ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“บุตรควรอยู่กับใคร”

๑.แม้จำเลยซึ่งเป็นบิดามีฐานะและรายได้ดีกว่าโจทก์ แต่โจทก์ก็เป็นมารดามีอำนาจปกครองบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และเมื่อเลิกอยู่กินกับจำเลยแล้ว โจทก์ทำงานมีรายได้เดือนละ ๒,๐๐๐ บาท ได้ค่าเช่าห้องแถวเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท และมีที่ดินอีก ๒ แปลง รวมราคา ๕๐๐,๐๐๐บาท ญาติทุกคนพร้อมให้ความช่วยเหลือโจทก์ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตร โจทก์สามารถเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่บุตรทั้งสองได้ โจทก์จำเลยอยู่กินกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส มีบุตร ๔ คน และได้ขอคำสั่งศาลแสดงว่าเป็นบิดาของบุตรแล้ว การให้บุตรคนเล็กอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์จึงเป็นการสมควร คำพิพากษาฏีกา ๓๙๒/๒๕๒๓
๒.เมื่อสามีภรรยาหย่ากัน การที่จะให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของฝ่ายใด ศาลย่อมพิเคราะห์ถึงประโยชน์และความผาสุกของเด็กเป็นสำคัญ บุตรอายุ ๔ ปี อยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของมารดา ซึ่งมีเวลาดูแลสั่งสอนบุตร น่าจะเป็นการเหมาะสมได้มากกว่า ทั้งมารดาเป็นครูมีรายได้และเงินช่วยเหลือต่างๆ จนสามารถเก็บเงินฝากธนาคารให้บุตรได้ทุกเดือน สมควรให้บุตรอยู่ในปกครองของมารดา คำพิพากษาฏีกา ๔๑๒๕/๒๕๒๘
๓. โจทก์เป็นสามีเป็นข้าราชการมีเงินเดือนเดือนละ ๓,๓๒๕ บาท จำเลยเป็นภรรยามีอาชีพทำนา มีนา ๓๐ ไร่ แม้โจทก์มีฐานะดีกว่าจำเลยมาก แต่โจทก์อาศัยอยู่บ้านพักครู กลางวันต้องไปสอน เสาร์อาทิตย์จึงได้กลับบ้าน การที่จะให้บุตรที่อายุ ๓ ขวบอยู่กับโจทก์จึงไม่สะดวก แม้ว่าจะหาผู้มาเลี้ยงหรือส่งบุตรไปโรงเรียนอนุบาลก็ตาม ความอบอุ่นที่บุตรได้จากมารดาย่อมมีมากกว่า เพราะมารดาอยู่ใกล้ชิดบุตรตลอดมานับแต่คลอด ทั้งมารดาก็ไม่ได้ยากจนถึงขนาดที่จะเลี้ยงดูและให้การศึกษาบุตรไม่ได้ หากโจทก์ประสงค์จะให้บุตรได้รับการศึกษาจนจบปริญญาตรีก็ทำได้ แม้อำนาจปกครองจะตกอยู่กับจำเลยก็ตาม โจทก์ก็มีสิทธิ์ติดต่อกับบุตรได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์ การที่ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหลังการหย่า และให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ๑,๐๐๐บาท จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะจึงเป็นการเหมาะดีแล้ว คำพิพากษาฏีกา ๓๐๓๕/๒๕๓๓
ข้อสังเกต ๑.หลักเกณฑ์ในการประกอบการพิจารณาของศาลว่าบุตรผู้เยาว์ควรอยู่ในอำนาจปกครองของใคร พิจารณาจาก
๑.๑ บุตรอายุยังน้อยต้องการมารดา เพราะมีความผูกพันกันที่บุตรอยู่ในท้องมารดานานถึง ๙ เดือน ทั้งบุตรผู้เยาว์อาจต้องการทานนมมารดา จึงสมควรให้บุตรอยู่กับมารดา
๑.๒บุตรอยู่ในความดูแลของใครควรให้ฝ่ายนั้นดูแลต่อไป เพราะเมื่อฝ่ายใดเป็นผู้ดูแลบุตร บุตรย่อมมีความผูกพันกับฝ่ายนั้น การที่จะให้บุตรไปอยู่กับอีกฝ่ายจึงยังไม่สมควร
๑.๓บุตรควรได้อยู่ร่วมกันในครอบครัวเดียวกัน คือควรให้บุตรได้อาศัยอยู่กับพี่กับน้องแทนที่จะไปอยู่กับมารดาหรือบิดาที่ไม่ได้ดูแลปกครองบุตรเหล่านั้น
๑.๔ความประสงค์และความรู้สึกของบุตร เมื่อบุตรโตพอที่จะตัดสินใจว่าควรจะอยู่กับมารดาหรือบิดา
๑.๕ความสามารถในการจัดการศึกษาอบรมทางวิชาการ วิชาชีพ ศาสนา ศีลธรรม และการพัฒนาทางสติปัญญาให้แก่บุตรทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน เด็กควรอยู่กับบิดาหรือมารดาที่มีความพร้อมในเรื่องดังกล่าว
