ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ธนาคารพาณิชย์”

ธุรกิจธนาคารผู้เสียหายเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการเงินและเป็นธุรกิจย่อมต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพ และใช้ผู้ควบคุมดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีความรู้ความสามารถ มิเช่นนั้นจะเกิดความผิดพลาดเสียหายร้ายแรงสุดจะประมาณได้ ข้อเท็จจริงมีเหตุผล ให้เชื่อถือในเทคโนโลยี่เกี่ยวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายบันทึกไว้และเรียกออกมาได้ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง การที่ไม่มีรายการถอนเงินในสมุดคู่ฝาก แต่กลับมีรายการถอนเงินในข้อมูลเครื่องคอมพิวเตอร์ แสดงให้เห็นในทางตรงกันข้ามกันกับข้อกล่าวอ้างของจำเลยว่ารายการทั้งสองแตกต่างกันเนื่องจากการทุจริต เนื่องจากมีการลอบทำรายการถอนเงินอันเป็นเท็จ ย่อมไม่มีผู้ทำเล่นเป็นสนุก เชื่อว่า กระทำเพื่อเอาเงินของผู้เสียหายโดยทำรายการถอนพรางไว้ รับฟังได้ว่าเงินผู้เสียหายหายไป ๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยเป็นพนักงานเก่าทราบระเบียบการทำงานเป็นอย่างดี ย่อมทราบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ประจำช่องรับจ่ายเงินที่ตนนั่งคือ หัวใจในการปฏิบัติงาน เป็นเครื่องที่พึ่งใช้เฉพาะตัวในวันนั้นๆ ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นร่วมใช้ ไม่มีเหตุผลให้ควรเชื่อว่า จำเลยเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ขณะพักรับทานอาหาร จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างว่า ระหว่างพักรับประทานอาหาร จำเลยไม่ได้ปิดกุญแจลิ้นชักเก็บเงินซึ่งมีเงินเรือนล้านเก็บอยู่ หากจำเลยเปิดกุญแจลิ้นชักทิ้งไว้ เมื่อมีผู้ทุจริตลักเอาเงินในลิ้นชักไป ก็ไม่เห็นประโยชน์ที่ผู้ใดจะแอบทำรายการดังกล่าวในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย เพราะไม่เกิดประโยชน์ใดๆแก่ตน การที่จะทำให้เกิดผลต้องประกอบด้วยองค์ประกอบสองรายการคือ ลงรายการถอนเงินอันเป็นเท็จ และเงินที่อ้างว่าลูกค้าถอนไปนั้น คนที่มีความสามารถที่จะกระทำได้คือ จำเลย ซึ่งเป็นผู้ควบคุมคอมพิวเตอร์และเป็นผู้รับผิดชอบในตัวเงิน ทั้งมีข้อเท็จจริงที่สนับสนุนว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด คือ การที่จำเลยยืมเงินไว้ล่วงหน้าสองรายการ เป็นความฉลาดในการเตรียมการเมื่อเวลามีการยืมเงินจริง เงินสดในมือผู้หนึ่งผู้ใดอาจไม่พอ ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเอาเงินผู้เสียหายไป คำพิพากษาฏีกา ๗๒๖๔/๒๕๔๒
ข้อสังเกต ๑.ธุรกิจธนาคาร เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการเงินและเป็นธุรกิจย่อมต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพ และใช้ผู้ควบคุมดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีความรู้ความสามารถ เทคโนโลยี่ที่ทันสมัยทำให้น่าเชื่อว่า เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถบันทึกข้อมูลและเรียกข้อมูลออกมาได้อย่างถูกต้อง
๒.ปัญหาที่ต้องพิจารณาคือข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบงานอิเล็คทรอนิครูปแบบอื่นนั้นนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในทางคดีได้แค่ไหน หรือรับฟังไม่ได้เลย ในกรณีนี้มี พรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอีเล็คทรอนิกส์ฯ มาตรา ๑๐,๑๑ รองรับว่า ข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบงานอิเล็คทรอนิกส์นำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในทางคดีได้ และถ้ากฏหมายบังคับให้ต้องนำต้นฉบับมาแสดงให้ถือว่าข้อมูลที่เรียกจากระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอีเล็คทรอนิกส์ หรือเก็บไว้ในระบบอิเล็คทรอนิกส์นั้น เป็น “ ต้นฉบับ” เมื่อถือเป็นต้นฉบับเอกสาร จึงสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.ว.อ. มาตรา๒๓๘ ตัดปัญหาเรื่องสำเนาเอกสารออกไป โดยไม่อาจเกิดกรณีไม่รับฟังสำเนาเอกสาร เว้นแต่เป็นสำเนาเอกสารที่รับรองว่าถูกต้องกรณีหาต้นฉบับไม่ได้ หรือกรณีเป็นหนังสือราชการ แม้ต้นฉบับมีอยู่จะส่งสำเนาที่รับรองว่าถูกต้องแทนก็ได้ แต่เมื่อพรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอีเล็คทรอนิกส์ถือว่า ข้อมูลที่เรียกจากระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบงานอิเล็กทรอนิกส์ เป็น “ ต้นฉบับ” เอกสารแล้ว ก็ไม่มีกรณีสำเนาเอกสารที่รับรองว่าถูกต้องนำมาใช้ ต้องถือว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็น “ ต้นฉบับ” ที่สามารถนำมารับฟังได้ ไม่ใช่ “ สำเนา” เอกสารที่ศาลไม่รับฟังเว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฏหมาย ส่วนเมื่อเป็นต้นฉบับแล้วจะรับฟังได้แค่ไหนหรือไม่อย่างไรเป็นอีกเรื่อง
๓.ข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบงานอิเล็กทรอนิกส์ เป็นพยานเอกสาร แม้จะถือว่า เป็น “ ต้นฉบับเอกสาร” ก็ตามแต่ก็ ไม่ใช่ประจักษ์พยานที่รู้เห็นว่าใครเป็นคนกระทำผิด ซึ่งตามหลักกฎหมาย ถือเป็นเพียงพยานบอกเล่า เพราะไม่ใช่ประจักษ์พยานที่รู้เห็นการกระทำผิด จึงมีน้ำหนักให้รับฟังน้อยหรือไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้เลยเว้นแต่จะมีพยานหลักฐานอื่นประกอบให้รับฟังได้ว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างพยานเอกสารซึ่งเป็นพยานบอกเล่าเชื่อมโยงกับหลักฐานอื่นว่าจำเลยเป็นคนกระทำผิด โดยพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา ข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ หรือมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถนำพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้รู้เห็นได้ยินเหตุการณ์ หรือทราบข้อความในเรื่องที่จะเป็นพยานด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้นตาม ป.ว.พ. มาตรา ๙๕/๑ หรือตาม ป.ว.อ. มาตรา ๒๒๖/๓
๔.แม้ระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบงานอีเล็คทรอนิค จะเป็นพยานบอกเล่า อยู่ในรูปพยานเอกสาร ซึ่งโดยหลักต้องห้ามไม่ให้รับฟัง แต่ถ้าระบบจัดเก็บ การเก็บรักษา และตามกระบวนการเรียกฃ้อมูลเป็นไปตามปกติไม่มีพิรุธอะไร ศาลสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมารับฟังได้ตามกฏหมายตามที่กล่าวไว้ ตามข้อสังเกตข้อ ๓
๕.กรณีที่สมุดคู่ฝากของลูกค้ามีรายการและจำนวนเงินไม่ตรงกับระบบข้อมูลของธนาคารโดยระบบข้อมูลธนาคารปรากฏว่ามีการถอนเงินไปจำนวน ๑,๑๐๐,๐๐๐บาท แต่ไม่มีการบันทึกรายการถอนเงินจำนวนดังกล่าวในสมุดคู่ฝากของลูกค้า ซึ่งหากมีการถอนเงินโดยลูกค้าซึ่งเป็นผู้เสียหายจริงแล้วก็จะมีการบันทึกรายการการถอนเงินไป ซึ่งรายการในสมุดบัญชีคู่ฝากรายการและจำนวนเงินที่เหลือในบัญชีต้องตรงกัน การที่รายการแตกต่างกันโดยในสมุดคู่ฝากของลูกค้าไม่มีรายการถอนเงินไป ในสมุดคู่ฝากของลูกค้าน่าเชื่อว่าเกิดจากการทุจริตของพนักงานมากกว่าเกิดจากการทุจริตของลูกค้า หรือลูกค้าไปถอนเงินแล้วพนักงานลืมทำรายการก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเมื่อเงินถูกถอนไปถึง๑,๑๐๐,๐๐๐ บาทซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก ย่อมมีความพิเศษกว่าการถอนเงินรายอื่น และธนาคารอาจไม่มีเงินจำนวนดังกล่าวให้อาจต้องขอเวลาลูกค้าสักหนึ่งถึงสองวันเพื่อเตรียมเงินให้ลูกค้า ดังนั้นการที่จะลืมทำบัญชีการถอนเงินในสมุดคู่ฝากลูกค้าไม่น่าเป็นไปได้
๖.จำเลยเป็นพนักงานทราบระเบียบการทำงานเป็นอย่างดี ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ประจำช่องรับจ่ายเงินที่จำเลยนั่งทำงานซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลย เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เฉพาะตัวในวันนั้นๆ ไม่อนุญาตให้ผู้อื่นใช้ร่วม ข้ออ้างจำเลยที่อ้างว่าไปทานอาหารโดยไม่ได้ปิดกุญแจลิ้นชักที่มีเงินเก็บจำนวนมากเป็นจำนวนล้านบาท เป็นเรื่องที่ผิดวิสัยของเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ต้องมีความรอบคอบและระมัดระวังเป็นพิเศษในลิ้นชักเงินที่อยู่ในความครอบครองของตน ซึ่งพนักงานธนาคารทั่วไปจะไม่กระทำดังนี้ หรือหากเป็นจริงตามที่จำเลยอ้างว่าไปทานข้าวโดยลืมปิดกุญแจลิ้นชักเงิน หากจะมีใครเข้ามาลักเงินไปก็น่าจะรีบหยิบเอาไปโดยเร็ว ไม่น่าจะมีเวลามาทำรายการในเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อทำรายการการถอนเงินในบัญชีผู้เสียหายไป เพราะที่เค้าเตอร์ฝากถอนเงินย่อมต้องมีกล้องวงจรปิดของธนาคารเพื่อกันการทุจริตของพนักงานและเพื่อเป็นหลักฐานในการปล้นเงินจากธนาคาร หากจะมีผู้หนึ่งผู้ใดนอกจากจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องบริเวณลิ้นชักที่เก็บเงินที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยย่อมเป็นพิรุธน่าสงสัยเพราะช่องรับจ่ายเงินใช้เฉพาะตัวในวันนั้นๆ ไม่อนุญาตให้ผู้อื่นมาใช้ การที่มีคนอื่นมาใช้ย่อมเป็นพิรุธน่าสงสัย และเงินจำนวน ๑,๑๐๐,๐๐๐บาทก็มีจำนวนมากพอสมควรการนำออกไปต้องมีกระเป๋าหรือถุงใหญ่พอสมควรในการที่จะบรรจุเงินดังกล่าวออกไปซึ่งหากไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ ณ. ช่องรับจ่ายเงินดังกล่าวย่อมเป็นพิรุธน่าสงสัย การที่จำเลยควบคุมคอมพิวเตอร์และเป็นผู้รับผิดชอบในตัวเงินย่อมมีโอกาสมากกว่าที่จะเป็นผู้กระทำผิด ทั้งยังได้ความว่า จำเลยได้ทำรายการยืมเงินล่วงหน้าไว้ถึงสองรายการ ในการตระเตรียมการเมื่อถึงเวลายืมเงินเงินสดในมือคนใดคนหนึ่งอาจไม่เพียงพอที่จะให้ยืมได้ถึง ๑,๑๐๐,๐๐๐บาท พฤติการณ์ดังกล่าวและข้อเท็จจริงแวดล้อมประกอบระบบข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบงานอิเล็คทรอนิคของธนาคารที่มีข้อมูลจากถอนเงินไม่ตรงสมุดคู่ฝากของลูกค้าประกอบกันน่าเชื่อว่าจำเลยเป็นคนแก้ไขทำรายการในระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารทำรายการโอนถอนเงินจากบัญชีลูกค้า
๗.การที่ระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของธนาคารมีรายการเงินในบัญชีของลูกค้าหายไป ลูกค้าธนาคารย่อมเป็นผู้เสียหายโดยตรงจากากรกระทำความผิดของจำเลย เพราะลูกค้าอาจต้องไปพิสูจน์กันในศาลว่าตนไม่ได้ถอนเงินไป ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และหากพิสูจน์ไม่ได้ลูกค้าอาจต้องสูญเสียเงินจำนวนดังกล่าวไป ลูกค้าจึงเป็นผู้เสียหายที่สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ ส่วนธนาคารก็ได้รับความเสียหายจากการที่มีรายการถอนเงินลูกค้าในระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารไปโดยลูกค้าไม่ได้ถอนเงิน ย่อมทำให้ความเชื่อถือในธนาคารลดน้อยลงไป ประชาชนที่ทราบเรื่องอาจไม่กล้านำเงินมาฝากที่ธนาคารแห่งนี้เพราะระบบการป้องกันเงินฝากลูกค้าหละหลวม และหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าลูกค้าไม่ได้ถอนเงินไป ธนาคารอาจต้องรับผิดชอบคืนเงินให้ลูกค้าเพื่อรักษาชื่อเสียนงธนาคาร ส่วนธนาคารจะใช้สิทธิ์ไล่เบี้ยกับจำเลยอย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง ธนาคารจึงเป็นผู้เสียหายที่สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้
๘.การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐาน แก้ไข เปลี่ยนแปลงบางส่วนซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยไม่ชอบ ตาม มาตรา ๙ พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ และเนื่องจากธุรกิจธนาคารเป็นธุรกิจที่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การที่จำเลยเป็นพนักงานธนาคารมีหน้าที่รับฝากเงินให้แก่ลูกค้าธนาคาร ครอบครองเงินดังกล่าวแล้วเบียดบังเอาเงินดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ในฐานที่เป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๔(อ้างคำพิพากษาฏีกา ๔๙๖/๒๕๔๒)
๙.ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ในฐานที่เป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันเป็นที่ไว้วางใจประชาชน เป็นความผิดต่อส่วนตัวตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๖ จึงต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่ความผิดเกิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด และหากไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดฐานนี้ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดี ส่วนข้อหาเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดิน แม้ผู้เสียหายไม่แจ้งความร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนสามารถแจ้งความกล่าวโทษและทำการสอบสวนได้ แต่ไม่สามารถทำการสอบสวนและแจ้งข้อหายักยอกทรัพย์ในฐานที่เป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๔ ได้เพราะเป็นความผิดต่อส่วนตัว เว้นแต่ผู้เสียหายจะมาแจ้งความร้องทุกข์ในข้อหานี้

ไม่มีความคิดเห็น: