ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เตรียมสอบ ๑

คำถาม = ก. เป็นบิดา ข. ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ก.มีจักรยานยนต์คันหนึ่ง ข. ชอบขโมยรถบิดาไปขี่เที่ยวซิ่งเป็นประจำ วันหนึ่งตำรวจตั้งด่านสกัดจับรถซิ่งโดยมี ร.ต.อ. ว.เป็นหัวหน้า ร่วมกับนาย z ราษฎรธรรมดาแต่งกายคล้ายตำรวจ ร.ต.อ. ว. นั่งอยู่ที่ด่าน นาย z รออยู่หน้าด่าน นาย a ขับรถวิ่งผ่านมา นาย z บอกว่า "เงินตามระเบียบ" ข้อเท็จจริงปรากฏว่านาย a ไม่ได้กระทำความผิดฐานใด แต่ยอมมอบเงินให้นาย z ๑,๐๐๐ บาท ต่อมานาย ข. ขับรถซิ่งวิ่งผ่านมาและถูกจับกุม นายย z บอกนาย ข. ว่าเอาเงินมา ๕,๐๐๐ บาท นาย ข. มอบเงินให้แล้วแต่นาย z กลับคุมตัวนาย ข. ส่งให้พนักงานสอบสวนฟ้องคดีต่อศาลและขอให้ศาลริบของกลาง ขณะเดียวกันนาย b ขับรถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนวิ่งผ่านมา นาย z เรียกเอาเงิน นาย b บอกว่าเป็นตำรวจยศ พ.ต.ท. นาย z จึงปล่อยไป กรณีเช่นนี้ ร.ต.อ. ว. นาย z นาย b มีความผิดทางอาญาหรือไม่ อย่างไร ศาลจะริบจักรยานยนต์นาย ข. และเงินจำนวน ๑,๐๐๐ บาท ที่นาย a มอบให้นาย z ได้หรือไม่ อย่างไร
๑. ประเด็นนาย z กับ ร.ต.อ. ว. มีความรับผิดต่อนาย a อย่างไร
คำตอบคือ ในคดีที่ตำรวจตั้งด่านตรวจแล้วเรียกเงินจากผู้ขับรถผ่านไปมาโดยไม่เลือกว่าผู้ขับรถจะทำผิดกฎหมายหมายหรือไม่ กรณีเช่นนี้ตำรวจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๑๔๙ โดยให้ลงโทษตามมาตรา ๑๔๙ เนื่องจากทั้งสองมาตราเป็นเรื่องการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ มาตรา ๑๔๘ เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบตั้งแต่ต้น ส่วนมาตรา ๑๔๙ แรกใช้อำนาจโดยชอบ แต่มีการเรียก รับหรือยอมจะรับภายหลัง ดังนั้นพฤติการณ์ตามมาตรา ๑๔๙ เป็นภัยร้ายแรงมากกว่าจึงต้องอ้างให้ศาลลงโทษตามมาตรา ๑๔๙ (โทษทั้งสองมาตราเท่ากัน อ้างบทหนักไม่ได้) ดังนั้น ถ้าไถเงินจากบุคคลที่กระทำความผิดจะเป็นกรณีตามมาตรา ๑๔๙ ไถเงินจากคนที่ไม่ได้กระทำความผิดจะเป็นกรณีตามมาตรา ๑๔๘ อย่างไรก็ตามไม่ต้องปรับบทตามมาตรา ๑๕๗ อันเป็นบททั่วไปอีก (ฎ.ที่ ๓๓๐๑/๒๕๔๑) ตามปัญหา แม้ว่า ร.ต.อ.ว. จะไม่ได้เรียกเงินด้วยตนเองก็ตาม แต่เมื่อ ร.ต.อ.ว.นั่งอยู่ในด่านแล้วให้นาย z เป็นคนเรียกเงิน ก็ต้องถือว่า ร.ต.อ.ว. เป็นคนไถเงินเอง จึงมีความผิดทั้งมาตรา ๑๔๘, ๑๔๙
๒. ประเด็นนาย z มีความผิดอย่างไร คำตอบคือ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา ๑๔๗ - ๑๖๖ เป็นความผิดโดยเฉพาะตัวของเจ้าพนักงานโดยแท้จริง เพราะฉนั้นบุคคลที่จะทำผิดได้จะต้องเป็นเจ้าพนักงาน และจะต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้นด้วย ดังนั้นบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าพนักงาน หรือเป็นเจ้าพนักงานแต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้น ได้ร่วมมือกับเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ บุคคลประเภทนี้ก็เป็นได้เพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น ไม่อาจเป็นตัวการหรือผู้ใช้ได้ (ฎ.๗๗๖๘/๒๕๔๘) เพราะฉนั้นคดีนี้ แม้นาย z จะได้สมรู้ร่วมคิดกับ ร.ต.อ.ว. แต่เมื่อปรากฏว่านาย z ไม่ใช่เจ้าพนักงาน จึงเป็นตัวการร่วมไม่ได้ คงเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น จึงมีความผิดตามมาตรา ๑๔๘, ๘๖ สำหรับการเรียกรับเงินจากบุคคลที่กระทำผิดอาญา นอกจากนี้การการกระทำของ ร.ต.อ.ว. และนาย z ยังเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๗ และความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพตามมาตรา ๓๐๙ อีกด้วย
๓. ประเด็นนาย z แต่งกายคล้ายเจ้าพนักงาน มีความผิดอย่างไร คำตอบคือตามมาตรา ๑๔๕ การแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานจะต้องมีการกระทำเป็นเจ้าพนักงานด้วย มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่งและวรรคสองมีความแตกต่างกันคือ วรรคหนึ่งบุคคลที่จะมีความผิดต้องไม่ใช่เจ้าพนักงาน แต่แสดงตนและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ส่วนวรรคสองบุคคลที่กระทำผิดเป็นเจ้าพนักงานแต่ได้รับคำสั่งไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว การแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตามมาตรา ๑๔๕ ไม่จำเป็นต้องแต่งชุดเจ้าพนักงานก็มีความผิดตามมาตรา ๑๔๕ ได้ หากมีการแต่งกายเป็นเจ้าพนักงานด้วยจะมีความผิดตามมาตรา ๑๔๖ อีกบทหนึ่ง ตามคำถามนาย z จึงไม่ผิดมาตรา ๑๔๖
๔. ประเด็นนาย z ผิดตามมาตรา ๑๔๕ หรือไม่ คำตอบคือ การที่จะผิดตามมาตรา ๑๔๕ ได้นั้น นอกจากจะแสดงตนแล้วยังจะต้องกระทำการเป็นเจ้าพนักงานด้วย นาย z จึงมีความผิดตามมาตรา ๑๔๕ ไม่ผิดมาตรา ๑๔๖
ข้อสังเกต * การที่มีผู้แนะนำว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน แล้วจำเลยไม่ตอบรับ ไม่ปฏิเสธ (นิ่ง) ถือว่าแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานแล้ว หากมีการกระทำเป็นเจ้าพนักงานด้วยย่อมผิดตามมาตร ๑๔๕ (ฎ.๕๐๙๖/๒๕๔๐) * หากแสดงตนว่าเคยเป็นเจ้าพนักงานไม่ผิดตามมาตรา ๑๔๕ (ฏ.๓๔๓๑ - ๓๔๓๓/๒๕๒๖) * บุคคลที่เป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วจะผิดตามมาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่งได้หรือไม่ ฎ.๒๓๓๖/๒๕๔๑ บุคคลที่จะมีความผิดตามมาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็บุคคลภายนอกเสมอไป กล่าวคือบุคคลใดก็ตามที่เป็นเจ้าพนักงานอาจมีความผิดตามมาตรานี้ได้ถ้าแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานซึ่งตนไม่มีอำนาจหน้าที่ ( แสดงตนนอกเหนืออำนาจหน้าที่ ) มาตรา ๑๔๕ นี้หากได้มีการแสดงตนและกระทำการแล้วย่อมผิดสำเร็จทันที หากขาดข้อใดข้อหนึ่งย่อมไม่มีความผิด
๕. ประเด็น ร.ต.อ.ว. เห็นนาย z กระทำผิดอาญาแล้วไม่จับกุม ร.ต.อ.ว. มีความผิดตามมาตรา ๑๕๗ หรือไม่ คำตอบคือ ความผิดตามมาตรา ๑๕๗, ๒๐๐ เจ้าพนักงานที่จะมีความผิดต้องไม่ใช่ตัวการร่วมกับจำเลย (ฎ.๗๘๓๖ - ๗๘๓๗/๒๕๔๔)
๖. ประเด็นนาย ร.ต.อ.ว. และนาย z มีความรับผิดต่อนาย b หรือไม่ คำตอบ ร.ต.อ.ว. ผิดตามมาตรา ๑๔๙ นาย z ผิดตามมาตรา ๑๔๙, ๘๖
๗. ประเด็นนาย b มีความผิดอาญาหรือไม่ คำตอบคือ นาย b ไม่ผิดตามมาตรา ๑๔๕ แม้จะได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน แต่ไม่ได้กระทำการ (ฎ.๔๐๒/๒๕๒๐) แต่ผิดตามมาตรา ๑๔๖ แม้จะไม่ได้แต่งกายเป็นตำรวจ แต่ได้อวดอ้างกับบุคคลอื่นว่ามียศ พ.ต.ท. ( ฏ.๒๗๕๒/๒๕๑๙)
๘. ประเด็นนาย b มีความผิดตามมาตรา ๑๕๗ หรือไม่ คำตอบคือ ไม่มีความผิดเนื่องจากไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน (ฎ.๑๐๐๕/๒๕๔๙)
๙. ประเด็น ร.ต.อ.ว กับนาย z ต้องรับผิดต่อนาย ข. หรือไม่ อย่างไร คำตอบคือ เมื่อเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา ๑๔๙, ๒๐๑ แม้จะดำเนินคดีนาย ข. ก็ไม่ทำให้การกระทำกลับไม่เป็นความผิด และก็ไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา ๑๕๗ อันเป็นบททั่วไป แต่คดีนี้เจ้าพนักงานจะไม่มีความผิดตามมาตรา ๒๐๐ ( มาตรา ๑๕๗ คล้ายมาตรา ๒๐๐ ที่เป็นบทฉกรรจ์ )
๑๐. ประเด็นศาลจะริบรถของกลางได้หรือไม่ คำตอบคือศาลริบได้ตาม มาตรา ๓๓ หากไม่ริบก็ได้เนื่องจากมาตรา ๓๓ ไม่ใช่บทบังคับ บิดานาย ข. ร้องขอรับคืนได้ตามมาตรา ๓๖ ภายใน ๑ ปี นับแต่คดีถึงที่สุด (คำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่ศาลสั่งริบทรัพย์) แต่หากเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน บุคคลเหล่านี้ถือว่ารู้เห็นเป็นใจ จะร้องขอคืนของกลางไม่ การที่นาย ข. ขโมยรถบิดาไปขับซิ่งแข่งเป็นประจำ ต้องถือว่าบิดามีส่วนรู้เห็นเป็นใจ ร้องขอคืนของกลางไม่ได้ (ฏ.๓๒๖๘/๒๕๔๘ )

วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เขตอำนาจการสอบสวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4337/2554 
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายสมชาย แซ่เล่า จำเลย 
ป.วิ.อ. มาตรา 19, 24 (1), 120 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางเขน       จับกุม ว. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวนหนึ่งเป็นของกลาง จึงได้วางแผนให้ ว. โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยและ ป. อีก จนจับกุมจำเลยและ ป. ได้ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ     กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน            ซึ่งเป็นท้องที่ที่ ว. โทรศัพท์ล่อซื้อ และสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยและ ป.    พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวน ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขนจึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3)          การสอบสวนจึงเป็นไปโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120          โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ริบของกลาง            จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,500,000 บาท    จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม   ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53      คงจำคุก 33 ปี 4 เดือนและปรับ 1,000,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ และรองเท้าแตะของกลาง 
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 
จำเลยฎีกา  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีประจักษ์พยานมาสืบ 2 ปาก คือร้อยตำรวจเอกจักรวิน และจ่าสิบตำรวจกิติวร ซึ่งเป็นผู้จับกุมตัวจำเลยและนายวังเปา เบิกความยืนยันว่า เมื่อถึงเวลานัดจำเลยเดินถือกล่องกระดาษ 1 กล่อง เข้าไปโทรศัพท์ที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะ        สักครู่นายวังเปาก็เดินเข้าไปหาจำเลยตู้โทรศัพท์และช่วยกันยกกล่องกระดาษดังกล่าว  พยานทั้งสองกับพวกจึงเข้าจับกุมจำเลยและนายวังเปา จากการตรวจค้นกล่องกระดาษพบรองเท้าแตะพื้นหนาประมาณ 1 นิ้ว  จำนวน 22 ข้าง มีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ใต้พื้นรองเท้าจำนวน 20 ข้าง ข้างละ 5 ถุง ถุงละ 200 เม็ด นอกจากนี้ยังพบโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวน 1 เครื่อง ที่ตัวนายวังเปา และบัตรโดยสารรถประจำทางจำนวน 2 ฉบับ  ที่จำเลยและนายวังเปา ใช้เดินทางจากจังหวัดเชียงราย จึงยึดเป็นของกลาง   ทั้งพยานโจทก์ดังกล่าวก็เบิกความได้สอดคล้องต้องกันในข้อสาระสำคัญและมีเหตุผลติดต่อเชื่อมโยงกันมาเป็นลำดับ        มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมก็มีเหตุผลน่าเชื่อว่าเป็นเพราะจำเลยถูกจับกุมโดยกะทันหันพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวนถึง 20,000 เม็ด  โดยเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวซุกซ่อนอยู่ใต้พื้นรองเท้าจำนวน 20 ข้าง ข้างละ 5 ถุง ถุงละ 200 เม็ด  เป็นหลักฐานยืนยันความผิดของจำเลย   จำเลยยังไม่มีโอกาสหาข้อแก้ตัวได้ทันในขณะนั้น จึงต้องให้การรับสารภาพไปตามความสัตย์จริง       นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้อีกว่า    คดีนี้มีการวางแผนให้นายวิเชียร  โทรศัพท์ไปสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายวังเปา จนกระทั่งมีการจับกุมนายวังเปาและจำเลยได้       เหตุที่มีการจับกุมครั้งนี้ก็เนื่องมาจากการสืบสวนขยายผลในคดีที่จับกุมนายวิเชียรได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 400 เม็ด ซึ่งนายวิเชียรให้การซัดทอดว่าได้ซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายวังเปา        จำเลยเดินทางออกจากจังหวัดเชียงรายโดยรถโดยสารของบริษัท บ.ข.ส. จำกัด เมื่อเวลา 16 นาฬิกา  ส่วนนายวังเปาเดินทางออกจากจังหวัดเชียงรายโดยรถโดยสารของบริษัทสมบัติทัวร์ จำกัด เมื่อเวลา 17 นาฬิกา เป็นเวลาใกล้เคียงกัน     เมื่อมาถึงสถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิตกรุงเทพมหานครแล้ว ร้อยตำรวจเอกจักรวิน และจ่าสิบตำรวจกิติวร  ยืนยันว่าเห็นจำเลยโทรศัพท์และนายวังเปาเดินไปพบจำเลยที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะ       ทำให้จับกุมจำเลยและนายวังเปาได้พร้อมกัน ประกอบกับชั้นสอบสวนจำเลยก็ยังคงให้การรับสารภาพว่า นายวังเปาว่าจ้างให้จำเลยขนเมทแอมเฟตามีนของกลางมาส่งให้ลูกค้าของนายวังเปา ที่กรุงเทพมหานคร   โดยได้ค่าจ้างจำนวน 6,000 บาท ตามบันทึกการจับกุม บันทึกรับสารภาพและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา  ที่จำเลยนำสืบอ้างว่า จำเลยนั่งรถโดยสารประจำทางจากจังหวัดเชียงรายเพื่อมาเยี่ยมบุตรสาว เมื่อมาถึงได้โทรศัพท์เพื่อนัดให้บุตรสาวมารับ ขณะที่นั่งรอบุตรสาวก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนั้น เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอยๆ ไม่ได้นำบุตรสาวมาเป็นพยานหรือมีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนันสนุน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ พฤติการณ์รับฟังได้ว่า           เมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจะนำมาจำหน่ายให้แก่นายวิเชียร ตามที่โจทก์นำสืบนั่นเอง   จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง          ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาอีกประการหนึ่งว่า จำเลยถูกจับในเขตสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขนไม่มีอำนาจสอบสวน การสอบสวนจึงไม่ชอบ และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น    เห็นว่า ดังได้วินิจฉัยแล้วว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คดีนี้ได้พบการกระทำความผิดของนายวิเชียรก่อน จึงมีการขยายผลสืบสวนและมีการวางแผนให้นายวิเชียร โทรศัพท์ไปสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายวังเปาอีก      จนกระทั่งมีการจับกุมนายวังเปา และจำเลยได้ในเวลาต่อเนื่องกัน เหตุจับกุมครั้งนี้ก็เนื่องมาจากการสืบสวนขยายผลในคดีที่จับกุมนายวิเชียรได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 400 เม็ด      ซึ่งนายวิเชียรให้การซัดทอดว่าได้ซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากนายวังเปา   กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน ทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน ซึ่งเป็นท้องที่โทรศัพท์ติดต่อล่อซื้อ และสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยกับพวกได้  พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน           จึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (3) การสอบสวนเป็นไปโดยชอบ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน อนึ่ง ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลย โดยกำหนดว่าหากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุให้กักขังเกิน 1 ปีหรือไม่ มีกำหนดเท่าใด และศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไขในส่วนนี้    เช่นนี้ จะกักขังแทนค่าปรับเกินกำหนด 1 ปี ไม่ได้  ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้อง พิพากษายืน หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนไม่เกิน 1 ปี 

วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557