ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“พลาดโดยสำคัญผิด”

ผู้ต้องหาที่ ๒ พกอาวุธปืนมาที่เกิดเหตุใช้มือจับปืนพกที่เอวมีลักษณะในการชักออกมาต่อสู้ ส่วนจะเป็นตามที่ผู้ต้องหาที่ ๒ อ้างว่า ใช้มือจับอาวุธปืนเพราะปืนจะหล่น หรือเป็นเพราะผู้ต้องหาที่ ๒ มีเจตนาใช้ปืนยิงผู้ต้องหาที่ ๑ ก็ตาม แต่ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนเวลาประมาณ ๐๒.๐๐ นาฬิกา เป็นยามวิกาล สภาพการณ์ย่อมไม่ชัดแจ้งในพฤติการณ์เป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายอาจเกิดกความเข้าใจผิดได้ ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นผู้ต้องหาที่ ๑ย่อมเข้าใจว่า ผู้ต้องหาที่ ๒ ชักอาวุธปืนเพื่อยิงผู้ต้องหาที่ ๑ จึงเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาที่ ๑ตกอยู่ในภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงจึงใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้ต้องหาที่ ๒ กับพวก เพื่อป้องกันตัวเอง ในขณะเดียวกันผู้ต้องหาที่ ๒ ก็ยิงสวนมา ๕ นัด กระสุนถูกขอบกระจกหน้ารถ ขอบบนประตูรถด้านคนขับที่ผู้ต้องหาที่ ๑ นั่งอยู่ การที่ผู้ต้องหาที่ ๑ ยิงผู้ต้องหาที่ ๒ได้รับบาดเจ็บจึงเป็นการป้องกันโดยสำคัญผิดพอสมควรแก่เหตุ เพราะความร้ายแรงของอาวุธใช้ปืนกับปืน เป็นการป้องกันชีวิตต่อชีวิตในสัดส่วนที่เท่ากัน แม้กระสุนพลาดไปถูกนาย ส.ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาก็เป็นผลสืบเนื่องจากการป้องกันพอสมควรแก่เหตุของผู้ต้องหาที่ ๑ ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๑๕๒/๒๕๕๐
ข้อสังเกต ๑.การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายต้องมีภยันตรายอันประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฏหมาย ผู้กระทำการป้องกันต้องไม่มีส่วนร่วมหรือเป็นผู้ก่อเหตุในการกระทำนั้นด้วย ทั้งการกระทำต้องเป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันภยันตรายนั้นๆ และต้องได้สัดส่วนกันระหว่างภยันตรายที่ละเมิดกฎหมายกับการกระทำเพื่อป้องกัน ชีวิต ต่อ ชีวิต ปืนต่อ ปืน ถือได้สัดส่วนกัน
๒. การที่ผู้ต้องหาที่ ๑ มีปากเสียงกับผู้ต้องหาที่ ๒ หากผู้ต้องหาที่ ๒ ใช้อาวุธปืนเพื่อจะยิงผู้ต้องหาที่ ๑ จะถือว่าผู้ต้องหาที่ ๑มีส่วนร่วมในการกระทำด้วยซึ่งไม่สามารถอ้างเรื่องป้องกัน หรือบันดาลโทสะได้ นั้น ดูจะไม่ถูกต้องเพราะการทะเลาะกันด้วยปาก ไม่อาจคาดหมายว่าจะใช้อาวุธยิงประทุษร้ายให้ถึงกับเสียชีวิตไม่ ทั้งผู้ต้องหาที่ ๒ ก็ยังมีพวกอีกหลายคน ทั้งเมื่อผู้ต้องหาที่ ๑ ยิงผู้ต้องหาที่ ๒ ผู้ต้องหาที่ ๒ ก็ยิงตอบถึง ๕ นัด ดังนั้น หากผู้ต้องหาที่ ๒ จะใช้ปืนยิงผู้ต้องหาที่ ๑ ผู้ต้องหาที่ ๑ ย่อมมีสิทธิ์ป้องกันตัวได้ตามกฎหมาย จะถือว่าผู้ต้องหาที่ ๑ มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดโดยทะเลาะกับผู้ต้องหาที่ ๒ อันจะทำให้อ้างเรื่องป้องกันไม่ได้ หาได้ไม่
๓..การที่ผู้ต้องหาที่ ๒ พกอาวุธปืนที่เอวแล้วใช้มือจับที่อาวุธปืนดังกล่าว ในเวลากลางคืนขณะที่กำลังทะเลาะวิวาทกับผู้ต้องหาที่ ๑ ซึ่งการที่ผู้ต้องหาที่ ๒ จับปืนจะเป็นไปตามที่ผู้ต้องหาที่ ๒ อ้างในคำให้การชั้นสอบสวนว่า ปืนกำลังตกจึงจับปืน หรือการที่ผู้ต้องหาที่ ๒ จับปืนนั้นเพราะมีเจตนาจะยิงผู้ต้องหาที่ ๑ หรือไม่ก็ตาม แต่การที่ผู้ต้องหาที่ ๑ ที่ ๒ ทะเลาะกัน ในเวลากลางคืนซึ่งย่อมมองไม่เห็นชัดเจนเหมือนในเวลากลางวัน โดยขณะเกิดเหตุเป็นเวลา ๐๒.๐๐นาฬิกา และผู้ต้องหาที่ ๒ ก็มีพวกอีกหลายคน ในสภาวะบุคคลที่ทะเลาะกันในเวลากลางคืน ย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจได้ว่า การที่ใช้มือจับอาวุธปืนไม่ว่าจะจับในลักษณะเพื่อเตรียมป้องกันตัว หรือเพื่อใช้ในการยิงอีกฝ่ายหรือปืนจะตกจากเอวจึงต้องจับไว้ก็ตาม ย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจในวิสัยคนทั่วไปว่า อีกฝ่ายจับปืนเพื่อจะยิงตน ซึ่งพิจารณาได้ดังนี้คือ
๓.๑หากผู้ต้องหาที่ ๒ จับปืนโดยมีเจตนาจะยิงผู้ต้องหาที่ ๑ ย่อมเป็นภยันตรายอันละเมิดกฎหมาย ผู้ต้องหาที่ ๑ ย่อมมีสิทธิ์ที่จะป้องกันสิทธิ์ของตนให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง และการกระทำได้สัดส่วนกัน คือปืนต่อปืน ชีวิตต่อชีวิตและเป็นวิธีทางสุดท้ายที่จำต้องป้องกันแล้ว การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
๓.๒ หากผู้ต้องหาที่ ๒ ไม่ได้มีเจตนายิงผู้ต้องหาที่ ๑ แต่ใช้มือจับปืนเพราะปืนจะหล่นจากเอว ย่อมไม่มีภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายที่ผู้ต้องหาที่ ๑ จะเกิดสิทธิ์ในการป้องกันได้ แต่เนื่องจากมีการทะเลาะมีปากเสียงกัน การใช้มือจับอาวุธปืนในเวลากลางคืน ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่า ตนกำลังจะถูกยิง หากข้อเท็จจริงมีอยู่จริงว่า ผู้ต้องหาที่ ๒ ใช้มือจับปืนเพื่อจะยิงผู้ต้องหาที่ ๑ ย่อมเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เป็นภยันตรายใกล้จะถึง ผู้ต้องหาที่ ๑ ย่อมมีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติการเพื่อป้องกันสิทธิ์ของตนให้พ้นจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ เมื่อใช้อาวุธปืนต่ออาวุธปืนเพื่อป้องกันชีวิตต่อชีวิต และเป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่จะกระทำเพื่อป้องกันตัวเองแล้ว การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฏหมายเพราะเป็นการแลกกันระหว่างชีวิตกับชีวิต ปืนกับปืน แม้ข้อเท็จจริงไม่มีอยู่จริงว่าผู้ต้องหาที่ ๒ ใช้มือจับปืนโดยมีเจตนายิงผู้ต้องหาที่ ๑ ก็ตาม แต่ผู้ต้องหาที่ ๑ สำคัญผิดว่ามีอยู่จริง คือสำคัญผิดว่าผู้ต้องหาที่ ๒ เจตนาจะใช้ปืนยิงตน ผู้ต้องหาที่ ๑ย่อมได้รับผลแห่งการสำคัญผิดนั้น หากข้อเท็จจริงมีอยู่จริงว่าผู้ต้องหาที่ ๒ มีเจตนาจะยิงผู้ต้องหาที่ ๑ ซึ่งผู้ต้องหาที่ ๑ มีสิทธิ์ที่จะป้องกันตัวเองได้ แม้ข้อเท็จจริงไม่มีอยู่จริงแต่ผู้ต้องหาที่ ๑ สำคัญผิดว่ามีอยู่จริง และการสำคัญผิดดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความประมาทของผู้ต้องหาที่ ๑ แล้ว ผู้ต้องหาที่ ๑ ย่อมได้รับผลแห่งการสำคัญผิดนั้นด้วยโดยถือว่า เป็นเจตนาป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายพอสมควรแก่เหตุโดยสำคัญผิด การกระทำของผู้ต้องหาที่ ๑ ไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้ต้องหาที่ ๒
๓.๓ทั้งยังได้ความว่าเมื่อผู้ต้องหาที่ ๑ ยิงผู้ต้องหาที่ ๒ แล้ว ผู้ต้องหาที่ ๒ ได้ยิงโต้ตอบอีก ๕ นัด จึงน่าเชื่อว่าการที่ผู้ต้องหาที่ ๒ ถืออาวุธปืนน่าถือในลักษณะพร้อมยิงผู้ต้องหาที่ ๑ มากกว่าที่จะจับอาวุธปืนเพราะอาวุธปืนจะตกจากเอวตามที่ผู้ต้องหาที่ ๒ ให้การแต่อย่างใดไม่
๔.เมื่อการกระทำของผู้ต้องหาที่ ๑ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฏหมายโดยสำคัญผิด แม้กระทำต่อผู้ต้องหาที่ ๒ แล้วผลยังไปเกิดแก่ นาย ส.ด้วย ก็ต้องถือเป็นกรณีป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงโดยพลาด จึงจะถือว่าผู้ต้องหาที่ ๑ มีเจตนาพยายามฆ่าหรือฆ่านาย ส. หาได้ไม่
๕. เมื่อการกระทำของผู้ต้องหาที่ ๑ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิด แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายทำให้ผู้ต้องหาที่ ๒ ได้รับบาดเจ็บก็ตาม ผู้ต้องหาที่ ๑ ก็หาจำต้องชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งแก่ผู้ต้องหาที่ ๒ แต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้ตามผลของ ป.อ. มาตรา ๖๒,๖๘ ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๙ เพราะผู้ต้องหาที่ ๒ เป็นผู้ก่อให้เกิดเหตุในการสำคัญผิดในการป้องกัน
๖.เมื่อการกระทำของผู้ต้องหาที่ ๑ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฏหมายโดยสำคัญผิดโดยพลาดตาม ป.อ. มาตรา ๖๐,๖๒,๖๘ ผู้ต้องหาที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่นาย ส.หรือทายาทของนาย ส.(ในกรณีที่นาย ส.ถึงแก่ความตาย) ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๙ แต่อย่างใดไม่ แต่ทายาทนาย ส.สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ต้องหาที่ ๒ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ผู้ต้องหาที่ ๑ ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๙วรรคท้าย และตามทฤษฏีผลโดยตรง หากผู้ต้องหาที่ ๒ ไม่จับอาวุธปืน ผู้ต้องหาที่ ๑ คงไม่สำคัญผิดว่าตนจะถูกผู้ต้องหาที่ ๑ ยิงอันก่อให้เกิดเหตุในการป้องกัน หากผู้ต้องหาที่ ๒ ไม่กระทำการดังกล่าว ผลในการป้องกันโดยชอบด้วยกฏหมายโดยสำคัญผิดคงไม่เกิด เมื่อผลเกิดถือเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของผู้ต้องหาที่ ๒ ผู้ต้องหาที่ ๒ จึงต้องรับผิด

ไม่มีความคิดเห็น: