ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“รับของไปขาย”

๑.จำเลยเป็นตัวแทนขายเครื่องพิมพ์ดีดของผู้เสียหายโดยได้รับค่าตอบแทนจากผู้เสียหายเครื่องละ ๑๐๐ บาท จำเลยนำไปฝากขายที่ร้านอื่น และมีสิทธิ์รับเครื่องพิมพ์ดีดคืนได้ การที่จำเลยสามารถรับเครื่องพิมพ์ดีดคืนได้ จึงเป็นผู้ครอบครองเครื่องพิมพ์ดีด มีสิทธิ์นำไปขายหรือส่งมอบคืนผู้เสียหายได้ เมื่อจำเลยนำเครื่องพิมพ์ดีดไปจึงเป็นความผิดฐานยักยอก คำพิพากษาฏีกา ๙๓๙๒/๒๕๓๙
๒.จำเลยเป็นลูกจ้างผู้เสียหายมีหน้าที่จำหน่ายสินค้าให้ลูกค้าแล้วนำเงินมามอบให้ผู้เสียหาย จำเลยรับสินค้าไปแล้วไม่ได้นำไปจำหน่ายให้ลูกค้า แต่ได้นำไปจำนำหรือขายฝาก เมื่อทรัพย์อยู่ในความครอบครองของจำเลย ไม่ว่าจำเลยจะเป็นลูกจ้างผู้เสียหายหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยครอบครองทรัพย์แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัว ย่อมเป็นความผิดฐานยักยอก คำพิพากษาฏีกา ๔๑๘๑/๒๕๔๒
๓.มอบแหวนเพชรให้จำเลยไปขาย หากขายไม่ได้ให้นำมาคืน จำเลยขายได้แต่เอาเงินนั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัว การที่จำเลยรับแหวนจากผู้เสียหายไปขาย จำเลยมีฐานะเป็นตัวแทน เมื่อได้รับเงินก็รับไว้ในฐานะเป็นตัวแทน จำเลยมีหน้าที่ส่งเงินให้ผู้เสียหาย หากไม่นำมาส่งเป้นความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นความรับผิดทางแพ่งไม่ คำพิพากษาฏีกา ๖๘/๒๔๙๔
๔.จำเลยเป็นผู้จัดการของโจทก์ร่วมหลอกลวงลูกค้าโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมขึ้นราคาสินค้า ลูกค้าหลงเชื่อ เงินส่วนที่ขายเกินเป็นของลูกค้าที่ส่งมอบให้จำเลยเพราะถูกจำเลยหลอกลวง ไม่ใช่เงินที่รับไว้ในฐานะเป็นตัวแทน หาใช่เงินของโจทก์ร่วมไม่ โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย เมื่อลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของเงินไม่ได้ร้องทุกข์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง คำพิพากษาฏีกา ๔๖๘๔/๒๕๒๘
๕.จำเลยนำสินค้าของโจทก์ไปส่งให้ลูกค้าโจทก์ ได้รับเช็คชำระค่าสินค้า จำเลยนำเช็คไปขายแล้วเอาเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว เงินที่จำเลยขายเช็คไม่ใช่เงินของโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ได้มอบหมายให้จำเลยเอาเช็คไปขาย และไม่ใช่เงินที่จำเลยรับมอบมาจากธนาคารตามเช็คซึ่งอาจถือได้ว่ารับแทนโจทก์ แต่เป็นเงินของจำเลยเอง จึงไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินที่จำเลยนำเช็คไปขาย แต่มีความผิดฐานยักยอกเช็ค เมื่อไม่ได้ร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่จำเลยยักยอกเช็ค คดีขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๒๓๑๙/๒๕๒๙
๖.จำเลยรับสร้อยคอของโจทก์ไปขาย โดยกำหนดราคากันไว้จะขายเกินหรือขายต่ำกว่าราคาที่โจทก์กำหนดก็ได้ เมื่อขายแล้วต้องส่งเงินให้โจทก์ตามราคาที่กำหนดโดยได้เปอร์เซ็นต์ หากขายไม่ได้ก็นำมาคืน ไม่ใช่เรื่องตัวแทนหรือได้รับมอบหมายให้รับราคาสร้อยไว้แทนโจทก์ เมื่อจำเลยไม่คืนสร้อยและนำเงินไปใช้หมดแล้ว เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งไม่ผิดยักยอก คำพิพากษาฏีกา ๓๘๑/๒๕๒๗,๕๐๖/๒๕๒๖
๗.โจทก์ร่วมมอบทรัพย์ให้จำเลยนำไปขาย โดยจำเลยจะกำหนดราคามากน้อยหรือจะจัดการทรัพย์อย่างไรก็ได้ เพียงจำเลยมีหน้าที่ต้องนำเงินตามราคาที่โจทก์ร่วมกำหนดไว้หรือนำทรัพย์สินมาคืนโจทก์ร่วมเท่านั้น การที่ไม่ยอมนำทรัพย์มาคืนหรือมอบเงินแก่โจทก์ร่วม เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งไม่ผิดยักยอก คำพิพากษาฏีกา ๕๖๕๑/๒๕๔๑
๘.โจทก์มอบเศษคริลิคไฟเบอร์ให้จำเลยไปขาย เป็นกรณีที่จำเลยสามารถขายได้ตามราคาที่จำเลยได้ต่อรองไว้กับผู้ซื้อ เป็นการขายในนามร้านของจำเลยเอง ไม่ใช่ในนามโจทก์ เงินที่ได้จากการขายจึงตกเป็นของจำเลย จำเลยมีหน้าที่ต้องชดใช้ราคาแทนโจทก์ร่วม เมื่อไม่ชดใช้ราคาเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก คำพิพากษาฏีกา ๕๐๔๓/๒๕๔๒
ข้อสังเกต๑. ความผิดฐานลักทรัพย์ต้องเป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์จากเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ส่วนความผิดฐานยักยอกต้องเป็นกรณีครอบครองทรัพย์นั้นอยู่แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปเป็นของตัวเองโดยเจตนาทุจริต
๒.ฟ้องในความผิดฐานลักทรัพย์ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นความผิดฐานยักยอก หรือฟ้องฐานยักยอกทางพิจารณาได้ความว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ปวอ มาตรา ๑๙๒ วรรค ๓ ไม่ให้ถือว่าต่างกันในข้อที่เป็นสาระสำคัญและไม่ให้ถือว่าข้อพิจารณาที่ได้ความเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่การฟ้องผิดไปนั้นทำให้จำเลยหลงต่อสู้ เพียงแต่กฎหมายห้ามไม่ให้ศาลลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งโดยหลักแล้วหากไม่มีกฏหมายบัญญัติไว้อย่างนี้แล้วเมื่อฟ้องในความผิดฐานลักทรัพย์ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นความผิดฐานยักยอก หรือฟ้องฐานยักยอกทางพิจารณาได้ความว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องถือว่าศาลจะลงโทษในความผิดตามที่พิจารณาได้ความไม่ได้เป็นการเกินคำขอและโจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้องเป็นเรื่องโจทก์ไม่ประสงค์ขอให้ศาลลงโทษตามฐานความผิดตามที่พิจารณาได้ความ แต่คนร่างกฎหมายคงมองเห็นว่าข้อเท็จจริงเดียวกันบางคนอาจตีความว่าการกระทำแบบนี้เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ บางคนอาจตีความว่าเป็นความผิดฐานยักยอก หากตีความไม่ตรงกับที่ศาลตีความ หากศาลจะมายกฟ้องด้วยเหตุทางเทคนิคแบบนี้ โจรคงเต็มบ้านเต็มเมือง ปวอ มาตรา ๑๙๒จึงบัญญัติ ไม่ให้ถือว่าเป็นต่างกันในข้อที่เป็นสาระสำคัญและไม่ให้ถือว่าข้อพิจารณาที่ได้ความเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่การฟ้องผิดไปนั้นทำให้จำเลยหลงต่อสู้ ซึ่งการที่จำเลยจะหลงต่อสู้คงยากหน่อยเพราะทางปฏิบัติจำเลยให้การปฏิเสธลอยว่า “ ขอปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์เสียทั้งสิ้น” โดยไม่มีข้อเท็จจริงประกอบว่าเหตุใดจึงให้การปฏิเสธ จึงไม่มีโอกาสที่จะหลงข้อต่อสู้ได้ แต่หากจำเลยให้การปฏิเสธโดยอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธและต่อสู้ไปตามแนวทางนั้น จำเลยอาจหลงต่อสู้ไปตามแนวที่โจทก์ฟ้องได้ แต่เมื่อปฏิเสธลอยโดยไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธแล้วย่อมไม่มีการหลงต่อสู้ได้ง่ายๆ แต่อย่างไรก็ดีความผิดที่ฟ้องและความผิดตามที่พิจารณาได้ความนั้นหากบทบัญญัติในกฎหมายหากมีอัตราโทษไม่เท่ากันเช่นฟ้องยักยอกระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปีหรือปรับไม่เกิน ๖,๐๐๐บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นการกระทำความผิดในความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนระวางโทษจำคุกไว้ ๑ ปีถึง ๕ ปี และปรับตั้งแต่ ๒,๐๐๐บาทถึง๑๔,๐๐๐บาท ดังนี้แล้วแม้ทางพิจารณาได้ความว่าลักทรัพย์ในเวลากลางคืนศาลก็ลงโทษจำคุกได้ไม่เกิน ๓ ปี จะนำโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนที่มีอัตราโทษขั้นต่ำ ๑ ปี ขั้นสูง ๕ ปี ในขณะที่ความผิดฐานยักยอกไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ ซึ่งศาลจะลงเท่าใดก็ได้ และในความผิดฐานลักทรัพย์กฎหมายให้ลงโทษจำคุกและปรับ แต่ในความผิดฐานยักยอกศาลสามารถลงโทษจำคุกหรือปรับก็ได้ จึงเห็นได้ว่าอัตราโทษของความผิดที่พิจารณาได้ความมีอัตราโทษสูงกว่าความผิดที่ฟ้อง กฏหมายจึงบัญญัติว่าแม้ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนศาลก็ลงโทษได้ไม่เกินอัตราโทษในความผิดฐานยักยอก จะนำอัตราโทษในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์มาลงแก่จำเลยไม่ได้
๓.การที่จำเลยเป็นตัวแทนขายเครื่องพิมพ์ดีดของผู้เสียหายโดยได้รับค่าตอบแทนจากผู้เสียหาย จำเลยนำไปฝากขายที่ร้านอื่น และมีสิทธิ์รับเครื่องพิมพ์ดีดคืนได้ การที่จำเลยสามารถรับเครื่องพิมพ์ดีดคืนได้ แสดงให้เห็นอำนาจการครอบครองเครื่องพิมพ์ดีดยังเป็นของจำเลยอยู่ อำนาจการครอบครองเครื่องพิมพ์ดีดหาได้ขาดจากการครอบครองของจำเลยแต่อย่างใดไม่ เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองเครื่องพิมพ์ดีโดย มีสิทธิ์นำไปขายหรือส่งมอบคืนผู้เสียหายได้ เมื่อจำเลยนำเครื่องพิมพ์ดีดไปเป็นประโยชน์ส่วนตนจึงเป็นการเบียดบังเครื่องพิมพ์ดีดของผู้เสียหายไปโดยเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์อันไม่ควรได้สำหรับจำเลย จึงเป็นความผิดฐานยักยอก
๔.การที่จำเลยเป็นลูกจ้างผู้เสียหายมีหน้าที่จำหน่ายสินค้าให้ลูกค้าแล้วนำเงินมามอบให้ผู้เสียหาย ไม่ว่าจำเลยจะเป็นลูกจ้างผู้เสียหายหรือไม่ก็ตาม การที่ผู้เสียหายยอมมอบสินค้าให้จำเลยนำไปจำหน่ายแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายมอบการครอบครองทรัพย์ให้จำเลยแล้ว โดยทรัพย์นั้นไม่ได้อยู่ในวิสัยที่ผู้เสียหายจะสอดส่องดูแลได้ เพียงแต่ว่าเมื่อ จำเลยรับสินค้าไปแล้วเมื่อขายได้ต้องนำเงินมาให้ผู้เสียหาย การที่จำเลยไม่ได้นำสินค้าไปจำหน่ายให้ลูกค้า แต่ได้นำไปจำนำหรือขายฝาก เมื่อทรัพย์อยู่ในความครอบครองของจำเลย แล้วจำเลยเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยนำไปจำนำและขายฝากการกระทำของจำเลย ย่อมเป็นความผิดฐานยักยอก เพราะการขายฝากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายตกไปยังผู้ซื้อแล้วเพียงแต่ผู้ขายฝากสามารถไถ่ทรัพย์คืนได้ตาม ปพพ มาตรา ๔๙๑ หากจำเลยไม่ไถ่คืนกรรมสิทธิ์ย่อมตกแก่ผู้ซื้อฝาก แม้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของมีสิทธิ์ที่จะติดตามเอาทรัพย์นั้นคืนตาม ปพพ มาตรา ๑๓๓๖ได้ก็ตาม แต่หากผู้ซื้อฝากซื้อฝากโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนจากจำเลยซึ่งเป็นพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้นเป็นประจำ ย่อมได้รับการคุ้มครองตาม ปพพ มาตรา ๑๓๓๒ ที่ผู้ซื้อไม่จำต้องคืนให้เจ้าของที่แท้จริงเว้นแต่ได้รับการชดใช้ราคา หรือในกรณีที่จำเลยนำทรัพย์ของผู้เสียหายไปจำนำ บทบัญญัติใน ปพพ มาตรา ๗๕๘ บัญญัติให้ผู้รับจำนำชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์ที่จำนำจนกว่าจะได้รับชำระหนี้และอุปกรณ์ก่อน ทั้งหากผู้รับจำนำมีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำบอกกล่าวแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำชอบที่จะนำทรัพย์จำนำออกขายทอดตลาด หากมีบุคคลภายนอกมาซื้อทรัพย์ดังกล่าวโดยสุจริตในการขายทอดตลาดแล้ว สิทธิ์ในการซื้อทรัพย์ดังกล่าวไม่เสียไปแม้จะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์ที่จำนำไม่ใช่ของจำเลยแต่เป็นของผู้เสียหายก็ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๓๐
๕.จำเลยไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือพนักงานของผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายมอบแหวนเพชรให้จำเลยไปขาย หากขายไม่ได้ให้นำมาคืน จำเลยขายได้แต่เอาเงินนั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัว การที่จำเลยรับแหวนจากผู้เสียหายไปขาย จำเลยมีฐานะเป็นตัวแทน เมื่อได้รับเงินก็รับไว้ในฐานะเป็นตัวแทน ถือจำเลยครอบครองเงินที่ขายได้ซึ่งเป็นของผู้เสียหายแทนผู้เสียหายจำเลยมีหน้าที่ส่งเงินให้ผู้เสียหายตาม ปพพ มาตรา ๘๑๐ หากไม่นำมาส่งเป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นความรับผิดทางแพ่งฐานเป็นตัวแทนไม่เอาเงินที่ควรส่งให้ตัวการตาม ปพพ มาตรา ๘๑๑ หรือฐานไม่ทำการเป็นตัวแทนที่ต้องส่งมอบเงินที่รับไว้เกี่ยวเนื่องการเป็นตัวแทนตาม ปพพ มาตรา ๘๑๐,๘๑๒แต่อย่างใดไม่
๖.การที่จำเลยเป็นผู้จัดการของโจทก์ร่วมหลอกลวงลูกค้าโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมขึ้นราคาสินค้า ลูกค้าหลงเชื่อ จึงยอมซื้อในราคาที่แพง เป็นกรณีที่จำเลยหลอกลวงลูกค้าด้วยการแสดงข้อความจริงอันเป็นเท็จว่าโจทก์ร่วมขึ้นราคาสินค้าทั้งที่โจทก์ร่วมไม่ได้ขึ้นราคาสินค้า และโดยการหลอกลวงดังกล่าวจำเลยได้ไปซึ่งเงินส่วนต่างของราคาสินค้าดังกล่าว เงินส่วนที่ขายเกินเป็นของลูกค้าที่ส่งมอบให้จำเลยเพราะถูกจำเลยหลอกลวง ไม่ใช่เงินที่จำเลยรับไว้ในฐานะเป็นตัวแทน หาใช่เงินของโจทก์ร่วมไม่ โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดต่อส่วนตัว ลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของเงินไม่ได้ร้องทุกข์ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม ปวอ มาตรา ๑๒๐ ,๑๒๑,๑๒๔ ส่วนเงินตามราคาสินค้าที่จำเลยมอบคืนให้โจทก์ร่วมตรงตามราคาที่กำหนดไว้ การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกสินค้าหรือยักยอกเงินส่วนที่ขายได้แต่อย่างใด
๗.จำเลยได้รับเช็คชำระค่าสินค้าจากการที่นำสินค้าของโจทก์ไปส่ง เช็คที่จำเลยรับถือว่ารับแทนโจทก์ จำเลยครอบครองเช็คนั้นแทนโจทก์ เพราะโจทก์มอบหมายให้จำเลยนำสินค้าไปส่งลูกค้าพร้อมรับชำระราคาสินค้า เมื่อลูกค้าจ่ายเป็นเงินสดหรือเช็คถือว่าเงินสดหรือเช็คนั้นจำเลยรับไว้แทนโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิ์ครอบครองในเช็คหรือเงินสดดังกล่าว การที่ จำเลยนำเช็คไปขายแล้วเอาเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว เงินที่จำเลยขายเช็คไม่ใช่เงินของโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ได้มอบหมายให้จำเลยเอาเช็คไปขาย จำเลยไม่มีอำนาจในการเอาเช็คไปขายหรือแลกเป็นเงินสดแทนโจทก์อันจะถือว่าจำเลยทำการแทนโจทก์อันจะถือได้ว่าเงินที่ได้จากการขายหรือนำเช็คแลกเงินสดนั้นเป็นของโจทก์ อีกทั้งเงินดังกล่าวก็ไม่ใช่เงินที่จำเลยรับมอบมาจากธนาคารตามเช็คโดยจำเลยนำเช็คไปขึ้นเงินแทนโจทก์ซึ่งอาจถือได้ว่ารับแทนโจทก์ แต่เงินดังกล่าวเกิดจากการที่จำเลยนำเช็คของโจทก์ไปขายให้บุคคลอื่น เงินที่ได้จึงเป็นเงินของจำเลยเอง บางคนอาจสงสัยว่าเช็คเป็นของผู้เสียหายจำเลยยักยอกเอาไปขายแลกเงินสดทำไมจำเลยจึงมีสิทธิ์ในเงินดังกล่าว การที่เช็คพิพาทเป็นเช็คระบุชื่อที่ไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า “ ผู้ถือ” ออกไป หรือเป็นเช็คผู้ถือ ใครครอบครองเช็ดดังกล่าวย่อมสามารถโอนเช็คให้แก่บุคคลภายนอกได้โดยการส่งมอบตาม ปพพ มาตรา ๙๑๘ ,๙๘๙ อีกทั้งใน ปพพ มาตรา ๑๓๘๓ ยังบัญญัติรับรองการได้ทรัพย์มาจากการกระทำความผิด ผู้กระทำความผิดอาจได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นภายในบทบัญญัติอายุความเมื่อพ้นอายุความในคดีอาญาหรือเมื่อพ้นระยะเวลาตาม ปพพ มาตรา ๑๓๘๑ แล้วแต่ว่าอายุความอันไหนยาวกว่าก็ใช้อายุความนั้น แสดงให้เห็นว่ากฏหมายยอมรับในเรื่องการแย่งการครอบครองหรือได้ทรัพย์มาโดยการกระทำผิดอาจได้กรรมสิทธิ์โดยอายุความได้ แต่ในกรณีนี้เป็นเช็คผู้ถือส่งมอบจึงโอนโดยการส่งมอบเท่านั้น การที่จำเลยเอาเงินที่ได้จากการขายเช็คนั้นไปเสีย จึงไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินที่จำเลยนำเช็คไปขาย แต่มีความผิดฐานยักยอกเช็ค เมื่อไม่ได้ร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่จำเลยยักยอกเช็คซึ่งถือเป็นวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ถึงการกระทำผิด คดีเป็นอันขาดอายุความ จะมาร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่วันที่จำเลยนำเช็คไปขายให้บุคคลอื่นไม่ได้ เพราะการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกเช็ค ไม่ใช่ความผิดฐานยักยอกเงินสดที่ได้จากการนำเช็คไปขึ้นเงินจากธนาคารแทนโจทก์หรือเป็นความผิดฐานยักยอกเงินสดที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยนำเช็คไปขายหรือไปแลกเป็นเงินสดจากบุคคลภายนอกแต่อย่างใดไม่ เมื่อไม่ร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่วันที่ยักยอกเช็คไป คดีขาดอายุความ สิทธิ์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ปวอ มาตรา ๓๙(๖),ปอ มาตรา ๙๖ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
๘. การที่จำเลยรับสร้อยคอของโจทก์ไปขาย โดยกำหนดราคากันไว้จะขายเกินหรือขายต่ำกว่าราคาที่โจทก์กำหนดก็ได้ เมื่อขายแล้วต้องส่งเงินให้โจทก์ตามราคาที่กำหนดโดยได้เปอร์เซ็นต์ หากขายไม่ได้ก็นำมาคืน ไม่ใช่เรื่องตัวแทนหรือได้รับมอบหมายให้รับราคาสร้อยไว้แทนโจทก์เพราะหากเป็นตัวแทนหรือได้รับมอบหมายให้ขายแทนต้องขายตามราคาที่โจทก์กำหนดจะขายต่ำกว่าหรือเกินราคาที่กำหนดไม่ได้ การที่จำเลยสามารถกำหนดราคาได้ว่าจะขายในราคาเท่าใดซึ่งอาจสูงหรือเท่ากับหรือต่ำกว่าราคาที่โจทก์กำหนดได้ อำนาจในการตัดสินใจ อำนาจในการกำหนดราคาขายจึงอยู่ที่จำเลย เพียงเมื่อจำเลยขายได้ต้องมอบเงินตามราคาที่โจทก์กำหนดเท่านั้น จึงไม่ใช่ตัวแทนหรือมอบหมายให้ทำการแทนแต่อย่างใดไม่ แต่เป็นเรื่องจำเลยขายสินค้าของโจทก์ในนามจำเลยเองโดยโจทก์ทำสัญญามอบสินค้าให้จำเลยไปขายโดยกำหนดเพียงเมื่อขายได้โจทก์ต้องได้รับเงินจากสินค้าเท่าใดเท่านั้นเอง ส่วนจำเลยจะไปขายอย่างไร ขายที่ไหน ขายแก่ใคร ขายในราคาเท่าไหร่ โจทก์ไม่มีอำนาจควบคุม เมื่อจำเลยไม่คืนสร้อยหรือทรัพย์สินที่นำไปขายและนำเงินไปใช้หมดแล้ว เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งไม่ผิดยักยอก

ไม่มีความคิดเห็น: