ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“รับเงินไม่ตรงตามสัญญากู้”

ผู้ต้องหาที่ ๑ เบิกความต่อศาลว่า ผู้เสียหายทำสัญญากู้ยืมเงิน ๑๖๐,๐๐๐บาท รับเงินดังกล่าวไปครบถ้วนแล้ว ผู้เสียหายเบิกความว่าเป็นความเท็จเพราะผู้เสียหายกู้เงินเพียง ๒๐,๐๐๐ บาท เหตุที่ยอมทำสัญญาระบุเป็นเงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาท เพราะต้องจำยอมต่อเงื่อนไขที่ผู้ต้องหาที่ ๒ซึ่งเป็นบุตรชายผู้ต้องหาที่ ๑ กำหนด และในวันที่ไปกู้เงินได้ไปกับนาง น. ที่ได้ไปกู้เงินผู้ต้องหาที่ ๒ จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท แต่ต้องทำสัญญากู้ไว้ ๑๖๐,๐๐๐ บาท โดยเงื่อนไขเดียวกัน ทั้งผู้เสียหายและ น. ก็ได้ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันให้กันและกัน โดยในคดีที่ผู้ต้องหาที่ ๑ ฟ้องเรียกเงินกู้ตามสัญญากู้กับ นาง น. ศาลไม่เชื่อพยานของผู้ต้องหาที่ ๑ ว่ามีการส่งมอบเงินกู้ ๑๖๐,๐๐๐ บาท ให้แก่นาง น. จึงน่าเชื่อว่าข้อความที่ผู้ต้องหาที่ ๑ เบิกความเป็นความเท็จ ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๘๐/๒๕๕๐
ข้อสังเกต ๑.กู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมชนิดหนึ่งคือเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง จึงสมบรูณ์เมื่อมีการส่งมอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๐ วรรค สอง
๒.กู้ยืมเงินเกิน ๒,๐๐๐บาท ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ ดังนั้นการกู้ยืมจึงเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีพยานเอกสารมาแสดงตาม ป.ว.พ. มาตรา ๙๔ จึงต้องห้ามที่จะนำพยานบุคคลมานำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้ เว้นแต่จะนำสืบว่าสัญญากู้นั้นปลอม ไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วนหรือหนี้ตามที่ระบุไว้ในสัญญาไม่สมบรูณ์
๓.ดังนั้นการนำสืบว่าความจริงแล้วกู้ยืมกันเพียง ๒๐,๐๐๐บาทและได้รับเงินกู้ไปเพียง ๒๐,๐๐๐ บาท หาได้กู้ยืมเงิน ๑๖๐,๐๐๐บาท จึงเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้ เนื่องจากอ้างว่าหนี้ตามสัญญากู้ยืมไม่สมบรูณ์ เพราะการกู้ยืมเป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองอย่างหนึ่งย่อมสมบรูณ์ เมื่อมีการส่งมอบ เมื่อได้รับมอบเงินกู้ยืมเพียง ๒๐,๐๐๐บาท สัญญากู้ยืมที่ระบุว่ากู้ยืมเงินและรับมอบเงินกู้ไป ๑๖๐,๐๐๐ บาท จึงไม่ถูกต้อง เป็นหนี้ที่ไม่สมบรูณ์ ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ทั้งการที่จำยอมต้องระบุเงินในสัญญากู้เป็น ๑๖๐,๐๐๐บาททั้งที่มีการกู้ยืมเงินกันเพียง ๒๐,๐๐๐บาท เพราะจำยอมต้องทำตามเงื่อนไขที่ผู้ต้องหาที่ ๒ ซึ่งเป็นบุตรชายของผู้ต้องหาที่ ๑ กำหนด จึงเป็นกรณีที่ผู้กู้แสดงเจตนาโดยในใจจริงไม่ได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงเจตนาออกมา โดยผู้ให้กู้ซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนเร็นอยู่ภายในใจของผู้กู้ การแสดงเจตนากู้ยืมเงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาทย่อมทตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๔ เมื่อส่วนนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมตกเป็นโมฆะ นิติกรรมย่อมตกเป็นโมฆะเสียทั้งสิ้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๓ จะถือว่าคู่กรณีเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะหาได้ไม่ เพราะกู้ยืมเงินกันเพียง ๒๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่ทำสัญญากู้ไว้ ๑๖๐,๐๐๐ บาทก็รวมประโยชน์ตอบแทนการกู้ยืมเงินหรือดอกเบี้ยกันไว้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวย่อมสูงเกินกว่าร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าน่าที่จะตกเป็นโมฆะเสียทั้งหมดเพื่อเป็นบทลงโทษผู้ต้องหาที่ ๑ ที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ ไม่น่าจะถือว่าหนี้เงินกู้ ๒๐,๐๐๐ บาทสามารถแยกส่วนออกจากหนี้ ๑๖๐,๐๐๐บาทได้
๔.การนำสัญญากู้ดังกล่าวมาฟ้องเรียกเงินในทางแพ่ง ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการฟ้องคดีแพ่งอันเป็นเท็จมีความผิดทางอาญา มีแต่กฎหมายบัญญัติว่าการนำความทางอาญาที่เป็นเท็จมาฟ้องว่าผู้อื่นกระทำผิดทางอาญาหรือกระทำผิดทางอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริง เป็นความผิดทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา ๑๗๕ แม้การฟ้องแพ่งเป็นเท็จจะไม่มีบทลงโทษทางอาญาก็ตาม แต่ก็โดนบทลงโทษทางแพ่งที่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในทางแพ่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และเมื่อมาเบิกความย่อมเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จและนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จได้ตาม ป.อ. มาตรา ๑๗๗,๑๘๐ได้ เพราะต้องนำสืบหรือเบิกความในข้อสาระสำคัญอันเป็นความเท็จ
๕.กรณีที่มีการค้ำประกันในหนี้ดังกล่าวนั้นเห็นได้ว่า ค้ำประกันจะมีได้เฉพาะหนี้อันสมบรูณร์เท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๘๑ เมื่อหนี้ตามสัญญากู้ไม่ได้มีการส่งมอบเงินจำนวน ๑๖๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นหนี้ที่ไม่สมบรูณ์ การค้ำประกันในหนี้ดังกล่าวจึงไม่อาจทำได้ เพราะไม่สามารถค้ำประกันในหนี้ที่ไม่สมบรูณ์ได้
๖.การค้ำประกันต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ จึงเป็นกรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานหลักฐานมาแสดง จึงไม่อาจนำพยานบุคคลมานำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารได้ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๙๔ เว้นแต่เป็นกรณีที่นำสืบว่าหนี้ตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้หรือสัญญาค้ำประกันไม่สมบรูณ์ แต่ในคดีนี้การกู้ยืมเงินมีการส่งมอบเงินเพียง ๒๐,๐๐๐ บาท ไม่ได้ส่งมอบเงินทั้ง๑๖๐,๐๐๐ บาทจึงเป็นหนี้ที่ไม่สมบรูณ์ตามที่ระบุและอธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น หนี้ตามสัญญากู้จึงไม่สมบรณ์ การค้ำประกันเงินกู้ในจำนวนดังกล่าวจึงไม่สามารถกระทำการได้เพราะเป็นหนี้ที่ไม่สมบรูณ์จึงไม่สามารถค้ำประกันได้ เมื่อเป็นหนี้ที่ไม่สมบรูณ์ จึงสามารถนำพยานบุคคลมานำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขและนำสืบความเป็นมาที่ถูกต้องแท้จริงของการกู้ยืมและการค้ำประกันได้
๗. เมื่อในคดีแพ่งศาลไม่เชื่อตามที่ผู้ต้องหาที่ ๑ นำสืบว่ามีการกู้เงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาท ซึ่งประเด็นว่า มีการกู้ยืมเงินเท่าใดถือเป็นสาระสำคัญในการฟ้องเรียกร้องในสัญญากู้ ข้อความที่นำสืบและคำเบิกความที่เบิกความมา จึงเป็นการนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ และเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

ไม่มีความคิดเห็น: