ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ฝ่าฝืนบทบัญญัติกฏหมาย“

๑.จำเลยขับรถเข้าไปชนรถโจทก์ทางด้านขวาของถนน เบื้องต้นศาลสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นคนผิด จำเลยมีหน้าที่ต้องหักล้างว่าจำเลยไม่ใช่คนผิด คำพิพากษาฏีกา ๑๑๖๙/๒๕๐๙
๒.ขับรถด้วยความเร็วสูงและขับรถผิดทางถือประมาท คำพิพากษาฏีกา ๑๐๘๕/๒๕๑๐
๓.จอดรถบนถนนในเวลากลางคืนท้ายรถล้ำออกมาในช่องจราจร โดยไม่มีเครื่องหมายแสดงว่ารถจอดอยู่ เมื่อมีรถวิ่งมาชนท้าย จำเลยต้องรับผิด ข้ออ้างว่าตำรวจมาลากรถแล้วเพลาขาดจึงต้องทิ้งไว้ที่เกิดเหตุไม่เป็นข้ออ้าง รถจำเลยล้ำผิวจราจร ๑ เมตร ยังเหลือผิวจราจรอีก ๖ เมตร รถสามารถแล่นสวนได้ ข้ออ้างโจทก์ว่าเปิดไฟสูงขับรถแต่มองไม่เห็นทางข้างหน้าแต่ก็ยังขับด้วยความเร็วสูงต่อไป โจทก์จึงมีส่วนประมาทด้วย ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เพียงกึ่งเดียว คำพิพากษาฏีกา ๑๔๖๖/๒๕๑๗
ข้อสังเกต ๑. ความเสียหายเกิดขึ้นจากการฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องบุคคลอื่น ผู้ใดฝ่าฝ่าฝืนสันนิษฐานว่าเป็นคนผิด ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๒
๒.การที่รถสองคันชนกัน เมื่อความเสียหายของรถคันหนึ่งปรากฏทางด้านขวาของถนน แสดงว่าถูกรถอีกคันเอาส่วนของรถทางด้านซ้ายเข้าชน เพราะตามพรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๓๓ ในการขับรถผู้ขับขี่ ผู้ขับขี่ต้องขับรถในทางเดินรถด้าน “ ซ้าย” โดยต้องไม่ล้ำทางเดินรถ เว้นแต่ทางเดินรถกว้างไม่ถึง ๖ เมตร หรือเป็นทางเดินรถที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้รถเดินทางเดียว หรือ ทางซ้ายของทางเดินรถมีสิ่งกีดขวาง และในมาตรา ๓๔ บัญญัติให้ผู้ขับขี่ต้องขับรถทางช่องซ้ายสุด เว้น ทางเดินรถมีสิ่งกีดขวาง หรือเจ้าพนักงานกำหนดให้เป็นทางรถทางเดียว หรือจะเข้าช่องทางให้ถูกต้องเมื่อรถจะเข้าทางร่วมทางแยก หรือจะแซงรถคันอื่น หรือเมื่อผู้ขับรถขับรถด้วยความเร็วสูงกว่ารถที่เดินในช่องซ้ายสุด ดังนั้น การที่รถคันหนึ่งถูกชนที่ด้านขวาของตัวรถ ย่อมสันนิษฐานว่าถูกรถอีกคันแล่นทางช่องทางเดินรถทางขวา หรือขับแซง แล้วเข้ามาเบียดหรือมาชนรถคันดังกล่าว ความเสียหายจึงเกิดที่ด้านขวาของตัวรถ บทบัญญัติในพรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๓๓,๓๔ เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องบุคคลอื่น ผู้ใดฝ่าฝืนจึงต้องสันนิษฐานว่าผู้นั้นเป็นคนผิด จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่ารถคันที่ได้รับความเสียหายทางด้านขวานั้นถูกรถอีกคันหนึ่งชน เป็นหน้าที่รถอีกคันต้องนำสืบแก้ว่าไม่ใช่ความผิดของตนแต่เป็นเพราะรถคันนั้นเปลี่ยนช่องทางเดินรถมาทางขวากระทันหันโดยไม่ให้สัญญาณไฟ จึงเป็นเหตุให้รถเฉี่ยวชนกัน หรือในกรณีรถวิ่งสวนกัน รถที่ถูกชนทางด้านขวาย่อมแสดงให้เห็นว่ารถที่วิ่งสวนมาไม่ได้เดินรถในช่องทางเดินรถซ้ายสุด แต่แซงเข้ามาในช่องทางเดินรถฝังตรงข้ามแต่แซงไม่พ้นจึงเกิดการเฉี่ยวชนกันโดยคันที่แซงไม่พ้นจึงเกิดการเฉี่ยวชนกันโดยต้องดู “จุดเฉี่ยวชน” ว่าอยู่ในช่องทางเดินรถของฝ่ายใด รถที่ล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถของอีกฝ่ายย่อมสันนิษฐานว่าเป็นผู้ผิดเพราะในพรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา๓๙ บัญญัติให้เมื่อขับรถสวนกัน ผู้ขับขี่ต้องขับรถชิดด้านซ้ายของทางเดินรถ โดยยึดถือกึ่งกลางของถนนเป็นหลัก หรือถือตามเส้นหรือแนวที่แบ่งไว้สำหรับเดินรถ และต้องลดความเร็วของรถลงเพื่อให้รถสวนกันได้ หากเป็นทางเดินรถที่แคบไม่อาจสวนกันได้โดยปลอดภัย รถคันที่ใหญ่กว่าต้องหยุดให้รถคันที่เล็กกว่าผ่านไปได้ และหากทางเดินรถมีสิ่งกีดขวาง ผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วของรถหรือหยุดเพื่อให้รถที่สวนมาแล่นผ่านไปได้ โดยบทบัญญัตินี้เป็นบทบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัย ผู้ใดฝ่าฝืนต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นฝ่ายผิด จึงเป็นหน้าที่ต้องสืบแก้ว่าตนได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติกฏหมายแล้วแต่ความเสียหายเกิดจากอีกฝ่ายหนึ่ง
๓.บทบัญญัติในพรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๖๗ กำหนดความเร็วของรถต้องวิ่งตามอัตราความเร็วที่เครื่องหมายจราจรติดตั้งไว้หรือตามที่กำหนดในกฏกระทรวง บทบัญญัตินี้เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์ที่จะปกป้องบุคคลอื่น การที่ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และยังขับรถผิดทาง(ย้อนศร) นั้น เมื่อพรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๒๖ บัญญัติให้ผู้ขับขี่รถต้องปฏิบัติตามสัญญาณหรือเครื่องหมายจราจรที่กำหนดทางเดินรถ การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่เครื่องหมายหรือสัญญาณจราจรกำหนดไว้โดยเดินรถสวนทางจากที่สัญญาณหรือเครื่องหมายจราจรกำหนด เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เป็นการปกป้องบุคคล ผู้ใดฝ่าฝืนย่อมแสดงว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ประมาท โจทก์นำสืบเพียงจำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วขับรถย้อนศรเท่านี้ กฏหมายสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้ประมาทแล้วเป็นหน้าที่จำเลยต้องนำสืบแก้หากนำสืบไม่ได้ถือจำเลยเป็นคนประมาทก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลหรือทรัพย์ผู้อื่น เป็นความผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐,๔๓๗ เพราะเมื่อมีข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา๔๒๒ แล้วผู้ที่ได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานกฎหมายก็นำสืบเพียงตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการที่ตนจะได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.ว.พ. มาตรา ๘๔/๑ แค่นี้ก็พอ
๔. เมื่อเครื่องยนต์รถเกิดขัดข้อง ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน เจ้าของรถมีหน้าที่ตามพรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๕๖ ต้องจอดรถในช่องทางเดินรถ และต้องนำรถให้พ้นทางโดยเร็ว หากจำเป็นต้องจอดรถในช่องทางเดินรถ ต้องนำรถมาจอดในลักษณะไม่กีดขวางการจราจร และต้องแสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณตามที่กฎกระทรวงกำหนด คือ หากเป็นในเขต กรุงเทพ พัทยา หรือเขตเทศบาลให้ใช้สัญญาณไฟกระพริบสีเหลืองอำพัน สีแดง หรือสีขาวที่อยู่ด้านหน้า ด้านท้ายรถทั้งด้ายซ้ายและด้านขวา(ไฟฉุกเฉิน) หรือติดตั้งป้ายทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หากเป็นนอกเขตกรุงเทพ พัทยา หรือนอกเขตเทศบาลแล้วให้ ให้แสดงเครื่องหมายทั้งด้านหน้าและท้ายรถโดยห่างจากรถไม่ต่ำกว่า ๕๐ เมตร และให้ใช้สัญญาณไฟกระพริบ(ไฟฉุกเฉิน)ในเวลาที่มองเห็นไม่ชัดเจน หรือมีแสงสว่างไม่เพียงพอและจอดรถได้ไม่เกิน ๒๔ ชั่วโมง และเมื่อบริเวณดังกล่าวมีแสงสว่างไม่เพียงพอที่ผู้ขับขี่รถจะมองเห็นได้โดยชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ต้องเปิดไฟหรือมีโคมไฟเพื่อให้รถที่แล่นผ่านมาเห็นด้วย(เปิดไฟหน้าและไฟท้าย)
๕. การไม่ปฏิบัติตามข้อสังเกตที่ ๕ ซึ่งเป็นบทบัญญัติกฎหมายที่ออกมาเพื่อปกป้องบุคคลอื่น ผู้ฝ่าฝืนสันนิษฐานว่าเป็นคนผิด ข้ออ้างที่ว่าต้องจอดรถในที่เกิดเหตุเพราะเมื่อรถตำรวจมาลากแล้วเพลาขาดจึงต้องจอดไว้ที่เกิดเหตุไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่ปฏิบัติตามข้อสังเกตข้อที่ ๕ แต่อย่างไรก็ตามการที่รถจำเลยจอดล้ำเข้ามาในทางเดินรถ ๑ เมตร เหลืองทางเดินรถอีก ๖ เมตรเพียงพอที่รถที่แล่นผ่านไปมาจะสามารถแล่นไปได้ ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าเปิดไฟสูงแล้วก็ยังมองไม่เห็นไม่ใช่ข้ออ้างเพราะเมื่ออ้างว่าเปิดไฟสูงแล้วมองไม่เห็นแต่ก็ยังขับรถด้วยความเร็วสูงอีกแสดงให้เห็นถึงความประมาทของโจทก์เช่นกัน หากเมื่อเปิดไฟสูงแล้วยังมองเห็นทางไม่ชัด โจทก์ชอบที่จะต้องลดความเร็วของรถลงและขับรถด้วยความเร็วต่ำเพื่อป้องกันการเฉี่ยวชน แต่โจทก์ก็หาได้กระทำการดังกล่าวไม่ ถือว่าโจทก์ก็มีส่วนประมาทด้วย เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นเพราะทั้งสองฝ่ายมีส่วนประมาทด้วยกัน ความเสียหายจะพึงเป็นประการใดอยู่ที่ฝ่ายใดเป็นผู้ประมาทมากน้อยกว่ากัน ศาลจึงให้จำเลยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เพียงครึ่งเดียวในความเสียหายที่โจทก์ได้รับ
๖.แม้ไม่มีบทบัญญัติว่าคดีอาญาต้องถือข้อเท็จจริงตามการพิจารณาคดีทางแพ่งก็ตาม แต่เหตุประมาทในทางอาญาก็นำมาจากข้อสันนิษฐานทางกฎหมายในทางแพ่งนำมาประกอบเพราะ เมื่อฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองบุคคลโดยส่วนรวมแล้ว ผู้ฝ่าฝืนสันนิษฐานว่าเป็นคนผิด หากนำสืบแก้ไม่ได้ก็ต้องถือว่าเป็นฝ่ายประมาท

ไม่มีความคิดเห็น: