การที่ จ.ส.ต. น ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ฝ่ายปฏิบัติการส่วนที่ ๒ ส่วนปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ถูกจับกุมในข้อหากรรโชกทรัพย์ หน่วงเหนียวกักขัง ทำให้เสื่อมเสียหรือปราศจากเสรีภาพ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก ๙ ปี ศาลฏีกายกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ยกฟ้อง คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงเห็นว่า เมื่อศาลฏีกายกฟ้อง คดีไม่มีน้ำหนักพอจะรับฟังว่าได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา เห็นควรยุติเรื่องแต่ผู้บัญชาการ กองบังคับการตำรวจสอบสวนกลางเห็นว่า แม้ศาลฏีกายกฟ้อง แต่ยกฟ้องเพราะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย จึงมีคำสั่งให้ไล่ จ.ส.ต. น ออกจากราชการ จ.ส.ต. น อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเห็นว่าอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น จึงรายงานไปยังนายกรัฐมนตรีโดยรองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนพิจารณาแล้วให้ยกอุทธรณ์ ซึ่ง จ.ส.ต. น ได้ทราบคำสั่งแล้วไม่เห็นด้วยได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้ออกจากราชการ ศาลปกครองชั้นต้นยกฟ้อง ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าการที่ศาลฏีกา(ในคดีอาญา)ยกฟ้องเพราะมีผู้เสียหายเพียงปากเดียวที่ยืนยันการกระทำความผิด โดยไม่มีหลักฐานอื่นที่จะพิสูจน์ว่าได้กระทำความผิด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย แม้จะไม่มีผลการลงโทษทางอาญา แต่ผลการลงโทษทางวินัยก็หาจำต้องมีผลไปทางเดียวกันไม่ เพราะกระบวนการพิจารณาทางวินัยและทางอาญามีความแตกต่างกัน ทั้งการมีอยู่ของพยานหลักฐานและการให้ถ้อยคำ หรือการเบิกความอาจแตกต่างกันได้ โดยในคดีอาญาศาลลงโทษจำเลยได้เมื่อมีพยานหลักฐานปรากฏแจ้งชัดปราศจากข้อสงสัย ส่วนการลงโทษทางวินัย ผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ดุลพินิจลงโทษผู้ถูกกล่าวหาโดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ปรากฏในสำนวนของคณะกรรมการสอบสวนเป็นสำคัญ โดยไม่จำต้องปรากฏพยานหลักฐานชัดแจ้ง ปราศจากข้อสงสัยอย่างในคดีอาญาและไม่ต้องรอฟังผลคดีอาญาให้ถึงที่สุดแต่อย่างใดด้วย เมื่อพฤติการณ์และการกระทำที่ศาลจังหวัดนครปฐม ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก ทำให้มีพยานหลักฐานชี้ชัดและเชื่อได้ว่าได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาจริง อันเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้น
การที่มีคำสั่งไล่ออกจากราชการฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฏหมายเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ (นายกรัฐมนตรี) วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแล้วมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย การลงโทษไล่ออกจากราชการเป็นโทษที่เหมาะสมกับความผิดที่ได้กระทำแล้ว พิพากษายืน คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ.๓๕๐/๒๕๕๔
ข้อสังเกต ๑. ด้วยความเครารพในคำพิพากษาในคดีอาญา การที่ศาลฏีกาพิพากษายกฟ้องเนื่องจากมีพยานปากเดียวโดยไม่มีพยานอื่นที่จะพิสูจน์การกระทำผิดของจำเลยแล้วยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยนั้น เห็นว่า ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามไม่ให้ศาลรับฟังพยานปากเดียวที่จะลงโทษจำเลยได้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการลงโทษทางอาญาต้องเป็นพยานคู่เท่านั้นจึงจะรับฟังลงโทษจำเลย ทั้งการพิจารณาก็ผ่านการสั่งฟ้องของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาลจังหวัดนครปฐมและศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาลงโทษผ่านการกลั่นกรองมาจากหลายหน่วยงาน คำเบิกความของพยานที่ให้การ พร้อมชี้ภาพถ่าย และชี้ตัวจ.ส.ต. น ว่าเป็นผู้เข้าทำการตรวจค้นก็น่าที่จะเพียงพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยได้ ทั้งพยานก็ไม่เคยรู้จักไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยย่อมมีน้ำหนักให้รับฟังลงโทษได้ แต่เมื่อศาลฏีกาวินิจฉัยมาแบบนี้ก็เคารพในการตัดสินของศาลฏีกา
๒.แม้คดีอาญาศาลพิพากษายกฟ้อง แต่การสอบสวนทางวินัยหาจำต้องมีผลสอดคล้องไปทางเดียวกันไม่ คืออาจจะรับฟังผลทางอาญาหรือไม่รับฟังผลทางอาญามาประกอบก็ได้ ทั้งคดีนี้ศาลยกฟ้องเพราะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ไม่ได้ยกฟ้องเพราะจำเลยไม่ได้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย ดังนั้น การสอบสวนทางวินัยจึงไม่จำต้องถือตามและดำเนินการไปในทางเดียวกับคำพิพากษาศาลฏีกาแต่อย่างใด
๓.การลงโทษทางอาญาต้องปรากฏข้อเท็จจริงโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดจึงสามารถลงโทษได้แต่การสอบสวนทางวินัยหาจำต้องถึงขนาดนั้น โดยแม้จะไม่มีผลการลงโทษทางอาญา แต่ผลการลงโทษทางวินัยก็หาจำต้องมีผลไปทางเดียวกันไม่ เพราะกระบวนการพิจารณาทางวินัยและทางอาญามีความแตกต่างกัน ทั้งการมีอยู่ของพยานหลักฐานและการให้ถ้อยคำ หรือการเบิกความอาจแตกต่างกันได้ โดยในคดีอาญาศาลลงโทษจำเลยได้เมื่อมีพยานหลักฐานปรากฏแจ้งชัดปราศจากข้อสงสัย ส่วนการลงโทษทางวินัย ผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ดุลพินิจลงโทษผู้ถูกกล่าวหาโดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ปรากฏในสำนวนของคณะกรรมการสอบสวนเป็นสำคัญ โดยไม่จำต้องปรากฏพยานหลักฐานชัดแจ้ง ปราศจากข้อสงสัยอย่างในคดีอาญาและไม่ต้องรอฟังผลคดีอาญาให้ถึงที่สุดแต่อย่างใดด้วย
๔. คดีนี้ผ่านการมีความเห็นสั่งฟ้องของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ศาลจังหวัดนครปฐมและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกถือมีพยานแน่หนาพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดทางวินัยร้ายแรง แม้ศาลฏีกายกฟ้องก็ยกฟ้องโดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ไม่ได้ยกฟ้องเพราะการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายหรือจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามกฏหมายแต่อย่างใด เพียงแต่การยกประโยชน์แห่งความสงสัยเพราะศาลฏีกาอาจเห็นว่ายังไม่มีหลักฐานมั่นคงแน่หนาถึง๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่าจำเลยกระทำผิด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย แต่ก็เป็นเรื่องทางคดีอาญา ซึ่งการสอบสวนทางวินัยหาจำต้องรับฟังพยานหลักฐานให้แน่นหนาถึงขนาดนั้นไม่ เมื่อมีมูลว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดทางวินัย คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยก็สามารถมีคำสั่งไปได้โดยไม่จำต้องถือตามคำพิพากษาคดีอาญาแต่อย่างใด
๕.ไม่มีบทบัญญัติในกฏหมายใดระบุให้การสอบสวนทางวินัยต้องถือตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอาจนำคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญามาประกอบการพิจารณาหรือไม่ก็ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น