน่าจะไม่เพียงพอต่อการป้องกันไฟลุกไปยังสวนของคนอื่น ถือได้ว่า เป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในสภาวะผู้จุดไฟเผาต้นไม้จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และอาจใช้ความระมัดระวังให้มากกว่านี้ได้โดยทำทางกันไฟให้มีขนาดกว้างมากกว่านี้ แต่หาใช้ให้เพียงพอไม่ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้
๑๔. คดีนี้ฟ้องเจตนาทำให้เกิดเพลิงไหม้ตาม ปอ มาตรา ๒๒๐ แต่ทางพิจารณาศาลฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทตาม ปอ มาตรา ๒๒๕ แม้อัตราโทษตามกฎหมายทั้งสองจะเท่ากันแต่การกระทำผิดโดยเจตนากับการกระทำผิดโดยประมาทนั้นความรุนแรงแตกต่างกัน เป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจในการรอการลงโทษได้ แม้คดีต้องห้ามฏีกาในข้อเท็จจริงศาลฏีการอการลงโทษได้
๑๕.แม้จะได้ถากถางต้นไม้เพื่อกันไม่ให้ไฟลุกลามติดสวนผู้อื่น และไฟที่จำเลยจุดไม่ได้ลุกลามไปติดสวนผู้เสียหายในทันทีก็ตาม แต่การที่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจตราดูแลและดับไฟที่จำเลยจุดเผาไว้ก่อนเกิดเหตุ ๓ ถึง ๔ วันให้หมด ปล่อยไว้ให้ติดขอนไม้ เป็นไฟสุมขอนพร้อมที่จะลุกขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึง ๓ถึง ๔ วันไม่ได้เกิดเพลิงไหม้ในวันที่ทำการจุดไฟเผาก็ตาม แต่เมื่อการกระทำดังกล่าวเกิดเป็นไฟสุ่มขอนพร้อมที่จะลุกไหม้จนเกิดการลุกไหม้ขึ้น จนเป็นเหตุให้ไฟไหม้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย ย่อมเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในสภาวะผู้จุดไฟเผาต้นไม้เช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และอาจใช้ความระมัดระวังให้มากกว่านี้ได้แต่หาใช้ให้เพียงพอไม่ โดยดับไฟให้ดับไม่ใช่ปล่อยให้ติดขอนไม้กลายเป็นไฟสุมขอนพร้อมที่จะลุกไหม้ขึ้นอีกเมื่อถึงเวลา จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ จำเลยย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย มีความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๒๕.ได้
๑๖..การจุดไฟเผากองฟางในลานนวดข้าวซึ่งเป็นที่โล้งแจ้งในเวลาแดดร้อนจัด ทำให้ไฟลุกลามได้เร็ว เมื่อไม่ได้เตรียมการดับไฟที่อาจลุกลามไปได้ไว้พร้อมที่จะดับไฟได้ทัน เป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในสภาวะผู้จุดไฟเผากองฟางจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และอาจใช้ความระมัดระวังให้มากกว่านี้ได้แต่หาใช้ให้เพียงพอไม่โดยไม่จุดไฟเผากองฟางในลานนวดข้าวซึ่งเป็นที่โล้งแจ้งในเวลาแดดร้อนจัดพร้อมทั้งต้องจัดเตรียมการดับไฟที่อาจลุกลามไปได้ไว้พร้อมที่จะดับไฟได้ทัน
๑๗.การป้องกันไม่ให้เกิดไฟลุกลาม เพียงใช้ไม้ตีดับไฟเท่านั้น เป็นการใช้ความระมัดระวังที่ไม่เพียงพอ