ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“คำให้การที่ขัดแย้งกันเอง”

จำเลยรับว่าได้ถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ที่เจ้าพนักงานยึดไว้จริง แต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของรถให้ยืมชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ เนื่องจากการถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์จะทำให้รถจักรยานยนต์ใช้การไม่ได้ ทั้งขัดคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ซึ่งไม่ได้นำสืบปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงของบันทึกคำให้การดังกล่าว ตามบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและภาพถ่ายปรากฏว่า จำเลยนำชี้เส้นทางเข้าออกโดยเข้ามาทางข้างศาลาพักผู้โดยสารหลังสถานีตำรวจ แล้วเข้ามาลักชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของกลางแล้วหลบหนีไปทางเส้นทางเดิม ซึ่งจำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่าบันทึกและภาพถ่ายดังกล่าวไม่ถูกต้อง จึงรับฟังได้ว่า ให้การรับสารภาพและนำชี้ที่เกิดเหตุโดยสมัครใจ คำรับสารภาพเจือสมคำเบิกความ สิบตำรวจโท จ. ว่าพบรอยเท้าคนที่พงหญ้าด้านหลังสถานีตำรวจ นอกจากนี้จำเลยไม่ได้นำสืบว่า ใบมอบอำนาจที่จำเลยอ้างว่า เจ้าของรถมอบอำนาจให้ถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์หรือนำเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จำเลยแสดงใบมอบอำนาจดังกล่าวมาเบิกความสนับสนุน ทั้งรถจักรยานยนต์ก็อยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเจ้าของรถจะอนุญาตให้ถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์โดยพละการไม่ได้ ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ พฤติการณ์จำเลยมีเจตนาทุจริต แม้เจ้าของรถจะทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยรับรถจักรยานยนต์ของกลางก็เป็นเวลาภายหลังเกิดเหตุแล้ว ไม่ทำให้จำเลยพ้นผิดได้ จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา ๓๓๕(๑)(๘) คำพิพากษาฏีกา ๑๔๗๘/๒๕๔๒
ข้อสังเกต ๑.จำเลยรับว่าได้ถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของกลางไปจริงแต่อ้างว่าถอดโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของ ปัญหาคือเมื่อจำเลยรับตามฟ้องพร้อมอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธแล้วในคดีอาญาจะเหมือนในคดีแพ่งไหม ที่ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับก็เป็นอันยุติไป คือยอมรับว่าได้เอาชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของกลางไปจริง ข้อเท็จจริงนี้ยุติไป ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๑๘๓ จำเลยรับแล้วอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ จึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า “ การถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของกลางกระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร “ เมื่อจำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ ภาระในการนำสืบจะตกแก่จำเลยที่ต้องนำสืบก่อนเหมือนในคดีแพ่งหรือไม่อย่างไร? จำเลยมีภาระในการพิสูจน์ก่อนเมื่อนำสืบแล้วโจทก์นำสืบแก้ เหมือนดังในคดีแพ่ง หรือไม่อย่างไร? กรณีนี้ หน้าที่นำสืบจะตกแก่ใคร ใครมีหน้าที่นำสืบก่อน? ในคดีอาญาแม้จำเลยจะรับว่าได้ถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของกลางไป แต่ก็อ้างเหตุว่ากระทำไปโดยได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของ เท่ากับปฏิเสธว่าตนไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง หน้าที่นำสืบจึงตกแก่โจทก์ เพราะไม่ใช่การรับสารภาพตามฟ้องในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่ถึง ๕ ปี ที่เมื่อจำเลยรับสารภาพแล้วโจทก์ไม่ต้องนำสืบพยานตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๗๖ ในกรณีนี้คดีอาญากำหนดหน้าที่นำสืบเอาไว้ชัดแจ้ง เมื่อโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดทางอาญา โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบจนเป็นที่พอใจแก่ศาลว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำผิด ศาลจึงจะลงโทษจำเลยได้ เว้นเสียแต่ในความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกไม่ถึง ๕ ปีที่จำเลยรับสารภาพ ศาลจะพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานก็ได้ ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๗๖ แต่อย่างไรก็ดีเมื่อโจทก์นำสืบเสร็จแล้ว จำเลยก็มีหน้าที่นำสืบเพื่อแก้ข้อกล่าวหาของโจทก์ว่า จำเลยนำชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ไปโดยมีอำนาจเพราะได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของรถ หากจำเลยไม่นำสืบหรือนำสืบไม่ได้ก็ต้องรับฟังว่าจำเลยได้ลักถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ไปตามที่โจทก์ฟ้อง
๒.ข้อเท็จจริงได้ความว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดมาเพื่อตรวจสอบหรือเพื่อเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี การที่จำเลยยอมรับว่าได้ถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ที่ถูกยึดมาเท่ากับยอมรับว่าจำเลยได้ครอบครองชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกยึดมา ข้ออ้างว่า ผู้เสียหายยินยอมให้ถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์นั้น ขัดต่อหลักความเป็นจริงเพราะหากมีการถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ไปรถย่อมไม่สามารถนำมาวิ่งได้ หากจะให้จำเลยยืมชิ้นส่วนของรถจักรยานยนต์สู้ให้จำเลยยืมรถจักรยานยนต์ไปใช้เลยไม่ดีกว่าหรือ การถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์หากไม่ได้ทำโดยผู้ชำนาญอาจเกิดความเสียหายต่อชิ้นส่วนได้ทั้งในการถอดออกและใส่คืน คำให้การดังกล่าวจึงขัดหลักเหตุผลไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะยอมให้ยืมชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ ทั้งการมาถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ที่แอบเข้ามาทางด้านหลังโรงพักและมาถอดชิ้นส่วนรถุจักรยานยนต์ไปในเวลากลางคืนย่อมผิดปกติวิสัยที่คนทั่วไปจะกระทำกัน หากมีการมอบอำนาจให้มาถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ได้จริงก็น่าที่จะติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนที่จะทำการถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ไป และในกรณีนี้ก็ไม่สามารถที่จะทำการถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ได้ เพราะรถจักรยานยนต์ถูกยึดไว้เป็นของกลางที่สถานีตำรวจ การที่รถถูกยึดไว้เพื่อตรวจสอบหรือเพื่อเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีย่อมหมายถึงยึดรถทั้งคันรวมทั้งชิ้นส่วนอะไหล่ในรถจักรยานยนต์ทั้งคันด้วย ตราบใดที่ไม่มีคำสั่งเจ้าพนักงานให้คืนรถของกลางได้ เจ้าของรถหรือผู้หนึ่งผู้ใดย่อมไม่มีอำนาจนำรถหรือชิ้นส่วนหนึ่งส่วนใดของรถไปได้ ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๘๕ วรรคท้าย
๓.จำเลยไม่ได้นำสืบปฏิเสธในบันทึกคำให้การรับสารภาพและบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำให้การรับสารภาพว่าไม่ถูกต้องอย่างไร จำเลยรับสารภาพเพราะถูกชักจูงใจ ให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ถูกบังคับขมขู่หรือถูกทำร้ายอย่างไรตาม ป.ว.อ. มาตรา ๒๒๖ จึงให้การรับสารภาพและนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ เมื่อจำเลยไม่นำสืบถึงความมีอยู่ถูกต้องแท้จริงซึ่งข้อความในเอกสารดังกล่าวเท่ากับยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวทำถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
๔.ทั้งจำเลยเองก็ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยหรือญาติพี่น้องจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้จับกุมหรือพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่ทำการจับกุมสอบสวนแต่อย่างใดไม่ จึงต้องรับฟังว่าผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนได้ทำการไปตามหน้าที่โดยไม่ได้กลั่นแกล้งจำเลยแต่อย่างใดไม่ เอกสารในบันทึกการจับกุม ในบันทึกการสอบสวนและการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพจึงมีน้ำหนักรับฟังได้
๕.คำรับสารภาพจำเลยเจือสมคำเบิกความพยานโจทก์ สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน โดย ส.ต.ท. จ เบิกความว่าพบรอยเท้าคนเดินที่พงหญ้าด้านหลังสถานีตำรวจ สอดคล้องคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพว่า เข้ามาลักทรัพย์ข้างศาลาผู้โดยสารด้านหลังสถานีตำรวจและกลับไปในเส้นทางดังกล่าว เมื่อคำรับสารภาพและบันทึกนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเจือสมกับคำเบิกความพยานโจทก์ ย่อมน่าเชื่อว่า เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ปรุงแต่งขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงไปในแนวทางเดียวกันไม่ขัดแย้งกันจึงไม่ต้องมาวินิจฉัยว่าใครพูดจริงพูดเท็จแต่อย่างใด
๖.การที่จำเลยไม่นำสืบใบมอบอำนาจจากเจ้าของรถที่มอบอำนาจให้ถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์โดยนำสืบหนังสือมอบอำนาจพร้อมทั้งต้องนำเจ้าของรถมานำสืบว่าได้มีการมอบอำนาจให้ถอดชิ้นส่วนรถจริงหรือไม่อย่างไร และจำเลยไม่ได้นำเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้แสดงใบมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวดูแล้วก่อนถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ไป เมื่อไม่ได้นำพยานดังกล่าวมาสืบ ข้อกล่าวอ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การที่เข้ามาลักลอบถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ที่ถูกยึดไว้เป็นของกลางในคดีโดยแอบลักลอบเข้ามาด้านหลังสถานีตำรวจแล้วลักลอบถอดชิ้นส่วนรถในเวลากลางคืนแสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำการไปโดยมีเจตนาทุจริต แม้เจ้าของรถจะมีหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยรับรถจักรยานยนต์ของกลางคืน แต่ก็เป็นหนังสือมอบอำนาจที่เกิดขึ้นภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ในคดีนี้แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการในเวลากลางคืน โดยกระทำความผิดตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา ๓๓๕(๑)(๘)วรรคสาม ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่ากรณีดังกล่าวยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าการกระทำดังกล่าวที่เอาชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ที่ถูกยึดไว้ เป็นการกระทำโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จึงยังไม่น่าที่จะเป็นความผิดฐานเอาไปซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดไว้ตาม ป.อ. มาตรา ๑๘๗

ไม่มีความคิดเห็น: