ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มีหลักการอย่างไร

ศึกษาวิเคราะห์จากฎีกาที่ 12079/2558
ป.อ. มาตรา 339 ชิงทรัพย์
มาตรา 1(1) โดยทุจริต
ป.วิ.อ. มาตรา 192 พิพากษาไม่เกินฟ้อง

ข้อเท็จจริง
1. โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยชิงทรัพย์โดยลักกุญแจรถจักรยานยนต์ 1 ดอก ราคา 100 บาทของนางสาว ว. ผู้เสียหายไป ในการชิงทรัพย์ดังกล่าวจำเลยใช้อาวุธมีแบบปังตอ 1 เล่ม ฟันประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหายบริเวณข้อศอกจนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เพื่อให้ความสะดวกแก่การชิงทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไปให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้หรือให้พ้นการจับกุม โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 339, 340 ตรี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 100 บาทแก่ผู้เสียหาย

2. ในวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ภายหลังที่นางสาว ว. ผู้เสียหายเก็บกระเป๋าสะพายของตนไว้ใต้เบาะรถจักรยานยนต์แล้วขึ้นคร่อมรถจักรยานยนต์เพื่อขับออกจากจุดที่ตนจอดรถอยู่ จำเลยซึ่งมาจากทางด้านหลังใช้มีดแบบปังตอเฉือนที่บริเวณข้อศอกซ้ายของผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ เอกสารหมาย จ. 11 แล้วจำเลยให้ผู้เสียหายเปิดเบาะรถจักรยานยนต์ ผู้เสียหายจะดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ออกจากตัวรถแต่จำเลยเงื้อมีดข่มขู่ ผู้เสียหายจึงวิ่งหลบหนี ระหว่างนั้นจำเลยใช้กุญแจไขเพื่อเปิดเบาะแต่ไม่สามารถเปิดได้ จำเลยจึงเอากุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นทรัพย์ที่มีราคา 100 บาทไป หลังจากนั้น จำเลยขึ้นรถจักรยานยนต์ของจำเลยขับหลบหนี

3. คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ในคดีที่จำเลยใช้มีดแบบปังตอเฉือนไปที่บริเวณข้อศอกผู้เสียหายก่อนเงื้อมีดข่มขู่ไม่ให้ผู้เสียหายถอดเอากุญแจรถจักรยานยนต์ไป และผู้เสียหายเกิดความกลัวจึงวิ่งหลบหนี จากนั้น จำเลยใช้กุญแจพยายามไขเพื่อเปิดเบาะอันส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยประสงค์จะเอาทรัพย์ในกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายซึ่งเก็บไว้ใต้เบาะรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่สามารถเปิดเบาะได้จำเลยจึงเอากุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายอันเป็นการเอาทรัพย์ชิ้นหนึ่งของผู้เสียหายไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหายการที่จำเลยจะเอาทรัพย์ชิ้นใดของผู้เสียหายไปได้สำเร็จหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับโอกาสของจำเลย ขนาดของทรัพย์รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น มีผู้ขัดขวางหรือไม่เป็นต้น แม้จำเลยจะไม่สามารถเปิดเบาะรถจักรยานยนต์เพื่อเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่อยู่ในกระเป๋าสะพายและเก็บรักษาไว้ใต้เบาะนั่งรถจักรยานยนต์ แต่การกระทำของจำเลยเพื่อเอาทรัพย์ของผู้เสียหายยังไม่ขาดตอน ระหว่างนั้นจำเลยเอากุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป ย่อมรับฟังในเบื้องต้นว่าจำเลยกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการกระทำโดยทุจริตและเป็นการลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งโจทก์ได้กล่าวในฟ้องแล้ว หาใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องไม่

หมายเหตุ

1. องค์ประกอบของความผิดฐานชิงทรัพย์ ประกอบไปด้วยการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไปให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ยึดถือทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุม

2. การจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์นั้น หลักสำคัญประการหนึ่ง คือ ต้องมีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายฯ ซึ่งความหมายของคำว่า “การใช้กำลังประทุษร้าย” นั้น เป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 1(6) ซึ่งศาลฎีกาวางหลักไว้ตามฎีกาต่อไปนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 831/2532
ป.วิ.อ. มาตรา 192
ป.อ. มาตรา 335, 336, 339
จำเลยที่ 1 ใช้ มือซ้ายกระชากคอเสื้อผู้เสียหาย แล้วใช้ มือขวากระชากสร้อยคอทองคำหนัก 1 สลึง ของผู้เสียหายขาดออกจากกัน และเอาสร้อยคอกับพระเลี่ยมทองคำซึ่ง แขวนอยู่ 1 องค์ไป เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันในทันใดเพื่อประสงค์จะเอาสร้อยคอของผู้เสียหายเป็นสำคัญ และเป็นเพียงวิธีการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายเท่านั้นมิใช่เป็นการใช้ กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายอันจะเป็นความผิดฐาน ชิงทรัพย์ แต่ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ใช้ กิริยาฉกฉวย เอาสร้อยคอและพระเลี่ยมทองคำของผู้เสียหายไปซึ่งหน้าอันเป็นความผิดฐาน วิ่งราวทรัพย์ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายองค์ประกอบความผิดฐาน นี้มาและคำขอท้ายฟ้องก็มิได้ขอให้ลงโทษฐาน วิ่งราวทรัพย์ จึงเป็นเรื่องทีโจทก์มิได้ประสงค์ให้ลงโทษในความผิดฐาน วิ่งราวทรัพย์ คงลงโทษจำเลยได้ เฉพาะ ฐาน ลักทรัพย์เท่านั้น.

คำพิพากษาฎีกาที่ 2103/2521
ป.อ. มาตรา 1 (6), 335, 339
จำเลยขึ้นไปบนเรือนผู้เสียหายแล้วลักเอานกเขาพร้อมกรงของผู้เสียหายนางสาวดำเห็นเข้าจึงเข้าแย่งกรงนั้นแต่สู้กำลังจำเลยไม่ได้ จำเลยจึงแย่งเอากรงและนกเขาของผู้เสียหายไปได้ ดังนี้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ เพราะจำเลยไม่ได้ใช้กำลังประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของนางสาวดำแต่ประการใด จำเลยคงมีความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 361/2520
ป.อ. มาตรา 1 (6)
จำเลยปัดไฟฉายที่ผู้เสียหายถืออยู่จนหลุดจากมือผู้เสียหายก้มลงเก็บไฟฉาย จำเลยกระชากสร้อยคอพาหนีไปการปัดไฟฉายเป็นการกระทำแก่เนื้อตัวหรือกาย เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย เป็นชิงทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 3708/2537
ป.อ. มาตรา 1 (6), 339
ขณะที่ผู้เสียหายขึ้นรถโดยสารประจำทางก็ถูกจำเลยซึ่งเข้ามาทางด้านหลังกระแทกตรงหัวไหล่และจำเลยได้ล้วงเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหาย ซึ่งมีเงินบรรจุอยู่ แล้วหลบหนีไป ดังนี้ เป็นการที่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ของผู้เสียหายบนยวดยานสาธารณะซึ่งประชาชนใช้โดยสารจำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา339 วรรคสอง

คำพิพากษาฎีกาที่ 867/2502
ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ป.อ. มาตรา 1 (6), 339
การบรรยายฟ้องความผิดฐานชิงทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้กำลังประทุษร้าย เมื่อโจทก์บรรยายว่า จำเลยกับพวกใช้กำลังประทุษร้ายโดยจับมือเด็กชายยงผู้เลี้ยงกระบือไว้ เพื่อให้เป็นความสะดวกแก่การลักทรัพย์ แล้วจำเลยกับพวกได้ช่วยกันแกะเอาเชือกที่เด็กชายยงจูงกระบือเลี้ยงไว้ในมือออกซึ่งทำให้เด็กชายยงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถจะขัดขืนได้แล้วพากระบือไปเช่นนี้ ถือว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายในฟ้องเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(6) แล้ว
จำเลยกับพวกมีอาวุธเข้ามากระชากเชือกที่ผูกกระบือจากเด็กชายยงเด็กชายยงกำเชือกแน่นและเอามืออีกข้างหนึ่งช่วยกำไว้ จำเลยกระชากไม่หลุดก็เข้าแกะเชือกออกจากมือเด็กชายยงทั้งสองข้างแกะอยู่นานราวอึดใจหนึ่งเชือกจึงหลุดจากมือเด็กชายยงแล้วจำเลยจับเชือกผูกกระบือพากระบือวิ่งไป การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์แล้ว

คำพิพากษาฎีกาที่ 1609/2516
ป.วิ.อ. มาตรา 192
ป.อ. มาตรา 1 (6), 340
จ. ผู้เฝ้าบ้านของ น. กำลังถากหญ้าอยู่หน้าบ้าน ได้ยินเสียงแกรกในบ้าน จึงเดินไปเปิดประตู แต่เปิดไม่ออก ขณะเรียกบุตรของ น. อยู่ จำเลยที่ 1 เข้ามาจับมือ จ. และบอกให้เข้าไปในบ้าน และไม่ให้ส่งเสียงดัง ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 กำลังลักทรัพย์ของเจ้าทรัพย์อยู่ การกระทำของจำเลยที่ 1ดังกล่าวเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย จ. ถือได้ว่าจำเลยร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย มีความผิดฐานปล้นทรัพย์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีมีดเป็นอาวุธและร่วมกันปล้นทรัพย์ โดยใช้อาวุธขู่เข็ญจะทำร้าย จ. ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธหรือขู่เข็ญจะทำร้าย จ. กลับได้ความว่าจำเลยเพียงแต่ร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย จ. ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นข้อแตกต่างที่มิใช่ข้อสารสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ด้วย ศาลลงโทษจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 567/2537
ป.วิ.อ. มาตรา 192
ป.อ. มาตรา 1 (6), 339
การที่จำเลยได้ลอบใส่ยานอนหลับผสมลงในสุราให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่มจนหลับหมดสติไป เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองตกอยู่ในสภาวะไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วจำเลยได้ลักทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองไป ถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เป็นความสะดวกแก่การลักทรัพย์ และพาทรัพย์นั้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ เมื่อคำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดมาในฟ้องด้วย จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสามได้ จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง เท่านั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 3269/2531
ป.อ. มาตรา 1 (6), 339 วรรคสาม
จำเลยกับพวกใช้ยากดประสาทอย่างแรงใส่ลงในกาแฟให้ผู้เสียหายดื่ม เมื่อผู้เสียหายดื่มแล้วสิ้นสติไปแทบจะทันทีแล้วจำเลยกับพวกได้ลักเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป ผู้เสียหายฟื้นคืนสติที่โรงพยาบาลหลังจากเวลาล่วงไปประมาณ 12 ชั่วโมงดังนี้ แม้ผู้เสียหายจะไม่ได้รับอันตรายแก่กายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ถือได้ว่าเป็นอันตรายแก่จิตใจของผู้เสียหายแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม

ไม่มีความคิดเห็น: