๑.สิทธิ์เรียกค่าขาดไร้อุปการะเฉพาะทำละเมิดแล้วเขาตาย คำพิพากษาฏีกา ๑๒๕๑/๒๕๐๕
๒.บิดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่บิดารับรองแล้ว คำพิพากษาฏีกา ๕๑๓/๒๕๔๖
๓.ไม่ต้องพิจารณาว่าบุตรที่ตายจะได้อุปการะเลี้ยงดูบิดาหรือไม่ คำพิพากษากีกา ๑๖๔๘/๒๕๐๙
๔.ค่าขาดไร้อุปการะสามารถเรียกได้ทั้งในปัจจุบันและความคาดหวังในอนาคต โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ขณะเกิดเหตุมีการอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่ ในอนาคตจะมีการอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่ คำพิพากษาฏีกา ๔๑๒/๒๕๑๕
๕.สามีภรรยาต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน การขาดไร้อุปการะเป็นไปตามกฎหมาย ฝ่ายที่มีชีวิตอยู่สามารถได้รับค่าสินไหมทดแทน คำพิพากษาฏีกา ๑๖๑๗/๒๕๑๒
๖.ลูกจ้างถูกทำละเมิดถึงแก่ความตาย นายจ้างเป็นผู้ขาดไร้อุปการะ มิสิทธิ์เรียกค่าทดแทนได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๒๕๑/๒๕๑๔
ข้อสังเกต ๑.ทำละเมิดให้บุคคลใดถึงแก่ความตาย นอกจากเรียกค่าสินไหมทดแทน เช่น ค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นได้แล้ว หากความตายเป็นเหตุให้บุคคลใดขาดไร้อุปการะ บุคคลที่ขาดไร้อุปการะสามารถฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในการที่เขาขาดไร้อุปการะได้ หากการกระทำละเมิดแล้วเขาไม่ตายสิทธิ์ในการเรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่เกิด
๒.บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรที่เป็นผู้เยาว์เท่านั้น ไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว เว้นแต่บุตรที่บรรลุนิติภาวะนั้นทุพพลภาคและหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖๔ และบุตรมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖๓
๓.บิดามีหน้าที่เลี้ยงดูบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น การที่บิดารับรองบุตรเกิดสิทธิ์เพียงบุตรที่บิดารับรองแล้วสามารถรับมรดกของบิดาได้เท่านั้น แต่บิดาไม่สามารถรับมรดกของเด็กได้ และในขณะเดียวกันการรับรองบุตรไม่ได้ทำให้บุตรนอกกฏหมายกลายเป็นบุตรชอบด้วยกฏหมายแต่อย่างใด เพียงมีสิทธิ์รับมรดกของบิดาที่ตายได้เท่านั้น เมื่อไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมาย บิดาจึงไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดู ดังนั้นบุตรนอกกฏหมายที่บิดารับรองแล้วจึงไม่สามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูฐานที่ตนขาดไร้อุปการะจากบุคคลที่ทำบิดาของตนถึงแก่ความตายได้
๔.ในกรณีเบิกค่าเล่าเรียนบุตรก็เช่นกัน ข้าราชการที่มีบุตรนอกสมรสที่ตนไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาเด็ก แม้จะเป็นบุตรที่บิดารับรองแล้วโดยให้ใช้นามสกุล ให้การอุปการะเลี้ยงดู ส่งเสียให้การศึกษา แต่ บิดาไม่สามารถเบิกค่าเล่าเรียนบุตรนอกกฎหมายที่ตนรับรองแล้วได้ แม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับฝ่ายชายแต่เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิง ตามป.พ.พ. มาตรา ๑๕๔๖ ดังนั้น แม้ฝ่ายชายเบิกค่าเล่าเรียนบุตรไม่ได้ แต่ฝ่ายหญิงสามารถเบิกค่าเล่าเรียนบุตรได้ แต่ฝ่ายหญิงที่เป็นข้าราชการไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับฝ่ายชาย ส่วนใหญ่เพราะฝ่ายชายมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วดังนั้น ข้าราชการที่เป็นหญิงที่มีบุตรโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะเป็นการกระทำที่ผิดวินัยข้าราชการหรือไม่อย่างไรเป็นอีกส่วนหนึ่ง
๕.บุตรนอกกฏหมายที่บิดารับรองแล้วจะกลายเป็นบุตรชอบด้วยกฏหมายเมื่อบิดามารดาจดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง หรือบิดาจดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๔๗
๖.หน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเป็นหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แม้ในความเป็นจริงไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูกันก็ตาม เช่นเป็นบุตรผู้เยาว์ยังเรียนหนังสืออยู่ไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาก็ตาม ก็มีสิทธิ์เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุคคลที่ทำให้บุตรถึงแก่ความตายได้ (คำพิพากษาฏีกา ๔๔๖/๒๕๑๖) ดังนั้นเมื่อมีใครทำให้ผู้ที่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเราถึงแก่ความตาย เรามีสิทธิ์เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการที่เราขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้ สิทธิ์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะการขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยไม่คำนึงว่าตามความเป็นจริงจะมีการอุปการะเลี้ยงดูกันหรือไม่อย่างไร
๗.ไม่ได้หมายความว่า เมื่อบิดามีรายได้เลี้ยงชีพตัวเองแล้ว หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาจะหมดไป คำพิพากษาฏีกา ๑๔๓๒/๒๕๑๙ และไม่ต้องคำนึงว่า ผู้ตายจะมีรายได้หรือไม่ หรือได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้วก็หาตัดสิทธิ์เรียกค่าสินไหมทดแทน คำพิพากษาฏีกา ๒๓๖๑/๒๕๑๕ เพราะเป็นสิทธิ์ตามกฏหมาย การได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยไปแล้ว ไม่ทำให้สิทธิ์เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบุคคลที่ทำละเมิดให้ผู้มีอุปการะเลี้ยงดูจากเราหมดไป หรือแม้ผู้ตายจะถึงแก่ความตายและภรรยาได้เข้ามาดำเนินกิจการแทนสามีที่ถึงแก่ความตาย ก็ไม่ทำให้สิทธิ์เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการขาดไร้อุปการะหมดสิ้นไป คำพิพากษาฏีกา ๒๓๖๑/๒๕๑๕
๘..ค่าขาดไร้อุปการะสามารถเรียกได้ทั้งในปัจจุบันและความคาดหวังในอนาคต โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ขณะเกิดเหตุมีการอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่ ในอนาคตจะมีการอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่ ดังนั้นเมื่อบุตรมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา แม้ว่าบุตรจะมีอายุเพียง ๕ ปี ตามความเป็นจริงยังไม่สามารถอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้ และในอนาคตเมื่อบิดามารดามีอายุมากขึ้นบุตรจะอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่ก็เป็นเรื่องในอนาคตที่ไม่แน่นอน บุตรอาจไม่เลี้ยงดูบิดามารดาก็ได้ แต่การอุปการะเลี้ยงดูเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องพึงกระทำ ดังนั้น การที่บุคคลใดทำให้ผู้ที่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเราถึงแก่ความตาย แม้ในปัจจุบันยังไม่มีการอุปการะเลี้ยงดู และในอนาคตจะอุปการะเลี้ยงดูเราหรือไม่ก็เป็นสิ่งไม่แน่นอน แต่เมื่อเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู ดังนั้น เมื่อมีบุคคลใดมาทำผู้ที่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเราถึงแก่ความตาย เรามีสิทธิ์เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ โดยสามารถเรียกได้ทั้งค่าอุปการะเลี้ยงดูในปัจจุบัน ความคาดหวังในอนาคต โดยไม่ต้องพิจารณาว่าขณะเกิดเหตุมีการอุปการะเลี้ยงดูกันจริงหรือไม่อย่างไร
๙.แม้ผู้ขาดไร้อุปการะจะมีฐานะร่ำรวยไม่จำต้องได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ตายก็ตาม ศาลก็สามารถกำหนดให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๑๕/๒๕๑๓ ,๖๒๕/๒๕๑๕,๑๑๕๑/๒๕๑๙ ,๑๕๕๓/๒๕๒๐,๑๙๓๘/๒๕๒๓ เพราะเป็นสิทธิ์ตามกฎหมาย ซึ่งไม่ต้องคำนึงถึงความจำเป็นและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ขาดไร้อุปการะแต่ประการใด คือ ไม่ต้องพิจารณาว่าผู้ขาดไร้อุปการะยากจนหรือไม่ และผู้ตายจะได้ได้อุปการะอยู่กินหรือไม่
๑๐.ค่าขาดไร้อุปการะเป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดทำให้ผู้มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูถึงแก่ความตาย ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๙๔ถึง ๑๕๙๗ (ซึ่งปัจจุบันคือมาตรา๑๕๙๘/๓๘ – ๑๕๙๘/๔๑) แต่ประการใด คำพิพากษาฏีกา ๑๔๓/๒๕๒๑
๑๑.สามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายคือมีการจดทะเบียนสมรสมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันตามกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๖๑ หากใครทำให้คู่สมรสฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตายอีกฝ่ายเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้ การที่สามีภรรยาไม่จดทะเบียนสมรสถือหญิงอยู่ในฐานะนางบำเรอของชาย ชายไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูหญิง และหญิงก็ไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูชาย จึงไม่สามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากการที่มีบุคคลทำให้คู่สมรสถึงแก่ความตายได้
๑๒..ลูกจ้างที่ถูกผู้อื่นทำให้ถึงแก่ความตาย หรือเสียหายแก่ร่างกายอนามัย ลูกจ้างมีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องทำการงานเป็นคุณแก่นายจ้างในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๕ แล้ว ผู้ทำละเมิดต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายจ้างที่ต้องขาดแรงงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น