ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ข้อความทางโทรสาร”

๑.สำเนาเอกสารที่มีการส่งข้อความทางโทรสารจากต่างประเทศ ต้นฉบับเอกสารอยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้ ศาลย่อมอนุญาตให้โจทก์นำสำเนามาสืบและฟังเป็นพยานหลักฐานได้ คำพิพากษาฏีกา ๓๓๙๕/๒๕๔๒
๒.สำเนาโทรสารใบสั่งซื้อสินค้าท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง จำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ถูกต้อง ถือได้ว่ารับถึงความมีอยู่ถูกต้องแท้จริงของต้นฉบับเอกสาร ศาลรับฟังสำเนาโทรสารได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๕๕๑/๒๕๔๕
ข้อสังเกต ๑. การอ้างเอกสารเป็นพยานรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่
๑.๑ คู่ความทุกฝ่ายตกลงว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้อง
๑.๒ไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้เพราะ ถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหาย หรือไม่สามารถนำมาได้โดยประการอื่น อันไม่ได้เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างเอกสารต้องรับผิดชอบ หรือศาลเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่ต้องสืบสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับที่หามาไม่ได้ ศาลจะให้นำสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลมานำสืบแทนต้นฉบับก็ได้
๑.๓ ต้นฉบับอยู่ในอารักขา หรือในความควบคุมทางราชการ จะนำมาแสดงได้ต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการที่เกี่ยวข้องเสียก่อน อนึ่งสำเนาที่รับรองว่าถูกต้องโ ดยผู้มีอำนาจรับรอง ก็ถือว่าเพียงพอในการที่ศาลจะรับฟัง เว้นศาลได้กำหนดเป็นอย่างอื่น
๑.๔ คู่ความฝ่ายที่ถูกคู่ความอีกฝ่ายอ้างเอกสารมาแสดงไม่คัดค้านการนำเอกสารนั้นมาสืบ ศาลสามารถรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ทั้งนี้ไม่ตัดอำนาจศาลในการไต่สวน ชี้ขาด ในเรื่องการมีอยู่ ถูกต้องแท้จริง ในเมื่อศาลเห็นสมควร ทั้งไม่ตัดสิทธิ์คู่ความที่จะอ้างว่าสัญญาหรือหนี้ที่ระบุในสัญญาไม่สมบรูณ์หรือตีความหมายผิด
๒.คู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารเป็นพยานมาใช้ยัน อาจคัดค้านการนำเอกสารมาสืบ เพราะไม่มีต้นฉบับ หรือต้นฉบับปลอมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือสำเนาไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับ โดยต้องคัดค้านก่อนสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ ป.ว.พ. มาตรา ๑๒๕
๓.สำเนาเอกสารที่มีการส่งข้อความมาทางโทรสาร(แฟ๊กซ์)จากต่างประเทศ ย่อมแสดงว่าต้นฉบับเอกสารอยู่ต่างประเทศ จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจนำต้นฉบับมาแสดงได้ ซึ่งโดยหลักแล้วศาลไม่รับฟังสำเนาเอกสาร แต่เมือต้นฉบับอยู่ต่างประเทศจึงเป็นกรณีที่ไม่อาจนำต้นฉบับมาแสดงได้ ศาลสามารถอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบและรับฟังได้ โดยถือว่าต้นฉบับไม่สามารถนำมายื่นได้โดยประการอื่นตาม ป.ว.พ. มาตรา ๙๓(๒) โดยไม่ได้เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างเอกสารต้องรับผิดชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำต้องสืบพยานเอกสารนั้น ศาลสามารถอนุญาตให้นำสืบสำเนาเอกสารดังกล่าวแทนต้นฉบับก็ได้
๔.สำเนาโทรเลขใบสั่งซื้อและใบส่งสินค้าท้ายฟ้อง เมื่อยื่นมาพร้อมฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ในคดีแพ่งเมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านหรือปฏิเสธความมีอยู่ถูกต้องแท้จริงของเอกสารท้ายฟ้องและเมื่อโจทก์นำเอกสารดังกล่าวนำสืบในชั้นสืบพยานโจทก์ จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านในความมีอยู่ถูกต้องแท้จริงของต้นฉบับหรือสำเนาโทรสารดังกล่าว จึงต้องถือว่ายอมรับในความมีอยู่ถูกต้องแท้จริงของต้นฉบับเอกสารดังกล่าวรวมทั้งยอมรับว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวถูกต้องตรงตามต้นฉบับเอกสาร ศาลจึงสามารถรับฟังสำเนาโทรสารใบสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๙๓และ ๑๒๕ เพราะใน ป.ว.พ. มาตรา ๑๗๗ ให้จำเลยแสดงโดยแจ้งชัด ว่า ยอมรับ หรือ ปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธด้วย สิ่งใดที่ไม่แสดงโดยแจ้งชัดว่าปฏิเสธ ในคดีแพ่งต้องถือว่ายอมรับ เพราะเมื่อไม่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นโต้เถียงว่า สำเนาเอกสารไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ไม่ตรงตามต้นฉบับที่มีอยู่ จึงไม่เกิดเป็น “ ประเด็นข้อพิพาท” ว่า สำเนาเอกสารไม่ถูกต้องตรงตามต้นฉบับเอกสาร เมื่อไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ฝ่ายที่อ้างสำเนาเอกสารจึงไม่ต้องนำสืบว่าสำเนาเอกสารถูกต้องตรงตามต้นฉบับเอกสารตาม ป.ว.พ. มาตรา ๑๘๓
๕.ตามพรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ฯ ให้นิยามศัพท์คำว่า “ อิเล็คทรอนิกส์” หมายถึง การประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็คตรอนไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน และให้หมายความรวมถึง การประยุกต์ใช้วิธีการทางแสง วิธีการทางแม่เหล็กหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิธีต่างๆเช่นว่านั้น และให้ความหมายคำว่า “ ข้อมูลอีเล็คทรอนิกส์ “ หมายความว่า ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษาหรือประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอีเล็คทรอนิกส์ จดหมายอิเล็คทรอนิกส์ โทรเลข โทรพิมพ์ โทรสาร ดังนั้น การส่งโทรสาร(แฟ็กซ์)จึงเป็นพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเป็นพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงถือว่าเป็น “ ต้นฉบับ” เอกสาร และสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ตามพรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ มาตรา ๑๐,๑๑ แต่เมื่อเป็นข้อความที่บันทึกไว้ในเอกสาร เมื่อนำมาพิสูจน์ความจริงในข้อความนั้น ป.ว.พ. มาตรา๙๕/๑(ในคดีแพ่ง) หรือใน ป.ว.อ. มาตรา ๒๒๖/๓(ในคดีอาญา) ให้ถือเป็นพยานบอกเล่า แม้จะสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แต่ก็เป็นพยานบอกเล่า ซึ่งต้องห้ามไม่ให้รับฟัง เว้นเสียแต่ ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา ข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่า น่าเชื่อว่าพิสูจน์ความจริงได้ หรือ มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ้งรู้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยาน และมีเหตุอันควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น หากศาลเห็นว่าไม่ควรรับฟังพยานบอกเล่า และคู่ความที่เกี่ยวข้องคัดค้าน ให้ศาลจดเหตุผลของการคัดค้านและไม่ยอมรับของคู่ความที่เกี่ยวข้อง และใช้ดุลพินิจจดเหตุผลที่คู่ความคัดค้านไว้ในรายงานหรือให้คู่ความที่คัดค้านยื่นคำแถลงต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวน
๖. หากมีการส่งโทรสารภายในประเทศย่อมอยู่ในวิสัยที่สามารถเอาต้นฉบับมาแสดงได้ เมื่อจะอ้างเป็นพยานหลักฐานต้องขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกผู้ครอบครองเอกสารต้นฉบับมาตาม ป.ว.พ. มาตรา ๑๒๓ หากไม่ยอมส่งต้นฉบับ จึงสามารถนำสืบสำเนาเอกสารได้ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๙๓(๒) เพราะไม่สามารถหาต้นฉบับมาได้ หรือหากส่งแนบท้ายฟ้องหรือแนบท้ายคำให้การ อีกฝ่ายไม่โต้แย้งคัดค้าน ถือยอมรับโดยปริยายว่าถูกต้องตรงกับต้นฉบับ จึงไม่ต้องนำต้นฉบับมาแสดงอีก เพราะเข้าข้อยกเว้นตามกฏหมาย(ป.ว.พ. มาตรา ๙๓(๑))

ไม่มีความคิดเห็น: