ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“สิทธิการซื้อขายกับพินัยกรรมใครมีสิทธิดีกว่ากัน”

ที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า การซื้อขายย่อมสมบรูณ์โดยการส่งมอบ ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อเจ้ามรดกขายที่พิพาทให้โจทก์ก่อนตายโดยความรู้เห็นของจำเลยแล้ว การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่พิพาทให้จำเลย พินัยกรรมในส่วนที่เกี่ยวที่พิพาทย่อมไม่สมบรูณ์ สิทธิ์ครอบครองที่พิพาทยังเป็นของโจทก์ จำเลยเข้าไปขุดทำลายบ่อปลาในที่พิพาทของโจทก์ เพื่อถือการครอบครอง เป็นการรบกวนการครอบครองที่พิพาทของโจทก์โดยปกติสุขทั้งกลางวันกลางคืนต่อเนื่องกัน มีความผิดฐานบุกรุก คำพิพากษาฏีกา ๔๐๖๙/๒๕๓๖
ข้อสังเกต ๑.การซื้อขายที่ดินที่มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนด โฉนดตราจอง ตราจองว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่งั้นการซื้อขายตกเป็นโมฆะ แม้ตกเป็นโมฆะแต่ก็ถือว่าเป็นการสละการครอบครอง หากผู้ซื้อครอบครองโดยสงบเปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของเกิน ๑๐ ปีย่อมร้องต่อศาลว่าตนครอบครองปรปักษ์ได้ เพื่อนำคำพิพากษาของศาลไปเปลี่ยนชื่อจากในโฉนด โฉนดตราจอง หรือตราจองว่าได้ทำประโยชน์แล้วมาเป็นชื่อของตนได้ คือได้สิทธิ์ด้วยการครอบครองปรปักษ์ แต่ไม่ได้สิทธิ์ด้วยการซื้อขายเพราะการซื้อขายตกเป็นโมฆะเพราะไม่ได้ทำตามแบบที่กฏหมายกำหนด
๒.การซื้อขายที่ดินซึ่งยังไม่มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์คือที่ดินนั้นมีแต่สิทธิ์ในการครอบครอง เช่น ที่ดินมีหลักฐานเป็น ใบจอง ใบเหยียบย่ำ สค๑ นส๓ นส๓ก เป็นต้น เป็นการซื้อขายที่ดินมือเปล่า ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่มีการส่งมอบก็ถือเป็นการโอนไปซึ่งการครอบครองโดยการส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗๘ โดยถือว่ามีการสละเจตนาครอบครอง ไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไป การครอบครองของผู้ขายย่อมสิ้นสุดไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗๗ เมื่อผู้ซื้อเข้าครอบครอง ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗๐ ให้สันนิษฐานว่าครอบครองโดยสุจริต โดยสงบและเปิดเผย และถือเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครองตามกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗๒ ดังนั้นผู้ซื้อย่อมมีสิทธิ์ในที่ดินที่ตนซื้อมา
๓.การที่ผู้ขายทำพินัยกรรมยกที่ดินที่ได้ขายไปให้โจทก์แล้ว โดยเป็นที่ดินมือเปล่าไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนเพียงแต่ส่งมอบที่ดินก็ถือว่าการซื้อขายสมบรูณ์โดยผู้ขายสละเจตนาครอบครองที่ดินดังกล่าว ผู้ซื้อย่อมได้ไปซึ่งที่ดินดังกล่าวและมีสิทธิ์ครอบครองในที่ดินมือเปล่าโดยถูกต้องตามกฏหมาย การที่ผู้ขายทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยย่อมเป็นการยกทรัพย์สินที่ไม่ใช่ของตนให้ทายาท ซึ่งไม่อาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะการทำพินัยกรรมต้องเป็นการกำหนดการเผื่อตายในเรื่อง “ ทรัพย์สินของตน “ ซึ่งจะเกิดผลบังคับได้เมื่อตนถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๔๖ จึงไม่อาจนำ “ ทรัพย์สินของผู้อื่น”มากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนได้ จึงเป็นกรณีที่ข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้นมีการโอนที่ดินตามพินัยกรรมไปโดยสมบรูณ์ในทรัพย์สินอันเป็นข้อกำหนดในพินัยกรรมด้วยความตั้งใจ ข้อกำหนดที่ยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยจึงถือว่าถูกเพิกถอนไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๙๖ ถือเสมือนว่าไม่มีข้อกำหนดดังกล่าวในพินัยกรรม แม้ผู้ขายตาย จำเลยก็ไม่ได้รับที่ดินตามพินัยกรรมดังกล่าว ทั้งจำเลยก็ทราบแล้วว่าเจ้ามรดกมีการขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์
๔.การที่จำเลยนำรถไถไปขุดทำลายบ่อเลี้ยงปลาของโจทก์เพื่อถือการครอบครองย่อมเป็นการรบกวนการครอบคอรองที่พิพาทของโจทก์โดยปกติสุข อันเป็นความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์

ไม่มีความคิดเห็น: