ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“หนี้ส่วนตัวหรือหนี้ร่วม”

๑.สามีทำละเมิดในการทำงานเป็นกรรมกรรับจ้างค้าข้าวโพดตามที่โจทก์มอบหมาย แม้ภรรยาทราบก็ไม่ใช่หนี้ร่วม ภรรยาไม่มีส่วนรู้เห็นในการทำละเมิด ในการบังคับคดีต้องกันส่วนของภรรยากึ่งหนึ่งของเงินที่ขายทอดตลาดที่ดินที่โจทก์นำยึด คำพิพากษาฏีกา ๒๕๒๖/๒๕๒๑
๒.โจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้ร้องซึ่งเป็นภรรยาจำเลยด้วย จะบังคับคดีให้กระทบถึงสิทธิ์ของผู้ร้องที่มีอยู่เหนือสินสมรสไม่ได้ ทั้งการทำละเมิดของจำเลยก็เป็นการเฉพาะตัวของผู้ทำละเมิดโดยตรง ไม่เกี่ยวกิจการในครอบครัว หรือเกี่ยวข้องสินสมรส หรือเกิดจากการงานที่ผู้ร้องกับจำเลยทำด้วยกันในฐานะสามีภรรยา จึงไม่ใช่หนี้ร่วม ผู้ร้องไม่ต้องรับผิดและขอกันส่วนของตนได้ คำพิพากษาฏีกา ๖๗๙/๒๕๓๒
๓.โจทก์นำยึดที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสที่จำเลย(สามี)มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ร้องซึ่งเป็นภรรยาเพื่อขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกยึดชอบที่จะขอกันส่วนของตนได้ แต่จะร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๐๔๙/๒๕๒๓
๔.กู้เงินเพื่อเป็นค่าทนายความจนได้ที่ดินบางส่วนกลับมาเป็นสินเดิมของภรรยา สามีได้เอาเงินกู้บางส่วนไปรักษาบุตรผู้เยาว์ เป็นหนี้ร่วม เจ้าหนี้สามารถยึดที่ดินที่เป็นสินเดิมมาใช้หนี้ได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๐๐๕/๒๔๙๕
๕.ผู้ร้องเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย จำเลยกู้เงินมาเพื่ออุปการะเลี้ยงดู และเพื่อประโยชน์ร่วมกันระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง เป็นหนี้ร่วม ผู้ร้องไม่มีสิทธิ์ขอกันส่วนในสินสมรสที่โจทก์นำออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา คำพิพากษาฏีกา ๒๗๒๕/๒๕๒๘
๖.สามีภรรยาร่วมประกอบอาชีพจัดสรรที่ดิน แล้วผิดสัญญาขายที่ดินที่จัดสรร เป็นหนี้ร่วมที่บังคับชำระหนี้ได้จากิสินสมรสและสินส่วนตัว ผู้ร้องที่เป็นคู่สมรสอีกฝ่ายไม่มีสิทธิ์ขอกันส่วนของตนได้ คำพิพากษาฏีกา ๓๗๔๕/๒๕๓๐
๗.หนังสือยินยอมที่ระบุว่า “ กิจการใดที่จำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสได้กระทำไป เสมือนหนึ่งผู้ร้องได้กระทำเองทุกประการ” เป็นเสมือนหนึ่งผู้ร้องได้กระทำเองทุกประการ ถือได้ว่าเป็นการ ให้ “สัตยาบัน” เป็นหนี้ร่วมที่ต้องผูกพัน ผู้ร้องขอกันส่วนไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๕๕๓๑/๒๕๓๔
ข้อสังเกต ๑.สามีหรือภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ มีการจดทะเบียนสมรส ต้องรับผิด ที่ก่อให้เกิดขึ้นระหว่างสมรสหากเป็น
๑.๑ หนี้เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือน และจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดจนการการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาบุตรตามควรแก่อัตภาพ
๑.๒หนี้เกี่ยวข้องกับสินสมรส
๑.๓หนี้เกิดจากการงานที่สามีภรรยาทำด้วยกัน
๑.๔หนี้ที่สามีภรรยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายให้สัตยาบัน
๑.๕หนี้ที่เกิดจากการฟ้องร้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรส หรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรส เป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภรรยาตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๗
เมื่อเป็นหนี้ร่วมที่สามีภรรยาต้องร่วมกันรับผิดแบบลูกหนี้ร่วม ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรส และสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๘๙
๒.ในกรณีหนี้ที่สามีหรือภรรยาโดยชอบด้วยกฏหมายโดยการจดทะเบียนสมรส ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวซึ่งหนี้ที่ก่อไว้ก่อนจดทะเบียนสมรส หรือหนี้ระหว่างสมรสที่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว (ไม่ใช่หนี้ตามข้อสังเกตที่ ๑.๑ถึง ๑.๔) ให้ชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินของฝ่ายนั้นก่อน หากไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสของฝ่ายนั้น ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๘๘
๓.แม้ภรรยาจะทราบถึงการที่สามีรับจ้างค้าข้าวโพดตามที่โจทก์มอบหมาย แต่การที่สามีไปทำละเมิดโดยภรรยาไม่มีส่วนรู้เห็นในการทำละเมิดของสามี จึงไม่ใช่หนี้ร่วม ในการบังคับคดีต้องกันส่วนที่เป็นของภรรยากึ่งหนึ่งออกจากสินสมรสที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึด เพราะไม่ใช่หนี้ร่วมอันเกี่ยวเนื่องกับการสมรส
๔.คำพิพากษาผูกพันคู่ความ เว้นแต่จะมีการอุทธรณ์ ฏีกา หรือขอให้พิจารณาใหม่แล้วศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ป.ว.พ. มาตรา ๑๔๕ ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้ร้องซึ่งเป็นภรรยาจำเลย จนศาลมีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาผูกพันโจทก์ จำเลย แต่ไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งไม่ใช่คู่ความในคดีและไม่ได้ถูกโจทก์ฟ้อง เมื่อหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยไม่ใช่หนี้ที่เกี่ยวกับความจำเป็นในครอบครัว หรือเกี่ยวข้องการสมรสหรือเกิดจากการงานที่ผู้ร้องและจำเลยทำร่วมกันในฐานะสามีภรรยาแล้ว จึงไม่ใช่หนี้ร่วมที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
๕.เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดสินสมรสออกขายทอดตลาด เมื่อเป็นหนี้ส่วนตัวที่เกิดระหว่างสมรสไม่ใช่หนี้ที่เกี่ยวเนื่องมาจากการสมรส คู่สมรสอีกฝ่ายชอบที่จะขอกันส่วนในทรัพย์ดังกล่าวได้ แต่ไม่สามารถขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้ โดยเป็นกรณีที่อ้างว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ทั้งหมด โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องงดการบังคับคดีไว้ก่อนโดยงดการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินไว้รอคำวินิจฉัยของศาล ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๒๘๘ แต่ไม่สามารถร้องขอต่อศาลให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้เพราะเป็นการขอให้ศาลงดการบังคับคดีนั้นเอง ซึ่งการงดการบังคับคดีจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีคำร้องขอให้พิจารณาความใหม่กรณีคำพิพากษากระทำไปโดยการขาดนัด หรือกรณีศาลมีคำสั่งให้งดการบังคับคดี หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแจ้งของดการบังคับคดีไว้ชั่วระยะเวลาที่กำหนดหรือตามเงื่อนไข หรือเจ้าหนี้ไม่วางเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
๖.หนี้ค่ารักษาพยาบาลบุตรผู้เยาว์เป็นหนี้การรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๙๐ จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภรรยา แม้ว่าแรกเริ่มจะทำการกู้ยืมเงินมาเพื่อเป็นค่าทนายความในการฟ้องคดีก็ตาม แต่เงินกู้บางส่วนที่นำมาใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภรรยา ซึ่งเจ้าหนี้สามารถบังคับเอาจากสินสมรสของทั้งสองฝ่ายและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่ายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๘๙ เมื่อนำสินสมรสมาชำระหนี้แล้วไม่พอกับหนี้ที่ค้าง เจ้าหนี้ชอบที่จะบังคับเอากับสินส่วนตัวของคู่สมรสคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนได้ เพราะเมื่อเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องการสมรส สามีภรรยาย่อมเป็นลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๘๙ การที่เป็นลูกหนี้ร่วมกัน เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิ์ที่จะเลือกให้ลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้โดยสิ้นเชิงตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๙๑
๗.หนี้กู้ยืมเพื่อนำมาอุปการะเลี้ยงดู และเพื่อประโยชน์ระหว่างสามีภรรยา เป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภรรยาตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๙๐(๑) จึงไม่มีสิทธิ์ขอกันส่วนสินสมรสที่ถูกยึดมาบังัคับคดีตามคำพิพากษาได้
๘.การ “กู้ยืมเงิน” ไม่ใช่การ “ ให้กู้ยืมเงิน” ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๖(๔) ที่จะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย ซึ่งหากเป็นการ “ ให้กู้ยืมเงิน” โดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่าย คู่สมรสอีกฝ่ายสามารถเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ แต่เมื่อเป็นการ “ กู้ยืมเงิน” ไม่ใช่ “ การให้กู้ยืม” กรณีไม่ต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๖(๔),๑๔๘๐ ที่ต้องขอความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย แต่ทางปฏิบัติธนาคารมักจะให้คู่สมรสอีกเป็นผู้กู้ร่วมหรือเซ็นยินยอมในการกู้ยืมเงินด้วยซึ่งเป็นการกระทำเกินกว่าที่กฏหมายกำหนด โดยธนาคารต้องการให้เป็นลูกหนี้ร่วมทั้งคู่และต้องการบังคับเอาทั้งสินส่วนตัวหรือสินสมรส หรือแม้แต่คู่สามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสแต่อยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภรรยาบางธนาคารก็ให้คู่สมรสดังกล่าวลงลายมือชื่อยินยอมในการกู้ด้วย ซึ่งจริงๆแล้วแม้เป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฏหมายที่จดทะเบียนสมรสแล้วตามกฏหมายก็ไม่ได้บังคับว่าการกู้ยืมเงินต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย จึงเห็นได้ว่าแม้เป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายที่จดทะเบียนสมรสกฎหมายยังไม่บังคับว่า เมื่อคู่สมรสมากู้เงิน คู่สมรสอีกฝ่ายต้องให้ความยินยอม ขนาดคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายยังไม่บังคับว่าต้องให้ความยินยอมในกู้เงิน เพราะการ “ กู้ยืมเงิน” ไม่ใช่ “ การให้กู้ยืม” แล้วคู่สมรสที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องมาให้ความยินยอมทำไม แต่ทางปฏิบัติธนาคารหลายธนาคารก็กระทำฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังกล่าว
๙.การให้กู้ยืม ไม่ใช่การกู้ยืม กรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๖(๔) คำพิพากษาฏีกา ๖๑๙๓/๒๕๕๑
๑๐.สามีภรรยาร่วมประกอบอาชีพจัดสรรที่ดิน เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างสมรสโดยเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานวึ่งสามีภรรยาทำด้วยกันตาม ป.พ.พ. มาตรา๑๔๙๐(๓) เมื่อมีการผิดสัญญาขายที่ดินที่จัดสรร จึงเป็นหนี้ร่วมที่สามารถบังคับชำระหนี้ได้จากสินสมรสและสินส่วนตัว ผู้ร้องที่เป็นคู่สมรสอีกฝ่ายไม่มีสิทธิ์ขอกันส่วนของตนได้
๑๑.การจัดการสินสมรส ซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๖(๑)ถึง(๘) คู่สมรสที่กระทำการไปเพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายแล้ว คู่สมรสอีกฝ่ายฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่จะได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๘๐ ดังนั้นหนังสือยินยอมที่ระบุว่า “ กิจการใดที่จำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสได้กระทำไป เสมือนหนึ่งผู้ร้องได้กระทำเองทุกประการ” เป็นเสมือนหนึ่งผู้ร้องได้กระทำเองทุกประการ ทั้งถือได้ว่าเป็นการ ให้ “สัตยาบัน”จึงไม่อาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ และถือว่า เป็นหนี้ร่วมที่ต้องผูกพันร่วมกัน ผู้ร้องขอกันส่วนไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น: