ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ลำดับการชำระหนี้”

๑.ต้องชำระดอกเบี้ยก่อนที่เหลือจึงเป็นต้นเงิน คำพิพากษาฏีกา ๔๖๑/๒๕๒๒
๒.จำนวนดอกเบี้ยที่ต้องชำระสูงกว่าดอกเบี้ยจากต้นเงินตามสัญญากู้และสัญญาจำนองนับแต่วันกู้ถึงวันฟ้อง เงินที่ชำระดอกเบี้ยเกินดังกล่าวต้องชำระต้นเงิน คำพิพากษาฏีกา ๔๗๕๕/๒๕๓๖
๓.ลูกหนี้มีหนี้รายเดียวทั้งหนี้ประธานและหนี้อุปกรณ์ เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมดต้องจัดสรรชำระหนี้อุปกรณ์ก่อน คำพิพากษาฏีกา๖๗๗๙/๒๕๓๙
๔.ในการชำระหนี้แต่ละครั้ง เมื่อไม่ตกลงไว้เป็นอย่างอื่นต้องชำระดอกเบี้ยที่ค้างไว้ก่อน เหลือเท่าไหร่จึงนำไปชำระต้นเงิน ๓๘๐๑/๒๕๔๕
๕.เงินเพิ่มที่เกิดขึ้นตามพรบ.ศุลกากรไม่ใช่ดอกเบี้ยและไม่อาจถือเป็นดอกเบี้ยได้จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๙ มาใช้บังคับได้ คำพิพากษาฏีกา ๓๐๗/๒๕๔๗,๗๖๗๓/๒๕๔๖
๖.แถลงในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ได้รับชำระหนี้คืนบางส่วนจากจำเลยย่อมผูกพันโจทก์ จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักยอดหนี้ค้างชำระได้ คำพิพากษาฏีกา ๖๗๐/๒๕๔๙
๗.การชำระหนี้ไม่พอชำระหนี้ทั้งหมด ไม่มีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ต้องชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระซึ่งเกิดก่อนวันชำระหนี้ หากมีเงินเหลือจากการชำระดอกเบี้ยจึงนำไปชำระต้นเงิน คำพิพากษาฏีกา ๑๐๒๒๗/๒๕๕๑
๘.กู้ยืมเงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยและให้ชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้ง จำเลยไม่ผ่อนชำระให้โจทก์ ต่อมาจำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์อีกและได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ทั้งสองฉบับสัญญาครั้งละครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้จำเลยยังเป็นหนี้ตามสัญญากู้อื่นอีกหลายฉบับ โจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์คำนวณยอดหนี้ ที่จำเลยค้างชำระมาถูกต้องแล้ว เมื่อจำเลยเป็นหนี้อยู่หลายจำนวนรวมกันและชำระหนี้รวมกันแต่ละเดือน ไม่มีบทกฎหมายใดสนับสนุนว่าให้นำ ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๙ ที่ให้นำเงินที่จำเลยชำระไปหักใช้ดอกเบี้ยก่อน ส่วนที่เหลือจึงนำไปชำระต้นเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานมาใช้บังคับ คำพิพากษาฏีกา ๔๙๙๑/๒๕๕๒
๙.สัญญาขายลดตั๋วเงิน ในการชำระหนี้โจทก์ชอบที่จะได้รับชำระหนี้แต่ละครั้งไป ชำระดอกเบี้ยที่คงค้างก่อน ที่เหลือจึงหักใช้ต้นเงินที่ค้าง คำพิพากษาฏีกา ๒๕๔๕/๒๕๕๓
๑๐.ไม่ได้ฟ้องเรียกดอกเบี้ย เมื่อฟังได้ว่าการกู้ยืมมีดอกเบี้ย จึงต้องชำระดอกเบี้ย ก่อนฟ้องโจทก์ได้รับชำระหนี้ด้วยสิ่งของเป็นเงิน ๘,๗๒๕ บาท จึงฟ้องให้ชำระเฉพาะเงินกู้ การที่ศาลจัดให้ใช้เงิน ๘,๗๒๕ บาทที่ได้รับชำระก่อนฟ้องเป็นดอกเบี้ยเสียก่อน ส่วนที่เหลือให้ชำระเป็นต้นเงินจึงถูกต้องตามกฎหมายแล้ว คำพิพากษาฏีกา ๑๑๒๔/๒๕๑๑
๑๑.ค่าฤชาธรรมเนียม คือค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้แก่รัฐ ส่วนเงินที่ลูกหนี้ต้องใช้แทนเจ้าหนี้สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่เจ้าหนี้ได้เสียให้แก่รัฐไปแล้วนั้น แม้จะเรียกเป็นค่าฤชาธรรมเนียม แต่แท้จริงก็เป็นจำนวนเงินที่ใช้แทนกันตามธรรมดา ไม่ใช่ค่าฤชาธรรมเนียมที่ลูกหนี้ต้องเสียให้แก่รัฐ จึงถือได้ว่าเป็นหนี้จำนวนหนึ่งอันลูกหนี้จะต้องใช้ให้เจ้าหนี้ตามธรรมดานั้นเอง คำพิพากษาฏีกา ๗๕๖/๒๕๐๘
ข้อสังเกต ๑.นอกจากการชำระหนี้ที่เป็นประธานแล้ว ลูกหนี้ต้องชำระดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียมด้วย หากการชำระหนี้ไม่พอที่จะปลดเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมด ให้ชำระหนี้ที่เป็นค่าฤชาธรรมเนียมก่อน แล้วจึงชำระดอกเบี้ย แล้วจึงมาชำระหนี้อันเป็นประธานนั้น ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๙
๒.หนี้แบ่งได้เป็นหนี้ประธานและหนี้อุปกรณ์ เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมดต้องชำระหนี้ที่เป็นค่าฤชาธรรมเนียมก่อน แล้วจึงมาชำระดอกเบี้ย แล้วจึงมาชำระต้นเงินซึ่งเป็นหนี้ประธาน กฎหมายไม่ให้สิทธิ์ลูกหนี้ที่จะเลือกชำระหนี้ใดก่อนหลัง แต่กฎหมายบังคับให้ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมก่อน หากมีเหลือจึงมาชำระดอกเบี้ย หากมีเหลือจึงมาชำระต้นเงินต่อไป
๓.ค่าฤชาธรรมเนียมในที่นี้หมายถึง ค่าฤชาธรรมเนียมในการซื้อขายตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๗ ที่ผู้ซื้อผู้ขายต้องออกเท่าๆกัน หรือค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์ที่ยืมไป ซึ่งผู้ยืมเป็นคนเสีย ป.พ.พ. มาตรา๖๕๑ ซึ่งการกู้ยืมก็เป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองแบบหนึ่งในหมวด ๒ลักษณะ ๙ ในเรื่อง “ ยืม “ หรือเป็นเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในคดีความเป็นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๙ ที่ศาลฏีกาตีความว่า คือ ค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้แก่รัฐ ส่วนเงินที่ลูกหนี้ต้องใช้แทนเจ้าหนี้สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่เจ้าหนี้ได้เสียให้แก่รัฐไปแล้วนั้น แม้จะเรียกเป็นค่าฤชาธรรมเนียม แต่แท้จริงก็เป็นจำนวนเงินที่ใช้แทนกันตามธรรมดา ไม่ใช่ค่าฤชาธรรมเนียมที่ลูกหนี้ต้องเสียให้แก่รัฐ จึงถือได้ว่าเป็นหนี้จำนวนหนึ่งอันลูกหนี้จะต้องใช้ให้เจ้าหนี้ตามธรรมดานั้นเอง เมื่อศาลตีความว่าเป็นหนี้จำนวนหนึ่งแม้จะเรียกว่าค่าฤชาธรรมเนียมแต่ก็ไม่ใช่ค่าฤชาธรรมเนียมตามความหมายใน ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๙ ดังนั้น การชำระหนี้ต้องชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยก่อน จะถือว่าการชำระหนี้ของลูกหนี้นำมาชำระหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมก่อนไม่ได้ สรุปได้ง่ายๆว่าหากเป็นค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้รัฐ แล้ว เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ต้องหักหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมให้แก่รัฐก่อน แล้วจึงมาหักดอกเบี้ย หากมีเหลือจึงมาหักต้นเงินที่ค้างชำระ หากไม่ใช่ค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้รัฐแม้จะเรียกว่าค่าฤชาธรรมเนียมก็ตามก็ไม่ต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๙ เพราะเป็นค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้จ่ายให้รัฐ จึงถือเป็นหนี้ก้อนหนึ่งเท่านั้น เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว ต้องถือเป็นการชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยก่อน หากมีเหลือจึงมาชำระหนี้อย่างอื่น
๔เมื่อเป็นหนี้แล้วไม่สามารถชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยได้หมด การชำระหนี้ครั้งนั้นถือว่าเป็นการชำระดอกเบี้ยก่อนที่เหลือจึงเป็นต้นเงิน หากไม่เหลือก็ไม่มีอะไรที่จะมาชำระต้นเงิน
๕..จำนวนดอกเบี้ยที่ต้องชำระสูงกว่าดอกเบี้ยจากต้นเงินตามสัญญากู้และตามสัญญาจำนองนับแต่วันกู้ถึงวันฟ้อง เงินที่ชำระดอกเบี้ยเกินดังกล่าวต้องชำระต้นเงิน นั้นก็คือดอกเบี้ยที่สูงเกินส่วนนั้น เมื่อนำมาชำระดอกเบี้ยตามสัญญาเงินกู้แล้วมีเหลือเท่าไหร่ก็นำมาชำระต้นเงิน
๖.ลูกหนี้มีหนี้รายเดียวทั้งหนี้ประธานและหนี้อุปกรณ์ เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมดต้องจัดสรรชำระหนี้อุปกรณ์ก่อน ด้วยการชำระค่าฤชาธรรมเนียมก่อน หากมีเหลือจึงชำระดอกเบี้ยหากมีเหลือจึงชำระต้นเงินอีกที โดย.ในการชำระหนี้แต่ละครั้ง เมื่อไม่ตกลงไว้เป็นอย่างอื่นต้องชำระดอกเบี้ยที่ค้างไว้ก่อน เหลือเท่าไหร่จึงนำไปชำระต้นเงิน การตกลงยกเว้นกฏหมายโดยให้ชำระต้นเงินก่อนแล้วจึงมาชำระดอกเบี้ยเป็นการตกลงยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๙ ซึ่งไม่ใช่กฏหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชน คู่กรณีสามารถตกลงยกเว้นกฎหมายในส่วนนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๑ การที่ตกลงให้ชำระต้นเงินก่อนชำระดอกเบี้ยย่อมเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้เพราะเมื่อต้นเงินลดดอกเบี้ยที่คิดจากต้นเงินคงค้างย่อมลดตามไปด้วยเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ การตกลงยกเว้นให้ชำระหนี้ค่าต้นเงินก่อนดอกเบี้ยจึงไม่น่าที่จะขัดกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่กรณีจึงสามารถที่จะตกลงยกเว้นข้อกฎหมายดังกล่าวได้โดยให้ถือว่าการชำระหนี้แต่ละครั้งให้ถือว่าชำระต้นเงินก่อน ที่เหลือจึงเป็นการชำระดอกเบี้ย แต่ในทางปฏิบัติแล้วยากที่จะเกิดกรณีแบบนี้ ยิ่งต้นเงินยิ่งมากดอกเบี้ยก็ยิ่งสูงตาม ดังนั้นเจ้าหนี้มักไม่ทำข้อตกลงดังกล่าวยกเว้นข้อกฏหมาย
๗.เงินเพิ่มที่เกิดขึ้นตามพรบ.ศุลกากรไม่ใช่ดอกเบี้ยแต่เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายที่เรียกเก็บเงินเพิ่มได้ในกรณีใดบ้าง และไม่ใช่ดอกผลธรรมดาหรือเป็นดอกผลนิตินัยที่เป็นทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์เพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น ซึ่งสามารถคำนวณและถือเอาได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๘ เงินเพิ่มดังกล่าวจึงไม่ใช่และไม่อาจถือเป็นดอกเบี้ยได้จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๙ มาใช้บังคับได้ ดังนั้นการชำระหนี้จะถือว่าเป็นการชำระหนี้เงินเพิ่มก่อนไม่ได้
๘การที่โจทก์.แถลงในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ได้รับชำระหนี้คืนบางส่วนจากจำเลยย่อมผูกพันโจทก์ จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักยอดหนี้ค้างชำระได้ โดยต้องชำระเป็นดอกเบี้ยก่อน ที่เหลือจึงมาชำระเป็นต้นเงิน
๙.การชำระหนี้ไม่พอชำระหนี้ทั้งหมด เมื่อไม่มีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น คือไม่มีการตกลงกันว่าให้ชำระต้นเงินก่อนแล้วที่เหลือจึงมาชำระดอกเบี้ย คือไม่มีการตกลงยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๙ ดังนั้นจึงต้องชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระซึ่งเกิดก่อนวันชำระหนี้ หากมีเงินเหลือจากการชำระดอกเบี้ยจึงนำไปชำระต้นเงิน
๑๐.สัญญากู้ยืมเงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยและให้ชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้ง จำเลยไม่ผ่อนชำระให้โจทก์ ต่อมาจำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์อีกและได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ทั้งสองฉบับสัญญาครั้งละครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้จำเลยยังเป็นหนี้ตามสัญญากู้อื่นอีกหลายฉบับ โจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์คำนวณยอดหนี้ ที่จำเลยค้างชำระมาถูกต้องแล้ว เมื่อไม่ได้แสดงให้เห็นว่ายอดหนี้ที่ค้างถูกต้อง เมื่อจำเลยเป็นหนี้อยู่หลายจำนวนรวมกันและชำระหนี้รวมกันแต่ละเดือน ไม่มีบทกฎหมายใดสนับสนุนว่าให้นำ ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๙ ที่ให้นำเงินที่จำเลยชำระไปหักใช้ดอกเบี้ยก่อน ส่วนที่เหลือจึงนำไปชำระต้นเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานมาใช้บังคับ นั้นก็คือศาลตีความว่า บทบัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๙ ใช้บังคับในกรณีที่เป็น “หนี้รายเดียว” เมื่อมีการชำระหนี้ต้องถือชำระดอกเบี้ยก่อน หากมีเหลือจึงนำมาชำระต้นเงิน แต่หากเป็นกรณีมีหนี้หายรายรวมกันโดยเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวกัน การชำระหนี้รวมในหนี้ทุกก้อนพร้อมกันจะถือว่าเป็นการชำระดอกเบี้ยก่อนไม่ได้ เพราะไม่มีบทกฏหมายบัญญัติไว้ในกรณีนี้
๑๑.สัญญาขายลดตั๋วเงิน ในการชำระหนี้โจทก์ชอบที่จะได้รับชำระหนี้แต่ละครั้งไป โดยในการชำระหนี้ต้องถือว่าเป็นการชำระดอกเบี้ยที่คงค้างก่อน ที่เหลือจึงหักใช้ต้นเงินที่ค้าง หากไม่มีเหลือก็ไม่มีเงินที่จะมาหักหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงิน
๑๒. เมื่อฟังได้ว่าการกู้ยืมมีดอกเบี้ย จึงต้องชำระดอกเบี้ย เมื่อเป็นกรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเอาไว้โดยนิติกรรมโดยแจ้งชัด ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗ ก่อนฟ้องโจทก์ได้รับชำระหนี้ด้วยสิ่งของเป็นเงิน ๘,๗๒๕ บาท จึงฟ้องให้ชำระเฉพาะเงินกู้ ถือได้ว่าการชำระหนี้ด้วยสิ่งของคิดเป็นเงิน ๘,๗๒๕ บาทเป็นการ “ชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้” เมื่อเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้ด้วยสิ่งของแทนเงิน หนี้เป็นอันระงับไปบางส่วนตามจำนวนที่ชำระ ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๑และในขณะเดียวกันก็ถือได้ว่าเป็นกรณีกู้ยืมกันและผู้ให้กู้ยืมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอื่นแทนการชำระหนี้กู้ยืม หนี้เป็นอันระงับไปเพราะการกระทำนั้น โดยให้คิดราคาเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและสถานที่ส่งมอบ ป.พ.พ. มาตรา๖๕๖ วรรคสอง โดยต้องถือว่าการชำระหนี้ด้วยสิ่งของนี้เป็นการชำระดอกเบี้ยของต้นเงินกู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๙ ดังนั้น การที่ศาลจัดให้ใช้เงิน ๘,๗๒๕ บาทที่ได้รับชำระก่อนฟ้องเป็นดอกเบี้ยเสียก่อน ส่วนที่เหลือให้ชำระเป็นต้นเงินจึงถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
๑๓.ค่าฤชาธรรมเนียมในความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๙ คือค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้แก่รัฐ ส่วนเงินที่ลูกหนี้ต้องใช้แทนเจ้าหนี้สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่เจ้าหนี้ได้เสียให้แก่รัฐไปแล้วนั้น แม้จะเรียกเป็นค่าฤชาธรรมเนียม แต่แท้จริงก็เป็นจำนวนเงินที่ใช้แทนกันตามธรรมดา ไม่ใช่ค่าฤชาธรรมเนียมที่ลูกหนี้ต้องเสียให้แก่รัฐ จึงถือได้ว่าเป็นหนี้จำนวนหนึ่งอันลูกหนี้จะต้องใช้ให้เจ้าหนี้ตามธรรมดานั้นเอง แต่ไม่ใช่ค่าฤชาธรรมเนียมความความหมายใน ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๙

ไม่มีความคิดเห็น: