ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ยังมีข้อโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์”

โจทก์จำเลยโต้เถียงกันเรื่องการครอบครองที่พิพาท การที่จำเลยเข้าไปปักเสาสร้างรั้วในที่พิพาท เป็นการเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย การกระทำจำเลยไม่มีความผิดฐานบุกรุก ต้นไผ่ที่จำเลยตัดฟัน แม้โจทก์เป็นคนปลูก แต่ไผ่เป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบที่ดินพิพาท และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ประธาน เมื่อโจทก์จำเลยยังโต้เถียงสิทธิ์ครอบครองกันในที่พิพาท เท่ากับยังโต้เถียงกรรมสิทธิ์ของต้นไผ่ที่ปลูกในที่พิพาท การที่จำเลยเข้าไปตัดฟันต้นไผ่จึงมีเหตุอันควรเข้าใจโดยสุจริตว่าต้นไผ่เป็นของจำเลย ไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ คำพิพากษาฏีกา ๖๓๐๓/๒๕๓๙
ข้อสังเกต ๑.ยังมีปัญหาโต้เถียงกันว่าที่พิพาทเป็นของใคร ตราบใดยังไม่มีคำพิพากษาชี้ว่าที่พิพาทเป็นของใคร จึงเป็นเรื่องต่างโต้เถียงกันในกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท โดยต่างฝ่ายต่างเข้าใจและอ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของตน การที่จำเลยเข้าไปปักเสารั่วในที่ดังกล่าวโดยเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นของตน จึงเป็นกรณีที่จำเลยเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ที่จำเลยเข้าใจและเชื่อว่าเป็นของจำเลย โดยจำเลยเข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่า การเข้าไปในที่ดังกล่าวไม่ใช่การเข้าไปเพื่อรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติ จึงเป็นการเข้าไปโดยไม่มีเจตนาที่จะกระทำผิดทางอาญา คือไม่มีเจตนาที่จะบุกรุกเข้าไปรบกวนการครอบครองเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่ได้ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลว่าการเข้าไปในที่ดินดังกล่าวเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ถือว่าขาดเจตนาในการกระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก
๒.ต้นไผ่เป็นไม้ยืนต้นซึ่งโดยสภาพแห่งต้นไผ่หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นอันเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่แห่งทรัพย์นั้น ไม่อาจแยกออกจากพื้นดินที่ต้นไผ่ขึ้นอยู่นอกจากทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ต้นไผ่เปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไปให้ขาดจากพื้นดินด้วยการตัดฟัน เมื่อต้นไผ่มีอายุเกิน ๓ ปีจึงเป็นไม้ยืนต้น ต้นไผ่จึงเป็นส่วนควบของที่ดินที่ต้นไผ่ตั้งอยู่ เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานย่อมมีกรรมสิทธิ์ในต้นไผ่ซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดิน
๓.การปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินของผู้อื่นหากปลูกโดยสุจริต เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของไม้ยืนต้น แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นเพราะมีการปลูกไม้ยืนต้นนั้นให้แก่คนปลูก หากเจ้าของที่ดินแสดงได้ว่าตนไม่ได้ประมาทเลินเล่อ เจ้าของที่ดินจะบอกปัดไม่รับไม้ยืนต้นและเรียกให้ผู้ปลูกรื้อถอนและทำที่ดินให้กลับเป็นไปตามเดิมก็ได้ แต่หากการนี้จะกระทำไม่ได้โดยใช้เงินอันสมควรแล้ว เจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้ปลูกซื้อที่ดินทั้งหมดหรือบางส่วนตามราคาท้องตลาดก็ได้
๔. หากการปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินผู้อื่นโดยไม่สุจริต ผู้ปลูกต้องทำที่ดินให้กลับเป็นไปตามเดิมแล้วส่งคืนแก่เจ้าของเว้นแต่เจ้าของที่ดินจะเลือกให้ส่งมอบตามที่เป็นอยู่ แล้วเจ้าของที่ดินต้องใช้ราคาไม้ยืนต้นที่ปลูกหรือใช้ราคาค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นเพราะมีการปลูกไม้ยืนต้น
๕.เมื่อโจทก์จำเลยยังโต้เถียงกันในกรรมสิทธิ์ในที่ดินก็เท่ากับโต้เถียงด้วยว่าใครมีกรรมสิทธิ์ในต้นไผ่ เพราะหากใครเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประธานย่อมมีกรรมสิทธิ์ในต้นไผ่ซึ่งเป็นส่วนควบด้วย โดยกฎหมายไม่คำนึงว่าใครจะมาปลูก การปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินของบุคคลอื่น เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของไม้ยืนต้นโดยหากการปลูกไม้นั้นกระทำโดยสุจริตก็เป็นไปตามข้อ ๓ หากไม่สุจริตก็เป็นไปตามข้อ ๔. เมื่อยังไม่เป็นที่ยุติว่าที่พิพาทเป็นของใคร จึงไม่เป็นที่ยุติว่าต้นไผ่เป็นของใคร แม้โจทก์จะเป็นคนปลูกก็ตาม หากที่พิพาทเป็นของจำเลย แล้วโจทก์มาปลูกต้นไผ่ ต้นไผ่ซึ่งเป็นส่วนควบย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงแต่จะมีการชดใช้ราคากันอย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง เมื่อไม่ปรากฏชัดว่าใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท การที่จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นของตนเท่ากับเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประธานย่อมเป็นเจ้าของต้นไผ่ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นและเป็นส่วนควบที่ดินด้วย ตนตัดฟันต้นไผ่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตน ตนจึงมีอำนาจตัดฟันได้ การกระทำของจำเลยเข้าใจว่าตนมีสิทธิ์ที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลในการตัดฟันต้นไผ่ว่าจะทำให้เจ้าของต้นไผ่ได้รับความเสียหาย ถูกทำลาย ถูกทำให้เสื่อมค่า ถูกทำให้ไร้ประโยชน์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

ไม่มีความคิดเห็น: