ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“คิดดอกเบี้ยเมื่อใด”

๑.นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค มิใช่วันลงในเช็ค คำพิพากษาฏีกา๙๐๑/๒๕๐๕, ๔๖๘๖/๒๕๓๖
๒.กรณีวันถึงกำหนดหรือวันผิดนัดไม่ปรากฏ คิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง คำพิพากษาฏีกา ๑๗๒/๒๕๐๑,๒๒๕/๒๕๐๔,๑๓๐๔/๒๕๑๔,๘๐๒/๒๕๑๙,๑๙๓๓-๑๙๓๔/๒๕๒๘ และ ๕๑๓๒/๒๕๓๒
๓.กรณีสิทิธ์ของโจทก์เกิดนับแต่มีคำพิพากษา ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันมีคำพิพากษา คำพิพากษาฏีกา ๓๙๗๘/๒๕๓๓, ๔๖๑๓/๒๕๓๓
๔.คิดดอกเบี้ยนับแต่วันศาลสั่งให้เพิกถอนการโอน ไม่ใช่นับแต่คำขอให้เพิกถอน คำพิพากษาฏีกา ๓๕/๒๕๓๕,๕๓/๒๕๓๕,๓๕๖๙/๒๕๓๕
๕.ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น พรบ.ศุลกากร ให้ผู้มีสิทธิ์รับเงินอากรที่ชำระเกินคืน ได้ดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ นับแต่วันที่ได้รับชำระอากร ก็เป็นไปตามนั้น คำพิพากษาฏีกา ๑๓๘/๒๕๓๐
๖.กรณีที่ลูกหนี้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อราคาวัตถุได้เสื่อมเสียไปในระหว่างผิดนัด หรือวัตถุไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัด เจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยในจำนวนที่เป็นค่าสินไหมทดแทนคิดตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคาก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๕ ซึ่งคำพิพากษาฏีกาที่ ๑๔๓๐/๒๔๙๒,๑๔๓๑/๒๔๙๒ ล๒๒๓๔/๒๕๓๖ ตีความคำว่า “เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคา”คือ วันฟ้อง จึงต้องคิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
๗.กรณีลูกหนี้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ราคาวัตถุตกต่ำลงเพราะวัตถุนั้นเสื่อมเวลาผิดนัด ก็ให้คิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคาเช่นกัน ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๕
๘.มีคำพิพากษาศาลฏีกาที่ ๒๖๒๕/๒๕๕๑ วินิจฉัยว่า เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคา คือเวลาที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยที่จะกระทำได้ หากข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเมื่อใด จึงให้จำเลยเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่ฟ้องให้ชำระหนี้
ข้อสังเกต ๑. ตามข้อ ๑. นั้น แม้เช็คถึงกำหนดชำระ แต่หากเจ้าหนี้ยังไม่ได้เรียกเก็บเงินตามเช็คและธนาคารยังไม่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จะถือว่าลูกหนี้ผิดนัดยังไม่ได้ เพราะหากนำมาเรียกเก็บเงินตามเช็คอาจขึ้นเงินได้ก็ได้ ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่นำเช็คมาเรียกเก็บเงินตามเช็ค จะถือลูกหนี้ผิดนัดไม่ได้ แต่เมื่อใดที่นำเช็คเรียกเก็บแล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จึงถือว่าลูกหนี้ผิดนัดแล้ว จึงเรียกดอกเบี้ยได้นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค
๒.ตามข้อ ๒. นั้น เป็นกรณีที่วันถึงกำหนดชำระหรือวันผิดนัดไม่ปรากฏ ว่าจะชำระหนี้เมื่อใด หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ เจ้าหนี้เรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๐๓ เช่นกู้ยืมเงิน ไม่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ไม่ทราบว่ากู้เอาไปทำอะไร ตามพฤติการณ์ไม่อาจจะอนุมานได้ว่าเอาไปทำอะไร ไม่เหมือนการยืมรถไปไถนา แม้ไม่บอกจะคืนเมื่อใด แต่ก็อนุมานได้ว่าไถนาเสร็จเมื่อใดจะคืน ดังนั้นหนี้กู้ยืมที่ไม่กำหนดวันชำระหนี้ไว้ย่อมไม่อาจทราบวันถึงกำหนดชำระหรือวันผิดนัด แม้จะถือว่าถึงกำหนดชำระโดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๐๓ ก็ตาม แต่จะถือว่าผิดนัดทันทีในวันที่กู้ยิมเงินกันคงไม่ได้ เพราะไม่ใช่การกำหนดวันชำระหนี้ตามปฏิทินที่จะถือว่าผิดนัดนับแต่วันที่ถึงกำหนดชำระตามปฏิทินโดยไม่ต้องทวงถามก่อน ตามป.พ.พ. มาตรา ๒๐๔ วรรคสอง ดังนั้นการเรียกดอกเบี้ยกรณีนี้จึงต้องเรียกนับแต่วันฟ้อง
๓.ตามข้อ ๓. สิทธิ์ของโจทก์เกิดเมื่อศาลมีคำพิพากษา โดยหนี้บางอย่างอาจต้องมีการทวงถามหรือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ก่อน หรือยังมีการต่อสู้โต้แย้งสิทธิ์กันอยู่ไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก เช่นโต้แย้งกันในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนทรัพย์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแต่จำเลยต่อสู้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตน เมื่อมีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ว่าทรัพย์เป็นของใคร ดังนั้นสิทธิ์ในการเรียกดอกเบี้ยในกรณีไม่สามารถคืนทรัพย์แต่ต้องใช้ราคาจึงเกิดเมื่อศาลมีคำพิพากษาว่าทรัพย์เป็นของโจทก์
๔.ตามข้อ ๔.นั้น กรณีที่ศาลให้เพิกถอนการโอนทรัพย์ของลูกหนี้ผู้ล้มละลาย หากโอนไม่ได้ให้ผู้รับโอนชดใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ย ผู้รับโอนต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลให้เพิกถอนการโอน มิใช่วันที่มีคำขอให้เพิกถอน ตามพรบ.ล้มละลายฯ มาตรา ๑๑๔,๑๑๕
๕.ส่วนตามข้อ ๕. เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในกรณีที่พรบ.ศุลกากรฯ กำหนดไว้ให้ผู้มีสิทธิ์รับเงินอากรที่ชำระเกินคืน ได้ดอกเบี้ย นับแต่วันที่ได้ชำระอากร ก็เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
๖.ตามข้อ ๖.เช่นกำหนดส่งมอบทรัพย์ในวันที่ ๑ ม.ค.๒๕๕๗ แต่ไม่ได้ส่งมอบทรัพย์ตามกำหนดต่อมาปรากฏว่าทรัพย์นั้นเกิดสูญหาย ถูกลักไป หรือแตกสลาย ซึ่งเป็นความเสียหาย สูญหายภายหลังลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ เมื่อไม่สามารถส่งมอบทรัพย์ตามสัญญาได้ จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นเพราะเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดในระหว่างผิดนัด เจ้าหนี้สามารถเรียกดอกเบี้ยในจำนวนที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคาคือคิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
๗.ตามข้อ ๗.นั้นเป็นกรณีที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะการที่ราคาวัตถุตกต่ำลง เช่น กำหนดให้ส่งมอบลำไยซึ่งออกผลก่อนคนอื่นทำให้สามารถขายได้ราคาดี แต่ไม่ส่งมอบตามกำหนดเวลา ต่อมาลำไยในสวนอื่นออกทำให้ราคาลำไยถูกลง เป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ราคาวัตถุตกต่ำลงในระหว่างผิดนัด เจ้าหนี้สามารถเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้นับแต่วันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคา คือวันฟ้อง
๘.ตามข้อ ๘. ศาลวินิจฉัยว่า วันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคา คือวันที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย หากไม่ทราบว่าเป็นวันใดให้ถือเอาวันฟ้องเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคาในการที่จะเรียกดอกเบี้ย

ไม่มีความคิดเห็น: