ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การใช้อาวุธปืนยิงไม่ใช่เจตนาฆ่าเสมอไป

หลักการวินิจฉัยจากแนวพิพากษาฎีกา ดังนี้
1. ดูจากความร้ายแรงของอาวุธ
2. ดูจากอวัยวะที่ถูกกระทำ
3. ดูจากลักษณะบาดแผลที่ได้รับ
4. ดูจากพฤติการณ์อื่นๆประกอบ
อาวุธ ถ้าเป็นอาวุธปืน ปกติศาลฎีกาถือว่ามีเจตนาฆ่า แต่ก็ไม่เสมอไป บางกรณีไม่ถือว่ามีเจตนาฆ่า เช่น ยิงที่ขา
-ฎีกา ที่ 1006/2501 ใช้อาวุธปืนยิงในระยะ 1 วา ถูกที่ขาเหนือตาตุ่ม กระดูกแตก ถ้าตั้งใจฆ่าก็คงยิงถูกที่สำคัญได้ แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่า เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ไม่ใช่พยายามฆ่า
-แต่ถ้าจำเลยเล็งอาวุธปืนไปที่หน้าอกผู้เสียหายแล้ว เผอิญมีคนมาปัดปืน กระสุนไปถูกผู้อื่นที่เท้า เช่นนี้ ถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า
( ฎีกาที่ 870/2526 )
-หรือกรณีที่ผู้เสียหายหลบได้ทัน เพราะได้ระวังตัวอยู่ก่อน กระสุนจึงพลาดไปถูกขา เช่นนี้ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า
( ฎีกาที่ 138/2531 )
-การ ใช้ปืนจ้อง แต่ไม่ยิงทั้งที่มีโอกาสยิงได้ ถือเป็นการใช้ปืนจ้องขู่เท่านั้น ไม่มีเจตนาฆ่าหรือทำร้ายร่างกาย การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเพียงมีเจตนาขู่ให้ผู้เสียหายตกใจกลัว (ฎีกาที่ 2412/2530 )
-หรือยิงปืนขู่ไม่ประสงค์ให้ถูกผู้ใดแต่กระสุนปืนแฉลบไปถูกถือว่าไม่มีเจตนาฆ่า( ฎีกาที่ 445/2532 )
-กรณีเจตนาย่อมเล็งเห็นผล ซึ่งหมายถึง ไม่ใช่เจตนาประสงค์ต่อผลโดยตรง แต่ย่อมเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
-ฎีกา ที่ 1270/2526 จำเลยขับขี่รถยนต์บรรทุกดินลูกรังสูงเกินกำหนดพอถึงจุดตรวจมีแผงเหล็ก เครื่องหมายหยุดและเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้เป่านกหวีดให้จำเลยหยุดรถ จำเลยกลัวเลยไม่ยอมหยุด กลับเร่งความเร็วพุ่งเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนอยู่ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกระโดดหลบทัน ดังนี้จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำได้ว่ารถยนต์ที่จำเลยขับขี่พุ่งเข้า ใส่นั้นจะต้องชนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนอยู่บนถนนถึงแก่ความตายได้ จำเลยจึงมีความผิดฐาน พยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ ตาม ป.อาญา มาตรา 289 , 80
-หรือกรณีที่ยิงปืนเข้าไปในรถยนต์ หรือในบ้านเรือนของผู้อื่น ก็เช่นเดียวกันย่อมเล็งเห็นผลได้ เพราะอาวุธปืนเป็นอาวุธที่ร้ายแรง
-ฎีกา ที่ 2155/2530 จำเลยชักมีดปลายแหลม ยาวทั้งตัวทั้งด้ามประมาณ 1 ศอก ออกมาแล้วพูดว่า " มึงตายเสียเถอะ " จะถือว่าเป็นจริงจังตามพูดไม่ได้ ต้องดูพฤติการณ์อื่นประกอบ ฉะนั้น แม้จำเลยใช้มีดแทง ส. และ ท. ก็ตาม แต่จำเลยก็หาได้พยายามที่จะทำให้บุคคลทั้งสองได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ ความตาย ทั้งๆ ที่จำเลยมีโอกาสจะกระทำได้ เพราะเมื่อทั้งสองคนล้มลงแล้ว จำเลยก็ไม่ได้แทงซ้ำเติมแต่อย่างใดและบาดแผลที่ทั้งสองได้รับก็ไม่มีลักษณะ ฉกรรจ์ พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวประกอบกับต่อมาจำเลยได้ไล่แทง ฉ. แต่ ฉ. หลบหนีไปได้ เพียงเท่านี้ยังไม่พอฟังว่าจำเลยเจตนาฆ่า คงเป็นเพียงทำร้ายร่างกาย ส. และ ท. และพยายามทำร้ายร่างกาย ฉ. เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: