ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“บุตรชอบด้วยกฎหมายของแม่”

๑. บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาเท่านั้น ไม่เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา คำพิพากษาฏีกา ๖๓๐/๒๕๔๕,๓๗๘๕/๒๕๕๒
๒. ๒.บิดามารดาไม่จดทะเบียนสมรส มารดาเท่านั้นที่เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมชองเด็ก คำพิพากษาฏีกา ๑๓๑๔/๒๕๐๕,๓๕๕๔/๒๕๒๔
๓. ๓.บิดามารดาไม่จดทะเบียนสมรสกัน การฟ้องคดีที่เกี่ยวกับบุตรผู้เยาว์ที่บิดาดำเนินการแทน บิดาไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็ก ไม่มีอำนาจฟ้องแทนเด็ก ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาฏีกา ๑๑๔๔/๒๕๐๗,๑๒๘๕/๒๕๐๗,๑๔๐๕/๒๕๑๒,๑๙๘๘/๒๕๑๔
๔. ๔.บิดามาราดาอยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ได้ตกลงแยกกันอยู่ และทำข้อตกลงผลัดกันเลี้ยงดูบุตร เมื่อเป็นบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อพิพาทระหว่างการปกครองดูแลบุตรผู้เยาว์ย่อมไม่มี ไม่อาจทำบันทึกข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทอันเกี่ยวกับบุตรผู้เยาว์ได้ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวได้ คำพิพากษาฏีกา ๗๔๗๓/๒๕๓๗
๕. ๕.บิดามารดาไม่จดทะเบียนสมรส มีบุตร ๑ คน จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายหญิงและฝ่ายหญิงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว ชายไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายไม่มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ การที่มารดาทำบันทึกมอบบุตรผู้เยาว์ให้อยู่ในความปกครองของพี่สาวของฝ่ายชาย(สามี) จึงเป็นการตั้งผู้ปกครอง ซึ่งไม่มีผลตามกฎหมาย เพราะการตั้งผู้ปกครองต้องกระทำโดยคำสั่งศาลหรือกรณีบิดามารดาตกลงกันเท่านั้น ข้อความที่ให้พี่สาวฝ่ายชายเป็นผู้ปกครองบุตร เป็นเพียงกำหนดที่อยู่ของบุตรให้อยู่กับพี่สาวฝ่ายชายเท่านั้น ไม่ใช่การสละการใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ เพราะไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจบิดามารดาสละอำนาจปกครองให้บุคคลอื่นได้ ทั้งไม่ใช่กรณีบิดามารดาตกลงกันตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ มารดายังเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ บิดาที่ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายต้องส่งบุตรผู้เยาว์คืนแก่มารดา คำพิพากษาฏีกา ๓๔๘๔/๒๕๔๒
๖. ๖บิดามารดาไม่จดทะเบียนสมรส บุตรเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายหญิง ไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชาย อำนาจการปกครองบุตรจึงอยู่ที่มารดา การทำข้อตกลงให้บุตรอยู่ในความปกครองของฝ่ายชาย ย่อมไม่มีผลผูกพัน ฝ่ายชายไม่มิสิทธิ์กำหนดที่อยู่บุตรให้อยู่กับตน มารดาฟ้องให้ส่งคืนบุตรได้ คำพิพากษาฏีกา ๓๗๘๐/๒๕๔๓
ข้อสังเกต ๑.ชายหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส บุตรที่เกิดขึ้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายหญิง ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๔๖ เด็กจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชายต่อเมื่อบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง บิดาได้จดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร
๒.บิดามารดาที่ไม่จดทะเบียนสมรส ถือไม่ได้ว่าฝ่ายชายเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็ก ฝ่ายชายจึงไม่มีอำนาจปกครองเด็ก แต่อำนาจในการปกครองบุตรรวมทั้งการกำหนดที่อยู่ การให้การศึกษาตกแก่มารดาฝ่ายเดียว ดังนั้น การฟ้องคดีแทนบุตรผู้เยาว์ที่กระทำโดยบิดาที่ไม่จดทะเบียนสมรสกับมารดา ย่อมถือไม่ได้ว่าการฟ้องคดีดังกล่าวกระทำในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร อำนาจฟ้องคดีแทนบุตรไม่มี หากฟ้องคดี ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง
๓.บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่ไม่จดทะเบียนสมรสบุตรเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายหญิงฝ่ายเดียว ดังนั้น กรณีมีการอุ้มบุญ ไม่ว่าจะเป็นการ “อุ้มบุญแท้” โดยนำไข่ของหญิงอื่นไม่ว่าจะเป็นไข่ของคนที่มาจ้างอุ้มบุญหรือไข่ของคนอื่นที่เป็นญาติพี่น้องคนที่จ้างอุ้มบุญมาใส่ในมดลูกของหญิงที่ทำการอุ้มบุญ หรือเป็นการ “อุ้มบุญเทียม” โดยการใช้ไข่ของหญิงที่ทำการอุ้มบุญมาผสมกับตัวอสุจิของฝ่ายชายซึ่งเป็นสามีของหญิงที่มาจ้างอุ้มบุญก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มบุญแท้หรืออุ้มบุญเทียมก็ตาม เมื่อดูตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๔๖ แล้วบัญญัติว่า เด็กที่เกิดแต่ชายหญิงที่ไม่จดทะเบียนสมรสเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายหญิง ดังนั้นเด็กที่เกิดต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงที่อุ้มบุญ ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า หากหญิงที่อุ้มบุญไม่ยอมมอบเด็กให้แก่ผู้ว่าจ้างให้อุ้มบุญน่าจะกระทำได้ เพราะเมื่อเด็กเกิดแต่หญิง เด็กย่อมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิง หญิงย่อมมีอำนาจปกครองเด็ก อำนาจปกครองไม่น่าที่จะอยู่ที่คนที่จ้างอุ้มบุญ เป็นความเห็นส่วนตัวครับ ในความเห็นส่วนตัวสัญญารับจ้างอุ้มบุญน่าจะขัดกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประชาชนเพราะการที่บิดามารดาจะให้กำเนิดบุตร น่าจะต้องเป็นไปด้วยความรัก ไม่ใช่เกิดจากการรับจ้าง มีสินจ้างเป็นการตอบแทนในการตั้งครรถ์ เสมือนเป็นการซื้อขายชีวิตกัน ก่อกำเนิดชีวิตด้วยเงินซึ่งไม่น่าที่จะถูกต้อง
๔.เมื่อบิดามารดาไม่จดทะเบียนสมรสกัน บุตรเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายหญิง อำนาจปกครองบุตรอยู่ที่ฝ่ายหญิง แม้ว่าฝ่ายหญิงจะทอดทิ้งบุตรโดยเมื่อคลอดบุตรแล้วนำเด็กไปทิ้งก็ตาม ก็ไม่ทำให้อำนาจปกครองบุตรของฝ่ายหญิงหมดไป และไม่ทำให้ขาดจากการเป็นมารดาและบุตรโดยชอบด้วยกฏหมายหมดไปเช่นกัน
๕.เมื่อบิดามารดาไม่จดทะเบียนสมรส จึงไม่มีกรณีที่จะเกิดข้อพิพาทระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิงในตัวบุตรได้ เพราะฝ่ายชายไม่มีอำนาจปกครองบุตร ดังนั้นข้อตกลงที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงกันในเรื่องอำนาจการปกครองบุตร จึงเป็นข้อตกลงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๕๐ ไม่ถือว่าฝ่ายหญิงสละอำนาจปกครองบุตร สิทธิ์ในอำนาจปกครองบุตรของฝ่ายหญิงหาได้ระงับไปไม่ และฝ่ายชายไม่เกิดสิทธิ์ตามสัญญาดังกล่าว กรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา ๘๕๒ ที่จะให้ฝ่ายชายได้สิทธิ์ในการปกครองบุตรด้วยการทำสัญญา
๖.เมื่อไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับฝ่ายหญิง จึงไม่มีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ การตั้งผู้ปกครองบุตรผู้เยาว์จะกระทำได้เฉพาะกรณีศาลมีคำสั่งตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖๖(๕) หรือบิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกันมาตกลงกันเรื่องอำนาจปกครองบุตรว่าจะให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับฝ่ายใดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖๖(๖) เท่านั้น ดังนั้น การที่บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตกลงกับมารดาให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับพี่สาวของฝ่ายชาย ข้อตกลงนี้จึงเป็นเพียงการที่มารดายอมให้บุตรอยู่กับพี่สาวของฝ่ายชายคือเป็นการกำหนดที่อยู่ของบุตรเท่านั้น แต่ไม่ใช่การสละอำนาจในการปกครองบุตรของฝ่ายหญิงแต่อย่างใด เพราะไม่ใช่กรณีบิดาและมารดาโดยชอบด้วยกฏหมายของบุตรมาตกลงเรื่องอำนาจปกครองบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖๖(๖) แต่อย่างใด ดังนั้นอำนาจปกครองบุตรยังอยู่กับฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงฟ้องให้ฝ่ายชายส่งมอบบุตรได้
๗.หรือกรณีบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตกลงกับฝ่ายหญิงให้อำนาจปกครองอยู่กับฝ่ายชาย ข้อตกลงนี้ใช้บังคับไม่ได้ ฝ่ายหญิงฟ้องให้ฝ่ายชายส่งมอบบุตรได้
๘.อำนาจการปกครองบุตร คือ กำหนดที่อยู่ของบุตร , ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ,ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป และเรียกบุตรคืนจากผู้ไม่มีสิทธิ์กักบุตรไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖๗
๙.เมื่อไม่ได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฏหมายก็ไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ แม้บิดาจะได้รับรองบุตรก็มีผลเพียงบุตรสามารถรับมรดกเสมือนบุตรโดยชอบด้วยกฏหมายเท่านั้น แต่หาทำให้บิดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรไม่ คำพิพากษาฏีกา ๕๑๓/๒๕๔๖ ,๑๔๐๙/๒๕๔๘ ดังนั้นหากมีใครทำให้บิดาตาย บุตรก็ไม่สามารถฟ้องค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้
๑๐.เมื่อชายหญิงไม่จดทะเบียนสมรส อำนาจปกครองอยู่กับฝ่ายหญิง การที่ญาติพี่น้องฝ่ายชายมานำตัวเด็กไป เป็นการแย่งอำนาจปกครองเด็ก มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้ ส่วนศาลจะลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งความเห็นส่วนตัวครับ

ไม่มีความคิดเห็น: