ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ใช้สิทธิทางศาล”

๑.ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าตนเป็นบุคคลเดียวกับนาย ส. ไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ร้องขอต่อศาลได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๐๐/๒๕๒๔
๒.ไม่มีกฎหมายให้ผู้ร้องใช้สิทธิ์ทางศาลเพื่อขอเปลี่ยนแปลงเพศ คำพิพากษาฏีกา ๑๕๗/๒๕๒๔
๓.ที่ดินมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จะมาร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าตนเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๕๓๘๙/๒๕๔๙
๔.ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ตนมีสิทธิ์ใช้สัญญาลักษณ์ทางการค้า หาได้ไม่ หากสัญญาลักษณ์ของผู้ร้องเข้าข่ายที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ผู้ร้องต้องไปดำเนินการตามกฎหมายนั้น คำพิพากษาฏีกา ๔๘๘๘๘/๒๕๔๘
๕.ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ร้องปลอดจำนอง โดยมีการชำระหนี้แล้ว แต่ผู้รับจำนองถึงแก่กรรมไปก่อนจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและไม่มีทายาทนั้น ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจผู้ร้องยื่นคำร้องฝ่ายเดียวเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้ หากมีผู้โต้แย้งสิทธิ์หรือหน้าที่ผู้ร้องอย่างใดก็ชอบที่จะยื่นฟ้องเป้นคดีมีข้อพิพาทได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๐๖๔/๒๕๓๓
๖.ร้องต่อศาลว่าการทำนิติกรรมยกให้ตกเป็นโมฆะ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่านิติกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖ บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงหลักเกณท์ที่ทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะเท่านั้น หาได้ให้สิทธิ์ที่จะร้องขอต่อศาลโดยยื่นเป็นคำร้องว่านิติกรรมเป็นโมฆะ คำพิพากษาฏีกา ๔๕๓๐/๒๕๔๑
ข้อสังเกต ๑. การที่จะยื่นคำฟ้องหรือคำร้องต่อศาลได้นั้นต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายสนับสนุนให้สามารถใช้สิทธิ์ทางศาลได้ โดยอาจทำเป็นคำฟ้อง(กรณีมีข้อพิพาท) หรือทำเป็นคำร้อง(กรณีไม่มีข้อพิพาท) เช่นร้องขอให้เป็นคนสาบสูญ ดังนั้นเมื่อไม่มีกฎหมายรองรับว่าบุคคลสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลรับรองว่าบุคคลนั้นคือตัวเรา คือจะขอให้ศาลมีคำสั่งว่าเราคือนาย ส. หรือนาย ส. คือเรา จึงไม่สามารถมาร้องขอต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้ เหมือนกรณีที่ร้องต่อศาลว่า ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าเรามีเพศชาย หรือเพศหญิง หรือมาร้องต่อศาลให้มีคำสั่งว่า เป็นข้าราชการดังนี้หาได้ไม่ การที่จะเป็นข้าราชการหรือไม่ก็เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายในการคัดเลือกและสอบแข่งขันว่า ผู้ใดสามารถสอบได้ตามเกณท์ที่กำหนดและได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการจะอาศัยคำพิพากษาของศาลเพื่อให้แสดงว่าตนเป็นข้าราชการไม่ได้ หรือจะอาศัยคำพิพากษาของศาลเพื่อให้แสดงว่าหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสเป็นภรรยาของชาย หรือชายเป็นสามีของหญิงหาได้ไม่ การที่จะเป็นสามีภรรยากันโดยถูกต้องตามกฏหมายเป็นไปตามที่กฏหมายบัญญัติคือ มีการจดทะเบียนสมรส ลำพังจะอาศัยคำพิพากษาของศาลเพื่อให้แสดงว่าอีกฝ่ายเป็นคู่สมรสของตนไม่ได้ หรือจะให้ศาลมีคำสั่งว่า นาย ก. เป็นพ่อตาของตน หรือนาย ข. เป็นลูกเขยของตนดังนี้ไม่สามารถอาศัยคำพิพากษาของศาลมาเป็นเกณท์ตัดสินได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติในกฏหมายใดให้สิทธิ์ที่จะร้องต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทเพื่อให้ศาลมีคำสั่งดังกล่าวได้
๒.เพศของบุคคลธรรมดาเป็นไปตามที่เกิดว่าเกิดมาแล้วมีเพศใด คำว่า “ หญิง” ตามพจนานุกรมหมายความว่า บุคคลที่ออกลูกได้ ชายที่แปลงเพศเป็นหญิงไม่สามารถมีบุตรได้(ไม่สามารถคลอดลูกได้) จึงไม่อาจร้องขอต่อศาลเพื่อเปลี่ยนแปลงเพศของตนจากชายเป็นหญิงได้ และไม่สามารถร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้เปลี่ยนแปลงคำนำหน้าชื่อจากคำว่า “ นาย “ เป็น “ นางสาว” หรือ “ นาง” ได้ เพราะไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ทำได้
๓.การครอบครองปรปักษ์คือการแย่งการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนด โฉนดตราจอง ตราจองว่าได้ทำประโยชน์แล้ว โดยต้องแย่งการครอบครองโดยสงบเปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของครบ ๑๐ ปี จึงมีสิทธิ์ร้องขอต่อศาลว่าตนครอบครองปรปักษ์ ดังนั้นที่ดินที่มีแต่สิทธิ์ครอบครอง เช่น หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ใบจอง ใบเหยียบย่ำ สค๑ เหล่านี้ไม่สามารถที่จะยื่นคำร้องให้ศาลแสดงว่าตนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวได้ เพราะการแย่งการครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นการแย่งการครอบครองต่อที่ดินที่มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินเท่านั้น ทั้งที่ดินที่มีเพียงสิทธิ์ครอบครอง การจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยมีโฉนดหรือไม่เป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติไว้ หาใช่จะอาศัยคำพิพากษาของศาลมาเปลี่ยนความเป็นเจ้าของจากที่ดินมีเพียงแค่สิทธิ์ครอบครองมาเป็นที่ดินมีโฉนดหรือมีกรรมสิทธิ์ได้
๔.สัญญาลักษณ์ทางการค้าที่ผู้ใดมีสิทธิ์ใช้ได้นั้น และจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายต้องไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเครื่องหมายการค้า ลำพังจะอาศัยเพียงคำพิพากษาของศาลเพื่อมารับรองว่าตนมีสิทธิ์ใช้เครื่องหมายการค้านั้นไม่ได้ แต่หากว่าได้ดำเนินการตามกฏหมายเครื่องหมายการค้าจนได้สิทธิ์ในเครื่องหมายการค้านั้นแล้วมีใครมาละเมิดใช้เครื่องหมายการค้าของตนทำให้ตนเสียหายดังนี้จึงสามารถใช้สิทธิ์ทางศาลได้
๕.การยื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินปลอดจากภาระจำนองแล้ว ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจที่จะยื่นคำร้องเป็นคดีฝ่ายเดียวโดยไม่มีข้อพิพาทได้ หากมีผู้ใดโต้แย้งสิทธิ์หรือหน้าที่ในที่ดินแปลงดังกล่าว ก็ชอบที่จะดำเนินการฟ้องผู้นั้นเป็นคดีมีข้อพิพาทได้ เทียบได้กับกรณีจะมาร้องขอต่อศาลให้รับรองว่าที่ดินของเราที่มีหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของทั้งๆที่เรามีโฉนดแสดงความเป็นเจ้าของแสดงกรรมสิทธิ์ตามโฉนดอยู่แล้ว จะร้องขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินของเรามีกรรมสิทธิ์ตามโฉนดหาได้ไม่ แต่หากมีใครบุกรุกที่ดินแล้วเราต้องการฟ้องขับไล่ก็ชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลได้
๖.นิติกรรมยกให้ตกเป็นโมฆะเพราะสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรมตาม ป.พ..พ. มาตรา ๑๕๖ นั้น ต้องฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่เป็นโมฆะโดยทำเป็นคดีมีข้อพิพาท ไม่ใช่จะร้องขอต่อศาลเป็นคดีฝ่ายเดียวไม่มีข้อพิพาท แม้ว่าการสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะก็ตาม ก็เป็นเงื่อนไขเหตุผลที่ทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะเท่านั้น บทกฎหมายดังกล่าวหาได้ให้สิทธิ์ที่จะยื่นคำร้องฝ่ายเดียวเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่านิติกรรมเป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่ แต่ต้องทำการยื่นฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาทเพื่อฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่เป็นโมฆะนั้นเสีย
๗.ทั้งค่าขึ้นศาลระหว่างคดีมีข้อพิพาท และคดีไม่มีข้อพิพาทที่จำเป็นต้องใช้สิทธิ์ทางศาลก็แตกต่างกัน คดีมีข้อพิพาทต้องทำเป็นคำฟ้อง คดีไม่มีข้อพิพาทแต่จำต้องใช้สิทธิ์ทางศาลไม่ต้องทำเป็นคำฟ้อง แต่ให้ยื่นเป็น “คำร้อง” ต่อศาลตาม ป.ว.พ. มาตรา ๑๘๘(๑) เพราะไม่ได้มีการฟ้องผู้ใด ขั้นตอนและวิธีการดำเนินคดีในศาลระหว่างคดีมีข้อพิพาทและคดีไม่มีข้อพิพาทแต่จำต้องใช้สิทธิ์ทางศาลก็แตกต่างกัน ทั้งบางกรณีกฎหมายให้อำนาจพนักงานอัยการเข้าไปดำเนินคดีในคดีไม่มีข้อพิพาทแต่จำต้องใช้สิทธิ์ทางศาล เช่น ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๑๓ หรือขอให้ศาลตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๘๕,๑๕๘๖ เป็นต้น จึงเห็นความแตกต่างระหว่างคดีมีข้อพิพาทและคดีไม่มีข้อพิพาท ลำพังจะอาศัยการ “ ลักไก่” เพื่อหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาล หรือต้องการยื่นคำร้องทำเป็นคดีฝ่ายเดียวเพื่อหวังผลในการชนะคดีโดยเลี่ยงไม่เสนอเป็นคำฟ้องแบบคดีมีข้อพิพาทนั้นหาอาจจะกระทำได้ไม่ การที่จะเสนอคดีเป็นคำร้องเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทนั้นต้องมีกฎหมายรองรับให้กระทำได้ ไม่เช่นนั้นแล้วไม่สามารถร้องขอเป็นคดีฝ่ายเดียวเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้
๘.ดังนั้นการยื่นคำร้องฝ่ายเดียวต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทเพื่อขอค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภรรยา หรือระหว่างบิดากับบุตร ที่พฤติการณ์เปลี่ยนไป ต้องการให้ศาลสั่งแก้ไขเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู โดยให้ เพิกถอน ลดเพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีก ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖๕,๑๕๙๘/๓๘,๑๕๙๘/๓๙ นั้น ไม่มีบทกฎหมายให้ยื่นคำร้องฝ่ายเดียวเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทต่อศาลได้ คำพิพากษาฏีกา ๗๓๐๘/๒๕๓๗ ไม่เหมือนกรณีการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา๑๗๑๓ ใช้คำว่า “ ร้องขอต่อศาล” หรือใน ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๘๖ ใช้คำว่า “ เมื่อมีการร้องขอ” ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สามารถยื่นคำร้องฝ่ายเดียวเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้ ดังนั้น การขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูไม่สามารถทำเป็นคำร้องฝ่ายเดียวเสนอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งได้

ไม่มีความคิดเห็น: