๑. ผู้ตายไม่มีมรดก ไม่มีเหตุตั้งผู้จัดการมรดก คำพิพากษาฏีกา ๒๒/๒๕๒๒
๒. เมื่อปรากฏว่าบ้านและที่ดินไม่ใช่มรดกของผู้ตาย และตามคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกก็ไม่ปรากฏทรัพย์สินอื่นของผู้ตาย จึงไม่มีเหตุจัดตั้งผู้จัดการมรดก คำพิพากษาฏีกา ๔๐๘๔/๒๕๔๕
๓. เงินฝากในบัญชีธนาคารของผู้ตายได้ปิดบัญชีไปก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอตั้งเป็นผู้จัดการมรดก จึงไม่มีเหตุขัดข้องในการจัดการหรือแบ่งปันทรัพย์มรดก ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจตั้งผู้จัดการมรดก คำพิพากษาฏีกา ๕๙๖/๒๕๔๖
ข้อสังเกต ๑. เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีทรัพย์สินที่จะตกเป็นมรดก ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องตั้งผู้จัดการมรดก เพราะการตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อความสะดวกในการแบ่งทรัพย์สินให้แก่ทายาท เมื่อไม่มีมรดกก็ไม่มีเหตุที่ต้องรวบรวมทรัพย์เพื่อมอบแก่ทายาท ทั้งผู้ที่เป็นผู้จัดการมรดกก็มีหน้าที่ต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภายใน ๑๕ วันนับแต่วันเริ่มรับหน้าที่ผู้จัดการมรดกและต้องทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่ผู้จัดการมรเดกเข้ารับหน้าที่ผู้จัดการมรดก เมื่อไม่มีทรัพย์มรดกก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำบัญชีรวบรวมทรัพย์มรดกและการแบ่งปันทรัพย์มรดกแต่อย่างใด
๒.กฏหมายไม่ได้กำหนดให้ตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อสืบหาทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อนำมาจัดการแต่อย่างใด คำพิพากษาฏีกา ๕๙๖/๒๕๔๖ มีเพียงกำหนดให้ผู้จัดการมรดกสืบหาผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อแจ้งให้ทราบถึงข้อกำหนดในพินัยกรรมเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๒๕
๓. ทายาทผู้มีสิทธิ์รับมรดก อาจแต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายมาเป็นผู้จัดการมรดก โดยไม่ต้องร้องขอให้ศาลแต่งตั้ง คำพิพากษาฏีกา ๔๗๒๐/๒๕๔๑ นั้นคือทายาทไม่จำต้องร้องขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และทายาทก็ไม่จำเป็นต้องจ้างทนายเพื่อร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเช่นกัน เพียงทายาทผู้มีสิทธิ์รับมรดกอาจแต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายคือต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ ไม่ว่าจะบรรลุนิติภาวะโดยอายุครบ ๒๐ ปีบริบรูณ์หรือบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสก็ตาม และบุคคลที่ทายาทแต่งตั้งต้องไม่ใช่บุคคลวิกลจริต บุคคลที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือบุคคลที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งไม่มีอำนาจในการดำเนินการทำนิติกรรม หากไม่มีข้อห้ามดังนี้แล้ว ทายาทที่มีสิทธิ์รับมรดกสามารถตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพื่อรวบรวมทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาทได้ โดยไม่มีความจำเป็นต้องมาร้องต่อศาลเพื่อตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดก
๔.กรณีตามข้อ ๓. จะเกิดปัญหาคือ เจ้าหน้าที่ธนาคาร เจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมดำเนินการโอนเปลี่ยนแปลงชื่อจากชื่อผู้ตายมาเป็นชื่อผู้จัดการมรดกเพื่อทำการโอนทรัพย์ให้ทายาท หรือแม้แต่มีพินัยกรรมตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว เจ้าหน้าที่ธนาคารและเจ้าพนักงานที่ดินมักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงชื่อจากชื่อผู้ตายมาเป็นชื่อผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม โดยจะให้ไปร้องต่อศาลเพื่อตั้งผู้จัดการมรดกอยู่ดี ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า กลัวเกินเหตุ เป็นการเอาตัวรอดของเจ้าหน้าที่โดยกลัวว่าอาจเป็นพินัยกรรมปลอม แต่ไปผลักภาระให้แก่ทายาทที่ต้องไปเสียเวลาขึ้นศาลเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี เคยเจอที่จังหวัดหนึ่งทนายขอค่าว่าความ ๑ เปอร์เซ็นของทุนทรัพย์ ดูผิวเผินว่าถูกมาก แต่มรดกมีเป็นพันล้าน หนึ่งเปอร์เซ็นของเงินพันล้านเท่าไหร่ ซึ่งการร้องเป็นผู้จัดการมรดก เป็นคดีง่ายๆเป็นคดีที่หลายสำนักงานให้เป็นคดีฝึกว่าความทนายใหม่ๆโดยเสียเวลาไปศาลไม่กี่ครั้ง โดยเสียเวลาตอนไปยื่นคำร้องหนึ่งครั้ง เสียเวลาติดตามผลการส่งหมาย การประกาศหนังสือพิมพ์และเสียเวลาในการมาว่าความอีกหนึ่งครั้งไม่เกิน ๒ๆ นาที ดังนั้น ๑ เปอร์เซ็นต์ของเงินพันล้านบาทนับว่าแพงเกินส่วน ซึ่งส่วนใหญ่ทนายบางรายก็เรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการว่าความในเรื่องจัดการมรดก ๕ ถึง ๖ พันบาท หรืออาจเป็น๑๐,๐๐๐ ถึง ๒๐,๐๐๐บาท ตามแต่ทนายแต่ละคนจะเรียก ซึ่งในส่วนนี้ไม่รวมถึง ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเป็นค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่หากมาร้องขอให้พนักงานอัยการดำเนินการให้จะเสียค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียในการขึ้นศาลตามที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน ๑,๕๐๐บาทเท่านั้นในส่วนการว่าความอัยการดำเนินการให้ฟรี จะเสียเท่าไหร่ก็ตามแต่เป็นการผลักภาระให้ประชาชนต้องมาเสียเงินเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี เสียเวลา เพียงเพื่อตนเองจะไม่ต้องรับผิด โดยอ้างทำตามคำสั่งศาล ในส่วนนี้ผมว่ากรมที่ดินและธนาคารควรมีระเบียบที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในส่วนนี้ เพราะหากพินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดกปลอมก็สามารถดำเนินคดีกับบุคคลที่มาแอบอ้างเป็นผู้จัดการมรดกได้และสามารถเพิกถอนการโอนที่ดินได้อยู่แล้ว เพียงแต่ออกระเบียบให้รัดกุมในการตรวจสอบการทำพินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดก หรือหากไม่เชื่อว่าทายาทผู้มีสิทธิ์รับมรดกตั้งผู้จัดการมรดกก็เรียกทายาททุกคนมาสอบถาม
๕.ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องร้องต่อศาลเพื่อตั้งผู้จัดการมรดก ทายาทผู้มีสิทธิ์รับมรดกทุกคนรวมกันตั้งใครเป็นตัวแทนไปดำเนินการแทน หรือไปพร้อมกันหมด แต่ธนาคารและเจ้าพนักงานที่ดินก็ไม่ทำให้มักอ้างว่าไม่ทราบเป็นทายาทจริงหรือไม่ ทายาทมาครบหรือไม่ ผมว่ากรณีแบบนี้ตามข้อ ๔ ข้อ ๕ ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินและธนาคารต่อศาลปกครองและในความผิดอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่เป็นตัวอย่างสักสองสามคดีเผื่อว่ากรมที่ดินและธนาคารจะได้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนแทนที่จะผลักภาระให้ประชาชนต้องไปร้องต่อศาล ทำให้คดีรกโรงรกศาลเปล่าๆ
๖. ทายาทที่มีสิทธิ์รับมรดกสามารถตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกได้โดยไม่จำต้องร้องต่อศาลขอตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งการตั้งนั้นอาจตั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเป็นผู้จัดการมรดกได้หากไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น