ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

"สินส่วนตัว”

๑.บ้านเป็นสินส่วนตัวของภรรยา ภรรยาเอาเงินส่วนตัวมาซ่อมบ้าน และปลูกบ้านใหม่ในสินส่วนตัว แม้ทำภายหลังสมรส บ้านที่ซ่อมและปลูกใหม่เป็นสินส่วนตัว คำพิพากษาฏีกา ๒๗๖/๒๕๑๑
๒.ที่ดินที่เป็นสินส่วนตัวของสามีได้แลกเปลี่ยนกับที่ดินอีกแปลงและได้เงินอีกจำนวนหนึ่งตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ที่ดินและสิทธิ์ที่ได้มาเป็นสินส่วนตัว คำพิพากษาฏีกา ๒๐๓๙/๒๕๒๒
๓.เอาเงินที่ได้จากการขายบ้านและที่ดินที่เป็นสินเดิมมาซื้อบ้านพิพาท จึงเป็นสินเดิม คำพิพากษาฏีกา ๑๕๔/๒๕๒๔
๔.ที่ดินที่เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายหญิง เมื่อทำการสมรสที่ดินดังกล่าวก็ยังเป็นสินส่วนตัวอยู่ ฝ่ายหญิงจะนำไปขายหรือนำไปให้คนอื่นเช่าไม่ต้องขออนุญาตจากสามี หรือการที่ภรรยาเอาเงินที่เป็นสินส่วนตัวไปให้คนอื่นกู้ ภรรยามีอำนาจฟ้องเรียกคืนได้โดยลำพัง คำพิพากษาฏีกา ๒๔๗๒/๒๕๒๒
๕.ก่อนสมรสบิดามารดายกบ้านและที่ดินให้จึงเป็น “ สินเดิม” เมื่อทำการสมรสก็ได้ขายบ้านและที่ดินดังกล่าวแล้วไปซื้อที่ดินแปลงอื่นพร้อมปลูกบ้าน และนำเงินที่เหลือไปซื้อฝากที่ดิน ผู้ขายฝากไม่มาไถ่คืน แม้ก่อนรับซื้อฝากได้นำเงินไปซื้อที่ดินเพื่อปลุกบ้านไว้ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลง ต้องถือว่าที่ดินที่ซื้อเป็น “ สินเดิม” แต่อาคารและตึกแถว ไม่ปรากฏว่าได้นำเงินที่ได้จากการขายที่ดินที่เป็นสินเดิมมาก่อสร้าง จึงเป็นสินสมรส คำพิพากษาฏีกา ๕๒๔๕/๒๕๓๑
ข้อสังเกต ข้อ ๑. สินส่วนตัวคือ ของหมั้น หรือ ทรัพย์สินที่มีมาก่อนสมรส หรือเป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรส หรือเป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรสหรือการให้โดยเสน่หาโดยพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ไม่ได้ระบุให้เป็นสินสมรสแล้ว ทรัพย์ที่ได้จากการให้หรือโดยพินัยกรรมดังกล่าวย่อมเป็นสินส่วนตัว
๒.สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใด ฝ่ายนั้นมีอำนาจจัดการ ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๓ คู่สมรสอีกฝ่ายไม่มีอำนาจจัดการเกี่ยวสินส่วนตัว อำนาจในการจัดการสินส่วนตัวนี้ รวมถึงการบำรุงรักษา สงวนไว้ ทำให้เกิดงอกเงย รวมทั้งการจำหน่าย จำนำ จำนอง ก่อให้เกิดภาระติดพันในทรัพย์สินด้วย
๓. ภรรยาเอาเงินซ่อมแซมบ้านที่เป็นสินส่วนตัว เมื่อกระทำภายหลังที่มีการสมรสแล้ว แอยกได้ดังนี้คือ
๓.๑ หากภรรยาเอาเงินที่เป็นสินส่วนตัวมีก่อนสมรสมาซ่อมแซมบ้านที่เป็นสินส่วนตัว และเอาเงินดังกล่าวมาปลูกบ้านใหม่บนที่ดินที่เป็นสินส่วนตัว แม้จะกระทำภายหลังการสมรสแล้ว บ้านที่ถูกซ่อมแซมและบ้านใหม่ที่ปลูกขึ้นบนที่ดินที่เป็นสินส่วนตัวย่อมเป็นสินส่วนตัวเงินของภรรยา เพราะเป็นกรณีเอาเงินที่เป็นสินส่วนตัวมาปลูกบ้านใหม่เป็นการเอาเงินที่เป็นสินส่วนตัวมาแลกเปลี่ยนแปรสภาพไปเป็นทรัพย์สินอื่นคือ บ้านใหม่ บ้านใหม่จึงต้องเป็นสินส่วนตัว ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๒
๓.๒ หากภรรยาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจจัดการสินสมรสฝ่ายเดียว เอาเงินที่ไม่ใช่สินส่วนตัวอยู่แต่เดิม เช่น เอาเงินเดือนที่ได้มาระหว่างสมรสมาซ่อมแซม เงินเดือนได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรส(คำพิพากษาฏีกา๙๕๗๐/๒๕๕๑) หรือนำเอาสินสมรสอื่นมาสร้างบ้าน การที่เอาสินสมรสไปปลูกสร้างบ้านใหม่นั้น เมื่อบ้านเป็นสิ่งที่โดยสภาพแห่งทรัพย์คือตัวบ้านหรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นย่อมเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่แห่งทรัพย์ไม่อาจแยกออกจากกันได้นอกจากทำลาย ทำให้ทรัพย์เปลี่ยนสภาพหรือเปลี่ยนรูปทรง บ้านจึงเป็นส่วนควบที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๔ ใครเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประธานย่อมเป็นเจ้าของบ้านซึ่งเป็นส่วนควบที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๔ เมื่อนำเงินที่เป็นสินสมรสมาซื้ออุปกรณ์ในการก่อสร้างเพื่อมาปลูกบ้านใหม่จึงเป็นกรณีสร้างโรงเรือนในที่ดินของตนด้วยสัมภาระของผู้อื่น เจ้าของโรงเรือนเป็นเจ้าของสัมภาระนั้น แต่ต้องใช้ค่าสัมภาระตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑๕ ภรรยาเมื่อเอาสินสมรสมาปลูกบ้านใหม่ สินสมรสเมื่อนำมาซื้อวัสดุในการก่อสร้างสินสมรสย่อมแปรสภาพไปเป็นสัมภาระในการก่อสร้างภรรยาต้องใช้ค่าแห่งสัมภาระนั้นให้แก่สามี (กรณีหย่ากันแล้วแบ่งทรัพย์สิน) และสามีอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้ภรรยาจัดการทรัพย์สินไปในทางที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินสมรสได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๘๓ แต่หากสามีรู้เห็นเป็นใจยอมให้ภรรยาเอาสินสมรสไปปลูกบ้านใหม่ในที่ดินที่เป็นสินส่วนตัว โดยสามีได้อยู่อาศัยด้วย เป็นกรณีจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าแม้สามีจะรู้เห็นยินยอมให้นำสินสมรสไปก่อสร้างบ้านก็ตาม สินสมรสเป็นของภรรยากึ่งหนึ่งเป็นของสามีกึ่งหนึ่งจึงเป็นกรณีภรรยานำสินสมรสมาเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างบ้าน สินสมรสได้แปรสภาพเป็นสัมภาระ เมื่อสินสมรสเป็นของสามีกึ่งหนึ่งจึงเป็นการนำสัมภาระของบุคคลอื่นมาสร้างบ้านในที่ดินของภรรยา เมื่อหย่าขาดจากกันภรรยาต้องใช้ค่าสัมภาระให้แก่สามี
๔.ที่ดินที่เป็นสินส่วนตัวได้แลกเปลี่ยนกับที่ดินแปลงอื่น และได้เงินมาจำนวนหนึ่งตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ที่ดินที่ได้แลกเปลี่ยนมาจากสินส่วนตัวและสิทธิ์ที่จะได้เงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนที่ดินที่เป็นสินส่วนตัวย่อมเป็นสินส่วนตัวตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๒
๕.สินเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๖๕(เดิม) นั้น ป.พ.พ. พ.ศ. มาตรา ๒๕๑๙ มาตรา ๗ บัญญัติให้ “ สินเดิม” กลายเป็น “ สินส่วนตัว” ดังนั้นการขายบ้านและที่ดินที่เป็นสินเดิมมาซื้อบ้านหลังใหม่ บ้านหลังใหม่ย่อมเป็น “ สินเดิม” ตามกฏหมายเก่า หรือ “ สินส่วนตัว” ตามกฎหมายใหม่
๖..สินส่วนตัวที่เป็นของฝ่ายใด ฝ่ายนั้นมีอำนาจขายหรือนำไปให้เช่าหรือหากเป็นเงินก็มีอำนาจที่จะนำไปให้คนอื่นกู้ยืมได้ โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย หากผู้กู้ไม่ชำระ สามารถฟ้องเรียกคืนเงินกู้ได้โดยไม่จำต้องขอความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย หรือแม้แต่ทรัพย์มรดกที่ตกทอดเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใด ฝ่ายนั้นมีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกได้เองโดยลำพัง ไม่ต้องขออนุญาตจากคู่สมรสอีกฝ่าย(คำพิพากษาฏีกา ๓๗๔๑/๒๕๒๓)
๗.บ้านและที่ดินที่บิดามารดายกให้ก่อนทำการสมรสย่อมเป็นสินเดิม(หรือสินส่วนตัวในปัจจุบัน) เมื่อได้ขายบ้านและที่ดินดังกล่าว และนำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อที่ดินและปลูกบ้าน สินส่วนตัวเมื่อได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นย่อมเป็นสินส่วนตัว และเงินอีกส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายที่ดินที่เป็นสินส่วนตัวได้นำไปรับซื้อฝากที่ดิน เมื่อผู้ขายฝากไม่มาไถ่ทรัพย์ที่ขายฝาก ทรัพย์ที่ขายฝากย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อฝาก เพราะการขายฝากคือสัญญาซื้อขายที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ เมื่อผู้ขายไม่มาไถ่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวจึงตกแก่ผู้ซื้อฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา๔๙๑ เมื่อการรับซื้อฝากนำเงินที่ได้จากการขายที่ดินอันเป็นสินส่วนตัวมารับซื้อฝากถือได้ว่าสินส่วนตัวได้เปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่น ทรัพย์สินนั้นจึงเป็นสินส่วนตัว ดังนั้น ทรัพย์ที่ได้จากการรับซื้อฝากจึงเป็นสินส่วนตัวด้วย การที่นำสินส่วนตัวไปซื้อที่ดินบางส่วนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงตามกฏหมาย เพราะ การนำเงินที่เป็นสินส่วนตัวบางส่วนไปซื้อฝากที่ดิน โดยเมื่อนำสินส่วนตัวบางส่วนไปซื้อที่ดินเพื่อปลูกบ้านและนำเงินที่เป็นสินส่วนตัวอีกส่วนไปรับซื้อฝากที่ดิน ทั้งที่ดินและที่ดินที่รับซื้อฝากย่อมเป็นสินส่วนตัวอยู่ดีเพราะสินส่วนตัวกลายเป็นทรัพย์สินอื่น ทรัพย์สินอื่นก็ยังคงเป็นสินส่วนตัวอยู่ ส่วนอาคารและตึกแถวที่คู่สมรสออกเงินสร้างบนที่ดินที่ได้จากการรับซื้อฝาก เมื่อไม่ปรากฏว่าได้ใช้เงินที่ได้จากการขายที่ดินที่เป็นสินส่วนตัวมาสร้าง โรงเรือนและตึกแถวดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสเพราะได้มาระหว่างสมรสโดยไม่ปรากฏว่าได้นำเงินที่เป็นสินส่วนตัวมาสร้าง จึงไม่มีกรณีที่สินส่วนตัวกลายเป็นทรัพย์สินอื่นอันจะทำให้ทรัพย์สินอื่นกลายเป็นสินส่วนตัวแต่อย่างใดไม่ แม้โรงเรือนและตึกแถวจะปลุกบนที่ดินที่เป็นสินส่วนตัวก็ตาม แต่เมื่อปลูกด้วยความยินยอมของคู่สมรสที่เป็นเจ้าของที่ดินที่เป็นสินส่วนตัว ตึกแถวและที่ดินจึงไม่ใช่ส่วนควบกับที่ดินที่จะตกแก่เจ้าของที่ดินแต่อย่างใด เมื่อโรงเรือนและตึกดังกล่าวได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสที่ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ์ร่วมกัน และหากหย่าขาดจากกันต้องแบ่งกันคนละครึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: