ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้”

กรม ส.เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงยุติธรรม มีนาย ธ. ดำรงตำแหน่งอธิบดี เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ความประสงค์ของโจทก์ย่อมแสดงออกโดยอธิบดีซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์ตามคำสั่งกรม ส. เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดเมื่อวันที่ ๘ มิ.ย.๒๕๕๓ ซึ่งคณะกรรมการได้สอบข้อเท็จจริงเกี่ยวเครื่องคอมพิวเตอร์ทางราชการหายแล้วรายงานข้อเท็จจริงให้โจทก์ทราบ แม้โจทก์จะทราบการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ ๘ มิ.ย.๒๕๕๓ แต่ขณะนั้นการสอบสวนผู้กระทำผิดและผู้พึงต้องรับผิดยังไม่ปรากฏชัดจนกว่าข้อเท็จจริงจะแล้วเสร็จก็ต่อเมื่อคณะกรรมการสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงและแจ้งให้โจทก์ทราบว่าผู้ใดต้องรับผิด ดังนั้นถือว่าอธิบดีซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์ลงนามรับทราบรายงานผลสอบข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ ๑ มี.ค.๒๕๕๕ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทราบการกระทำละเมิดและพึงรู้ตัวผู้ต้องรับผิดในวันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน ๑ ปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความปัญหาต่อมาคือการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำละเมิดหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยเบิกคอมพิวเตอร์แบบพกพาพร้อมอุปกรณ์เสริมไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่งานสอบสวนคดีเศษและใช้งานต่อเนื่องเรื่อยมา จนวันที่ ๒๘ เม.ย พ.ศ. ๒๕๕๓ หลังเวลาปฏิบัติราชการ จำเลยได้เดินออกนอกสถานที่ราชการพร้อมด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาดังกล่าวด้วยรถส่วนตัวเพื่อเดินทางกลับบ้าน ระหว่างทางได้แวะรับภรรยาซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ ฝนตกอย่างต่อเนื่องจำเลยจอดรถไว้ริมถนนสาธารณะหน้าบ้านและลงไปรับภรรยาและช่วยถือของต่างๆของภรรยาเพราะฝนตกหนักซึ่งเป็นช่วงเวลา ๑๘.๐๐ ถึง ๑๘.๓๐ นาฬิกาอยู่ระหว่างทำการส่วนตัวไม่ใช่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ อันเป็นการกระทำส่วนตัว จำเลยจึงควรดูแลรักษาและทรัพย์สินของทางราชการไม่ให้ต้องสูญหาย เป็นพิเศษกว่ากรณีปกติทั่วไป การที่คอมพิวเตอร์พกพาสามารถนำติดตัวไปได้แต่กลับละเลยเก็บเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาซึ่งบรรจุอยู่ในกระเป๋าวางไว้ที่พื้นหลังรถหลังเบาะคนขับที่จอดไว้ในถนนสาธารณะประกอบกับกรณีเรื่องทรัพย์สินมีค่าวางไว้ในรถยนต์ถูกโจรกรรมก็เป็นข่าวและมีคำเตือนไม่ให้วางของมีค่าไว้ในรถในขณะที่ไม่มีผู้เฝ้ารถให้เห็นอยู่เป็นประจำหากมีความจำเป็นต้องนำออกนอกสถานที่ราชการต้องได้รับอนุมัติจากหัวหน้าส่วนราชการก่อน การที่จำเลยจอดรถแล้วลงไปรับภรรยาและช่วยถือสิ่งของต่างๆในช่วงเวลาดังกล่าว อันเป็นเรื่องส่วนตัว และมีคนร้ายมาทุบรถและลักเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไป พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หากใช้ให้เพียงพอไม่ จนเป็นเหตุให้เครื่องคอมพิวเตอร์พกพาของทางราชการถูกคนร้ายทุบกระจกรถแล้วลักไป เป็นการกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐมิใช่การปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา ๑๐ พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่และ ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐และ๔๓๘จึงให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน..........บาทหรือชดใช้ทรัพย์สินชนิดเดียวกัน โดยมีสภาพ คุณสมบัติ ปริมาณ และลักษณะเดียวกันกับทรัพย์ที่สูญหายภายในวันที่.........แต่ไม่มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายในกำหนด เป็นเหตุให้กรม ส. ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กรม ส.พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ของต้นเงิน.........บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
ข้อสังเกต ๑. กรม ส.โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงยุติธรรม มีอธิบดี เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ความประสงค์ของโจทก์ย่อมแสดงออกโดยอธิบดีซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์ตามคำสั่งกรม ส. เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการ แม้อธิบดีจะเป็นคนตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดเมื่อวันที่ ๘ มิ.ย.๒๕๕๓ จะถือว่าอธิบดีซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์รู้ถึงการกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดยังไม่ได้ เพราะเมื่อผลการสอบข้อเท็จจริงยังไม่ยุติว่าจำเลยทำผิดหรือไม่ จึงจะถือว่าอธิบดีทราบเหตุแห่งการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดไม่ได้ ซึ่งคณะกรรมการได้สอบข้อเท็จจริงเกี่ยวเครื่องคอมพิวเตอร์ทางราชการหายแล้วรายงานข้อเท็จจริงให้โจทก์ทราบ แม้โจทก์จะทราบการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ ๘ มิ.ย.๒๕๕๓ แต่ขณะนั้นการสอบสวนผู้กระทำผิดและผู้พึงต้องรับผิดยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าจำเลยเป็นผู้ต้องรับผิดหรือไม่ และไม่ปรากฏว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงจะแล้วเสร็จเมื่อใด โดยข้อเท็จจริงจะแล้วเสร็จก็ต่อเมื่อคณะกรรมการสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงและแจ้งให้โจทก์ทราบว่าผู้ใดต้องรับผิด เมื่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงรายงานผลสอบข้อเท็จจริงให้อธิบดีทราบในวันที่ ๑ มี.ค.๒๕๕๕ ดังนั้นต้องถือว่าอธิบดีซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์ลงนามรับทราบรายงานผลสอบข้อเท็จจริง ในวันที่๑ มี.ค.๒๕๕๕ เป็นวันที่โจทก์ทราบรายงานจากคณะกรรมการ จึงเป็นวันที่โจทก์ทราบถึงการกระทำละเมิดและพึงรู้ตัวผู้ต้องรับผิดในวันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน ๑ ปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
๒.การที่จำเลยเป็นข้าราชการในกรม ส. ถือเป็น “เจ้าหน้าที่” ตามความหมายใน พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๔ กรม ส. เป็นกรมในรัฐบาลจึงเป็น “ หน่วยงานของรัฐ” ตามความหมายในมาตรา ๔ ของกฎหมายดังกล่าว การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดอยู่ เมื่อไม่ได้กระทำละเมิดในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพราะนำเครื่องคอมพิวเตอร์ไปใช้ “นอกเวลาราชการ” โดยไม่ได้ขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน แล้วต่อมาเครื่องคอมพิวเตอร์สูญหายไป โดยจำเลยต้องรับผิด จึงไม่ใช่การกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ราชการจึงต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ ทั้งนี้เป็นไปตามพรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๑๐ ดังนั้นจึงต้องนำป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ มาใช้บังคับในกรณีของจำเลย โดยเฉพาะเรื่องอายุความไม่ใช้อายุความ ๒ ปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดตาม มาตรา ๑๐ ของกฎหมายดังกล่าว แต่ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความใน ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๘ มาใช้บังคับ ซึ่งสิทธิ์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดต้องฟ้องภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่รู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด
๓.คดีนี้ไม่ใช่กรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นตาม พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาตรา ๙(๓) จึงไม่ขึ้นศาลปกครอง
๔.การนำเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาของทางราชการออกนอกสถานที่ราชการโดยไม่ได้ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาก่อน โดยนำออกนอกสถานที่ราชการหลังเลิกงานซึ่งไม่ใช่เวลาปฏิบัติหน้าที่ราชการ และไม่ปรากฏชัดว่านำเครื่องคอมพิวเตอร์ไปใช้ในทางราชการหรือไม่อย่างไร มีความจำเป็นเร่งด่วนขนาดไหนที่ต้องนำคอมพิวเตอร์ของทางราชการกลับบ้าน และมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไรที่ไม่อาจขออนุญาตผู้บังคับบัญชาเพื่อนำเครื่องคอมพิวเตอร์ของหลวงออกจากสถานที่ราชการ การนำเครื่องคอมพิวเตอร์ทางราชการออกนอกสถานที่ราชการโดยไม่ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาก่อนเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมาตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ๑๔๗ ที่ระบุว่า การให้บุคคลยืมใช้ในสถานที่ราชการเดียวกันต้องได้รับอนุมัติจากหัวหน้าหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบพัสดุนั้น แต่ถ้ายืมนำไปใช้นอกสถานที่ราชการต้องได้รับอนุมัติจากหัวหน้าส่วนราชการ
๕.การนำเครื่องคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ในรถที่จอดริมถนนสาธารณะแล้วไปรับภรรยาโดยไม่ได้นำเครื่องคอมพิวเตอร์ติดตัวไปด้วยทั้งที่สามารถนำติดตัวไปได้ แม้จะล็อครถแล้วก็ตาม แต่ก็คาดหมายได้ว่าอาจมีการทุบกระจกรถเพื่อเอาทรัพย์สินดังกล่าวไปก็ได้ ทั้งคอมพิวเตอร์ที่ใส่ในกระเป๋าเมื่อคนร้ายเห็นย่อมคาดหมายได้ว่าน่าจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ในกระเป๋า จึงเป็นสิ่งล่อตาคนร้ายให้ทำการทุบรถเพื่อลักเอาทรัพย์สินภายในรถไป
๖.ทั้งมีข่าวการทุบรถและเอาลักทรัพย์สินที่มีค่าในรถให้เห็นเป็นประจำ.จำเลยเคยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจยศถึง พ.ต.ท. เคยผ่านงานสอบสวนสืบสวนมาเป็นเวลานานพอสมควร ก่อนที่จะย้ายมารับราชการที่กรม ส. ซึ่งก็มาทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนเหมือนเดิม ย่อมต้องทราบและต้องใช้ความระมัดระวังให้มากกว่านี้ในการเก็บรักษาทรัพย์สินของทางราชการ ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยผู้เก็บรักษาทรัพย์สินทางราชการไว้ในความครอบครองจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยก็อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาใช้ให้เพียงพอไม่ โดยต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชาก่อนที่จะนำทรัพย์สินทางราชการออกนอกสถานที่ราชการและเมื่อจอดรถริมทางสาธารณะ จำเลยควรที่จะต้องนำเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวติดตัวไปด้วยเพื่อป้องกันการสูญหาย การที่จำเลยละเลยไม่กระทำการดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งวิญญูชนพึงมี จนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินทางราชการสูญหายจำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายสูญหายดังกล่าว แม้ตนจะไม่ได้เป็นผู้ลักเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไปก็ตาม จึงเป็นการกระทำละเมิด
๗.แม้ตัวจำเลยเองจะไม่ใช่เป็นคนลักเครื่องคอมพิวเตอร์ของทางราชการก็ตาม และแม้ทรัพย์สินส่วนตัวชิ้นอื่นของจำเลยจะถูกลักไปด้วยก็ไม่อาจนำมาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อไม่ให้พ้นความรับผิดได้ จำเลยจึงต้องคืนเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าว หากไม่สามารถคืนได้ต้องใช้ราคาเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมดอกเบี้ย โดย ป.พ.พ. มาตรา ๒๐๖ ถือว่า ผิดนัดนับแต่วันทำละเมิด(นับแต่วันที่เครื่องคอมพิวเตอร์หาย) เมื่อเป็นกรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันแต่ไม่ได้มีบทบัญญัติไว้ในกฏหมายว่าต้องเสียดอกเบี้ยเท่าไหร่ จึงต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗
๘.เป็นข้อเตือนสติสำหรับข้าราชการที่ชอบนำทรัพย์สินทางราชการกลับบ้านไปใช้ส่วนตัว หรือแม้นำไปใช้ในทางราชการโดยไม่ได้ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาก่อน เพื่อขอนำทรัพย์สินทางราชการไปใช้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ราชการ

ไม่มีความคิดเห็น: