ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ต่างคนต่างด่า”

ผู้เสียหายและผู้ต้องหาทะเลาะวิวาทกันต่างคนต่างด่ากันด้วยถ้อยคำดูหมิ่นซึ่งหน้ากันและกัน ผู้เสียหายและผู้ต้องหาจึงไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ความผิดฐานนี้มุ่งคุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายเป็นการเฉพาะตัวเมื่อถูกผู้อื่นดูหมิ่นฝ่ายเดียว ผู้ถูกดูหมิ่นจึงจะเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ กรณีที่ต่างฝ่ายสมัครใจทะเลาะวิวาท ใช้ถ้อยคำดูหมิ่นซึ่งกันและกันจึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๗๖/๒๕๕๐
ข้อสังเกต ๑.ผู้เสียหายที่จะสามารถแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้นั้นต้องมิได้มีส่วนร่วมหรือลงมือกระทำความผิดด้วย มิเช่นนั้นแล้วจะเป็นเพียงผู้เสียหายโดยพฤตินัย(ผู้เสียหายตามความเป็นจริง)เท่านั้น แต่ไม่ใช่ผู้เสียหายตามนิตินัย(ผู้เสียหายตามกฎหมาย)
๒.การที่ผู้เสียหายและผู้ต้องหาสมัครใจวิวาทด่าท้อกันด้วยถ้อยคำดูหมิ่น ย่อมถือว่าทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดจึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ ตามนัยคำพิพากษาฏีกาที่ ๑๔๒๐/๒๕๓๔
๓.ทางปฏิบัติหากผู้เสียหายและผู้ต้องหาต่างแจ้งความดำเนินคดีซึ่งกันและกัน เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนจะสั่งให้พนักงานสอบสวนพยายามเปรียบเทียบปรับคดีนั้นแทนการที่จะส่งสำนวนมาเพื่อให้พนักงานอัยการตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๔๔(๑) โดยจะส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนกลับไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อทำการเปรียบเทียบปรับ หรืออาจให้พนักงานสอบสวนคนอื่นทำการเปรียบเทียบปรับแทนก็ได้ตาม ป.วงอ. มาตรา ๑๔๔(๒) ซึ่งการที่จะเปรียบเทียบปรับได้นั้นคู่กรณีต้องยินยอมให้ทำการเปรียบเทียบปรับได้ ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๓๘(๑) หากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่ยอมให้เปรียบเทียบปรับ หรือยอมให้เปรียบเทียบปรับแต่ไม่ยอมชำระค่าปรับ จึงให้ดำเนินคดีต่อไปตาม ป.ว.อ. มาตรา ๓๘(๑)วรรคสอง
๔. เมื่อส่งสำนวนมาให้พนักงานอัยการ พนักงานอัยการจะสั่งให้รวมสำนวนทั้งสองคดีที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวหาว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ต้องหาเข้าด้วยกันแล้วเรียกผู้ต้องหาและผู้เสียหาย(ตามพฤตินัย)ทั้งสองคดีว่าผู้ต้องหาที่ ๑ ผู้ต้องหาที่ ๒ แล้วสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองโดยพนักงานอัยการจะเป็นโจทก์ ส่วนคู่กรณีที่ทะเลาะด่ากันไปมาก็จะถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ต่อไป
๕.กรณีต่างฝ่ายต่างทะเลาะวิวาทและชกต่อยทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันไม่ว่าฝ่ายใดได้รับบาดเจ็บมากกว่ากัน ฝ่ายใดบาดเจ็บเล็กน้อย ฝ่ายใดได้รับบาดเจ็บไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กาย หรือได้รับอันตรายแก่กาย หรือได้รับอันตรายสาหัส ก็จะรวมสำนวนทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันและฟ้องทั้งคู่รวมกันไปเป็นจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เมื่อผู้เสียหาย(โดยพฤตินัย)ในคดีที่ ๑ กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีที่ ๒ ผู้เสียหาย(โดยพฤตินัย)ในคดีที่ ๒ กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีที่ ๑ ดังนั้นผู้เสียหาย(โดยพฤตินัย)และผู้ต้องหาต่างอยู่ในฐานะผู้เสียหาย(โดยพฤตินัย)และผู้ต้องหาด้วยกันในขณะเดียวกัน ทางปฏิบัติอัยการจึงจะไม่สืบบุคคลดังกล่าวเพราะนอกจากมีฐานะเป็นผู้เสียหายโดยพฤตินัยแล้วยังเป็นผู้ต้องหาในอีกคดีด้วย ทั้งกฎหมายห้ามโจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานตาม ป.ว.อ. มาตรา ๒๓๒ ทางปฏิบัติจึงนำเพียงผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนเข้าเบิกความเท่านั้นพร้อมส่งเอกสารต่างๆรวมทั้งคำให้การในฐานะผู้เสียหาย(โดยพฤตินัย)และคำให้การในฐานะผู้ต้องหาในอีกคดีของทั้งสองฝ่ายเพื่อให้พนักงานสอบสวนรับรองว่าได้ทำการสอบปากคำเอาไว้ เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะนำสืบเพื่อแก้ข้อกล่าวหาของตนต่อไป
๖.ทางปฏิบัติเมื่อมีการยื่นฟ้องในคดีที่ต่างทะเลาะด่ากันศาลมักไกล่เกลี่ยแทนการสืบพยานเพราะเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน ปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นโทษคดีเล็กน้อย รับสารภาพศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่งเสียค่าปรับแล้วกลับบ้านไปไม่ต้องเสียเวลามาศาลหลายนัด ไม่ต้องเสียเงินไปจ้างทนายความ และคดีจบลงด้วยดีแทนการสืบพยาน

ไม่มีความคิดเห็น: