ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“คัดค้านพยานเอกสาร”

๑.ไม่คัดค้านเอกสาร ผู้อ้างไม่ต้องส่งต้นฉบับ ศาลรับฟังสำเนาได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๔๕๙/๒๕๓๙,๓๐๕๘/๒๕๒๗,๑๐๔๑/๒๕๓๗,๕๒๙๑/๒๕๓๗
๒.คัดค้านว่า ควรรับฟังเฉพาะต้นฉบับ เอกสารที่อ้างเป็นเพียงสำเนารับฟังไม่ได้ ไม่ใช่การคัดค้าน ศาลรับฟังสำเนาได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๑๖๕/๒๕๔๑
๓.คัดค้านล่วงหน้าก่อนที่จะส่งเอกสารให้ตรวจสอบไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๓๕๔๓/๒๕๔๗
๔.ต่อสู้ว่า ผู้ลงนามในหนังสือมอบอำนาจไม่มีอำนาจทำการแทนบริษัท เท่ากับยอมรับว่ามีการมอบอำนาจจริง แต่เถียงว่า ผู้ลงนามไม่มีอำนาจ ไม่เป็นการคัดค้านสำเนาเอกสาร ศาลรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๒๗๑/๒๕๐๘
ข้อสังเกต ๑.การคัดค้านเอกสารตาม ป.ว.พ. มาตราร๑๒๕ ต้องคัดค้านด้วยเหตุดังต่อไปนี้คือ
๑.๑ เอกสารนั้นไม่มีต้นฉบับ คือไม่มีการทำต้นฉบับเกิดขึ้น นั้นก็คือการกล่าวอ้างว่าทำสำเนาเอกสารปลอมขึ้นมานั้นเอง
๑.๒ต้นฉบับเอกสารปลอมทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
๑.๓.สำเนาเอกสารไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับ
๒..ดังนั้น หากไม่ได้คัดค้านเอกสารตามข้อสังเกตที่ ๑.๑ ถึง ๑.๓ ถือไม่ใช่การคัดค้านเอกสาร เช่น ต่อสู้ว่า ศาลควรรับฟังแต่ต้นฉบับ ไม่ควรรับฟังสำเนา ถือไม่เป็นการคัดค้านเอกสาร หรือสู้เพียงผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจทำการแทนบริษัท เท่ากับรับว่ามีการมอบอำนาจจริง เพียงแต่ผู้มอบอำนาจไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งเท่านั้น จึงไม่ใช่การคัดค้านสำเนาเอกสาร ดังนั้น เมื่อไม่มีการคัดค้านเอกสารก็ไม่มีความจำเป็นต้องนำต้นฉบับเอกสารมาแสดง สามารถส่งสำเนาเอกสารได้ และศาลรับฟังสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับได้
๓.การคัดค้านพยานเอกสารต้องกระทำก่อนสืบพยานเอกสารเสร็จ ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๑๒๕ เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่อ้างเอกสานำสืบถึงความมีอยู่ถูกต้องแท้จริงแห่งเอกสารนั้น หากสืบพยานเสร็จไปแล้วก็ไม่อาจนำสืบถึงความมีอยู่ถูกต้องแท้จริงของเอกสารได้ การมาคัดค้านหลังสืบพยานฝ่ายที่อ้างเอกสารเสร็จไปแล้วเป็นการเอาเปรียบคู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสาร กฎหมายจึงให้คัดค้านก่อนวันสืบพยานเสร็จ
๔.ผลของการไม่คัดค้านเอกสารภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือต่อสู้แล้วแต่การต่อสู้ไม่ใช่การคัดค้านเอกสารผลคือ
๔.๑นำสำเนาเอกสารมาสืบแทนต้นฉบับได้ ไม่ต้องนำต้นฉบับมาสืบ เพราะเมื่อไม่คัดค้านว่าเอกสารไม่มีต้นฉบับ ต้นฉบับเอกสารปลอม ทั้งฉบับหรือแต่บางส่วนหรือสำเนาไม่ถูกต้องตรงตามต้นฉบับ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องนำต้นฉบับมาสืบ สามารถนำสำเนาสืบแทนต้นฉบับเอกสารได้
๔.๒คู่ความฝ่ายที่อ้างต้นฉบับเอกสาร หรือสำเนาเอกสาร มาสืบหลังวันสืบพยานก็ได้ ไม่ถือว่าฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตามกฎหมาย (คำพิพากษาฏีกา ๓๕๔๓/๒๕๔๗ )เพราะตาม ป.ว.พ. มาตรา ๑๒๒ ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างต้นฉบับเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของตน ต้องนำต้นฉบับเอกสารมาแสดงต่อศาลในวันสืบพยาน แต่เมื่อไม่มีการคัดค้านการอ้างเอกสารแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องนำต้นฉบับเอกสารมาแสดงในวันสืบพยานแต่อย่างใด
๔.๓ฝ่ายที่รับสำเนาเอกสารจะนำพยานหลักฐานมาสืบว่าเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องกับต้นฉบับไม่ได้ เพราะเมื่อไม่ได้คัดค้านการอ้างเอกสาร หรือคัดค้านเลยกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดซึ่งถือเสมือนว่าไม่มีการคัดค้านเอกสาร เมื่อไม่ได้คัดค้านเอกสารถึงความมีอยู่ถูกต้องแท้จริง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าต้นฉบับเอกสาร ปลอมทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือ เอกสารนั้นไม่มีต้นฉบับ หรือสำเนาเอกสารไม่ต้องตรงตามต้นฉบับ จึงไม่อาจนำพยานหลักฐานมาสืบว่าเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับไม่ได้ เพราะเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกคำให้การ นอกประเด็น
๔.๔แม้ไม่คัดค้านการอ้างเอกสาร ก็ไม่ตัดอำนาจศาลในอันที่จะไต่สวนและชี้ขาดในเรื่องความมีอยู่ถูกต้องแท้จริงหรือไม่สมบรูณ์ของเอกสารหรืออีกฝ่ายตีความหมายผิดได้ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๑๒๕ วรรคสามตอนท้าย ซึ่งได้มีคำพิพากษาฏีกา ๒๔๙๑/๒๕๒๓ ได้วินิจฉัยว่า จำเลยอ้างว่าได้ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์แล้ว ตามเอกสาร ล๑ ถึง ล๙ และส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานแล้ว แม้โจทก์ไม่คัดค้านการอ้างเอกสาร ก็ไม่ตัดอำนาจศาลที่จะไต่สวนชี้ขาดในเรื่องการมีอยู่ความแท้จริงหรือความถูกต้องของเอกสารนั้น หรือในคำพิพากษาฏีกา ๒๗๕๒/๒๕๓๗ วินิจฉัยว่า การที่โจทก์นำสืบถึงหนังสือมอบอำนาจ เป็นการนำสืบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงในประเด็นที่พิพาท เมื่อจำเลยปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์เป็นประเด็นไว้แล้ว แม้ไม่ให้การปฏิเสธหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์กล่าวอ้างไว้ในฟ้อง จะถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงในเอกสารหาได้ไม่ จำเลยสามารถนำสืบหักล้างพยานเอกสารดังกล่าวได้ เพราะเป็นการนำสืบในประเด็นเดียวกัน หาใช่เป็นการนำสืบนอกคำให้การไม่ และกรณีไม่ใช่การคัดค้านการนำสืบเอกสาร นั้นก็คือศาลฏีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยปฏิเสธเรื่องการมอบอำนาจ จึงมีประเด็นเรื่องการมอบอำนาจว่ามีการมอบอำนาจจริงหรือไม่อย่างไร จำเลยจึงมีอำนาจนำสืบในเรื่องการมอบอำนาจได้ แม้จำเลยไม่ได้ปฏิเสธถึงความมีอยู่ถูกต้องแท้จริงของหนังสือมอบอำนาจโจทก์ก็ตาม ก็เป็นคนละเรื่องกัน การไม่ปฏิเสธถึงความมีอยู่ถูกต้องแท้จริงของหนังสือมอบอำนาจมีผลเพียง โจทก์สามารถนำสำเนาหนังสือมอบอำนาจมานำสืบได้ โดยไม่จำต้องส่งต้นฉบับเอกสารมาแสดงก็ได้ และฝ่ายจำเลยจะนำพยานมาสืบว่าเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับหาได้ไม่ แต่จำเลยสามารถนำสืบได้เพียงว่ามีการมอบอำนาจกันจริงหรือไม่เท่านั้น ซึ่งตามหลักแล้วหากไม่ต่อสู้ว่าเป็นเอกสารปลอมเท่ากับรับว่าเป็นเอกสารที่มีอยู่ถูกต้องแท้จริงมีการมอบอำนาจกันจริง การที่จะนำพยานบุคคลมานำสืบหักล้างว่าไม่มีการมอบอำนาจย่อมเป็นการยาก หากไม่ใช่เอกสารปลอมแล้วย่อมถือเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริง หากไม่ใช่เอกสารปลอมแล้ว เอกสารไม่สามารถพูดโกหกได้ ไม่เหมือนพยานบุคคลที่สามารถเบิกความไม่ตรงตามความเป็นจริงได้ หากไม่ใช่เอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องแล้ว พยานเอกสารน่าจะมีน้ำหนักมากกว่าพยานบุคคล

ไม่มีความคิดเห็น: