๑.แจ้งข้อหาครั้งแรกฐานทำร้ายร่างกาย ต่อมาแจ้งข้อหาพยายามฆ่าย่อมทำได้ คำพิพากษาฏีกา ๗๕๕/๒๕๐๙
๒. ป.ว.อ. มาตรา ๑๓๔ กำหนดเพียงให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาเท่านั้น ไม่ได้บังคับว่าเมื่อแจ้งข้อหาใดแล้วต้องฟ้องผู้ต้องหาในข้อหานั้น คำพิพากษาฏีกา ๒๕๔๒/๒๕๒๗
๓.การแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหา ไม่ต้องระบุตัวบทกฎหมายที่ผู้ต้องหากระทำผิด ไม่จำต้องระบุกฎหมายที่เป็นความผิดทุกมาตรา คำพิพากษาฏีกา ๑๓๔๗/๒๕๓๖
๔.สอบถามคำให้การผู้ต้องหาครั้งแรกถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เมื่อสอบสวนเพิ่มเติมไม่ต้องปฏิบัติตามวิธีการก่อนถามคำให้การอีก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกันมา คำพิพากษาฏีกา ๖๙/๒๔๘๙
๕.ฟ้องกระทำอนาจาร ต่อมาหลังการพิจารณาของศาลปรากฏว่าจำเลยกระทำผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ด้วย จะแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องฐานพยายามชิงทรัพย์ไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๙๙/๒๔๘๑
ข้อสังเกต ๑.หากมีการแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว หากในการสอบสวนปรากฏว่าเป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องหรือเกี่ยวพันกับข้อหาเดิมที่แจ้งไว้แล้ว ก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาใหม่ แต่หากความผิดที่ปรากฏมีเนื้อหาสาระแตกต่างจากข้อหาเดิม หรือปรากฏเป็นฐานความผิดใหม่ ต้องมีการแจ้งข้อหาใหม่ โดยมีคำพิพากษาฏีกาที่ ๑๑๒๑/๒๔๙๔ วินิจฉัยว่า แจ้งข้อหาลักทรัพย์ เมื่อทำการสอบสวนปรากฏว่าเป็นการกระทำความผิดฐานไม่กระทำตามข้อบังคับทหาร ทำลายดวงตรา อันเป็นการกระทำที่นำไปสู่ความผิดฐานลักทรัพย์ แม้ไม่มีการแจ้งข้อหาในความผิดหลังนี้ ถือมีการสอบสวนแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องในข้อหาไม่กระทำตามข้อบังคับทหารและฐานทำลายดวงตราได้ ด้วยความเครารพในคำพิพากษาฏีกา ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ปรากฏเท่านั้นว่านอกจากการกระทำเป็นความผิดฐานลักทรัพย์แล้วยังเป็นความผิดฐานอื่นอีก แม้ในความผิดฐานดังจะนำไปสู่การกระทำผิดฐานลักทรัพย์ก็ตาม แต่เมื่อไม่ได้มีการแจ้งข้อหาในความผิดฐานดังกล่าว ผู้ต้องหาไม่ทราบว่าตนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอะไร หากเป็นเหตุการณ์ในปัจจุบันนี้ การไม่แจ้งข้อหาดังกล่าวแก่ผู้ต้องหา ไม่มีการสอบถามเรื่องทนายก่อนตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๓๔/๑ ไม่มีการแจ้งสิทธิ์ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๓๔/๔ในข้อหาที่พบใหม่ว่าผู้ต้องหามีสิทธิ์ให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ถ้อยคำที่ให้การใช้เป็นพยานหลักฐานได้ มีสิทธิ์ให้ทนายเข้าฟังการสอบปากคำ ผู้ต้องหาไม่มีโอกาสต่อสู้คดีได้เต็มที่ ไม่มีโอกาสให้การว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิดอย่างไร ผู้ต้องหาไม่มีโอกาสต่อสู้คดีได้เต็มที่โดยไม่รู้เสียด้วยซ้ำไปว่าตนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในข้อหาใดบ้าง คงเข้าใจว่าถูกกล่าวหาว่าลักทรัพย์เท่านั้น ซึ่งดูจะไม่เป็นธรรมแก่ผู้ต้องหา คำพิพากษาฏีกานี้น่าจะนำมาใช้บังคับไม่ได้ในปัจจุบันนี้
๒.หรือในกรณีที่มีคำพิพากษาฏีกาวินิจฉัยว่า แจ้งข้อหามีเฮโรอินไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ไม่ได้แจ้งข้อหาจำหน่ายเฮโรอิน ถือได้ว่ามีการสอบสวนทั้งสองกระทงแล้ว ไม่จำต้องแจ้งทุกกระทง คำพิพากษาฏีกา ๑๓๔๕/๒๕๒๑ หรือในคำพิพากษาฏีกาที่ ๑๕๔๙/๒๕๒๕ ที่วินิจฉัยว่า การแจ้งข้อหาให้การะทำเมื่อผู้ต้องหาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน และไม่ต้องแจ้งข้อหาทุกกระทง การที่พนักงานสอบสวนเติมคำว่า บุกรุกในบันทึกการจับกุม ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป นั้นด้วยความเครารพในคำพิพากษาฏีกาดังกล่าวทั้งสอง การที่พนักงานสอบสวนเติมข้อหาเพิ่มเติมลงไปในบันทึกการจับกุม ไม่ถือเป็นการแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ผู้ต้องหาไม่รับรู้รับทราบในการที่ตนถูกกล่าวหา ไม่มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหา ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ต้องหา ในการต่อสู้คดี และในกรณีที่มีการแจ้งข้อหาเพียงครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ไม่ได้แจ้งข้อหาจำหน่ายด้วยนั้น เห็นว่าองค์ประกอบความผิดของกฎหมายแตกต่างกัน การครอบครองเพื่อจำหน่าย อาจยังไม่มีการจำหน่าย แต่การจำหน่ายคือมีการจำหน่ายจ่ายแจกขายแล้ว ความหมายผิดกันผู้ต้องหาไม่สามารถต่อสู้คดีได้เต็มที่หากไม่มีการแจ้งให้รู้ตัวก่อนว่าตนถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ด้วย หรือในกรณีพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาลักทรัพย์ แต่พนักงานอัยการฟ้องในข้อหารับของโจร(คำพิพากษาฏีกา ๓๒๘๘/๒๕๓๕ ) หรือพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ร่วมกันจัดหางานให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ฉ้อโกง ปลอมเอกสาร ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐาน หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศ( คำพิพากษาฏีกา ๔๓๒๖/๒๕๔๓) ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าองค์ประกอบความผิดกฎหมายแตกต่างกัน ผู้ต้องหาไม่สามารถเข้าใจข้อหาได้ แม้ฟ้องลักทรัพย์ทางพิจารณาได้ความรับของโจรศาลลงโทษได้ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๙๒ ก็ตาม ก็เป็นคนละกรณีกับการไม่แจ้งข้อหาแล้วฟ้องคดี ผู้ต้องหาไม่มีโอกาสต่อสู้คดีได้เต็มที่เป็นการเอาเปรียบผู้ต้องหาในการต่อสู้คดี
๓.หากออกเป็นข้อสอบศาล ตอบตามฏีกาไปนะครับ แต่หากเป็นการทำงานต้องเผื่อเหนียวหากศาลฏีกาไม่เอาด้วยตามฏีกาเหล่านี้จะมีปัญหา การให้แจ้งข้อหาเพิ่มไม่ได้สร้างความลำบากอะไรมากมาย ดังนั้นเผื่อเหนียวต้องแจ้งข้อหาเพิ่มเพิ่มเติม
๔..ไม่มีกฎหมายห้ามว่าเมื่อมีการแจ้งข้อหาไปแล้ว ห้ามแจ้งข้อหาใหม่ ดังนั้นแม้ในชั้นแรกแจ้งข้อหาเพียงทำร้ายร่างกาย หากการสอบสวนปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจแจ้งข้อหาใหม่ได้
๕.ป.ว.อ. มาตรา ๑๓๔ บัญญัติเพียงการสอบสวนต้องมีการแจ้งข้อหาว่าผู้ต้องหากระทำความผิดฐานใดเท่านั้น ไม่มีบทบังคับเด็ดขาดว่าแจ้งข้อหานี้แล้วต้องผูกมัดพนักงานอัยการต้องฟ้องตามข้อหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหามา บางทีในทางปฏิบัติผู้จับกุมแจ้งมาข้อหาหนึ่ง พนักงานสอบสวนแจ้งมาอีกข้อหาหนึ่ง หากพนักงานอัยการเห็นว่ายังเป็นความผิดฐานอื่นอีกก็ให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติม แล้วฟ้องตามข้อหาที่แจ้งมาใหม่ได้ หรือกรณีพนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ต้องหาไม่เป็นความผิดตามข้อหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งมาแต่เป็นความผิดฐานอื่น พนักงานอัยการก็มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องในข้อหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งมา แล้วสั่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาใหม่แล้วฟ้องในข้อหาใหม่ได้
๖.การแจ้งข้อหาแก่พนักงานสอบสวน ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องแจ้งว่าข้อหาที่แจ้งแก่ผู้ต้องหาเป็นความผิดตามบทกฎหมายใด มาตราใด วรรคไหน อนุมาตราใด และมี่จำต้องแจ้งความผิดทุกบทมาตราในกรณีที่กระทำความผิดหลายฐาน เพียงแต่ทำการแจ้งข้อหาปฏิบัติตามที่กฎหมายบังคับไว้ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๓๔,๑๓๔/๑ล๑๓๔/๒,๑๓๔/๓,๑๓๔/๔,๑๓๕ ให้ถูกต้องครบถ้วนก็เพียงพอแล้ว กรณีนี้ไม่เหมือนในชั้นยื่นฟ้องที่ ป.ว.อ. มาตรา ๑๕๘(๖)ที่บัญญัติให้ต้องอ้างมาตราในกฎหมายที่บัญญัติว่าเป็นความผิด เพื่อที่ศาลและอัยการจะได้เข้าใจตรงกันว่าต้องการฟ้องเรื่องอะไร ต้องการให้ลงโทษตามบทกฏหมายใด เพราะเจตนารมณ์กฎหมายต้องการให้ผู้ต้องหาทราบว่าการกระทำผู้ต้องหาเป็นความผิด เพื่อให้เข้าใจถึงการกระทำผิดของตนโดยไม่ต้องระบุตัวบทกฏหมายที่กระทำผิด หรือในกรณีกระทำความผิดต่อกฏหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันก็หาจำต้องระบุกฎหมายที่เป็นความผิดทุกบทมาตราหรือทุกกรรมที่เป็นกระทงความผิดไม่ ซึ่งมีคำพิพากษาฏีกา ๗๖๒๘/๒๕๔๑ ยืนยันตามหลักการนี้ว่า แม้แจ้งข้อหาว่านำพาของที่ไม่ได้เสียภาษีหรือไม่ได้ผ่านด่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ได้แจ้งข้อหามีไม้สักไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีองค์ประกอบกฎหมายแตกต่างกัน และอยู่ในกฎหมายคนละฉบับ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการก็มีอำนาจฟ้อง นั้นก็คือ เมื่อมีการแจ้งข้อหาฐานหนึ่งไว้แล้ว เมื่อทำการสอบสวนพบว่าเป็นความผิดอีกฐานหนึ่ง แต่เมื่อได้มีการสอบสวนในความผิดฐานหลังนี้แล้ว พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้อง ซึ่งในความเห็นส่วนตัวถือว่า การที่ไม่แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแม้มีการสอบสวนในความผิดฐานใหม่ก็ตาม แต่เมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อหาใหม่ในความผิดฐานใหม่ ยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๓๔,๑๓๔/๑,๑๓๔/๒,๑๓๔/๓, ๑๓๔/๔ น่าจะถือว่ายังไม่มีการสอบสวนในความผิดครั้งหลัง ไม่ใช่เพียงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ ซึ่งมีคำพิพากษาฏีกา ๑๒๕๐/๒๕๒๑ วินิจฉัยว่า แจ้งข้อหายักยอก ไม่ได้แจ้งข้อหาตามพรบ.กำหนดความผิดเกี่ยวเนื่องห้างหุ่นส่วนจดทะเบียนฯ รวมทั้งทำงบดุลเท็จ ถือไม่ได้มีการสอบสวนในความผิดนี้
๗.ก่อนถามคำให้การผู้ต้องหาได้สอบถามและแจ้งสิทธิ์ผู้ต้องหาถูกต้องครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๓๔ ถึง ๑๓๔/๔แล้ว แม้มาสอบถามคำให้การเพิ่มเติมก็หาจำต้องแจ้งสิทธิ์ดังกล่าวเพราะได้แจ้งให้ทราบสิทธิ์ดังกล่าวมาแต่แรกแล้ว
๘.การที่ฟ้องข้อหากระทำอนาจาร ต่อมาความปรากฏในชั้นพิจารณาว่ากระทำความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ด้วย จะมาขอแก้และเพิ่มเติมฟ้องว่า พยายามชิงทรัพย์ไม่ได้ เพราะ ไม่มีการแจ้งข้อหาดังกล่าวแก่ผู้ต้องหา ไม่มีการสอบสวนผู้ต้องหาในความผิดดังกล่าว ทั้งความผิดปรากฏจากการสืบพยานโจทก์ หาได้ตั้งต้นมาจากการสอบสวนของพนักงานสอบสวนแต่อย่างใดไม่ จำเลยไม่ได้ตั้งต้นสู้คดีในความผิดฐานนี้มาก่อน จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี แม้จะสามารถแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๖๓ ก็ตาม แต่เมื่อไม่ได้มีการสอบสวนในความผิดนี้มาก่อน พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น