๑.๖ความสามารถในการจัดหาที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม การรักษาพยาบาลแก่บุตร
๑.๗ระยะเวลาที่บุตรอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เป็นที่อยู่ และผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสถานศึกษา เพื่อนนักเรียน เพื่อนบ้าน การเยี่ยมเยือนของญาติพี่น้อง
๑.๘ความรักใคร่เอ็นดู ความผูกพันทางจิตใจ ระหว่างบุตรกับบิดาหรือมารดา
๒.บิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถือเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิง ดังนั้น อำนาจปกครองบุตรอยู่ที่มารดา ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๔๖
๓.แม้บิดามีฐานะและรายได้ดีกว่ามารดา แต่เมื่อมารดามีรายได้พอสมควรแก่การเลี้ยงชีพ ญาติพี่น้องยินดีและพร้อมที่จะช่วยเหลือในการอุปการะเลี้ยงดูบุตร และสามารถอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ บุตรจึงควรอยู่ในความปกครองของมารดา
๔.บุตรผู้เยาว์อายุ ๔ ขวบ มารดาเป็นข้าราชการครูมีเงินเดือนรายได้อื่น สามารถเบิกค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาลของบุตรได้ และมีรายได้สามารถฝากเงินให้บุตรได้ทุกเดือน ทั้งมีความใกล้ชิดที่จะอบรมสั่งสอน มีเวลาให้บุตรมากกว่าบิดา เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ที่เด็กได้รับดังกล่าวแล้วเหมาะสมที่เด็กจะอยู่ในความปกครองของมารดาเมื่อบิดามารดาหย่าขาดจากกัน
๕.หากปรากฏว่า ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง ประพฤติตนไม่เหมาะสม หรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป เช่น ฝ่ายที่ปกครองบุตรล้มละลาย เป็นหนี้เป็นสิน ตกงาน เที่ยวเตร่ไม่มีเวลาดูแลบุตร หรือ ไม่มีรายได้พอที่จะเลี้ยงดูบุตรได้ ทำร้ายร่างกายทุบตีเด็ก ไม่ให้เด็กเข้าเรียนตามสมควร ศาลอาจเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง โดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๒๑
๖.การที่ศาลจะให้คู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ศาลไม่ได้ดูว่าฝ่ายใดมีฐานะดีกว่าอีกฝ่ายหรือไม่ แต่ศาลดูที่ความใกล้ชิดที่จะได้อยู่กับบุตรสามารถอบรมสั่งสอนได้ การที่ฝ่ายชายสามารถกลับบ้านได้เพียงวันเสาร์อาทิตย์ แต่วันอื่นต้องทำงาน แม้จะส่งลูกไปเรียนที่สถานรับเลี้ยงเด็กหรือที่โรงเรียนอนุบาล ความอบอุ่นก็ไม่เท่าอยู่กับมารดา เมื่อมารดาไม่ได้ยากจนค้นแค้นขนาดที่จะไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้แล้ว ก็น่าที่จะให้อำนาจปกครองตกแก่ฝ่ายหญิง แม้อำนาจปกครองตกแก่ฝ่ายหญิงก็ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามไม่ให้ฝ่ายชายไปเยี่ยมบุตรเป็นครั้งคราวหรือช่วยส่งเสียให้การศึกษาแก่บุตรแต่อย่างใด ดังนั้นการที่ศาลให้อำนาจปกครองบุตรตกแก่ฝ่ายหญิงและให้ฝ่ายชายต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ ๑,๐๐๐บาทจนกว่าบุตรบรรลุนิติภาวะ จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖๔ บิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และให้การศึกษาตามสมควร บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้วเฉพาะกรณีที่บุตรทุพพลภาคและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้เท่านั้น
๗.เท่าที่สังเกตเวลาฟ้องคดีเถียงกันว่าอำนาจปกครองตกแก่ฝ่ายใด ฝ่ายหญิงมักเป็นฝ่ายชนะคดีได้อำนาจปกครองบุตรเว้นเสียแต่หญิงมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมหรืออยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้เท่านั้นอำนาจปกครองเด็กจึงตกแก่ฝ่ายชาย

ไม่มีความคิดเห็น: