ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ต่างมีข้อสันนิษฐานกฎหมาย”

๑.กรณีรถยนต์ชนกัน รถโดยสารชนรถสิบล้อ รถเก๋งชนรถจักรยานยนต์ ต่างฝ่ายต่างเรียกค่าเสียหายต่อกันและกันโดยไม่มีฝ่ายใดยอมรับว่าตนเองเป็นคนผิด โดยต่างอ้าง ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๗มาเป็นประโยชน์แก่ตนนั้น เห็นได้ว่าบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวใช้กับกรณีบุคคลครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นต้องรับผิดต่อความเสียหายใดๆอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเป็นความผิดของผู้เสียหายเอง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวใช้กับกรณีฝ่ายหนึ่งครอบครอง ควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลฝ่ายหนึ่ง ส่วนอีกฝ่ายไม่ได้ครอบครองควบคุมเครื่องจักรกลหรือยานพาหนะ ดังนั้นหากทั้งสองฝ่ายครอบครอง ควบคุมดูแลเครื่องจักรกลหรือยานพาหนะทั้งสองฝ่าย แต่ละฝ่ายจึงไม่อาจนำบทสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวมาใช้เป็นประโยชน์กับตนได้ ดังนั้น การที่รถยนต์ชนกัน รถโดยสารชนรถสิบล้อ รถเก๋งชนรถจักรยานยนต์ ต่างฝ่ายต่างเรียกค่าเสียหายต่อกันและกันโดยไม่มีฝ่ายใดยอมรับว่าตนเองเป็นคนผิด ย่อมไม่อาจนำข้อสันนิษฐานดังกล่าวมาใช้แก่ตนได้ การฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีนี้ต้องเป็นไปตามหลักทั่วไปเรื่องละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ นั้นก็คือผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นมีภาระการพิสูจน์ ไม่อาจใช้บทสันนิษฐานของกฎหมายมาเปลี่ยนภาระการพิสูจน์ได้ คำพิพากษาฏีกา ๘๒๘/๒๔๙๐,๑๐๙๑/๒๕๒๓,๓๙๖/๒๕๔๔
๒.กรณีรถยนต์สองคันชนกัน ผู้โดยสารในรถได้รับบาดเจ็บ ผู้โดยสารจะใช้บทสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๗ มาใช้ยันคนขับรถทั้งสองคันไม่ได้ ต้องนำหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ และ ป.ว.พ. มาตรา ๘๔/๑ มาใช้ คือผู้โดยสารต้องนำสืบว่า คนขับรถประมาทเลินเล่อ คำพิพากษาษาฏีกา ๓๔๕/๒๔๘๒,๒๓๗๙/๒๕๓๒
๓.เรือหางยาวที่ชนกระบือที่นอนแช่ในน้ำในคลอง หรือรถยนต์ที่ชนวัวที่เดินข้ามถนน เจ้าของวัวหรือกระบือจะอ้างบทสันนิษฐานตาม ป.พ.พ.มาตรา ๔๓๗ มาใช้เป็นคุณแก่ตน ในขณะที่คนขับรถหรือเรือหางยาวจะยกข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พง. มาตรา ๔๓๓ มาใช้ว่าเจ้าของสัตว์ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่สัตว์ ซึ่งมีคำพิพากษาฏีกา ๙๗๕/๒๕๑๐ วินิจฉัยว่า เจ้าของรถยนต์เห็นกระบือแล้วไม่หยุดยังคงขับรถจึงเป็นฝ่ายประมาทต้องรับผิด ส่วนเจ้าของกระบือก็มีส่วนผิดด้วยเพราะไม่รีบตามกระบือที่หลุดให้กลับไปโดยเร็ว
ข้อสังเกต ๑.บทบัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๗ เป็นบทสันนิษฐานเบื้องต้นว่าผู้ครอบครองควบคุมดูแลยานพาหนะด้วยเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันเกิดจากยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย( เช่นเกิดแผ่นดินไหว ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำไปชนคนตาย) หรือเป็นความผิดของผู้เสียหายเอง( เช่นผู้ตายคิดฆ่าตัวตายวิ่งให้รถชน) ดังนั้น การที่รถชนคน เรือชนคน สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ครอบครองดูแลหรือขับขี่รถหรือเรือย่อมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเหตุเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเป็นความผิดของผู้เสียหายเอง
๒.เมื่อเป็นบทสันนิษฐานเบื้องต้น บุคคลที่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนำสืบเพียงว่าบุคคลนั้นครอบครองควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล เพียงแค่นี้ก็ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าผู้ครอบครองควบคุมดูแลยานพาหนะเป็นผู้ต้องรับผิด เป็นหน้าที่ผู้ครอบครองควบคุมดูแลยานพาหนะต้องนำสืบแก้ว่าความเสียหายที่เกิดไม่ได้เป็นความผิดของตนแต่เป็นเหตุสุดวิสัยหรือเป็นความผิดของผู้เสียหายหากนำสืบไม่ได้ก็เป็นฝ่ายแพ้คดีไป
๓.บทสันนิษฐานนี้ใช้เฉพาะกรณีฝ่ายหนึ่งครอบครองควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลเพียงฝ่ายเดียว อีกฝ่ายไม่ได้เป็นผู้ครอบครองควบคุมดูแลยานาพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลแต่อย่างใด หากทั้งสองฝ่ายครอบครองควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยเครื่องจักรกลทั้งสองฝ่ายย่อมไม่สามารถนำบทสันนิษฐานของกฏหมายมาใช้ได้ จึงต้องใช้บทบัญญัติทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ มาใช้ คือ กรณีละเมิดธรรมดา เมื่อฝ่ายใดกล่าวอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิด หากฝ่ายนั้นไม่ยอมรับ ฝ่ายที่กล่าวอ้างมีภาระการพิสูจน์หรือมีหน้าที่นำสืบว่าฝ่ายนั้นเป็นคนผิด หากนำสืบไมได้ก็เป็นฝ่ายแพ้คดีไป
๔.ตามข้อ ๒. นั้น ด้วยความเครารพในคำพิพากษาฏีกาที่วินิจฉัยว่ารถสองคันชนกัน ผู้โดยสารในรถจะนำข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๗ มาใช้บังคับไม่ได้ ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าผู้โดยสารไม่ใช่ผู้ครอบครองควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยเครื่องจักรกล เป็นเพียงคนโดยสารมาในยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลเท่านั้น จึงไม่ใช่กรณีผู้ครอบครองควบคุมดูแลยานพาหนะทั้งสองคันขับยานพาหนะมาเฉี่ยวชนกันไม่ จึงน่าที่จะได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๗ ไม่ใช่ต้องนำบททั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ มาใช้
๕.ใน ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๓เป็นบทสันนิษฐานของกฎหมายว่า หากความเสียหายเกิดขึ้นจากสัตว์ เจ้าของหรือผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆที่เกิดจากสัตว์ เว้นแต่ตนได้ใช้ความระมัดระวังอันควรแก่การเลี้ยงรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนี้ นั้นก็คือฝ่ายที่ได้รับความเสียหายจากสัตว์ได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายข้อนี้ ผู้ได้รับความเสียหายมีหน้าที่นำสืบเพียงตนได้รับความเสียหายจากสัตว์ก็เข้าข้อสันนิษฐานกฎหมายแล้วว่า เจ้าของ ผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของต้องรับผิด เป็นหน้าที่ของเจ้าของ ผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของมีหน้าที่ต้องสืบแก้ว่าตน ได้ใช้ความระมัดระวังอันควรแก่การเลี้ยงรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนี้ หากนำสืบไม่ได้ก็เป็นฝ่ายแพ้คดี
๖.ในกรณีต่างมีข้อสันนิษฐานด้วยกฎหมายด้วยกันทั้งสองฝ่าย ในกรณีขับเรือชนวัวที่อยู่ในน้ำ หรือขับรถชนวัวที่อยู่ในถนน ฝ่ายคนขับรถ คนขับเรือ จะอ้างว่าได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าความเสียหายเกิดแต่วัวที่อยู่ในน้ำ เจ้าของ ผู้รับเลี้ยงรับรักษาต้องรับผิด จะอ้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ และในขณะเดียวกันเจ้าของวัวจะอ้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าความเสียหายเกิดจากยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล เจ้าของผู้ครอบครองควบคุมดูแลยานพาหนะต้องรับผิดดังนี้จะอ้างเหตุในประโยชน์แห่งข้อสันนิษฐานกฎหมายมาเป็นประโยชน์แก่ตนหาได้ไม่ เมื่อต่างฝ่ายต่างมีข้อสันนาฐานกฎหมายด้วยกันทั้งสองฝ่ายจึงต้องใช้หลักทั่วไปว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหายฝ่ายนั้นต้องรับผิด คือต้องนำสืบว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายกระทำละเมิด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เจ้าของรถเห็นกระบือเดินบนท้องถนนก็ยังไม่ชะลอความเร็วของรถเป็นเหตุให้รถชนกระบือ หรือเจ้าของเรือเห็นวัวอยู่ในน้ำก็ไม่ชะลอความเร็วของเรือเป็นเหตุให้เรือชนกระบือที่อยู่ในน้ำ ดังนี้ถือเป็นการขับรถหรือขับเรือโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในสภาวะผู้ขับขี่รถหรือเรืออันเป็นยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้ขับรถหรือขับเรือจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ด้วย ซึ่งผู้ขับรถหรือขับเรืออาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านี้ได้โดยลดความเร็วของรถหรือเรือลง แต่ก็หาได้กระทำไม่จนเป็นเหตุให้รถหรือเรือเฉี่ยวชนวัวได้รับความเสียหายจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิด และในขณะเดียวกันเจ้าของสัตว์ที่ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลเลี้ยงดูตามชนิดวิสัยและพฤติการณ์ของสัตว์ การที่ปล่อยให้สัตว์เดินไปตามถนนที่มีรถแล่นสรรจรไปมาหรือปล่อยสัตว์ให้ลงเล่นน้ำในที่มีเรือแล่นฝ่ายไปมาถือไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามควรแก่การเลี้ยงดูตามชนิดและวิสัยของสัตว์ ถือเจ้าของสัตว์กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้รถหรือเรือเฉี่ยวชนสัตว์ ทำให้รถหรือเรือได้รับความเสียหาย เป็นกรณีต่างฝ่ายต่างละเมิด หนี้อันต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยประการใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะฝ่ายใดเป็นฝ่ายก่อหยิ่งหย่อนกว่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๓,๔๔๒
๗.น่าออกเป็นข้อสอบจัง

ไม่มีความคิดเห็น: