ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รวมคำพิพากษาเกี่ยวกับการบุกรุกที่สาธารณะ

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4316/2550
คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่สาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐบริเวณชายแดนประเทศไทยและประเทศมาเลเซียด้วยการเข้าไปปลูกบ้านพักอาศัย กว้างประมาณ 7 เมตร ยาว 9 เมตร ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองปลูกสร้างบ้านพักอาศัยกว้าง 20 เมตร ยาว 7 เมตร ในที่ดินรกร้างว่างเปล่าบริเวณแนวพรมแดนประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐ วันเวลาที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดคดีนี้เป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิดคดีก่อนและจำนวนเนื้อที่ดินที่จำเลยบุกรุกก็มีจำนวนแตกต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง แต่ไม่เป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 362 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งประสงค์ลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5616/2539
ความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา362,365กฎหมายมุ่งประสงค์ลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้นไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมีบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา9,108ทวิวรรคสองและแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐเพราะต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำที่แตกต่างกันสามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ การยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับและการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา29,30เป็นวิธีที่จะกระทำเพื่อเป็นการชดใช้ค่าปรับเป็นการบังคับคดีไม่จำที่ศาลจะต้องกล่าวไว้ในคำพิพากษา

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9132/2544
ที่นาพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและทางราชการยังมิได้จัดให้เป็นที่ทำกินของราษฎร จึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304 การที่ พ. เข้ามาครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทก็เพียงแต่ถือว่า พ. มีสิทธิในที่นาพิพาทดีกว่าบุคคลอื่น แต่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติพ. จึงยกเอาการครอบครองของตนใช้ยันต่อรัฐไม่ได้ ดังนั้น แม้ พ. จะครอบครองหรือทำนาพิพาทนานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิในนาพิพาทตามกฎหมาย ทั้งยังอาจถูกฟ้องร้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ อีกด้วย จึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่นาพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้น แม้จำเลยจะเข้าไปไถนาและปลูกข้าวในที่นาพิพาทก็ไม่เป็นการรบกวนการครอบครองที่อสังหาริมทรัพย์ของ พ. อันจะเป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362,365

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3002/2552
แม้ที่ดินที่เกิดเหตุจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นที่ดินของรัฐ แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ มิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) (2) ดังนั้น ผู้เข้าไปยึดถือครอบครองอาจมีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 แต่ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วในทันทีที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ ส่วนการที่จำเลยยึดถือครอบครองต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ซึ่งความผิดตามมาตรา 365 มีกำหนดอายุความ 10 ปี และตามมาตรา 362 มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) และ (4) เมื่อฟังได้ว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 เกินกว่า 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2718/2538
ความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา362ตอนแรกเป็นการ รบกวนกรรมสิทธิ์ ตอนที่สองเป็นการ รบกวนการครอบครองและทั้งสองตอนนั้นต้องเป็นการกระทำต่อ สิทธิครอบครองหรือ กรรมสิทธิ์ใน อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ผู้เสียหายเป็นเพียงผู้ได้สิทธิทำกินในที่พิพาทซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1304วรรคแรกหาใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทไม่เมื่อขณะนั้นจำเลยได้เข้ายึดถือทำกินในที่พิพาทอยู่ก่อนแล้วแม้จำเลยได้นำรถเข้าไปไถดินและครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทก็ไม่เป็นความผิดฐาน บุกรุก

กรณีที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอน

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6163/2537
ที่ดินพิพาทโจทก์ได้รับมาตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดห้ามโอนภายในห้าปี เป็นที่ดินที่รัฐยังไม่มอบสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์โจทก์ซึ่งยึดถือที่ดินพิพาทที่มีเงื่อนไขดังกล่าวจึงยังไม่มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามประมวลกฎหมายที่ดินโจทก์ไม่อาจโอนหรือสละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377 หรือ 1378 ให้แก่ผู้อื่นได้ด้วยเหตุนี้แม้จะฟังว่าสัญญาจำนองที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขาย และจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยโจทก์ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้นับแต่วันที่โจทก์ทำหนังสือสัญญาจำนองแก่จำเลยก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจยกเรื่องสิทธิครอบครองโดยอ้างว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนขึ้นต่อสู้โจทก์ได้

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1136/2540
จำเลยได้ขายที่พิพาทเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิซึ่งจำเลยครอบครองอยู่ให้ผู้ร้องและ ส. โดยทำสัญญาซื้อขายกันเองต่อมาทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่พิพาทให้จำเลยโดยมีข้อกำหนดห้ามโอน 10 ปี ในวันเดียวกันนั้นจำเลยจดทะเบียนจำนองที่พิพาทกับผู้ร้องและ ส. และได้ส่งมอบการครอบครองที่พิพาทให้ผู้ร้องและ ส. ตั้งแต่วันจดทะเบียนจำนองการที่จำเลยกับผู้ร้องมีเจตนาจะผูกพันกันตามสัญญาซื้อขาย แต่เมื่อปรากฏว่าในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามโอนเป็นเวลา 10 ปี ผู้ร้องและ ส.ไม่สามารถจดทะเบียนซื้อขายที่พิพาทกันได้ จึงได้ทำจำนองในวงเงินเท่ากับราคาซื้อขายกันไว้โดยจำเลยได้ให้คำมั่นที่จะขายที่พิพาทให้เมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนตามพฤติการณ์จึงชี้ให้เห็นว่าสัญญาจำนองเป็นเพียงนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายโดยคู่สัญญาไม่มีเจตนาผูกพันกันในเรื่องจำนองสัญญาจำนองจึงตกเป็นโมฆะ แต่เนื่องจากทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยกับผู้ร้องและ ส. จึงตกเป็นโมฆะไปด้วย ผู้ร้องจึงมิได้มีสิทธิใด ๆในที่พิพาท และแม้ผู้ร้องยังคงครอบครองที่พิพาทอยู่เมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้วก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการครอบครองแทนจำเลยผู้เป็นเจ้าของเดิม จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทและโจทก์ย่อมมีสิทธินำยึดที่พิพาทเพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4542/2542
บ.ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อนแล้วต่อมาทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ โจทก์ผู้รับโอนที่ดินจาก บ. ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนจะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่เพียงใดเมื่อครบกำหนดห้ามโอนแล้วนั้น ต้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ยึดถือ ที่ดินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนหรือไม่ โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทนับตั้งแต่ซื้อจาก บ. ตลอดมาแม้ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนโจทก์จะยังไม่ได้ สิทธิครอบครอง เนื่องจากถูกจำกัดโดยบทบัญญัติ มาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แต่เมื่อโจทก์ยังครอบครองที่ดินพิพาท ตลอดมาจนล่วงเลยระยะเวลาห้ามโอนแล้วเป็นเวลานานถึง 10 ปีเศษและเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของโจทก์ตลอดมา โดยไม่มีผู้อื่นเข้าไปยุ่งเกี่ยวแย่งการครอบครอง การครอบครองที่ดินพิพาท ของโจทก์จึงเป็นการยึดถือที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนโจทก์ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1367

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3307/2543
โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน การซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113(เดิม)

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ทางราชการจัดให้ราษฎรทำกินจึงปกป้อง ราษฎรให้มีที่ทำกินเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี ภายในกำหนดระยะเวลา ดังกล่าวซึ่งทางราชการได้ควบคุมที่ดินนั้นอยู่ยังไม่ปล่อยเป็นสิทธิเด็ดขาดแก่ผู้ครอบครองจนกว่าจะพ้นกำหนดระยะเวลาที่มีข้อกำหนดห้ามโอน ดังนั้น โจทก์จะสละหรือโอนการครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้ ให้แก่ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ ศาลจึงยกบทบัญญัติมาตรา 411 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้นปรับแก่คดีนี้ไม่ได้

นับแต่โจทก์และจำเลยที่ 1 ซื้อขายที่ดินพิพาทกันตั้งแต่ปี 2530จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนปัจจุบัน แม้จะถือว่าในระหว่างระยะเวลาที่มีข้อกำหนดห้ามโอน จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ก็ตาม แต่ในปี 2533 ซึ่งเป็นระยะเวลาพ้นกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องต่อศาลขอให้บังคับโจทก์โอนที่ดินพิพาทให้จำเลย ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทโดยบอกกล่าวแสดงเจตนาไปยังโจทก์ว่า จะไม่ยึดถือที่ดินพิพาทแทน โจทก์อีกต่อไปอันเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์นับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อปี 2539 จึงเป็นการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เอาคืนซึ่งการครอบครอง ส่วนจำเลยที่ 2และที่ 3 แม้จะมิได้อุทธรณ์ด้วยแต่เนื่องจากกรณีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2และที่ 3 ด้วย จึงชอบแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: