ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

"สันนิษฐานว่าเป็นสินสมรส”

๑.สุนัขในบ้านไปกัดคนอื่น เมื่อกรณีเป็นที่สงสัยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส คู่สมรสอีกฝ่ายจึงเป็นเจ้าของสุนัขด้วย คำพิพากษาฏีกา ๒๔๘๘/๒๕๒๘
๒.เมื่อไม่ได้ความชัดว่า ที่พิพาทได้มาก่อนสมรสหรือได้มาระหว่างสมรส ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส คำพิพากษาฏีกา ๓๘๓๐/๒๕๔๒
๓.เคยมีชุดรับแขกระหว่างเป็นสามีภรรยา เมื่อไม่ได้นำสืบว่าชุดรับแขกมีมาก่อนสมรส หรือได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือการให้โดยเสนหา ชุดรับแขกจึงไม่ใช่สินส่วนตัวแต่เป็นสินสมรส คำพิพากษาฏีกา ๕๗๔๗/๒๕๓๓
๔.ได้รับที่ดินโดยหนังสือยกให้โดยเสน่หา เป็นสินส่วนตัว ที่ดินอีกแปลงได้มาระหว่างสมรสไม่ปรากฏหลักฐานว่าบิดายกให้สามีคนเดียวหรือยกให้ภรรยาด้วย จึงสันนิษฐานว่าเป็นสินสมรส คำพิพากษาฏีกา ๖๗๙/๒๕๓๒
๕.ที่ดินที่เป็นสินส่วนตัว เมื่อเวลาผ่านไปที่ดินย่อมมีราคาสูงขึ้น ราคาที่สูงขึ้นของที่ดินไม่ใช่ดอกผลของที่ดิน จะแยกเอาส่วนราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นสินสมรสไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๗๗๕/๒๕๑๒
๖.ที่ดินมีโฉนดที่ภรรยาใส่ชื่อแต่คนเดียวก็อาจเป็นสินสมรสระหว่างสามีภรรยาได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๓๖๔/๒๕๐๘ เมิ่อพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นสินส่วนตัวหรือไม่ปรากฏเป็นอย่างอื่นต้องสันนิษฐานว่าเป็นสินสมรส คำพิพากษาฏีกา ๔๗๘/๒๕๐๑ หุ้นในบริษัทหรือสิทธิ์การเช่า เป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส คำพิพากษาฏีกา ๒๓๒๓๑๒๕๒๐
๗.ข้อสันนิษฐานว่าเป็นสินสมรสนั้นใช้ยันกันระหว่างคู่สามีภรรยาแต่หากเป็นการโต้เถียงกับบุคคลอื่นจะนำข้อสันนิษฐานนี้มาใช้ไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๗๒๗/๒๕๑๗
ข้อสังเกต๑. ในกรณีมีข้อสงสัยว่าทรัพย์สินใดเป็น “ สินส่วนตัว” หรือ “ เป็นสินสมรส” ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า “ เป็นสินสมรส” ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๔ วรรคสอง ไม่ใช่บทสันนิษฐานเด็ดขาด สามารถนำสืบหักล้างได้ว่าไม่ใช่สินสมรสแต่เป็นสินส่วนตัว ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายพิสูจน์เพียงว่า เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสและไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสแค่นี้ก็ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฏหมายแล้วว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็น “ สินสมรส” ป.ว.พ. มาตรา ๘๔/๑ เป็นหน้าที่คู่สมรสอีกฝ่ายต้องนำสืบหักล้างว่าไม่ใช่สินสมรส
๒.เมื่อเข้าข้อสันนิษฐานว่าเป็นสินสมรส หากไม่สามารถนำสืบแก้ว่าไม่ใช่สินสมรสแล้วต้องถือว่าเป็นสินสมรส เวลาหย่าจากกันต้องแบ่งคนละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๓๓ เมื่อสันนิษฐานว่าเป็นสินสมรส อำนาจในการจัดการสินสมรสต้องจัดการร่วมกันระหว่างสามีภรรยา ในกิจการบางอย่างตามที่กฎหมายกำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๖นั้นคู่สมรสต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง และเมื่อเป็นสินสมรสหากคู่สมรสเป็นหนี้ร่วมในการจัดการบ้านเรือน หรือจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู การรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว รวมทั้งการให้การศึกษาบุตรตามควรแก่อัตภาพ หรือหนี้ที่เกิดจากการงานที่สามีภรรยาทำร่วมกันหรือเป็นหนี้ที่คู่สมรสเพียงฝ่ายเดียวไปก่อขึ้นแต่อีกฝ่ายให้สัตยาบัน ถือเป็นหนี้ร่วมที่ก่อระหว่างสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๙๐ เมื่อเป็นหนี้ร่วมดังกล่าว ให้ชำระหนี้จากสินสมรสและสินส่วนตัวของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๘๙ หากเป็นหนี้ส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดแล้ว ให้ชำระหนี้จากสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายนั้นก่อน หากไม่พอชำระหนี้จึงเอาสินสมรสที่เป็นของฝ่ายนั้นชำระ ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๘๘
๓.การที่สุนัขไปกัดคนอื่น เมื่อไม่ทราบแน่ชัดว่าสุนัขเป็นของใครคือไม่แน่ใจว่าสุนัขเป็นสินส่วนตัวหรือเป็นสินสมรส จึงต้องสันนิษฐานว่าสุนัขเป็นสินสมรส คู่สมรสย่อมเป็นเจ้าของร่วมกัน เมื่อเป็นเจ้าของผู้รับเลี้ยงรับรักษาสุนัขนั้น เมื่อสุนัขไปกัดคนเข้า ถือมีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ เจ้าของสัตว์คือคู่สมรสจึงจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันเกิดจากสัตว์ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่า ไดใช้ความระมัดระวังตามควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายย่อมเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๓
๔.ทรัพย์สินที่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามีมาก่อนสมรสหรือมีระหว่างสมรสหรือได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือการให้โดยเสน่หา เมื่อไม่ปรากฏแน่ชัดจึงต้องถือว่า “ เป็นสินสมรส” เป็นหน้าที่อีกฝ่ายต้องนำสืบว่าไม่ใช่สินสมรส
๕.ที่ดินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยหนังสือยกให้ระบุว่าให้โดยเสน่หา ที่ดินแปลงนี้จึงเป็น “ สินส่วนตัว” ส่วนที่ดินอีกแปลงที่ได้มาระหว่างสมรส โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าให้คู่สมรสฝ่ายใด หรือให้คู่สมรสทั้งสองฝ่าย เมื่อไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าผู้ให้ประสงค์ยกที่ดินแปลงนี้ให้ใคร ที่ดินแปลงนี้จึงสันนิษฐานว่าเป็นสินสมรส
๖.ที่ดินที่ได้มาก่อนสมรสเป็นสินส่วนตัว แม้เวลาผ่านมาทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น ส่วนต่างของราคาที่ดินเดิมกับราคาที่ดินที่สูงขึ้นนี้ไม่ใช่ดอกผลของที่ดิน เพราะราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ดอกผลธรรมดาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของที่ดินซึ่งได้มาจากตัวที่ดิน โดยมีการมีและใช้ที่ดินตามปกตินิยม และสามารถถือเอาได้เมื่อขาดจากตัวทรัพย์ ไม่เหมือนกรณีแม่วัวตกลูกวัวออกมาลูกวัวเป็นดอกผลธรรมดา แต่ราคาที่ดินที่สูงขึ้นไม่ใช่ดอกผลธรรมดา และไม่ใช่ดอกผลนิตินัยเหมือน เช่นดอกเบี้ยเงินกู้ ที่เป็นทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อให้ได้ทรัพย์นั้น และสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวันหรือตามระยะเวลาที่กำหนด ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๘ เมื่อไม่ใช่ดอกผลของสินส่วนตัวจะถือเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๔(๓)ไม่ได้ ทั้งแม้ที่ดินจะมีราคาสูงขึ้นจะถือว่า “ราคาที่ดินที่สูงขึ้น” ได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๔(๑)ไม่ได้ และจะถือว่าเมื่อไม่ปรากฏชัดว่าเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัวจึงให้ถือว่าราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้สันนิษฐานว่าเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๔ วรรคสองก็ไม่ได้เช่นกัน เมื่อที่ดินเป็นสินส่วนตัว แม้เวลาผ่านมาที่ดินจะมีราคาสูงขึ้นในช่วงที่ทำการสมรสก็ตามก็ต้องยังถือว่าเป็นสินส่วนตัวอยู่ดี ๗.หรือในกรณีที่ดินที่เป็นสินส่วนตัวเกิดที่งอกริมตลิ่งเกิดขึ้นจะถือว่าที่งอกริมตลิ่งได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรสหรือเป็นกรณีไม่แน่ชัดว่าเป็นสินส่วนตัวหรือเป็นสินสมรสจึงต้องสันนิษฐานว่าเป็นสินสมรสไม่ได้ เพราะใน ปพ.พ. มาตรา ๑๓๐๘ บัญญัติว่า ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น เมื่อที่ดินเดิมเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใด แม้ต่อมาจะเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกนั้นก็ยังคงเป็นสิทธิ์ของคู่สมรสฝ่ายนั้นอยู่จะอ้างว่าได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรสหรืออ้างว่าเมื่อไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นสินส่วนตัวหรือเป็นสินสมรสให้สันนิษฐานว่าเป็นสินสมรสดังนี้ไม่ได้ เพราะกฎหมายได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่าที่งอกริมตลิ่งตกเป็นสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของที่ดิน ทั้งที่งอกก็เป็นสิ่งที่ว่าโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นย่อมเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์ ไม่อาจแยกขาดจากกันได้นอกจากทำลาย ทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์เปลี่ยนแปลงรูปทรงไป ที่งอกจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน ใครเป็นเจ้าของที่ดินย่อมเป็นเจ้าของส่วนควบนี้ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๔วรรคสอง แม้ที่ดินที่งอกจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์ โดยการมีและใช้ตามปกติ นิยมก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถถือเอาได้เมื่อขาดจากตัวทรัพย์เหมือนลูกวัวที่ตกลูกออกมาจากแม่วัว ที่งอกจึงไม่ใช่ดอกผลธรรมชาติ และไม่ใช่ทรัพย์หรือประโยชน์ที่ได้มาครั้งคราวจากเจ้าของทรัพย์เพราะได้ใช้ทรัพย์นั้นเหมือนเช่นดอกเบี้ยเงินกู้ ดังนั้นที่งอกริมตลิ่ง จึงไม่ใช่ดอกผลนิตินัย เมื่อไม่ใช่ดอกผลของสินส่วนตัวจึงไม่ใช่สินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๔(๓) ดังนั้นเมื่อที่ดินเดิมเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดที่งอกย่อมเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายนั้นเช่นกัน
๘.การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งมีชื่อในโฉนดก็ไม่ได้หมายความว่าคู่สมรสฝ่ายนั้นจะเป็นเจ้าของที่ดินนั้นเพียงลำพังผู้เดียวไม่ แม้คู่สมรสฝ่ายนั้นมีชื่อในโฉนด ถือว่ายึดถือที่ดินนั้นไว้ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๖๙ ให้สันนิษฐานว่ายึดถือเพื่อตนเอง ซึ่งถือว่ามีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๖๗ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗๒ ให้สันนิษฐานว่าผู้ครอบครองทรัพย์สิน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสิทธิ์ที่ผู้ครอบครองมีตามกฏหมาย เมื่อที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗๓ ให้ สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลที่มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครองก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดว่าผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินเป็นเจ้าของ ที่ดินดังกล่าวอาจไม่ใช่สินส่วนตัวของคู่สมรสที่มีชื่อในโฉนดเพียงลำพังฝ่ายเดียวก็ได้ ที่ดินอาจเป็นสินสมรสระหว่างคู่สมรสก็ได้ หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นสินส่วนตัวหรือไม่มีเหตุปรากฏเป็นอย่างอื่นก็ต้องสันนิษฐานว่าที่ดินที่ใส่ชื่อคู่สมรสฝ่ายเดียวนั้นเป็นสินสมรส ซึ่งคู่สมรสอีกฝ่ายสามารถร้องขอให้ใส่ชื่อตนเป็นเจ้าของร่วมในโฉนดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๕
๙.กรณีหุ้นในบริษัทหรือสิทธิ์การเช่าซึ่งมีราคาและถือเอาได้ จึงเป็นสิทธิ์ในทางทรัพย์สิน เมื่อได้มาระหว่างสมรส ไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าเป็นสินส่วนตัวหรือเป็นสินสมรสต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส
๑๐. การนำข้อสันนิษฐานของกฎหมายมาใช้ว่ากรณีที่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นสินส่วนตัวหรือเป็นสินสมรสให้สันนิษฐานว่าเป็นสินสมรสนั้น บทบัญญัติในข้อสันนิษฐานนี้ใช้ต่อสู้อ้างอิงในระหว่างคู่สมรสเท่านั้น แต่จะนำไปใช้อ้างอิงกับบุคคลภายนอกหาได้ไม่ เช่นโจทก์อ้างว่าที่ดินเป็นของบุคคลอื่น แต่จำเลยต่อสู้ว่าที่ดินเป็นของโจทก์กับบิดาจำเลยโดยเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับบิดาจำเลย กรณีนี้จะนำข้อสันนิษฐานว่าที่ดินเป็นสินสมรสไม่ได้ เพราะบุคคลอื่นที่โจทก์อ้าง และบิดาจำเลยตามที่จำเลยอ้างเป็นบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกซึ่งเป็นการโต้เถียงกันว่าที่ดินเป็นของบุคคลอื่นตามที่โจทก์อ้าง หรือที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับบิดาของจำเลย มิใช่การต่อสู้ระหว่างโจทก์จำเลยว่าทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสไม่อาจรู้ได้แน่ว่าเป็นสินส่วนตัวหรือเป็นสินสมรสจึงต้องสันนิษฐานว่าเป็นสินสมรส เพราะการอ้างว่าที่ดินเป็นของ “คนอื่นหรือที่มีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย” เท่ากับอ้างว่าที่ดินไม่ใช่ของทั้งโจทก์และจำเลย เมื่อไม่ใช่ที่ดินที่โจทก์จำเลยที่ได้มาระหว่างสมรสโดยไม่อาจทราบแน่ชัดว่าเป็นสินส่วนตัวหรือเป็นสินสมรส จึงไม่อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นสินสมรสแต่อย่างใด เพราะบทสันนิษฐานดังกล่าวมีไว้ใช้สันนิษฐานในระหว่างคู่สมรสว่าเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส การกล่าวอ้างว่าเป็นทรัพย์ของผู้อื่นจึงไม่อาจนำบทสันนิษฐานดังกล่าวนี้มาใช้ได้
๑๑.การต่อสู้คดีต้องต้อสู้ไว้โดยชัดแจ้งว่าไม่ใช่สินสมรส เพราะหากไม่โต้แย้งไว้แล้ว ก็เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายว่า ทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๔(๑) และหากไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นสินส่วนตัวหรือเป็นสินสมรสกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ดังนั้น การต่อสู้คดีต้องให้การชัดแจ้งว่า ไม่ใช่สินสมรส หากไม่กล่าวอ้างไว้ก็จะไม่มีประเด็นมาสืบเพราะจำเลยต้องยกประเด็นข้อต่อสู้ไว้โดยชัดแจ้ง ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๑๗๗วรรค สอง ซึ่งในกรณีนี้มีคำพิพากษาฏีกา ๑๗๒๗/๒๕๑๗ พิพากษาในแนวนี้

ไม่มีความคิดเห็น: