๑.ขับรถออกจากทางแยกที่มีป้ายหยุด แต่ไม่หยุด จำเลยขับรถผ่านทางแยกด้วยความเร็วสูง จึงหยุดไม่ทัน พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่คนที่นั่งมาในรถโจทก์ครึ่งหนึ่ง คำพิพากษาฏีกา ๒๓๓๔/๒๕๒๐
๒.ต่างคนต่างขับรถโดยประมาท ทำให้คนตาย ไม่ใช่ร่วมกันทำละเมิด แต่ต่างคนต่างทำ คำพิพากษาฏีกา ๑๕๔๔/๒๕๒๐
๓.ต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น ไม่ใช่ลูกหนี้ร่วม แต่ศาลแบ่งส่วนความรับผิดของแต่ละคน คำพิพากษาฏีกา ๑๕๔๖/๒๕๒๐
ข้อสังเกต ๑. เมื่อความเสียหายเกิดจากการกระทำละเมิด โดยปรากฏว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดที่ผู้เสียหายมีส่วนในการกระทำความผิดด้วย ค่าสินไหมทดแทนที่จะพึงชำระมากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่าฝ่ายใดก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากัน ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๓,๔๔๒
๒.ผู้ขับขี่รถยนต์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามป้ายสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจรที่ติดตั้งไว้ พรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๒๑ หากทางเดินรถทางเอกตัดกับทางเดินรถทางโท ผู้ขับรถทางเดินรถทางโท ต้องให้ผู้ขับขี่รถในทางเดินเอกผ่านไปก่อน พรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๗๑(๒) และเมื่อขับรถใกล้ทางร่วมทางแยกผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วของรถลง พรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๗๐
๓.เมื่อถนนมีทางร่วมแยกตัดกัน รถที่อยู่ในทางโทตัดทางเอกต้องชลอความเร็วของรถลงและยอมให้รถที่อยู่ในทางเอกวิ่งผ่านไปก่อน ทั้งเมื่อบริเวณทางร่วมแยกมีป้ายให้หยุดรถ เป็นการเตือนผู้ขับรถในทางโทต้องหยุดรถเพื่อดูให้แน่ใจว่าไม่มีรถวิ่งมาบนทางเอกแต่อย่างใด เมื่อเห็นว่าปลอดภัยจึงค่อยขับจากทางโทสู่ทางเอก ส่วนรถที่แล่นมาในทางเอก เมื่อผ่านทางร่วมแยกต้องชลอความเร็วของรถลง ยิ่งหากมองเห็นว่ามีรถในทางโทที่จะวิ่งตัดมาบนทางเอกด้วยแล้วยิ่งต้องลดความเร็วของรถพร้อมที่จะหยุดได้อย่างปลอดภัย การไม่ลดความเร็วของรถเมื่อผ่านทางร่วมทางแยกทั้งยังขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดถือเป็นการขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในสภาวะผู้ขับขี่รถผ่านทางร่วมทางแยกจักต้องมีและผู้ขับขี่อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้โดยลดความเร็วของรถเมื่อจะแล่นผ่านทางร่วมแยก แต่ผู้ขับขี่ก็หาได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นไม่ ถือว่า ทั้งสองฝ่ายขับรถด้วยความประมาท เมื่อรถชนกันถือว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นความผิดของผู้เสียหายด้วย ค่าสินไหมทดแทนจะเป็นประการใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่าฝ่ายใดก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากัน
๔.การกระทำความผิดฐานประมาทไม่อาจร่วมกันกระทำความผิดได้ คือ จะถือว่าทั้งสองฝ่าย “ประมาทร่วมกันไม่ได้ “ แต่ถือว่าต่างฝ่ายต่างประมาท นั้นก็คือจะถือว่าทั้งสองฝ่ายทำละเมิดร่วมกันไม่ได้ แต่ต้องถือว่าต่างคนต่างทำละเมิดด้วยการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เมื่อต่างฝ่ายต่างประมาท ถือแต่ละฝ่ายมีส่วนในการกระทำความผิดด้วย ค่าเสียหายจะพึงชดใช้ประการใดอยู่ที่พฤติการณ์เป็นประมาณว่าฝ่ายใดประมาทมากน้อยกว่ากัน และในทางอาญาก็เช่นกันจะถือว่ากระทำการประมาทร่วมกันไม่ได้ แต่ต้องถือว่าต่างฝ่ายต่างกระทำโดยประมาท เช่น โจทก์ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินที่กฎหมายกำหนดเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๖๗ ซึ่งเป็นบทบัญญัติกฎหมายที่มุ่งจะยังความปลอดภัยให้แก่สาธารณะชน ผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๒ สันนิษฐานว่าเป็นฝ่ายผิด คือเป็นผู้ประมาท ส่วนผู้ขับรถอีกคันขับรถย้อนศร อันเป็นการขับขี่รถยนต์ฝ่าฝืนเครื่องหมายที่กำหนดเส้นทางเดินรถ ตามพรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๒๑ โดยเป็นการขับรถฝ่าฝืนสัญญาณหรือเครื่องหมายจราจรที่กำหนดเส้นทางเดินรถ โดยบทกฏหมายดังกล่าว เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องบุคคลอื่น ผู้ฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๒สันนิษฐานว่าเป็นคนผิด นั้นก็คือต่างฝ่ายต่างประมาทไม่ได้กระทำการประมาทร่วมกัน แต่เป็นเรื่องต่างคนต่างประมาทเมื่อรถเกิดเฉี่ยวชนกันมีคนตายและได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องถือว่าต่างฝ่าย “ต่างกระทำ” การโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส และเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย(คือรถแต่ละคันที่ชนกันได้รับความเสียหาย) ตาม ป.อ. มาตรา ๓๐๐,๒๙๑,พรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๔๓ (๔)
๕.ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดไว้ใน ประมวลกฎหมายอาญา คือความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทมีไม่ได้ในกฏหมายอาญา แต่มีบัญญัติไว้เป็นความผิดใน พรบ.จราจรทางบก ฯ มาตรา ๔๓(๔) ขับรถโดยประมาทน่าหวาดเสียวอันน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น
๖. การที่ทั้งสองฝ่ายต่างประมาท ไม่ใช่การร่วมกันประมาท แต่เป็นเรื่องต่างคนต่างกระทำการโดยประมาท เมื่อเกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ผู้ที่กระทำการโดยประมาททั้งสองฝ่ายต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ร่วมกันรับผิดแบบลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๒ คือจะถือว่า เป็นกรณีที่บุคคลหลายคนก่อให้เกิดความเสียหายโดยร่วมกันทำละเมิด ซึ่งต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย โดยต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน เว้นโดยพฤติการณ์ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น ดังนี้ไม่ได้ แม้จะไม่ได้ร่วมกันรับผิดแบบลูกหนี้ร่วมแต่ศาลให้แบ่งความรับผิดของแต่ละคนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๘ได้โดยดูว่าพฤติการณ์เป็นประมาณว่าฝ่ายใดประมาทยิ่งหย่อนกว่ากัน คืออาจให้รับผิดคนละกึ่งหนึ่ง ( คำพิพากษาฏีกา ๑๖๙๒/๒๕๒๐ ,๒๓๓๔/๒๕๒๐)หรือให้อีกฝ่ายรับผิด ๑ ใน ๓ (คำพิพากษาฏีกา ๑๘๖๓/๒๕๒๒) หรือกรณีทำให้รถเสียหาย ก็ให้หักค่าซากรถออกจากความเสียหายทั้งหมด โดยโจทก์ไม่ต้องคืนซากรถให้จำเลยก็ได้ (คำพิพากษาฏีกา ๑๙๑๓/๒๕๒๐) หรือให้จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นนายจ้างฝ่ายจำเลยที่ ๑ใช้ค่าเสียหาย ๙ ส่วน จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหาย ๑ ส่วน ก็ได้ กรณีที่รถที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ต่างวิ่งคู่แล้วเกิดกระแทกกัน รถที่จำเลยที่ ๑ ขับวิ่งข้ามเกาะกลางถนนไปชนสามีโจทก์และบิดาโจทก์ตาย (คำพิพากษาฏีกา ๖๑๕/๒๕๒๓)
๗.ค่าสินไหมทดแทนที่สามารถเรียกร้องได้นั้นยังรวมถึง ค่าจ้างนางพยาบาลมาเฝ้าไข้ ค่ายา ค่าจ้างรถแท็กซี่ที่ภรรยาไปเฝ้าเยี่ยมปรนนิบัติที่โรงพยาบาล ค่าจ้างรถแท็กซี่นั่งไปทำงานที่คนเจ็บไม่สามารถเดินได้ คำพิพากษาฏีกา ๔๕๐/๒๕๑๖ หรือแม้แต่ข้าราชการที่เบิกค่ารักษาพยาบาลไปแล้วก็ย่อมเรียกค่ารักษาพยาบาลจากผู้ทำละเมิดได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๕๓๕/๒๕๑๙,๒๔๕๕/๒๕๑๙ หรือรับเงินประกันชีวิตผู้ตายไปแล้ว ก็ไม่หมดสิทธิ์ที่จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นค่าเสียหาย คำพิพากษาฏีกา ๑๗๒/๒๕๒๒ หรือนายจ้างจ่ายค่าทดแทนให้ลูกจ้างไปแล้วตามกฎหมายแรงงาน คำพิพากษาฏีกา ๒๔๓๕/๒๕๑๖ หรือนายจ้างให้เงินช่วยค่าทำศพลูกจ้าง คำพิพากษาฏีกา ๙๒๘/๒๕๐๗,๒๔๓๗/๒๕๒๒ หรือกรณีมีคนช่วยเงินงานศพ คำพิพากษาฏีกา ๔๔๖/๒๕๑๖ เหตุการณ์เหล่านี้ไม่เป็นเหตุให้ต้องลดค่าสินไหมทดแทนที่จะต้องชำระ คำพิพากษาฏีกา๙๒๘/๒๕๐๗ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิ์ที่ได้มาตามกฎหมายหรือเป็นการช่วยเหลือกันตามอัธยาศัยในสังคม จำเลยก็เถียงไม่ได้ว่าตนไม่ได้ประมาท เมื่อเถียงไม่ได้ก็จะยกเหตุเหล่านี้มาลดหย่อนค่าเสียหายที่ตนต้องชำระหาได้ไม่
๘.ศาลมีอำนาจหยิบยกเอาเหตุที่โจทก์ก็มีส่วนประมาทมาวินิจฉัยได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๓๗๑/๒๕๑๓ โดยศาลพิจารณาพฤติการณ์ว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร โดยกำหนดค่าสินไหมทดแทนสูงต่ำตามส่วนแห่งความยิ่งหย่อนของผู้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย คำพิพากษาฏีกา ๔๖๓/๒๕๐๓ โดยถือเกณท์การทำละเมิดเป็นเกณท์พิจารณา ไม่ถือความเสียหายมากน้อยเป็นเกณท์ คำพิพากษาฏีกา ๘๓๔/๒๕๔๗ นั้นก็คือ ศาลไม่ได้ดูว่าฝ่ายใดเสียหายมากต้องใช้ค่าเสียหายน้อย ฝ่ายใดเสียหายน้อยต้องจ่ายค่าเสียหายมาก แต่ศาลดูว่าฝ่ายใดประมาทมากน้อยกว่ากันโดยไม่คำนึงถึงผลของความเสียหายที่เกิด แม้รถอีกฝ่ายจะเสียหายมากก็ไม่ได้หมายความว่าต้องจ่ายค่าเสียหายน้อย แต่การจ่ายค่าเสียหายมากน้อยอย่างไรอยู่ที่พฤติการณ์เป็นประมาณว่าการกระทำละเมิดของตนโดยกระทำการโดยประมาทนั้น ใครกระทำการโดยประมาทร้ายแรงกว่ากัน โดยพิจารณาความร้ายแรงของการกระทำโดยประมาทเป็นเกณท์ในการกำหนดค่าสินไหมทดแทน
๙.ทั้งในคำพิพากษาฏีกา ๘๗๔๙/๒๕๔๗ วินิจฉัยว่า ฝ่ายใดประมาทมากกว่าฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายผิดมากกว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้กระทำการโดยประมาทมากกว่า จึงไม่มีสิทธิ์ฟ้องให้อีกฝ่ายซึ่งต้องรับผิดน้อยกว่ารับผิดในความเสียหายที่ผู้ฟ้องได้รับ และส่งผลให้ผู้รับประกันภัยไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย และในคำพิพากษาฏีกา ๓๙๙/๒๕๔๖ ที่วินิจฉัยว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างสะพานประมาทมากกว่า ที่ไม่ได้ติดตั้งเครื่องหมายให้ชัดเจนเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถ แม้ผู้เสียหายจะขับรถด้วยความเร็วสูง เป็นความประมาทของทั้งสองฝ่าย แต่เมื่อความประมาทของผู้รับเหมาก่อสร้างมีมากกว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างก็ยังมีหน้าที่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ขับขี่รถ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้การขับรถด้วยความเร็วสูงจะเป็นความผิดกฎหมายและเป็นอันตรายแก่ผู้ขับขี่ อันเป็นการขับรถด้วยความประมาทก็ตาม แต่การไม่ปิดเครื่องหมายแสดงความปลอดภัยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทราบเป็นความประมาทที่ร้ายแรงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเวลากลางคืน ไม่มีป้ายหรือสัญญาณเตือนภัยว่ากำลังมีการก่อสร้างย่อมทำให้เกิดอุบัติเหตุได้แก่บุคคลทั่วไปไม่เฉพาะผู้เสียหายเท่านั้น จึงเป็นการประมาทที่มากกว่าการที่ผู้เสียหายขับรถเร็วกว่าอัตราที่กฏหมายกำหนด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น