ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“บัตรประชาชน ใบขับขี่ กุญแจรถ”

เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถยึดอะไรได้บ้างกรณีกระทำความผิดตามพรบ.จราจรทางบก แยกพิจารณาดังนี้
๑. กรณี “ใบขับขี่รถยนต์” นั้น พรบ.จราจรทางบก ฯ นั้นให้อำนาจ “ เจ้าพนักงานจราจร”ซึ่งก็คือ ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร(ซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป) ซึ่งรัฐมนตรีผู้รักษาการณ์ตามพรบ.จราจรทาบบก แต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานจราจร และ “ พนักงานเจ้าหน้าที่ “ ซึ่งก็คือตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจร ซึ่งบุคคลทั้งสองประเภทพบว่าผู้ขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พรบ.จราจรทางบกฯ หรือกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถ เช่น พรบ.รถยนต์ฯ หรือ พรบ. ขนส่งทางบกฯ สามารถ ว่ากล่าวตักเตือน ออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบได้ ในการออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบปรับ “ เจ้าพนักงานจราจร” หรือ “ พนักงานเจ้าหน้าที่ “ จะเรียกเก็บใบขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้ แต่ต้องออกใบแทนใบอนุญาตขับขี่ให้แก่ผู้ขับขี่ และ “ เจ้าพนักงานจราจร” และ “ เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ “ ต้องรีบนำใบอนุญาตขับขี่ที่เรียกเก็บไว้ส่งมอบให้พนักงานสอบสวนภายในแปดชั่วโมง นับแต่วันที่ออกใบสั่ง ใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ ใช้แทนใบอนุญาตขับขี่ได้เป็นการชั่วคราวไม่เกิน ๗ วัน เมื่อ” เจ้าพนักงานจราจร” หรือ “ พนักงานเจ้าหน้าที่ “ หรือ “ พนักงานสอบสวน” ได้ว่ากล่าวตักเตือน หรือเปรียบเทียบปรับ และผู้ขับขี่ได้ชำระค่าปรับแล้ว ให้คืนใบอนุญาตขับขี่ทันที ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถที่ได้รับใบสั่งตามข้อ ๑. สามารถปฏิบัติได้ดังนี้คือ
- ชำระค่าปรับตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบสั่ง หรือตามจำนวนที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้ทราบ ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในใบสั่ง หรือสถานที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่ง
- ชำระค่าปรับตามจำนวนที่กำหนดโดยการส่งธนานัติ หรือการส่งตั๋วแลกเงินของธนาคารโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน สั่งจ่ายแก่อธิบดีกรมตำรวจพร้อมด้วยสำเนาใบสั่งไปยังสถานที่ และภายในเวลาที่ระบุไว้ในใบสั่ง เมื่อผู้ได้รับใบสั่งได้ชำระค่าปรับครบถ้วน ให้คดีเป็นอันเลิกกัน และในกรณีที่ “ เจ้าพนักงานจราจร” หรือ “ พนักงานเจ้าหน้าที่ “ ได้เรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้ ให้ “ เจ้าพนักงานจราจร” หรือ “ พนักงานสอบสวน” รีบจัดส่งใบอณุญาตขับขี่ที่เรียกเก็บคืนแก่ผู้ได้รับใบสั่งโดยเร็ว และให้ถือว่า ใบรับการส่งธนาณัติ หรือใบรับการส่งตั๋วแลกเงินประกอบใบสั่งเป็นใบแทนใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา ๑๐ วัน นับแต่วันที่ส่งธนาณัติ หรือตั๋วแลกเงิน
๒.กรณี เจ้าพนักงานจราจร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบผู้กระทำความผิดตามพรบ.จราจรทางบก หรือพรบ.รถยนต์ฯ หรือพรบ.ขนส่งทางบกฯ แล้วยึด “ บัตรประชาชน”ของผู้ขับขี่หรือผู้ควบคุมรถ เนื่องจากบัตรประชาชนเป็นกระดาษหรือวัตถุอื่นใดที่ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข และมีการถ่ายภาพบุคคลลงในบัตรประชาชนเพื่อเป็นหลักฐานในการแสดงตัวว่าบุคคลที่ถือบัตรดังกล่าวเป็นคนเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยในบัตรประชาชนจะบอกให้รู้ว่าผู้ถือบัตร มีชื่อและที่อยู่ ณ. ที่ใด มีวันเดือนปีเกิดบอกให้ทราบว่าบุคคลผู้ถือบัตรมีสถานะภาพอย่างไร เช่น เป็นผู้หญิงหากมีคำนำหน้าว่า “นาง” แสดงว่าผ่านการสมรสมาแล้ว และบอกให้ทราบว่าผู้ถือบัตรประชาชนดังกล่าวมีอายุเท่าใด บรรลุนิติภาวะหรือยัง ซึ่งจะบอกให้รู้ว่าสามารถทำนิติกรรมได้เพียงไหนอย่างไร และบัตรประชาชน ยังบ่งบอกว่าเป็นคนไทยซึ่งสามารถถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ และมีสิทธิ์ต่างๆตามที่กฎหมายรับรอง และเลข ๑๓ หลักในบัตรประชาชนก็แสดงข้อมูลหลายๆอย่างในตัวเลขทั้ง๑๓ หลัก ดังนั้น บัตรประชาชนจึงเป็น “เอกสาร” ตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญา เมื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถยึดบัตรประชาชนได้ การยึดบัตรประชาชนไปเป็น การเอาไปซึ่งบัตรประชาชนจึงเป็นความผิดฐาน เอาไปเสีย ซึ่งเอกสาร โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและประชาชนตาม ป.อ. มาตรา ๑๘๘และฐานเอาไปเสียซึ่งบัตรประชาชนของผู้อื่นเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองโดยมิชอบตามพรบ.บัตรประชาชนฯ มาตรา ๑๕ทวิ เพราะการยึดบัตรประชาชนเพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้ผู้ขับขี่หลบหนีซึ่งไม่มีกฎหมายให้อำนาจทำได้ จึงเป็นการเอาไปซึ่งบัตรประชาชนเพื่อประโยชน์ของผู้จับกุมในการจับกุม เพราะการจับกุมตาม พรบ.จราจรฯมาตรา ๑๔๖ เงินค่าปรับหากเป็นการจับในกรุงเทพจะมีการแบ่งเงินค่าปรับให้กรุงเทพมหานคร หรือหากเป็นต่างจังหวัดก็ให้แบ่งแก่เทศบาลในจังหวัดนั้นๆในอัตราร้อยละ ๕๐ของเงินค่าปรับหรือตกเป็นของท้องถิ่นตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด อีกทั้งการที่ไม่มีบัตรประชาชนติดตัวอาจถูกเจ้าหน้าที่ทำการจับกุมในข้อหาไม่สามารถแสดงบัตรประชาชนเมื่อเจ้าพนักงานขอตรวจค้นซึ่งเป็นความผิดตาม พรบ.บัตรประชาชนฯ มาตรา ๑๗ได้ ดังนั้นเมื่อยึดบัตรประชาชนผู้ขับขี่ไป ผู้ขับขี่อาจถูกจับกุมได้เพราะไม่สามารถแสดงบัตรประชาชนเมื่อเจ้าพนักงานขอตรวจค้น เมื่อการยึดบัตรประชาชนไม่มีกฎหมายให้อำนาจกระทำได้ การยึดบัตรประชาชนไปจึงเป็นความผิดตามกฏหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
๓.กรณียึดกุญแจรถ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะสามารถทำการยึดกุญแจรถนั้นได้ ทั้งการที่กระทำความผิดตามพรบ.จราจรทางบกฯ พรบ.รถยนต์ฯ พรบ.การขนส่งฯ ก็ไม่ก่อให้เกิดหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครอง อันจะก่อให้เกิดสิทธิ์ยึดหน่วงในตัวรถหรือกุญแจรถตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๔๑ ได้ การเอากุญแจรถไปจึงเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ แล้ว เพราะการทำผิดตามพรบ.จราจรทางบกฯ หรือพรบ.รถยนต์ หรือพรบ.ขนส่งฯ ไม่ให้อำนาจในการยึดรถหรือรถจักรยานยนต์ได้ทั้งไม่สามารถยึดกุญแจรถได้ด้วย เมื่อถูกยึดกุญแจรถไป รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์อาจสูญหาย หรืออาจถูกใครทุบรถเพื่อเอาทรัพยิ์สินภายในรถหรือที่ติดกับตัวรถไปเช่น วิทยุติดรถยนต์ ล้ออะไหล่ เป็นต้น ทรัพย์สินเหล่านี้อาจสูญหายได้เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจคงไม่มาเฝ้ารถให้ และเมื่อไม่มีอำนาจในการยึดรถ เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจในการนำรถไปเก็บรักษาที่สถานีตำรวจได้ เมื่อไม่มีกุญแจรถ รถไม่สามารถขับได้ การจอดรถทิ้งไว้รถอาจหาย หรือถูกลักทรัพย์ภายในรถได้ การเอากุญแจรถไปโดยไม่มีสิทธิ์ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฏหมายโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชนชนตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ แล้ว
การเอากุญแจรถไปไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แม้จะมีการเอาไปแต่ก็ไม่ได้มีเจตนาทุจริตที่จะแสวงหาประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฏหมายในตัวกุญแจรถสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อไม่ผิดฐานลักทรัพย์ก็ไม่อาจมีความผิดฐานชิงทรัพย์ได้ แม้การยึดกุญแจอาจมีการยื้อยุดฉุดกระชากอาจมีการใช้กำลังในการได้มาซึ่งกุญแจรถก็ตาม
ดังนั้นหากจะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องดูให้ถูกฐานความผิดด้วยไม่งั้นศาลยกฟ้องเพราะการกระทำไม่เป็นความผิด

ไม่มีความคิดเห็น: