ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“สายไฟฟ้า”

๑.นาย ฃ. เดินไปตามทางเดิน มีเสาไฟฟ้าต้นหนึ่งล้มอยู่ สายไฟฟ้าหย่อนเพราะเสาล้ม ช.เดินไปโดนสายไฟฟ้าถูกไฟดูดตาย สายไฟฟ้าต่อจากหม้อวัดไฟเข้าไปในบ้าน จ. ผู้ขอใช้ไฟและอยู่ในที่ของ จ. ซึ่งไม่ใช่ทางสาธารณะ เป็นที่ดินในที่ดินของเจ้าของที่ไม่ได้หวงห้ามให้ใครใช้ทาง ถือไม่ได้ว่าสายไฟฟ้าอยู่ในความครอบครองการไฟฟ้า การไฟฟ้าจึงไม่ต้องรับผิด คำพิพากษาฏีกา ๑๖๕๙/๒๕๑๓
๒.กรมไปรษณีย์โทรเลข จำเลยที่ ๒ ไม่ตรวจตราดูแลการขึงสายโทรเลขให้อยู่ในสภาพมั่นคงปลอดภัย สายโทรเลขพาดกับสายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำเลยที่ ๑ ปลายสายโทรเลขตกทอดถึงพื้นดิน กระบือของโจทก์มาถูกสายโทรเลขถูกไฟดูดตาย จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดจะมาอ้างข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ในเรื่องการขึงสายไฟฟ้าผ่านสายโทรเลขให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่ แม้ยางหุ้มสายไฟฟ้าพุเปื่อย ไม่มีการแก้ไขเป็นเหตุให้กระแสไฟฟ้ารั่วไหล แต่ตรงที่สายโทรเลขพาดกับสายไฟฟ้าอยู่ในช่วงที่สายไฟฟ้าต่อจากหม้อวัดไฟเข้าไปในบ้านของผู้ใช้ไฟ ถือไม่ได้ว่าสายไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายโดยสภาพอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิด คำพิพากษาฏีกา ๙๘๗/๒๕๑๗
๓.ผู้ครอบครองดูแลสถานที่เก็บรถยนต์ย่อมหมายรวมถึงสายไฟฟ้าในบริเวณนั้นด้วย ซึ่งต่อจากบ้านพักไปยังกริ่งสำหรับบ้านพัก เด็กปืนรั่วเก็บดอกรักถูกสายไฟฟ้าเปือยตกลงมาทับสายไฟฟ้าตาย ไม่มีร่องรอยที่เด็กจะคาดได้ว่าจะมีสายไฟฟ้าเปือยพาดอยู่ ผู้ครอบครองสายไฟต้องรับผิด คำพิพากษาฏีกา ๘๘๓/๒๕๑๘
๔.การที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นสามีภรรยาขึงสายทองแดงเปือยปล่อยกระแสไฟฟ้ารอบบ้าน แล้วไม่ดูแลจนสายไฟฟ้าตกลงมาพาดรั่ว ผู้ตายไปยืนปัสสาวะถูกไฟดูดตาย จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองดูแลสายไฟฟ้าจึงต้องรับผิด จำเลยที่ ๓ เป็นเพียงช่างไฟไม่ใช่ผู้ครอบครองไฟฟ้าจึงไม่ต้องรับผิด คำพิพากษาฏีกา ๑๙๑๙/๒๕๒๓
๕.จำเลยเป็นผู้จำหน่ายและครอบครองกระแสไฟฟ้าซึ่งพาดไปตามถนนต้องรับผิด หากไม่ใช้ความระมัดระวังมิให้สายไฟฟ้าชำรุดบกพร่อง คำพิพากษาฏีกา ๔๗๘/๒๕๒๓
๖.การนำสืบว่าผู้ตายไปนั่งที่ผนังกันตกที่ดาดฟ้าแล้วเสียหลักมือไปถูกสายไฟฟ้า ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าเป็นความผิดของผู้ตายเอง คำพิพากษาฏีกา ๓๓๕๔/๒๕๒๔
ข้อสังเกต ๑.บุคคลที่มีไว้ในครอบครองซึ่งทรัพย์อันก่อให้เกิดอันตรายโดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้หรืออาการกลไกลของทรัพย์นั้น จำต้องรับผิดเพื่อความเสียหายใดๆอันเกิดจากตัวทรัพย์นั้น เว้นพิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเพราะความผิดของผู้เสียหายเอง ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๗ วรรคสอง
๒.แม้ไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ หากเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ตามข้อสังเกตที่ ๑ แล้ว ก็เป็นความผิดแล้ว
๓.กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายโดยสภาพ ผู้ครอบครองทรัพย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายคือ ผู้ยึดถือและครอบครอง ดังนั้นสายไฟฟ้าที่ต่อจากหม้อวัดไฟเข้าไปในบ้านผู้ใช้ไฟ ซึ่งอยู่ในที่ดินของผู้ใช้ไฟ สายไฟฟ้าจึงไม่ได้อยู่ในความครอบครองการไฟฟ้า การไฟฟ้าจึงไม่ต้องรับผิดจากการที่ไฟดูดคนตาย แต่ผู้ครอบครองบ้านถือเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายโดยสภาพย่อมต้องรับผิด แม้ผู้ตายจะเข้ามาในเขตบ้านของผู้ใช้ไฟก็ตาม แต่การที่เสาไฟฟ้าล้มทำให้สายไฟหย่อนอยู่ในที่ดินของตน ผู้ใช้ไฟก็ไม่ได้แจ้งให้การไฟฟ้ามาแก้ไขแต่อย่างใด การไฟฟ้าเองก็ไม่อาจทราบได้ว่าเสาไฟฟ้าในที่ส่วนบุคคลบริเวณใดเสาล้มบาง เป็นหน้าที่ผู้ขอใช้ไฟต้องแจ้งให้การไฟฟ้าทราบ การที่ผู้ขอใช้ไฟที่ไม่ได้ล้อมรั่วไม่ได้หวงกันห้ามไม่ให้ใครผ่านในที่ของตนเองแล้วย่อมคาดหมายได้ว่าอาจมีคนเดินมาถูกสายไฟที่หย่อนลงมาได้ ผู้ใช้ไฟจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งอันได้แก่ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่น การที่เสาไฟฟ้าล้มสายไฟหย่อนแล้วผู้ใช้ไฟไม่แจ้งการไฟฟ้าเพื่อให้มาแก้ไขเป็นการไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลผู้ครอบครองทรัพย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายโดยสภาพจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้ใช้ไฟอาจใช้ความระมัดระวังมากกว่านี้ได้โดยการแจ้งการไฟฟ้าให้มาแก้ไข และล้อมรั่วหรือทำสิ่งกีดขวางบริเวณดังกล่าวไม่ให้คนเดินผ่านสายไฟที่หย่อน แต่ผู้ใช้ไฟก็หาได้กระทำการดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๑
๔.การที่กรมไปรษณีย์โทรเลขไม่ตรวจตราดูแลการขึงสายโทรเลขให้อยู่ในความมั่นคงปลอดภัยจนสายโทรเลขพาดกับสายไฟฟ้า จนเป็นเหตุให้ไฟดูดกระบือของชาวบ้านตาย กรมไปรษณีย์โทรเลขต้องรับผิดจะอ้างข้อตกลงระหว่างกรมไปรษณีย์โทรเลขกับการไฟฟ้ามายกเว้นความรับผิดไม่ได้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องภายในระหว่างกรมไปรษณีย์โทรเลขกับการไฟฟ้า ไม่ใช้ข้ออ้างที่จะมายกเว้นความรับผิด บุคคลภายนอกไม่รับรู้และไม่จำต้องผูกพันกับข้อตกลงดังกล่าว
๕.การที่ยางหุ้มสายไฟฟ้าผุเปื่อย ไม่มีการแก้ไขทำให้เกิดกระแสไฟรั่ว แต่จุดที่เสาโทรเลขฟาดเสาไฟฟ้าอยู่ในช่วงที่สายไฟฟ้าต่อจากหม้อวัดไฟฟ้าเข้าไปยังบ้านเอกชน ถือไม่ได้ว่าสายไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายโดยสภาพอยู่ในความครอบครองของการไฟฟ้า การไฟฟ้าจึงไม่ต้องรับผิด แต่ผู้ขอใช้ไฟเมื่อไม่ได้ตรวจตราให้ดีว่าสายไฟฟ้าที่มาจากหม้อวัดไฟเข้ามาในบ้านมีการผุเปื่อยที่ตรงไหนอย่างไรต้องแก้ไขอย่างไร จึงถือว่า ผู้ขอใช้ไฟเป็น ผู้ครอบครองซึ่งทรัพย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายโดยสภาพจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าของกระบือที่ถูกไฟดูดตายในทางแพ่ง ส่วนในทางอาญาความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์โดยประมาท ไม่มีการบัญญัติไว้เป็นความผิด การที่จะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ได้ต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น
๖.ครอบครองสถานที่เก็บรถ รวมถึงการครอบครองสายไฟฟ้าในสถานที่ดังกล่าวด้วย การครอบครองบ้านที่อยู่อาศัยต้องหมายรวมถึงการครอบครองสายไฟฟ้าในบ้านด้วย เมื่อมีสายไฟฟ้าเปือยตกลงมาทับสายไฟฟ้าที่ต่อจากบ้านพักไปยังกริ่งสำหรับบ้านพักด้วย โดยบุคคลทั่วไปไม่สามารถมองเห็นได้ว่ามีสายไฟฟ้าเปือยตกลงมาพาดสายไฟฟ้า จึงไม่ใช่ความผิดของเด็กที่มาเก็บดอกรักที่ถูกไฟดูดตาย แต่เป็นความผิดของผู้ครอบครองโรงเรือนซึ่งเป็นผู้ครอบครองสายไฟซึ่งเป็นทรัพย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายโดยสภาพจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง ส่วนในทางอาญาการที่ไม่ตรวจตราดูให้ดีว่าสายไฟฟ้าภายในบริเวณบ้านมีการผุเปื่อยมีสายเปือยหรือไม่และสายเปื่อยไปพาดกับวัตถุโลหะอื่นหรือสายไฟฟ้าอื่นหรือไม่ เป็นการขาดความระมัดระวังซึ่งบุคคลในสภาวะผู้ครอบครองสายไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายโดยสภาพจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และผู้ครอบครองสายไฟฟ้าอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ด้วยการแก้ไขเปลี่ยนสายที่เปือยไม่มีสายหุ้มเสียไม่ เมื่อไม่ได้กระทำดังนี้ ผู้ครองครองบ้านต้องรับผิดฐานกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๑ ด้วย
๗.การขึงสายทองแดงเปือยรอบบ้านแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้า ไม่ดูแลจนสายไฟตกลงมาพาดรั่วไฟดูดคนตาย เจ้าของบ้านซึ่งเป็นผู้ครอบครองสายไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายโดยสภาพต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง ส่วนช่างไฟที่รับจ้างต่อไฟไม่ใช่ผู้ครอบครองบ้านจึงไม่ใช่ผู้ครอบครองสายไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายได้โดยสภาพจึงไม่ต้องรับผิด ส่วนในทางอาญานั้นแม้การปล่อยกระแสไฟฟ้ารอบบ้านจะอ้างว่าเพื่อป้องกันขโมยก็ตาม แต่ก็ไม่ใช้วิถีทางน้อยที่สุดที่จำเป็นต้องกระทำเพื่อป้องกันและไม่ได้สัดส่วนกันเพราะชีวิตย่อมมีค่ามากกว่าทรัพย์สิน แม้จะมีคนร้ายเข้ามาขโมยของหากไม่ปรากฏว่าคนร้ายมีอาวุธและเข้าทำร้ายเจ้าของบ้านก่อนแล้ว เจ้าของบ้านย่อมไม่มีสิทธิ์ป้องกันชีวิตของตนด้วยการฆ่าคนร้ายได้ ดังนั้นการขึงสายไฟฟ้าเพื่อกันขโมยย่อมเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุเกินกว่ากรณีแห่งการจำเป็นต้องป้องกัน ถือมีเจตนาฆ่าโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำเป็นต้องป้องกัน
๘.การไฟฟ้าเป็นผู้จำหน่ายและครอบครองกระแสไฟฟ้าซึ่งพาดไปตามถนน มีหน้าที่ต้องตรวจตราดูแลไม่ให้สายไฟฟ้าชำรุดบกพร่อง การละเลยไม่ตรวจดูสายไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่ตลอดเวลา ย่อมไม่อาจอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่มีคนมาถูกไฟดูดตายได้ การไฟฟ้าต้องรับผิด
๙. การเดินสายไฟฟ้าแรงสูงซึ่งเป็นสายเปือยผ่านอาคารในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง หากจัดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสายไฟฟ้าดังกล่าวให้ถูกต้องตามวิธีการก็สามารถป้องกันอันตรายจากสายไฟฟ้า จึงอยู่ในวิสัยที่สามารถกระทำได้ อันตรายที่เกิดแก่ผู้ตายจึงไม่ได้เกิดเพราะเหตุสุดวิสัยที่จะอ้างเป็นข้อยกเว้นความรับผิด ดังนั้นเพียงการนำสืบว่าผู้ตายไปนั่งบนผนังกันตกที่ดาดฟ้าแล้วเสียหลักมือไปถูกสายไฟฟ้าถึงแก่ความตาย จึงไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นความผิดของผู้ตายเองหรือเป็นเหตุสุดวิสัยเพื่อให้พ้นความรับผิดได้ เพราะหากสายไฟฟ้าไม่เปือยเปล่าผู้ตายก็อาจไม่ถูกไฟดูดถึงแก่ความตายได้

ไม่มีความคิดเห็น: